สุรีย์ บูรณะกิจ ลูกสาวชาวนา-ช่างเสริมสวย นักค้าที่และเจ้าของโรงแรม


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

สุรีย์ บูรณะกิจ วันนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งของนักธุรกิจหนึ่งที่เติบโตมาจาการตั้งใจเรียนรู้ ไม่ใช่การศึกษาจากสถาบันใด แต่มหาวิทยาลัยของสุรีย์ วงการธุรกิจของจริงเลยทีเดียว

กลุ่มบริษัทเพนทาเคิล ของสุรีย์ เป็นเจ้าของ " เดอะบีช" และ " ดิ อันดามัน" ที่ภูเก็ต รวมทั้งโรงแรม " เดอะ ชอมเมอร์เวย์ ที่สุขุมวิท ซอย 15 กับร้านอาหาร ซัมไทม์ ที่ซอยทองหล่อ นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาที่ดินที่รังสิต และที่จังหวัดเพชรบูรณ์อีกนับพันไร่

สุรีย์ เป็นลูกชาวนา ฐานะปานกลางแห่งเพชรบูรณ์ ไม่ได้เรียนหนังสือมากนัก พกความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักตัดเสื้อผ้าฝีมือดี เข้ากรุงเทพตอนอายุราว 15-16 ปี เธอสมัครเป็นศิษย์ของโรงเรียนชื่อดังหลาย ๆ แห่ง ทั้งระพี พรศรีและกรสยาม จนมาเป็นลูกจ้างร้านตัดเสื้อกิ่งแก้ว ที่บางขุนพรหม ใกล้สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ในสมัยนั้น

" เราต้องการรู้ เราก็ต้องศึกษา ที่ไหนมีอะไรดี ไปขอความรู้เขามา" สุรีย์พูดถึงเหตุผลที่ต้องตระเวณไปเรียนจากโรงเรียนสอนตัดเสื้อหลายโรง ซึ่งแสดงความตั้งใจเรียนรู้อย่างจริงจังของเธอ

ชีวิตช่างตัดเสื้อในกรุงเทพฯ ของสุรีย์ต้องผันแปรเป็นช่างประจำ ร้านเสริมสวยที่ภูเก็ต ด้วยเหตุผลของโรคภูมิแพ้ จำเป็นต้องย้ายจากกรุงเทพไป และเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักค้าที่ดิน เมื่อเธอได้รู้จักนายเหมืองของภูเก็ต และนักค้าที่ดินอย่างวิจิตร ณ ระนอง นักธุรกิจเหล่านี้เป็นผู้ให้ความรู้กับเธอ ในการทำธุรกิจและวิธีติดต่อค้าขายกับคนท้องถิ่น

" ตอนแรกก็ทำร้านเสริมสวย พร้อมกับเปิดบาร์ที่หาดป่าตองเป็นรายแรก ราคาที่ตอนนั้นไร่ละ 2 แสนบาท แต่เดี๋ยวนี้ ตารางวาละ 3 แสนบาท ชอบที่ตรงนี้ ก็เลยจับที่ในปี 2527 ตอนนั้นที่ดินยังไม่บูม แปลงแรกที่ขายมีเนื้อที่ 800 กว่าไร่ หุ้นกับคุณสายันต์ มั่นเหมาะ พอเริ่มเข้าใจธุรกิจมากขึ้น แปลงต่อมาก็ทำเอง ขายได้ 800-1,000 ไร่" สุรีย์ย้อนความหลังครั้งที่เข้าสู่วงการค้าที่ดิน

กว่า 10 ปี ของการทำธุรกิจที่ภูเก็ต สุรีย์เริ่มโครงการพัฒนาที่บ้านเกิด จังหวัดเพชรบูรณ์ ในรูปของการเกษตร โดยความร่วมมือกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และชาวบ้าน เพื่อพัฒนาที่ดินบริเวณภูหินร่องกล้า สำหรับปลูกข้าวโพดและต้นสัก ในรูปของสหกรณ์ เนื่องจากที่ดินเป็นของกรมประชาสงเคราะห์ ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ

ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมประชาสงเคราะห์ เจ้าของที่ชาวบ้านเจ้าของแรงงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งรับผิดชอบในวิชาการ และส่งนักศึกษาฝึกงานมาช่วยให้ความรู้กับชาวบ้าน กับสุรีย์ผู้เป็นเจ้าของทุน รวม 4 ฝ่าย ก็เริ่มพัฒนาพื้นที่จาก 100-200 ไร่ จนกระทั่งเป็น 2,000 ไร่

