Big Challenge ธุรกิจปีหมูทองท้าทายนักการตลาดฝ่าสู่ความสำเร็จ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- เปิดความท้าทายธุรกิจใหญ่ ในปีหมู
- โออิชิ หาความสำเร็จเซกเมนต์ใหม่ ตามรอยชาเขียว
- "กนก" แนะการบินไทยสร้างจุดยืนรับศึกเสรีการบิน
- จีทีเอช กับปีแห่งการเติบโตของธุรกิจหนังที่สุดท้าทาย

ผ่านพ้นปีแห่งความเหนื่อยล้าของเหล่าธุรกิจ ที่ต้องเดินผ่านเส้นทางแห่งความยากลำบากมาตลอด365 วัน ทั้งปัญหาการเมืองที่อึมครึมข้ามปี จนถึงกับหยุดชะงักจากการรัฐประหาร กระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ความผันผวนของเศรษฐกิจ เงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันพุ่งสูง แม้ทุกคนนำพาธุรกิจฝ่าอุปสรรคมาจนผ่านพ้นปีได้ แต่เวลาหยุดพักคงไม่มีมากนัก Big Challenge ความท้าทายของธุรกิจในปีหมูทอง ยังรออยู่ข้างหน้า

ตัน มั่นใจแบรนด์ "โออิชิ"แข็งแกร่ง พร้อมขยายฐานเครื่องดื่มเซกเมนต์ใหม่

ทุกๆธุรกิจมีคู่แข่ง และมีการแข่งขัน ร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ เป็นธุรกิจส่วนที่ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ไว้วางใจมากที่สุด เพราะมีเติบโตทุกปีๆในอัตรา 20%

ทว่า ธุรกิจชาเขียวที่เคยสร้างรายได้ให้ค่ายโออิชิ จากนี้ไป ถ้าจะคาดหวังให้ตลาดรวมมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด 100% เหมือนที่ผ่านมา คงเป็นเรื่องยาก ซึ่งเมื่อปีแรกที่เครื่องดื่มชาเขียวเข้าตลาด มีมูลค่าตลาดรวม 400 ล้านบาท และค่อยๆงอกเงยขึ้นจาก 1600 ล้านบาท จนถึง 3 พันล้านบาทภายในเวลา 3 ปี แต่จากนี้ไปตลาดชาเขียวจะมีการเติบโตเพียง 10-15% แบบช้าๆแต่มั่นคง

แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่า นั่นก็คือ ค่ายโออิชิ ภายใต้การคุมบังเหียนของ ตัน จะสามารถหาสินค้าตัวที่สองเข้ามาในตลาดให้มีอัตราการเติบโตมากเหมือนเดิม ซึ่งเค้าบอกว่า "นั่นคือการสร้างปฎิหารย์"

เพราะต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดเครื่องดื่ม ที่มีความท้าทายถึง 2 เซกเมนต์คือ เครื่องดื่มวอเตอร์ พลัส ภายใต้แบรนด์ "อะมิโน โอเค" สินค้าตัวที่สองซึ่งออกมาทำตลาดต่อเนื่องจากการทำตลาดชาเขียว ซึ่งยังเป็นตลาดใหม่ และมีขนาดตลาดเล็ก แต่มีความน่าสนใจ

แม้ว่าที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% จากตลาดรวมมูลค่า 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตามตลาดอะมิโน ยังเป็นเซกเมนต์ใหม่ ที่มีผู้เล่นในตลาดเพียง 2 แบรนด์คือยูนิฟ ไอเฟิร์ม กับอะมิโน โอเค ของโออิชิ

"การทุ่มเม็ดเงินทำตลาดเข้าไป 50 ล้านบาท ก็ยังไม่สามารถสร้างตลาดให้มีการเติบโตมากกว่านี้ และยังมองไม่เห็นทางว่า ตลาดอะมิโนจะมีขนาดตลาดเติบโตขึ้นไปเป็นมูลค่า 3 พันล้านบาทได้ยังไง ตัวเลขการเติบโตของมูลค่าตลาดที่เป็นไปได้คงเป็นไปตามลำดับจาก 300 ล้านบาท 600 และเต็มที่ 1 พันล้านบาท เพราะการสื่อสารถึงผู้บริโภคเพื่อบอกถึง Benifit ของมีบริษัทเราพูดคนเดียว

