เลียม อยุทธ์กิจ ชีวิตที่ต้องศึกษา

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องราวของเลียม อยุทธ์กิจ เป็นชีวิตที่สนุก มีสีสัน และยังให้แง่คิดสำหรับหลายคนในสังคมปัจจุบัน ที่ค่านิยมเปลี่ยนไปยึดถือเงินตราเป็นใหญ่ โดยไม่มองว่าฐานะและความมั่งคั่งที่แต่ละคนได้รับอาจไม่ได้มาจากความสามารถและตัวตนของคนคนนั้นเอง

พิธีเปิดโรงแรมพัทยาพาเลซ ของสุนีรัตน์ เตลาน เมื่อหลายปีก่อนถือเป็นภาพสะท้อนความเป็นตัวตนของเลียม อยุทธ์กิจได้ดีที่สุด

ก่อนถึงพิธีเปิด 1 วัน เลียมในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิส เซส (ประเทศไทย) หรือพีซีเอส ที่รับดูแลสถานที่ให้กับโรงแรมแห่งนี้ ต้องมาคุมลูกน้องทำความสะอาด ฉีดยากำจัดแมลง เพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมรับการจัดงาน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 จะเสด็จทรงเป็นประธานในพิธีเปิด

เขาคุมลูกน้องทำงานอยู่จนดึกดื่น และมีงานหลายชิ้นที่เขาต้องลงมือทำด้วยตนเอง

รุ่งเช้า เมื่อพิธีเปิดโรงแรมเริ่มขึ้น เขามาร่วมในพิธี แต่ไม่ใช่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ พีซีเอส

เขามาในฐานะแขกส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

“กลางคืนผมยืนฉีดปลวก กลางวันก็สวมหมวกเป็นแขกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พอเสร็จพิธีเปิด กลางคืนก็กลับไปฉีดปลวกต่อ” เลียมเล่ากับ “ผู้จัดการ” อย่างมีอารมณ์ขัน

เลียม อยุทธ์กิจ เป็นใคร? แล้วทำไมจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณีถึงขนาดนี้

ลำพังแค่การเป็นฝรั่งที่มาหลงเสน่ห์เมืองไทยเมื่อ 40 กว่าปีก่อน แล้วตัดสินใจลงหลักปักฐานทำงานสร้างกิจการจนมีฐานะได้รับการยอมรับจากสังคม คงไม่ใช่คำตอบแบบเบ็ดเสร็จ...

เลียมเป็นชาวไอร์แลนด์ ชื่อเดิมของเขาคือ Liam O'Keeffe (อ่านว่าโอคีฟตามสำเนียงไอริช) เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2506 ขณะที่มีอายุเพียง 18 ปี

“ผมมีญาติอยู่มาเลย์ มีญาติอยู่เมืองไทย ก็มาเที่ยวก่อนจบมัธยม ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยก็เดินทางมาเที่ยว แล้วก็ไม่ได้กลับ”

ทุกวันนี้ เขายังอธิบายไม่ได้ว่าอะไรคือเหตุผลหลักที่เขาประทับใจจนตัดสินใจอยู่เมืองไทยต่อ


“ไม่รู้ มันบอกไม่ถูก มันเหมือนเป็นบ้าน เข้ามามีความรู้สึกเหมือนเคยมาอยู่ มันมีความรู้สึกอย่างนี้ คือสบาย แล้วอาหารก็กินได้ ถูกคอ ถูกกับคนไทย แล้วก็เริ่มเรียนรู้ภาษาตั้งแต่มาอยู่ได้อาทิตย์แรก เป็นคนชอบเรื่องภาษา ก็จะถาม แล้วก็จะเรียนมาตลอด”

ครูคนแรกที่สอนภาษาไทยให้เลียมเป็นหญิงชราเจ้าของร้านชำใกล้ที่พักของเขา

“ตอนที่ตัดสินใจว่าจะอยู่เมืองไทย บอกที่บ้าน คุณแม่โวยวายมาก เพราะเป็นลูกชายคนเดียว จะให้กลับไปให้ได้ ผมก็เลยเอาคุณแม่มาเที่ยว พอคุณแม่มา เห็นเราอยู่แบบสุขสบาย ก็โอเค”

ครอบครัวของเลียมที่ไอร์แลนด์ จัดว่าไม่ธรรมดา แม่ของเขาเคยเป็นครูประจำครอบครัวของนายกเทศมนตรีกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวยุโรปในยุคนั้น หากเป็นคนที่มีฐานะจะไม่ส่งบุตรไปเรียนในโรงเรียน แต่จะมีครูประจำมาสอนถึงที่บ้าน

