ผลพวงจากอดีต

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาภาพลักษณ์ของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ที่เป็นผลพวงจากการตกเป็นจำเลยสังคม ฐานเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำในลำน้ำพองเน่าเสียในอดีตเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แม้จะไม่กระทบกับการทำธุรกิจโดยตรงในปัจจุบัน แต่ก็ทำให้การทำงานในช่วงที่ผ่านมาของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษแห่งนี้ยากและมีต้นทุนมากกว่าโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ

ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมกำหนดขึ้นมา ได้ผูกมัดการทำงานของโรงงานแห่งนี้ไว้จนเรียกได้ว่า แค่กระดิกตัวก็ยังลำบาก

EIA ฉบับนี้จัดทำขึ้นมาตั้งแต่ลำน้ำพองเกิดปัญหาปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชังตาย ในช่วงปี 2533-2536 แต่ฟินิคซฯ เพิ่งได้รับการผ่อนผัน หรือยกเลิกข้อผูกมัดบางอย่างไปได้หลังจากที่ผู้บริหารจากเครือซิเมนต์ไทยเข้ามารับช่วงดูแลกิจการอย่างเต็มตัว เมื่อไม่ถึง 2 ปีมานี้

"ห้ามเกิน ห้ามทิ้งน้ำ ห้ามอะไรทุกอย่าง และก็เป็นอะไรที่ผูกพันกันมานาน เราก็พยายามแก้ไขปรับปรุง ชี้แจง และพิสูจน์ให้เขาเห็น หลังจากที่เครือฯ เข้ามา ก็โชคดีที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เขาก็ยกเลิกให้เราเกือบทั้งหมด ประมาณ 7-8 เรื่อง" ธีระศักดิ์ จามิกรณ์ บอก

ตัวอย่างข้อผูกมัดจาก EIA ที่เพิ่งถูกยกเลิกไป อาทิ การบังคับให้โรงงานใช้ระบบบำบัดน้ำเสียตามสายการผลิต โดยสายการผลิตแรกให้ทิ้งน้ำลงบ่อบำบัดน้ำเสียของสายการผลิตแรก ส่วนสายการผลิตที่ 2 ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็ต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียสำหรับสายการผลิตนี้โดยเฉพาะ

ซึ่งประเด็นนี้ ทีมผู้บริหารที่มาจากเครือซิเมนต์ไทยพยายามอธิบายว่า เฉพาะสายการผลิตที่ 2 มีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ถึง 6 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ปริมาณน้ำเสียที่ออกมาจากกระบวนการผลิตทั้งโรงงานในปัจจุบันมีเพียงวันละ 2.1 หมื่นลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้โรงงานยังมีการขุดบ่อพักน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วอีกถึง 5 บ่อ สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 1.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 60 วัน แต่ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บ่อเหล่านี้ถูกใช้งานจริงเพียง 1 บ่อ และระดับน้ำที่อยู่ในบ่อเคยขึ้นไปสูงที่สุด 80% ของปริมาณการกักเก็บ ส่วนอีก 4 บ่อ ยังถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ

หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ EIA ได้นำการผลิตของโรงงานไปสัมพันธ์กับการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงสู่ลำน้ำพอง โดยระบุว่าถ้าเขื่อนปล่อยน้ำออกมาต่ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงงานต้องหยุดการผลิตลง 50% และถ้าหากเขื่อนปล่อยน้ำออกมาต่ำกว่า 5 แสนลูกบาศก์เมตร โรงงานต้องหยุดการผลิตทันที

การที่ EIA ระบุเช่นนี้ เป็นการนำกระบวนการผลิตของโรงงานในช่วงก่อนปี 2537 ซึ่งยังเปิดใช้เพียงสายการผลิตแรกมาเป็นบรรทัดฐาน เพราะช่วงนั้นโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ลำน้ำพองโดยตรง ผ่านบึงโจด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนอุบลรัตน์เข้ามาช่วยเจือจาง

แต่นับจากปี 2537 เป็นต้นมา ฟินิคซฯ ไม่มีการปล่อยน้ำลงลำน้ำพองโดยตรงอีกต่อไปแล้ว ทำให้ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานกับการปล่อยน้ำของเขื่อนซึ่งผู้บริหารจากเครือซิเมนต์ไทยก็ต้องชี้แจง เพื่อขอยกเลิกข้อผูกมัดข้อนี้ด้วยเช่นกัน

แต่แม้ว่าข้อผูกมัดเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่เขื่อนอุบลรัตน์มีการปล่อยน้ำออกมา ก็ต้องมีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะน้ำที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาใหม่ๆ จะขุ่น มีปริมาณออกซิเจนน้อย หากผู้เลี้ยงปลาไม่มีเครื่องปั๊มออกซิเจนเข้าไปช่วยในน้ำในช่วงนี้ ก็จะมีผลทำให้ปลาที่เลี้ยงตาย เพราะขาดออกซิเจนได้เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อรักษาความรู้สึกของชาวบ้านผู้เลี้ยงปลาในกระชัง หลังจากธีระศักดิ์เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เขาจัดงบประมาณซื้อเครื่องปั๊มอากาศแจกชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังบริเวณใกล้ๆ โรงงาน ครอบครัวละ 1 เครื่อง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับเขื่อน เพื่อแจ้งให้ชาวบ้านเหล่านี้ได้รับรู้ข้อมูลทุกครั้ง ก่อนที่เขื่อนจะปล่อยน้ำลงมา

ผลพวงจากภาพลักษณ์ในฐานะจำเลยสังคมในอดีตยังส่งผลให้โรงงานต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอด เวลาที่ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งที่อยู่ใกล้และไม่ใกล้โรงงานต้องการความช่วยเหลือ และโรงงานก็ต้องยอมตามคำขอเหล่านั้นทุกครั้ง อย่างยากที่จะปฏิเสธ

แม้ความช่วยเหลือที่ขอเข้ามาบางอย่างอาจเกินความเป็นจริงไปบ้าง

ตัวอย่างการขอรับความช่วยเหลือประเภทนี้ ครั้งหนึ่งมี อบต.แห่งหนึ่งเคยขอใช้พื้นที่บางส่วนของโรงงานเป็นสถานที่จัดเลี้ยง ซึ่งในหนังสือขอใช้สถานที่มีการขอสนับสนุนจากโรงงานในด้านโต๊ะ เก้าอี้ จาน ชาม แก้วน้ำ อาหาร เครื่องดื่ม เวที แสง สี เครื่องเสียง รวมถึงการแสดงบนเวที กระทั่งช่างภาพ

หรือล่าสุด มี อบต.อีกแห่งหนึ่งขอการสนับสนุนงานอาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อป.พร.)เข้ามา โดยขอสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อชุดประดาน้ำ และอุปกรณ์ดำน้ำจากโรงงาน ทั้งที่ยังมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ อบต.จะต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้

การที่ภาพลักษณ์ของโรงงานปัจจุบันดีขึ้นมาในสายตาของคนวงกว้างจนเริ่มได้รับความเชื่อมั่นจากชุมชนและสังคมมากขึ้นแล้ว

เชื่อว่าในอนาคต ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ คงกล้าและมั่นใจที่จะปฏิเสธคำขอรับการสนับสนุนประเภทนี้บ้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.