และสิ่งที่ตลาดเครื่องดื่ม ในเซกเมนต์วอเตอร์พลัส ต้องการคือมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตลาดมากกว่านี้ เข้ามาช่วยกันพูดถึงคุณค่าของสินค้า ซึ่งเชื่อว่ามีแน่นอน เท่าที่รู้คือมีค่ายสิงห์ และค่ายอายิโนะโมะโต๊ะเข้ามาในตลาดนี้ด้วยอย่างแน่นอน "

ขณะที่ตลาดน้ำผลไม้ เป็นเครื่องดื่มเซกเมนต์ต่อมา ที่เข้าไป เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีการเติบโตมากที่สุด ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจบันนี้มีมูลค่าตลาด 4-5 พันล้านบาท และปีนี้มีการเติบโต 20-30% ซึ่งคาดว่าปี2550 จะเติบโตถึง 50% เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดมาก และแต่ละค่ายทุ่มเม็ดเงินโฆษณาลงในตลาดน้ำผลไม้มากถึง 1 พันล้านบาท เพราะเฉพาะน้ำส้มเซกิ โออิชิ ก็เตรียมลงเงินไว้ประมาณ 100 ล้านบาท

ล่าสุดประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่ายโออิชิได้ส่งแบรนด์ใหม่ "เซกิ" ลงไปทำตลาดน้ำผลไม้

"ตลาดน้ำผลไม้ เป็นความท้าทายมากที่สุด เพราะเป็นเค้กก่อนโต ที่บริษัทไม่ได้เป็นผู้นำตลาดมาก่อน

นอกจากนั้น ความท้าทายของค่ายโออิชิ เมื่อลงไปทำตลาดน้ำผลไม้นั้นยังอยู่ที่เป้าหมาย "เซกิ" ซึ่งเป็นสินค้าสตาร์ของบริษัท จะมีส่วนแบ่งตลาดเท่าไหน

โดยหวังยอดขายปีแรก 500 ล้านบาท จากตลาดรวมปีหน้าที่คาดว่ามีมูลค่า 8 พันล้านบาท ขณะเดียวกันการทำตลาดน้ำผลไม้ ภายใต้แบรนด์ "เซกิ" ในอนาคต ซึ่งเมื่อสินค้าสามารถไปในตลาดได้อย่างสวยงาม ยังได้วางแผนจะลงเล่นในตลาดน้ำผลไม้ 100% ด้วยเช่นกัน "

"การเริ่มต้นจากจุดนี้ ถือว่าง่ายกว่าการทำตลาดน้ำผลไม้ 100% ที่ทำตลาดยาก เพราะพฤติกรรมการดื่มของลูกค้ากลุ่มนี้เอาเหตุผลด้านราคาเข้าไปจูงใจไม่ได้ แต่จะดื่มเลือกดื่มสินค้าที่มีความคุ้นเคยไม่ค่อยเปลี่ยนแบรนด์ เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ถ้าเข้าถึงจะทำตลาดได้ในระยะยาว "

ตัน บอกว่า ก่อนหน้านี้เลือกลงตลาดอะมิโนก่อน ทั้งๆที่น้ำผลไม้มีขนาดตลาดใหญ่กว่า เพราะนิสัยชอบทำตลาดใหม่ "ถ้าสร้างตลาดเองตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ซึ่งถ้าได้ ก็ได้คนเดียว แต่เมื่อเข้าไปก็เหนื่อย เพราะเราพูดคนเดียว ตลาดยังเล็ก และคู่แข่งยังไม่เข้ามา ในขณะเดียวกันตลาดน้ำผลไม้ที่มีการเติบโต 30-50% ถ้าไม่รีบเข้ามาอาจจะสายไป ซึ่งก็เป็นแผนการตลาดในการลงเซกเมนต์เครื่องดื่มใหม่ครั้งที่สอง ความจริงตั้งใจจะวางตลาดในเดือนมีนาคม ช่วงหน้าร้อน เพราะเรามองเห็นโอกาสปลายปีว่าตลาดโตแน่"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากส่วนผสมทางการตลาด 4 P ทุกตัว ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ตัน บอกว่า สิ่งที่มั่นคงถาวรคือ "แบรนด์" ซึ่งสามารถสร้างยอดขายได้