แม่ของเลียมอยู่กับครอบครัวของนายกเทศมนตรีกรุงบรัสเซลส์ จนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเดินทางกลับไอร์แลนด์ และแต่งงานกับพ่อของเขา ซึ่งเป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ในไอร์แลนด์ โดยทั้งคู่พบและรู้จักกันในคอร์ตเทนนิส

หลังจากเลียมตัดสินใจอยู่เมืองไทย เพื่อนของแม่เขาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อเจ้าชาวเยอรมัน ทำจดหมายแนะนำตัวเขากับ ม.จ. อาชวดิส ดิสกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธาน

ม.จ. อาชวดิส เป็นเพื่อนนักเรียนอังกฤษของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นผู้ชักชวนให้เขาออกจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการเงิน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ต่อจากยม ตัณเศรษฐี

เลียมจึงมีโอกาสรู้จักกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ในวันที่นำจดหมายแนะนำตัวมาให้ ม.จ. อาชวดิส

“ตอนที่ผมเอาจดหมายนี้มาถวายท่านใหม่ (ม.จ.อาชวดิส) คุณชายคึกฤทธิ์แกนั่งอยู่ข้างใน เป็นประธานแบงก์ ก็เรียกไปคุยกัน ถามว่ามาทำไม เขาอยู่กัน 2 คน ท่านใหม่กับคุณชายบริหารแบงก์อยู่” เลียมเล่าถึงจุดเริ่มต้น

เลียมเริ่มต้นใช้ชีวิตในเมืองไทย ด้วยการไปเช่าห้องพักอยู่กับญาติ บริเวณใกล้วัดเทวราชกุญชร ข้างหอสมุดแห่งชาติ

พื้นที่บริเวณนี้ในยุคเมื่อ 40 ปีก่อน นอกจากจะเป็นที่ตั้งวังของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์แล้ว ยังมีบ้านของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอีกหลายคน อาทิ วังบางขุนพรหม ของตระกูลบริพัตร บ้านของตระกูลเสนาณรงค์

เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมแรกที่เลียมรู้จักและสนิทสนมในประเทศไทย คือสังคมของคนชั้นสูง ทั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในบ้านเมือง

บุคลิกของเลียมเป็นคนขยัน กระตือรือร้น คุยสนุก แม้จะมีความรู้เพียงแค่ระดับมัธยม แต่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ และหาความรู้ใหม่ๆ มาใส่ตัวตลอดเวลา

“คนไทยผู้ดีโบราณนี่ ดีอยู่อย่าง คือถ้าเขาชอบคุณแล้ว เขาจะชอบที่ตัวคุณ เขาไม่ชอบเงินคุณ หรือเขาชอบคุณที่คุณเป็นคุณ แต่สมัยนี้มันต้องดูเยอะ ต้องดูว่ามีเงินเยอะๆ คือค่านิยมมันเปลี่ยน แล้วผู้ดีสมัยก่อน เขา uncon-ditional ถ้าเขาชอบ คือชอบไปเลย เขาไม่สนใจว่าเราเป็นอะไร เราชอบอะไร เราทำอะไรขอให้การประพฤติตัวดี ไม่ฉีกหน้าใคร ไม่ทำให้เสียชื่อ แค่นั้นก็พอแล้ว เขารับได้ แต่สมัยนี้มันเลิกง่าย ค่านิยมเปลี่ยนเยอะ คุณจะวิ่งในสังคม คุณต้องมีกองทุนหนุนหลัง”

การตัดสินใจว่าจะอยู่เมืองไทย ทำให้เลียมต้องหางานทำ ซึ่งก็ไม่ยาก จากสายสัมพันธ์ ที่เขาเริ่มมีแล้ว

เลียมเริ่มงานในไทยครั้งแรก โดยไปเป็นเจ้าหน้าที่ในกองถ่ายของบริษัทเพิร์ล แอนด์ ดีน เอเยนซี่โฆษณาจากประเทศออสเตรเลีย ที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาในไทย โดยมี ม.จ.สนิท รังสิต ทรงเป็นผู้ฝากเข้าไปทำงาน และยังทรงเป็นผู้ค้ำประกันในการขอวีซ่าแบบ resident ให้กับเขา

ม.จ.สนิท รังสิต ทรงเป็นอนุชาของ ม.จ.ปิยะ รังสิต พระสวามีของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต แห่งวังวิทยุ

