|

ธปท.ยันพร้อมใช้อาร์พีใหม่ต้นปีหน้า
ผู้จัดการรายวัน(26 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติปรับมาใช้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันแทน 14 วัน เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ในการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงิน ระบุการดูแลและวิธีการตามแนวทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ย้ำหลังจากที่หารือร่วมสถาบันการเงินเป็นแรมปีส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแบงก์ชาติ เพื่อให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เตรียมปฏิรูปกรอบการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ โดยมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 17 มกราคม 2550 ถือเป็นการประชุมครั้งถัดไปของกนง.เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินและนำไปสู่กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใส ขณะเดียวกันยังเอื้อให้ตลาดการเงินของไทยยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการช่วยเสริมเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ กนง.ได้มีการปรับกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือในการส่งสัญญาณนโยบายการเงินจากการใช้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 14 วัน(อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันแทน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสะท้อนการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของสถาบันการเงินในตลาดการเงินได้ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีการเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกันทางกนง.จัดให้มีหน้าต่างปรับสภาพคล่องสิ้นวันระหว่างธปท.กับสถาบันการเงินทั้งด้านปล่อยและดูดซับสภาพคล่อง โดยจากเดิม ณ สิ้นวัน ธปท.จะปล่อยกู้ขาเดียวให้แก่สถาบันการเงินรายใดขาดสภาพคล่อง ซึ่งธปท.คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบวก 0.5% แต่ขณะนี้อนุญาตเพิ่มให้สถาบันการเงินรายใดที่มีสภาพคล่องมากเกินไปก็สามารถนำมาฝากไว้ที่ธปท.ได้ ซึ่งธปท.จะให้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลบไม่เกิน 0.5% เพื่อลดปัญหาของสถาบันการเงินรายใดไม่ให้มีบัญชีเงินฝากติดลบ ซึ่งในช่วง 14 วัน สถาบันการเงินจะต้องคงสภาพคล่องให้มีบัญชีเงินฝากไม่ต่ำกว่า1%ของฐานเงินฝากของปักษ์ก่อนหน้า ดังนั้น ผลการปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะส่งผลให้ธปท.ควบคุมอัตราดอกเบี้ยได้ดีขึ้นและในขอบเขตที่แคบลงจะช่วยจัดการความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ กนง.ยังได้มีการปรับช่วงเวลาในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อไม่ให้คร่อมการประชุมของกนง. สำหรับสถาบันการเงินทุกประเภทที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยให้ปักษ์เริ่มต้นในวันพุธและสิ้นสุดในวันอังคารของ 2 สัปดาห์ถัดมา จากเดิมที่กำหนดให้ในช่วงวันที่ 23-7 และวันที่ 8-22 ของทุกเดือน ทั้งนี้การปรับช่วงเวลาในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องนี้เพื่อลดความผันผวนในระดับสภาพคล่องของระบบและอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจน
นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า แม้จะมีการเปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันแทน แต่แนวทางและการดูแลในส่วนต่างๆ ยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อหลักอยู่ที่ระดับ 0-3.5% เช่นเดิม ดังนั้น การปรับเปลี่ยนส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบใหม่แทนของเก่าจะทำให้เกิดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 10 สตางค์ แต่สิ่งที่จะได้รับกลับทำให้ตลาดการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่ ทางกนง.ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินในระบบมาแล้วร่วมปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยการการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และมีการเตรียมความพร้อมรองรับกับหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนมาใช้แบบใหม่ทางกนง.ก็ยังได้มีการคำนึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วด้วย จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะในหลายๆ ประเทศก็ได้มาใช้เครื่องมือแบบนี้ในการกำหนดนโยบายการเงินอยู่แล้ว”
ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกรายงานเกี่ยวกับแผนปฎิรูปกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. โดยชี้แจงว่า ในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของสถาบันการเงินในตลาดเงิน อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืน 1 วันจะสะท้อนถึงภาวะการปรับสภาพคล่องได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยในระยะอื่น โดยปัจจัยบ่งชี้สำคัญคือปริมาณเงินฝากของสถาบันการเงินในบัญชีที่ธปท.(Current Account หรือ CA) ซึ่งปริมาณเงินใน CA ที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะข้ามคืน(Overneght Interest Rate) มากที่สุด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวคือต้นทุนของการดำรง CA ในแต่ละวัน ดังนั้น ตามกลไกตลาดแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่ธปท.สามารถดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลคืออัตราดอกเบี้ยระยะข้ามคืน
โดยการใช้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืน 1 วันเป็นเป้าหมายในทางปฏิบัติจะลดความบิดเบือนในโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้น และเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยในระยะที่ยาวขึ้นเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ธนาคารกลางหลายแห่งจึงกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยประเภท 1 วันเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการส่งสัญญานโยบายการเงิน
นอกจากนี้ การใช้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืน 14 วันเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันมีข้อจำกัดในช่วงที่ตลาดมีการคาดการณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันมีข้อจำกัดในช่วงที่ตลาดมีการคาดการณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างกรณีที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับสูงขึ้น เช่น ก่อนการประชุมกนง.ในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ผู้เล่นในตลาดจะพยายามหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงอายุ 14 วันที่คร่อมวันประชุมดังกล่าว แต่จะเพิ่มการลงทุนระยะ 1 วันและรอให้อัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นไปก่อนจึงจะกลับมาลงทุนระยะ 14 วันใหม่ พฤติกรรมการดังกล่าวเป็นผลจากการที่ธปท.ต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนระยะ 14 วันไว้ที่เดิม โดยไม่สามารถปรับลดลงก่อนการประชุมได้ จากการที่ความต้องการลงทุนในระยะดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ย 1 วันปรับลดลงทั้งๆที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นอาจสร้างความสับสนต่อผู้เล่นในตลาด จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่กลางในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และสหภาพยุโรป ปรับวิธีการดำเนินนโยบายการเงิน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|