" ถ้ามีคนถามว่ามีทรัพย์สินอะไรมากที่สุด นั่นคือแบรนด์ "โออิชิ" การประสบความสำเร็จในการทำตลาดเครื่องดื่มเซกเมนต์ใหม่ทั้ง 2 ตลาด ให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้าทุ่มเม็ดเงินโฆษณาและวิธีการทำตลาดที่โดนใจผู้บริโภค ซึ่งถ้าไม่ได้ ทุ่มเท่าไหร่ก็หมดเท่านั้น

ความแข็งแกร่งของแบรนด์ "โออิชิ" มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนคือการทำตลาดทั้ง 3 แบรนด์ภายใต้แบรนด์ "โออิชิ"คือ โออิชิ กรีนที ทำตลาดเครื่องดื่มชาทุกเซกเมนต์ ซึ่งมีความแข็งแกร่ง พร้อมจะลงไปทำตลาดชาทุกเซกเมนต์ ขณะที่ โอเค ทำตลาดน้ำดื่มทุกชนิดที่ใส่วิตามิน และเซกิ เป็นน้ำผลไม้เพียวๆที่ไม่ใส่วิตามิน และทั้งตลาดน้ำผลไม้มีเดียม 20-30%

ที่สำคัญ เครื่องดื่ม "อะมิโน โอเค" ซึ่งแม้จะเข้ามาทำตลาดหลังยูนิฟ ไอเฟิร์มปีครึ่ง แต่ด้วยความแข็งแกร่งของแบรนด์ ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าคู่แข่ง 2-3 เท่า เช่นเดียวกันกับ เซกิ แม้จะมาใหม่ในตลาด แต่การเข้ามาแข่งขันในตลาดน้ำส้มที่มีตลาดหลายระดับตั้งแต่มีแบรนด์และไม่มีแบรนด์ ทว่าที่สามารถขายได้นั่นเป็นเพราะ แบรนด์โออิชิอย่างชัดเจน

ส่วนการทำตลาดชาเขียว ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่โออิชิ มีความมั่นใจมาก เพราะมีส่วนแบ่งตลาด 70% เป็นไปได้ที่จะพลิกเร็วขนาดนั้นไปเหลือเพียง 20% โดยไม่รู้ตัว (ถ้าเราไม่ประมาท) ซึ่งวิธีการทำตลาดชาเขียวจะเปลี่ยนไป จะเหลือแต่ผู้เล่นในตลาดที่เป็นตัวจริง เพราะรายใหม่เข้ามามีแต่เจ็บตัว

"การเติบโตยอดขายของ โออิชิ กรีนที แม้กลางปีจะประสพอุบัติเหตุทำให้ยอดขายตกลงมา แต่ทิศทางดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากออกอากาศภาพยนตร์โฆษณา 2-3 เรื่องในช่วงที่ผ่านทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 20- 30% ซึ่งการเติบโตลักษณะนี้ไม่มาก แต่ส่งผลในระยะยาวและคาดว่าจะมีส่วนแบ่งมากว่า 70% ซึ่งมากกว่าตัวเลขส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในช่วงรวยฟ้าผ่าปีที่ผ่านมา ที่มีส่วนแบ่ง 64% " ตันกล่าว

กนก ชี้ เปิดเสรีการบิน ท้าทายการบินไทยสร้างจุดยืนรับมือคู่แข่ง

ความท้าทายของธุรกิจการบินที่นับวันจะมีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการเปิดแข่งขันเสรีทางการบิน การเดินทางของผู้โดยสารที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปี 2550 ที่กำลังจะมาถึง...นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางด้วยเครื่องบิน

แน่นอน...ย่อมส่งผลให้การบินไทยสายการบินแห่งชาติต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นเพื่อเป็นที่ยอมรับสำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้...