เลียมทำงานอยูกับเพิร์ล แอนด์ ดีน อยู่ประมาณเกือบ 2 ปี ก็ถูกชวนไปเป็นเซลส์ขายเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัท Gerson แต่เขาก็ทำได้ไม่นานก็ย้ายไปอยู่บริษัทฟิลโก้ในเครือฟิลิปส์ ซึ่งขณะนั้นได้เข้ามารับทำสถานีรับสัญญาณดาวเทียมให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา

“ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม ผมก็เข้าไปอยู่ ไปทำสโตร์ให้เขา ฝึกทำ ตอนนั้นทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ก็เข้าไปฝึกทำ สมัยนั้นมีคอมพิวเตอร์ยังเป็นแบบการ์ด แล้วก็เจาะรู มันก็จะวิ่งไป วิ่งไป เขาสอนให้เราอ่าน พอผมทำไป ทำมา ได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้า เขาคงมองว่าหัวไว ก็สั่งชิ้นส่วนของเรดาร์จากเมืองนอก มาตั้งไว้ที่ศรีราชา เขาเขียว เขาค้อ ตั้งไว้หมด ก็อยู่จนเขาปิด เพราะ สัญญาหมด สงครามยุติปี 1976 ผมก็ออก”

ปี 1976 หรือ พ.ศ. 2519 หลังจากใช้ชีวิตในเมืองไทยมาถึง 13 ปีเต็ม ปีนี้ถือเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิตของเลียม

นอกจากเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนงานอีก ครั้ง เขายังได้ตัดสินใจโอนสัญชาติเป็นไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อและนามสกุล จาก Liam O'Keeffe มาเป็นชื่อไทยว่า “เลียม อยุทธ์กิจ”

โดยชื่อ “เลียม” ในภาษาไทย เป็น การแผลงตรงตัวจากชื่อเดิมในภาษาอังกฤษ ส่วนนามสกุลนั้น พระองค์กลาง คือพระวรวงศ์ เธอพระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร ทรงช่วยตั้งให้

“ตอนนั้นกฎหมายเขากำหนดว่าต้องเปลี่ยนนามสกุลด้วย ท่านบอกต้องขึ้นต้นด้วย อ.อ่าง เพราะเดิมเป็นโอคีฟ เลยต้องขึ้นด้วย อ.อ่าง ส่วนตัวอื่นให้ไปหาเอาเอง ผมมีเพื่อนอีกคน คือ ม.ร.ว.อิทธินันท์ อาภากร เขาบอก ว่าเดี๋ยวไปทำรีเสิร์ชให้ คือ สมัยนั้นเวลาขอนามสกุล ต้องเผื่อไว้สัก 10 ชื่อ เพราะถ้ามีแล้วเขาไม่ให้ ก็มาจบเอาตรงนี้ อยุทธ์กิจ”

ความหมายของคำว่า “อยุทธ์กิจ” ตามความเข้าใจของเลียม คือผู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อการงาน

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร เป็นราชนิกุลในสกุลบริพัตร เป็นธิดาองค์ที่ 3 ของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ ม.จ.ประสงค์สม

ส่วน ม.ร.ว.อิทธินันท์ อาภากร มีศักดิ์ เป็นหลานของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต้นสกุลอาภากร

“ม.ร.ว.อิทธินันท์กับลูกพี่ลูกน้องของเขา นาวาตรีภากร ศุภชลาสัย นี่เป็นเพื่อนสนิทกันมาก เพราะเขาจบไอร์แลนด์ ตอนมาเมืองไทยใหม่ๆ ไม่ถึงอาทิตย์ ก็เจอกันแล้ว”

นอกจากนี้ยังเป็นปีที่เขาได้ขึ้นไปปลูกบ้านอีกหลังไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยซื้อที่ดินแปลง ติดกันกับ ม.ร.ว.หญิง พักตร์พริ้ง ปราโมช ภรรยาของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นที่ดินริมแม่น้ำปิง ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง อยู่เยื้องๆ คนละฝั่งแม่น้ำกับบ้านริมปิง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์

“เชียงใหม่ เริ่มขึ้นมาเมื่อ 35-36 ปีแล้ว ปี 1969-1970 มาอยู่เมืองไทยได้ 5-6 ปี ก็เริ่มขึ้นมา ขึ้นมาเที่ยวปีละครั้ง 2 ครั้ง ก็เริ่มชอบ ผมจะมากับคุณหญิงพักตร์พริ้ง เราชอบไปเที่ยวกัน ไปสุโขทัย ไปศรีสัชนาลัย ชอบไปดูเมืองโบราณ ก็มา บางทีก็มาเป็นกลุ่ม มาเที่ยว คุณหญิงก็มาซื้อที่ก่อน ผมก็ตามมา ก็มาซื้อที่ด้วยกัน แล้วก็ทำรั้วกัน มีประตูเข้า-ออกถึงกันได้” (รายละเอียดอ่านล้อมกรอบ “พ่อคนที่ 2” ประกอบ)