"ที่ดินแปลงหนึ่งมีต้นสัก 100 ต้น พออายุได้ 5 ปี ก็ตัดได้ แต่ตัดต้นเว้นต้นแบบสับหว่าง เพื่อส่งโรงงานไปทำปาร์เก้ เราที่จากชาวบ้าน 200 ครอบครัว เขาได้ค่าตอบแทนปีละแสน และยังทำงานกับเราได้เงินเดือนบวกกับส่วนแบ่ง 30% ทุกเที่ยวที่เราขาย ลงทุนไปประมาณ 20-30 ล้านบาท ต้นทุนค่ารักษาบำรุงประมาณ 7,000 บาทต่อไร่ " สุรีย์" แจกแจงรายละเอียดการลงทุนโครงการให้ " ผู้จัดการ" ฟัง

สุรีย์ ไม่เพียงแต่จะทำธุรกิจในต่างจังหวัดเท่านั้น ในกรุงเทพ เธอก็เริ่มเข้าเซ้งกิจการร้านอาหารซันไทม์ในซอยทองหล่อ ต่อจากเพื่อนชื่อ สุพจน์ ศิริรพรเลิศกุล

" เพื่อนเขาอยากเซ้ง เขาชวนเราหุ้น แต่เราไม่ค่อยชอบหุ้นกับใคร เราเป็นคนตรง มีอะไรผิดมาไม่ได้เลย ก็เลยมีความคิดที่จะควบคุมเองเลยของเซ้งต่อราคา 9 ล้านบาท รวมอุปกรณ์เป็น 10 ล้านบาท โดยจะตกแต่งร้านให้หรูหราสไตล์โบราณ มีดนตรี แบบเพลงบันเลง ไวโอลีน" สุรีย์ กล่าว ถึงร้านอาหารของตน

การเข้ามาทำร้านอาหารและโรงแรมครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สุรีย์ลงทุนไปในเรื่องที่ตัวเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่คราวนี้ เขาได้มืออาชีพในการบริหารธุรกิจการบริการคือ ประกิจ ชินอมรพงษ์ มาเป็นกำลังสำคัญ

ประกิจ นั้น คร่ำหวอดกับธุรกิจโรงแรมมาร่วม 25 ปี คือร่วมงานกับโรงแรมดุสิตธานี 5 แ โรงแรมรีเจ้นท์ 17 ปี และสุดท้าย ที่โรงแรมสุโขทัย อีก 2 ปี ก่อนจะมาเป็นผู้บริหารให้สุรีย์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กลุ่มเพทาเเคิล รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือโรงแรม

" เรามีแต่ความตั้งใจแต่ไม่รู้เรื่องหรอก โรงแรมที่ภูเก็ตก็เหมือนกัน ทำมา 3-4 ปี สร้างเอง บริหารงานเอง ใครมาเห็นก็อยากจะหัวเราะ ของทุกอย่างดี สถานที่ก็ดี แต่ไม่หลักวิชาการในการบริหาร เราสั่งซื้อสบู่ แชมพู เครื่องแก้วคริสตัลอย่างดีมาใช้ สิบปียังใช้ไม่หมดเลย ก็อยากให้เป็นโรงเรียนด้วย เดิมทำไม่ใหญ่ 40-50 ห้องเท่านั้น ตอนนี้ก็มีคุณประกิจเข้ามาช่วย ก็คงจะดีขึ้น ตอนนี้เริ่มอยากสร้างโรงแรมใหญ่ ๆ ขนาด 350 ห้องบ้างแล้ว " สุรีย์ กล่าว

การมีคนอย่างประกิจเข้ามาช่วย สุรีย์ก็เริ่มคิดขยายธุรกิจออกไป โดยมีโครงการ ร้านอาหาร ซันไทม์ แห่งที่ 2 ที่เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ในขณะที่โครงการพัฒนาโรงแรมซอมเมอร์เซทที่ไปซื้อกิจการก็กำลังเริ่มต้นขึ้น

สุรีย์ เล่าว่า ตนเองเคยมีความคิดว่า ถ้าหาเงินได้สักแสนบาทก็จะเลิกทำงาน แต่ ณ วันนี้ จากลูกสาวชาวนา แห่งจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ไม่ได้ได้รับการศึกษามากมายเท่าไหร่นัก แต่เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งอกตั้งใจ เธอคือประธานกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนร่วมพันล้านบาท และยังไม่คิดจะหยุดอยู่เฉย ๆ เหมือนความคิดเดิมแต่หนหลัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.