มุมมองของ กนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(DD)บมจ.การบินไทยมองว่า ความท้าทายทางธุรกิจของสายการบินที่แท้จริงสำหรับปี 2550 ควรกำหนด จุดยืนที่แน่นอนชัดเจน รวมไปถึงการวางแพลนนิ่งแคมเปญที่ยิ่งใหญ่ ไปพร้อมๆกับการทำโปรโมชั่นแคมเปญออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งชาเล้นท์ออกมาได้ 2 ระดับด้วยกัน

สิ่งแรกของความท้าทายในธุรกิจการบินคือทำอย่างไรจะให้คนทั่วโลกสามารถยอมรับกับการปฏิรูปของเมืองไทย เพราะคนทั่วไปมองว่าการปฏิรูปเป็นสิ่งที่น่ากลัว ส่งผลให้ประเทศไทยที่น่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว แต่กลับต้องตกไปอยู่ในอันดับรองลงมา เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องการความปลอดภัย การเดินทางไปในประเทศที่มีการปฏิรูปทางการเมืองจึงถูกมองไปในทางที่ไม่ดีและไม่ปลอดภัย

ในทางกลับกันประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียใช้โอกาสนี้วางตัวเองว่าเป็น ทรูรี่เอเชีย ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในความลำบากเพราะไม่มีแพลนนิ่งแคมเปญใหญ่ๆไปสู้กับต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแต่โปรโมชั่นแคมเปญเป็นหลักและเป็นแค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ขณะที่ประเทศรอบข้างมีแพลนนิ่งแคมเปญยักษ์ออกมาในรูปแบบเต็มที่แถมอัดด้วยโปรโมชั่นแคมเปญออกมาอย่างต่อเนื่องหวังกระตุ้นให้คนเดินทาง

ขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายออกมาแต่ละครั้งควรจะให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ เอกอัครราชทูตต่างๆมีส่วนในการทำหน้าที่โปรโมตแผนการตลาดแบบเต็มรูปแบบ ไปพร้อมกับการทำโปรโมชั่นพ่วงท้าย

กอปรกับพันธมิตรที่สายการบินไทยร่วมจัดทำมาโดยตลอดอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เป็นหน่วยงานที่ต้องเร่งโฆษณาผ่านสื่อในต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 30-40 ประเทศทั่วโลกโดยเร็วที่สุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจภาพลักษณ์ของประเทศอย่างแท้จริงว่ามีความปลอดภัยแล้ว

"ควรมีการโฆษณาอย่างเต็มรูปแบบให้เห็นว่าประเทศไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติมีความปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา หลังจากนั้นจึงควรจัดโปรโมชั่นในรูปแบบต่างๆออกมาเสริม"กนก กล่าว

ในปีหนึ่งๆจะมีการเดินทางของผู้โดยสารด้วยเครื่องบินเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันฤดูแห่งการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางกับการบินไทยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ไฮซีซั่น กับโลว์ซีซัน โดยในหนึ่งปีจะมีฤดูกาลช่วงละ 6 เดือนโดยเฉพาะปี 2550 ช่วงโลว์ซีซั่นจะเดินทางเข้ามาเร็วกว่าปกติ ดังนั้น การเดินทางของผู้โดยสารย่อมน้อยลงแน่นอน แต่ขณะเดียวกันมีวิธีการทำอย่างไรเพื่อให้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอยู่ในประเทศได้ยาวนานที่สุด

ความสำคัญของขั้นตอนการทำตลาดก็คือจะต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้โดยสารแต่ละประเทศว่ามีความต้องการอะไร และนำมาพัฒนาปรับปรุงบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารแต่ละประเทศด้วยเช่นกันซึ่งนับว่าเป็นจุดขายที่สร้างภาพลักษณ์ให้กับการบินไทยได้โดยไม่ยากเย็นนัก

กนก เล่าถึงเมื่อสมัยครั้งยังเป็นผู้บริหารการบินไทยเคยให้ตั๋วโดยสารเครื่องบินฟรีกับลูกค้าที่เดินทางบนเครื่องบินกว่าหมื่นใบ ในช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจการบินมาแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงที่นั่งบนเครื่องบินช่วงโลว์ซีซันจะมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการคิดแบบนักการตลาด กนก เลือกที่จะใช้วิธีดังกล่าวในช่วงฤดูกาลโลว์ซีซั่นเพื่อให้บริษัทอยู่รอดและมีผลกำไรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการใช้กลยุทธ์นี้ส่งผลให้การบินไทยประสบความสำเร็จในการทำตลาดมาในระดับหนึ่งเช่นกัน

ปัจจุบันการคิดคำนวณจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารการบินไทยที่บอกว่ามีจำนวนกว่า 75%ก็เพียงพอแล้วนั้น อดีตผู้บริหารการบินไทยถือว่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะในการบริหารจัดการที่ถูกต้องจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ส่วนที่เหลืออีก 25% ให้ได้เต็มจำนวน ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกใช้ปฏิบัติมาแล้วเมื่อครั้งเป็นผู้บริหารของการบินไทยก็ตาม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากนโยบายที่วางไว้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ปฏิบัติเท่าที่ควร

กอปรกับพนักงานขายที่ไม่ใช่นักการตลาดยังขาดการอบรมที่ดีเนื่องจากองค์กรของการบินไทยมีขนาดใหญ่มากการฝึกอบรมพนักงานขายเพื่อให้มีทิศทางไปในแบบเดียวกันจึงยากต่อการปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งมีการแข่งขันตัดราคากันเองด้วยซ้ำเพียงเพื่อให้ได้ขายตั๋วได้มากที่สุด โดยหวังค่าคอมมิชชั่นจำนวนมากซึ่งปัจจุบันคาดว่าก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งถ้าการบินไทยมีการจัดระเบียบองค์กรใหม่ทั้งหมด(ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับความเป็นจริง)ให้กับพนักงานขายทุกคนเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่วางไว้ เชื่อได้ว่าอนาคตของการบินไทยจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

ในฐานะผู้ที่เคยบริหารองค์กรธุรกิจการบินระดับนานาชาติมาแล้ว กนก ยังบอกอีกว่า การบินไทยจะสามารถอยู่รอดและต่อสู้กับคู่แข่งขันทางธุรกิจเดียวกันได้นั้นต้องมีการปฏิบัติตามแผนงานนโยบายที่วางเอาไว้ เพราะเท่าที่ผ่านมาการปฏิบัติงานเจาะแผนการตลาดได้ไม่ดีเท่าที่ควรสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากผู้ปฏิบัติไม่ทำตามแผนนโยบายนั่นเอง

ขณะที่การทำโอเวอร์สกิลไม่ได้มีการโปรโมต ในต่างประเทศ...แน่นอนการปฏิบัติจึงทำได้ค่อนข้างลำบาก จะเห็นได้ว่าการบินไทยจะมีแต่ขายให้กับคนในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่

"ผมเป็นคนนำระบบ MIS เข้ามาใช้กับการบินไทยแต่กลับไม่ได้ใช้งานเท่าที่ควร"กนก กล่าวพร้อมกับเสริมว่า ระบบ MIS เป็นระบบที่ธุรกิจการบินทั่วโลกนิยมนำมาใช้ประโยชน์เพราะจะทราบได้ว่าในแต่ละไฟต์บินมีผลกำไรขาดทุนเท่าไรเรียกว่าเป็นรายงานชนิดแบบวันต่อวันกันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าการบินไทยหยิบนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด..เชื่อได้การบินไทยจะรับรู้ถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจการบินได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

จีทีเอช ชี้ปีหมูสุดท้าทายธุรกิจหนังเติบโตก้าวกระโดด

ความท้าทายของค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีทีเอช จำกัด กล่าวว่า หากมองจากปัจจัยภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ปี 2550 จะเป็นปีที่สนุกอีกปี อุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะขยับตลาดขึ้นถึง 6,000 - 7,000 ล้านบาท เพราะจะเป็นปีที่ภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดแข็งแกร่งมากที่สุดปีหนึ่ง โดยในเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม จะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์พาเหรดเข้ามาตลอด 4 เดือน ส่วนภาพยนตร์ไทย ก็ถือเป็นปีที่จะตั้งหลักได้เข้มแข็งขึ้น โดยมีภาพยนตร์เรื่อง นเรศวร เป็นตัวดึงรายได้หลายร้อยล้านบาท การแข่งขันจึงน่าจะดุเดือด

ความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เรื่องใหญ่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจ จะเป็นตัวชี้ขาดว่าคนจะมีกำลังซื้อ อยากจะใช้จ่ายเงินหรือไม่ อารมณ์เป็นอย่างไร อัตราการเติบโตเป็นอย่างไร คนมีเงินในกระเป๋าหรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่มาก