ตลอด 13 ปีแรกที่อยู่ในเมืองไทย เปลี่ยนสถานที่ทำงานมา 3 ครั้ง ทำให้นอกจากสาย สัมพันธ์ที่มีกับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่จะขยายวงกว้างขวางขึ้นแล้ว เขายังสั่งสมประสบการณ์จากงานแต่ละงานที่เขาทำ เริ่มมีฐานะ และมีสายสัมพันธ์ที่ขยายวงออกไปสู่วงการธุรกิจ

โดยเฉพาะช่วงที่เป็นพนักงานขายของ Gerson ซึ่งแม้เป็นงานที่เขาไม่ชอบนัก แต่ก็ได้สร้างประสบการณ์ให้กับเขามากมายทีเดียว

“ผมต้องไปขายของที่เยาวราช ไปขายมู่ลี่ ขายฮาร์ดแวร์ให้กับพ่อค้าชาวจีนในเยาวราช แบกสินค้าตัวอย่างไปหาเถ้าแก่ ซึ่งตอนนี้พวกนั้นก็กลายเป็นบริษัทใหญ่โตไปหมดแล้ว แต่เริ่มต้นที่เยาวราช ผมก็เดินขายสินค้าตัวอย่าง รับออร์เดอร์ ทำให้ได้รู้จักคน ทำให้เราเคยชินกับ ตลาดคนไทย ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เลยดี เป็นประสบการณ์พื้นฐานที่ดีต่อการเข้ามาทำมาหากิน แล้วทำให้กล้า ตอนหลังไปเจรจาเรื่องการค้ากับนักธุรกิจเหล่านี้ ก็ไม่กลัว”

หนึ่งในนักธุรกิจระดับพันล้านที่เลียมได้มีโอกาสรู้จักในช่วงนั้น คือ อุเทน เตชะไพบูลย์ และต่อมาในภายหลัง อาคารสำนัก งานใหญ่ของธนาคารศรีนคร ที่สวนมะลิ ได้เป็นอาคารขนาดใหญ่หลังแรกที่ว่าจ้างพีซีเอส เข้าไปดูแลความสะอาด และรักษาความปลอดภัย โดยเลียมเป็นคนไปนำเสนอโครงการ กับคณะกรรมการของธนาคารด้วยตัวเอง

นอกจากนี้เขายังได้รู้จักกับแกรดิส เหล่าวานิช ภรรยาชาวออสเตรเลียของบุญเกื้อ เหล่าวานิช เจ้าของอโศกมอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โฮลเดนในยุคนั้น ซึ่งเป็นคนแนะนำให้เขาเข้าไปทำงานกับบริษัทฟิลโก้ หลังจากเขาลาออกจาก Gerson

ซึ่งในการต่อยอดสายสัมพันธ์ในสายธุรกิจนี้ยังต่อเนื่องมาถึงกรณีที่เขาได้เข้าไปในพีซีเอส ที่ในช่วงแรกนั้นยังใช้ชื่อ แองโกลไทย คอมเมอร์เชียล ในเครือแองโกลไทย

“ผมไปงานปาร์ตี้ เจอแชร์แมนของแองโกลไทย ตอนนั้นเขาอายุมาก แต่ผมอายุยังน้อย เขาคงจะอยากรู้ว่า ฝรั่งคนนี้มาทำอะไร แล้วก็พูดไทยได้ แล้วเผอิญเขาเพิ่ง set up แผนกกำจัดแมลง เพิ่งได้แฟรนไชส์ของเรนโตคิลมา แล้วไม่มีใครบริหาร เขาก็มาถาม ผมว่าทำเป็นมั้ย ผมบอกว่าเป็น ผมเป็นหมดทุกอย่าง เขาก็ถามว่าจะมาทำไหม เขาจะให้บริหาร จะยกให้ มันเป็นการกระโดดอย่างดีมาก ผมก็เข้าไปทำ ไปบริหาร เขาก็ให้เลขา กับพนักงานมา รวมเป็น 3 คน”

“แต่จริงๆ ตอนนั้น แมลงสาบ มด ยังไม่รู้จักเลย ไม่เคยเห็น หน้าตาเป็นยังไง ก็ต้องวิ่งไปหาซื้อหนังสือมาอ่าน” เป็นการแสดงอารมณ์ขันอีกช่วงหนึ่ง