อีกปัจจัยที่ดึงเงินในกระเป๋าผู้บริโภคไปมาก คือ โทรศัพท์มือถือ ที่มีบริการเสริมดาวน์โหลดริงโทน ภาพหน้าจอ ส่ง SMS ทำให้วัยรุ่นในวันนี้ติดโทรศัพท์มือถืออย่างรุนแรง จากโปรโมชั่นการโทรที่ยั่วยวน อัตราการขายโทรศัพท์มือถือที่มีมากถึง 40-50 ล้านเครื่อง ทำให้ผู้บริโภคมีทางออกในการใช้เงินอีกทาง

แต่ปัจจัยท้าทายจากภายนอกที่เป็นอุปสรรคที่สุดในความคิดของวิสูตร ไม่ใช่อื่นไกล คือการละเมิดสิทธิ์ของธุรกิจบันเทิง วิสูตร กล่าวว่า เป็นปัจจัยที่ฉุดให้อุตสาหกรรมไม่สามารถเติบโตเต็มที่ได้ อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้แก้ไข โดยเป็นปัญหาที่คนในอุตสาหกรรมกำลังมีการรวมตัวเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังกันอยู่

วิสูตรเผยถึงแนวทางการต่อสู้กับความท้าทายจากปัจจัยทั้ง 2 ทางว่า ในส่วนปัจจัยภายใน แนวทางต่อสู้คือการวางโปรแกรม การเลือกจังหวะ การมองคู่แข่ง เป็นการต่อสู้ในสนามรบที่ต้องรบอยู่แล้ว แต่ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ต่อสู้ด้วยยาก นวัตกรรมของเทคโนโลยีที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะก้าวไปถึงจุดใด ก็เป็นความท้าทายที่ต้องทำงานที่จับรสนิยมของผู้บริโภคให้ได้ แต่ข้อได้เปรียบในการที่จีทีเอช คือบริษัทของคนไทย สื่อสารด้วยภาษาไทย รู้ใจคนไทย

ฟิลิปส์ควบรวมธุรกิจ สร้างนวัตกรรมครีเอตดีมานด์ สู้กำลังซื้อหด

สำหรับยักษ์สีฟ้าจากค่ายยุโรปอย่างฟิลิปส์ที่นำทัพโดย ยาน เอ็กเกอร์บีน ประธานและประธานกรรมการบริหาร ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ได้ให้ทัศนะถึงความท้าทายในปีหน้าว่าไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาสักเท่าใดแต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและกำลังซื้อของผู้บริโภค ตลอดจนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภค โดยฟิลิปส์จะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากเป็นพิเศษเพราะถือว่าเป็นหัวใจหลักของปรัชญาแห่งแบรนด์ฟิลิปส์ ที่ว่า Sense & Simplicity ซึ่งสะท้อนถึงเทคโนโลยีชั้นสูงของฟิลิปส์ที่สามารถใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน สะดวกต่อผู้บริโภค ทั้งนี้นวัตกรรมฟิลิปส์จะอิงความเป็นเทคโนโลยีที่ตอบสองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคตลอดจนวิถีแห่งสุขภาพที่ผู้คนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น

ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆของฟิลิปส์ในระยะหลังๆจะให้ความสำคัญกับการควบรวมกิจการมากกว่าโดยในปีที่แล้วมีการซื้อกิจการผลิตหลอดไฟ LED ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ล่าสุดก็มีการซื้อกิจการเครื่องมือแพทย์จากบริษัท Stentor, Intermagnetics, Witt และ Lifeline โดยถือว่าทั้ง 2 ธุรกิจเป็นดาวรุ่งของฟิลิปส์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าโครงการจึงถือเป็นอีกตลาดที่จะหลีกหนีปัจจัยเสี่ยงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเพราะลูกค้าโครงการจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดลูกค้าและชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

สำหรับแผนกคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ฟิลิปส์ก็พยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆเช่นทีวีที่มีความละเอียดมากขึ้น หรือแผนกเครื่องไฟฟ้าชิ้นเล็กก็เตรียมที่จะลอนช์สินค้าตัวใหม่ที่อิงกระแสสุขภาพโดยจะวางตลาดพร้อมกันในไตรมาสแรกของปีหน้า

นอกจากนี้ฟิลิปส์ยังมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาตัวแทนจำหน่ายเพราะถือเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ โดยในระดับสากลบริษัทแม่ของฟิลิปส์มีคาร์ฟูร์เป็นคู่ค้าที่สำคัญซึ่งฟิลิปส์เห็นว่าร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายจะรู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคดีที่สุดจึงมีการสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าโดยให้บรรดาตัวแทนจำหน่ายมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าประเภทต่างๆที่ลูกค้าต้องการ ถือเป็นทางลัดในการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค

นายกฯโฆษณาฯ ชี้ดัชนีปีหมูต้องฝ่าความท้าทายไตรมาสแรก

วิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ฝากมุมมองถึงความท้าทายในปี 2550 ว่า ในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ย จะเป็นเช่นไร ยังไม่มีใครบอกได้ ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับผลงานในไตรมาสแรกอย่างมาก หากธุรกิจออกตัวเริ่มต้นปีไม่ดี อาการซึมจะกระทบยาวไปตลอดทั้งปี

"ไตรมาสแรกมีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนมีเงินอยู่ในกระเป๋ามาก โบนัสออก เงินแต๊ะเอีย เทศกาลตรุษจีน อีกทั้งสินค้าหลาย ๆ รายการ จะมีฤดูกาลจำหน่ายอยุ่ในช่วงมีนาคม - เมษายน เช่น สินค้าในฤดูร้อน เครื่องไฟฟ้าประเภทให้ความเย็น สินค้าใหญ่ ๆ รถยนต์ บ้านจัดสรร ต่างก็มีความหวังจะเพิ่มยอดขายเพราะคนจะมีเงินดาวน์ แต่หากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุน ไม่กล้าเป็นหนี้ เพราะยังไม่เห็นนโยบายรัฐว่า ตนเองจะต้องผูกพันกับดอกเบี้ยมากเท่าไหร่ สุดท้ายจะทำให้ชะลอการตัดสินใจ หรือหยุดการตัดสินใจ ซึ่งจะมีผลกระทบไปตลอดทั้งปี เพราะเมื่อธุรกิจส่วนหนึ่งไม่เดิน ไม่เริ่มต้น จะทำให้หลายสวนเริ่มตึงตามเป็นลูกโซ่ บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง รวมถึงบริษัทผู้ลงทุนด้านการขาย รีเทลเลอร์หลายแห่ง ก็เป็นบริษัทมหาชน จะกระทบไปถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอดขายตก หุ้นก็ตก คนไทยมีความอ่อนไหวสูง ใช้ความรู้สึกเป็นหลัก ไม่กล้าเสี่ยง ถ้ามีเหตุอะไร ข่าวลือเยอะ ก็ขอหยุดเฉยไว้ก่อน ทำให้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง"

นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจฯ กล่าวว่า บริษัทโฆษณาต้องทำความเข้าใจกับลูกค้า ตื่นตัวที่จะฝ่าฟันความท้าทายนี้ สินค้าบางประเภท หากมัวรอความชัดเจนก็จะพลาดโอกาส เพราะกรณีศึกษา จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ คนที่กล้าลงทุนสร้างแบรนด์ในช่วงที่คนอื่นหยุดนิ่ง จะได้เปรียบอย่างมาก และจะได้เปรียบในระยะยาว หากสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นโอกาส เพราะในที่สุดแล้วผู้บริโภคยังคงต้องการโอกาสอยู่เสมอ ถึงแม้ไม่คิดจะใช้เงินมาก่อน แต่ถ้าเจ้าของสินค้าเสนอโอกาสที่ดีให้ เช่น ข้อเสนอการซื้อรถที่ดี มีแพ็คเกจการผ่อนที่น่าสนใจ ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มการตัดสินใจซื้อแน่นอน

"อยู่ที่การสร้างสรรค์ของสินค้า สร้างจุดเด่น ฉกฉวยโอกาสในช่วงที่คนอื่นอ่อนแอ หรือไม่กล้า ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์ในระยะยาวได้"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.