หลายคนอาจมองว่าบุคลิกเช่นนี้แสดง ถึงความกะล่อน แต่ความจริงไม่ใช่ เลียมเป็น คนที่มีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่างานทุกอย่างสามารถเรียนรู้ได้ และเมื่อเขาต้องเรียนรู้ เขา จะทุ่มเทอย่างหนัก ทั้งในด้านทฤษฎี โดยการ อ่านหนังสือ ถามผู้รู้ รวมถึงด้านการปฏิบัติ

สัญญาธุรกิจหลายรายที่พีซีเอสได้มาในช่วงนั้น อาทิ อาคารสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โรงแรมดุสิตธานี ฯลฯ เป็นการดีล โดยที่เลียมไปนำเสนอโครงการกับเจ้าของอาคารด้วยตัวเอง

ทั้งที่วุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการของเขาขณะนั้น จบแค่ระดับมัธยมศึกษา

“ก็ service เราให้บริการ แล้วอีกอย่างหนึ่ง เราพยายามอธิบายกับเขา บอกว่าคุณทำธุรกิจอะไร อย่างคุณทำหนังสือพิมพ์ คุณอยากยุ่งไหมเรื่องรักษาความปลอดภัย อยากยุ่งไหมเรื่องทำความสะอาด คุณยุ่งแค่เขียนหนังสือนี่ก็หนักแล้ว ก็โอนมาให้ผมดูแลให้ สิ่งที่เป็น core business คุณจะได้ทำไป ผมให้บริการสิ่งนี้ คุณก็ตัดปัญหาไปได้ ซึ่งเขาก็ยอมรับ ก็ลองดู แล้วมัน work ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเสียเวลาคุมพนักงานเอง วันไหนพนักงานขาด ก็ไม่ต้องไปหาคนแทน เพราะเป็นหน้าที่ของเรา ก็สะดวกเขา คือเขาซื้อความสะดวก”

ไม่เพียงนักธุรกิจ ยังรวมถึงบ้านของผู้ที่มีอันจะกินหลายหลังในกรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าของบ้าน เหล่านั้นล้วนต้องรู้จักกับเลียม เพราะจะต้องเห็นเขาหิ้วถังน้ำยา เครื่องไม้เครื่องมือ ออกไปกับ ลูกน้อง เพื่อให้บริการกำจัดแมลงตามบ้านด้วยตนเองทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนดึกดื่น

ถือเป็นสายสัมพันธ์ที่เขาได้เพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าหลายครั้งที่เขาได้ลูกค้ามาเป็นเพื่อน หรือได้เพื่อนมาเป็นลูกค้า โดยที่แยกกันไม่ออก

“แต่สายสัมพันธ์ เราก็ต้อง work ด้วย มันไม่ได้มาเอง สายสัมพันธ์นี่ ถ้านั่งอยู่เฉยๆ มันไม่วิ่งมาหาเรา มันอาจจะเป็น subconscious ก็ได้ อาจจะไม่ได้ตั้งใจคบคนเพื่อจะได้งาน แต่ว่ามันเป็นโบนัสจากการคบคนว่า สร้าง creditability สร้างความเชื่อถือในสังคม สมัยก่อน ถ้านึกถึงความสะอาด ก็นึกถึงคุณเลียม นึกถึงพีซีเอส มันก็สร้างแบรนด์เนมของพีซีเอสขึ้นมา สมัยก่อนใครจะทำความสะอาด ก็ต้องพีซีเอส จะนึกถึงใครก่อน ก็ต้องพีซีเอส”

และสายสัมพันธ์เหล่านี้ก็ได้ชักนำให้เขาได้เข้าไปรับงานกำจัดแมลงให้กับวังสุโขทัย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในเวลาต่อมา

ก่อนหน้ารับงานนี้ เลียมสนิทสนมกับ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ดีไซเนอร์ชื่อดังของเมือง ไทยในยุคนั้นอยู่แล้ว ม.จ.ไกรสิงห์ทรงเป็นผู้ออกแบบฉลองพระองค์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าพระนางรำไพพรรณี และทรงเป็น ผู้แนะนำให้เลียมเข้าไปรับงานนี้

เขาได้เข้าไปดูแลการกำจัดแมลงในวังสุโขทัยด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เลียม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนาง เจ้ารำไพพรรณีให้เข้าเฝ้า และให้ขึ้นร่วมโต๊ะเสวยด้วยหลายครั้ง

“ท่านทรงรู้นะว่าผมพูดภาษาไทยได้ ก็ทรงไม่ยอมให้ผมพูดภาษาอังกฤษ ผมก็บอกว่าผมไม่กล้าพูด เดี๋ยวผิด ท่านก็บอกว่าผิดแล้วจะบอก ก็ชอบ ท่านก็ทรงสอนให้ ราชาศัพท์สอนให้หมด”

การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและร่วมโต๊ะเสวยกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก็ยังคงมิใช่เหตุผลหลักที่เขาได้รับการวางพระราชหฤทัย จนได้รับเชิญเป็นแขกส่วนพระองค์ ในพิธีเปิดโรงแรมพัทยาพาเลซ ดังที่ได้ตั้งปุจฉาไว้แล้วในตอนต้น

ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นจากตัวตนของเขา ที่เขาไม่เคยปิดบังซ่อนเร้น มีความจริงใจ กับทุกคนที่รู้จัก ไม่ว่าคนผู้นั้นจะอยู่ในชนชั้นไหน

“ผมเป็นคนไม่กลัว ผมเป็นคนไม่มีอะไร ไม่มีวาระซ่อนเร้น มีก็อย่างที่เห็นอยู่ รับได้ ก็รับได้ เพราะไม่มี agenda อื่น”

พีซีเอสภายใต้การดูแลของเลียม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากพนักงานเพียงไม่กี่คนในช่วงเริ่มต้น เพิ่มมาเป็น 1,700 คน และหลังบริษัทแม่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยได้บริษัทอินช์เคปมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเปลี่ยนนโยบาย โดยการขายกิจการต่อให้กับเลียมในปี 2531 เขาได้จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ขึ้น โดยเชิญ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นประธาน (อ่านเรื่อง “PCS ไม่ได้มีแค่แม่บ้าน” ประกอบ)

“ตอนนั้นผมก็มาคิดว่า อย่างเราเป็นใคร อย่าอวดเก่งเลย ผมก็เลยไปหาคุณชาย ขอให้ ท่านเป็นประธาน ท่านก็บอก อยากเป็นเหลือเกิน คนทำความสะอาด ยินดีเป็นให้”

ก่อนหน้านั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์รู้เรื่องราวของพีซีเอสมาตลอด ตั้งแต่ต้นในยุคที่ยังอยู่ภายใต้ร่มเงาของแองโกลไทย และอินช์เคป เพราะเลียมมักจะนำงบการเงินของบริษัทไปให้ดู เพื่อขอความรู้ในด้านการบริหาร และการทำธุรกิจ

บริษัทพีซีเอสที่เลียมจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่ จึงถือเป็นกิจการเดียวที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน โดยที่ครอบครัวไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ เพราะขณะนั้นยังมีอีก 3 บริษัท ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นประธาน คือบริษัทน้ำมันพืชทิพย์ บริษัทหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์ ล้วนมีครอบครัว เครือญาติของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสิ้น

พีซีเอสจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น ราคาพาร์ 1,000 บาท

เลียมถือหุ้นในบริษัทนี้ 5,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 55% ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถือหุ้นอยู่เพียง 250 หุ้น หรือเท่ากับ 2.5%

ตลอดเวลา 17 ปีที่ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ การดำเนินงานของบริษัทเรียกได้ว่าเติบโต และมีกำไรติดต่อกันมาโดยตลอด

พีซีเอสเป็นบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนน้อยมาก จากงบการเงินในปี 2547 บริษัทมีหนี้สินรวม 147.9 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น 462.6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเพียง 0.3 ต่อ 1

“ผมให้ความสำคัญกับ cash flow เวลาทำธุรกิจ จะกำไรขาดทุนบางทีมันไม่สำคัญ มันอยู่ที่ cash flow อันนี้นี่สำคัญส่งผลต่อความอยู่รอดได้ เวลาเราเด็กๆ เรารู้ว่าซื้อ 10 บาท ต้องขาย 15 บาท กำไรนี่สำคัญ แต่ความจริงต้อง cash flow อย่างพีซีเอสนี่อยู่ได้เพราะ cash flow ดี ผมมีนโยบายไม่กู้เงิน เพราะผมขี้เกียจทำงานให้แบงก์ เพราะมันจะทำให้บิลลิ่งเปลี่ยนแปลงหมดเลย ทำให้เครียดด้วย เราขยายตามเม็ด เงินที่เรามีอยู่ ไม่มีก็ไม่ขยาย แล้วมันก็อยู่ได้ มันไปได้เรื่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ”

อีกจุดหนึ่งที่เลียมให้ความสำคัญ คือเขาจะไม่ยอมนำพีซีเอสเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“เราไม่เน้นเรื่อง share value คือถ้าเน้น share value เมื่อไรนะ focus มันเปลี่ยน focus เปลี่ยนทันทีเลย เพราะต้องรักษา share price อยู่นั่นแหละ แล้วบางทีอย่างเรนโตคิล เมืองนอก เขา focus ไปทาง share price เขาก็ต้อง acquire มี acquisition อยู่ตลอด เวลา จน momentum มันสูง พอเขาหยุดทำ acquisition หุ้นตกมาก ตกมากๆ จนเขาต้อง ขายออก บางแขนงและบางประเทศ ผมเลยคิดว่าเราไม่มีนโยบายเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ”

“ผมเอง ผมคิดว่า ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ... ตอนนี้เม็ดเงินเราที่เราขยายบริษัท เราใช้ cash flow ก็พอ เรามี track record เราเติบโตจาก cash flow ไม่ใช่กู้มา เพราะฉะนั้นเวลาเศรษฐกิจมันตกต่ำ เรากระทบไม่มาก ไม่มีหนี้ ผมค่อนข้างจะ concern เรื่อง พวกนี้ แล้วคิดว่าต่อไปผมเองจะได้อะไร ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มันได้อะไร หุ้นส่วนจะรวย ผมอาจจะหัวคิดโบราณก็ได้ ผมคิดว่า timing ยังไม่พร้อม แต่ไม่แน่ อีก 10 ปี 20 ปี ผมไปเรียบร้อยแล้ว เขาอาจอยากจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ปี 2547 พีซีเอสมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เลียมตัดสินใจเริ่มต้นกระบวนการรีไทร์ โดยจะให้โอซีเอส หุ้นส่วนธุรกิจจากอังกฤษ ที่เข้ามาร่วมทุนอยู่ด้วยตั้งแต่ต้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และบริหารงานอย่างเต็มตัว

จากมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 อนุมัติให้เปลี่ยนรอบบัญชีจากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน มาเป็น สิ้นสุดเดือนธันวาคม เริ่มต้นนับงวดแรกในรอบบัญชีวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547

ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 และวันที่ 10 มีนาคม 2548 อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นครั้งแรก จาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท โดยการออก หุ้นใหม่จำนวน 10,000 หุ้น พาร์หุ้นละ 1,000 บาท ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2549 หลังการเพิ่มทุน ปรากฏว่าสัดส่วนการถือหุ้นในพีซีเอสได้เปลี่ยน เป็นเลียม ถืออยู่ 946 หุ้น คิดเป็น 4.73% บริษัทโอซีเอส ถือ 2,403 หุ้น คิดเป็น 12.01% และบริษัทศุภนรินทร์ ซึ่งเลียมระบุว่าเป็น holding company ถือหุ้นอยู่ 16,548 หุ้น หรือเท่ากับ 82.74%

“บริษัทเป็นบริษัทย่อยของ OCS Group Limited ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอังกฤษ โดยถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็น จำนวนร้อยละ 94.74 ของทุนที่ออกและชำระ แล้ว” นัชลี บุญญะการกุล ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เลขทะเบียน 3126 จากสำนักงานดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของพีซีเอส สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548

ผลการดำเนินงานปี 2548 พีซีเอสมีรายได้รวม 2,319.33 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 101.69 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (คิดจากหุ้นถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 18,137 หุ้น) หุ้นละ 5,606.61 บาท

บริษัทได้จ่ายปันผลจากผลการดำเนิน งานปี 2548 รวมหุ้นละ 1,500 บาท โดยเป็น การจ่ายจากมติผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 เมษายน 2548 หุ้นละ 500 บาท และคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้จ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 อีกหุ้นละ 1,000 บาท

“ส่วนใหญ่คนเขาไม่รู้ เวลาผมบอกรายได้ของพีซีเอส หรือยอดขายพีซีเอส ปีหนึ่งๆ ตอนนี้ก็เหยียบ 3 พันล้านบาท เขาสงสัยว่าเป็นไปได้เหรอ ผมบอกได้ เขานึกว่ายังเป็นบริษัทเล็กๆ อยู่ คือพีซีเอสมันเป็น high profile เฉพาะกลุ่ม มันไม่ใช่ high profile แบบบริษัทอุตสาหกรรม ที่ปีหนึ่งๆได้เป็นหมื่นล้าน แต่สำหรับในธุรกิจของเรา เราก็ใหญ่”

ด้วยผลการดำเนินงานแบบนี้ หากคิดย้อนหลังตั้งแต่เลียมจดทะเบียนตั้งบริษัทมาเมื่อปี 2532 จนถึงปี 2548 ที่มีการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างการถือหุ้นตลอดเวลาประมาณ 16 ปีที่แล้ว รายได้ที่เขาได้รับจากพีซีเอสนั้น ไม่น้อยเลยทีเดียว

“ผมไม่รวยนะ ถ้าเทียบกับคนรวย ผมกระจอกงอกง่อย ผมมีพอกิน พอใช้ แต่ว่า ผมใช้อย่างทะนุถนอม ชาตินี้ก็ใช้ไม่หมด”

ทุกวันนี้เลียมวางมือจากงานประจำใน พีซีเอสไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

หากคำนวณสัดส่วนสำหรับกิจวัตรประจำวันแล้ว ทุกวันนี้เขาทำงานให้พีซีเอสเพียงแค่ 10% ในแต่ละวัน แต่สำหรับสมองแล้ว เขายังให้อยู่เต็ม 100%

“ทำยังไงได้พีซีเอสมันเป็นเหมือนลูก มันแยกกันไม่ออก เราไปที่ไหน เราก็อดคิดไม่ได้ เห็นตึกใหม่ขึ้นมา ก็ต้องโทรไปถามแล้วว่าตึกนี้มีใครเข้าไปเสนอโครงการแล้วหรือยัง หรือคิดอะไรได้ ก็อีเมลไปหาเขา จี้เขา จนเขาจะบ้าตาย ต้องบอกให้ผมไปพักผ่อนเถอะ ตรงนี้เขาจัดการกันเอง”

เขาใช้ชีวิตในแต่ละวัน ไปกับงานเชิงสังคมที่เขาได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เดินทางขึ้น-ลง ระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-พัทยา รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศ และพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเก่าๆ เป็นบางครั้ง

ซึ่งส่วนใหญ่ในทุกวันนี้โอกาสที่เขามักได้พบกับเพื่อนฝูงเหล่านี้คือตามงานศพ

เลียมบอกว่า เขาไม่คิดว่าตัวเองนั้น เป็นไฮโซ แม้ว่าหากเอ่ยชื่อเขาแล้ว เขาเชื่อว่า คนในวงสังคมชั้นสูงทุกวันนี้ต้องรู้จักเขาหมด

“คือตอนหลังมันมีพวกไฮโซเยอะ เราไม่ใช่ไฮโซ ก็มีคนน่าสนใจกว่าพวกออกสังคม”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนิยามของคำว่า ไฮโซนั้น เป็นนิยามที่สังคมยุคปัจจุบันเข้าใจ

นิยามที่ว่าคือคนที่ขอเพียงแค่ให้ได้ไปปรากฏตัวตามงาน หรือพยายามทำตัวให้มีชื่อหรือมีภาพปรากฏเป็นข่าวตามสื่อ แม้ว่าการทำตัวแต่ละอย่าง หรือข่าวที่ปรากฏออกไปนั้น จะทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองในสังคมอื่นที่ตนเองคิดว่าเป็นสังคมที่ low กว่า มองในเชิงลบก็ตาม

รวมทั้งนิยามที่เด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าใจว่า ขอเพียงอาศัยนามสกุลที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา เป็นใบเบิกทาง หรือบัตรผ่านสำหรับการเข้าสู่สังคมของกลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองเป็นไฮโซ แต่ตัวตนที่แท้จริงกลับไม่มีอะไร

“ก็ผมไม่ได้ออกงาน เคยออก แต่ตอนหลังจะออกแต่งานที่เป็นประโยชน์ ถ้างานอื่นนี่ไปจนเบื่อ แล้วคนรุ่นใหม่ เราก็ไม่รู้จัก รุ่นลูก รุ่นหลานนี่ ผมไม่รู้จักหรอก รุ่นนี้ ถ้าไม่รู้จักแล้ว ไปเราก็ไม่สนุก ถ้าไปตอนนี้ก็เจอ เพื่อนๆ ในงานศพ ก็ตามวัย เจอกันตามงาน ศพ พวกเจ้านายก็ยังเจอกันอยู่”

ทุกวันนี้พวกเจ้านาย หรือเพื่อนๆ ที่เลียมว่า เมื่อเจอเลียมแต่ละครั้งยังต้องขอคำปรึกษาจากเขาทุกครั้ง เกี่ยวกับปัญหามด แมลง และปลวกภายในบ้าน

“ผมต้องคอยบอกตลอดว่า พี่ ตอนนี้ผมอายุ 62 แล้วนะ จะให้ไปมุดใต้ถุนบ้านพี่ คงไม่ไหวแล้ว มันอ้วนขึ้นแล้ว”

น่าสนใจไหมล่ะ สำหรับชีวิตของคนคนนี้

คนที่ชื่อ “เลียม อยุทธ์กิจ”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.