PDA เลขานุการส่วนตัวบนอุ้งมือ ตอนที่ 2

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ตอน ที่แล้วผมได้เล่าถึงเครื่อง PDA หรือ Personal Digital Assistant ในค่ายของบริษัท Palm ซึ่งความจริงยังมีอีกหลายยี่ห้อ ที่ไปซื้อลิขสิทธิระบบปฏิบัติการ PalmOS มาสร้าง (Clone) เครื่อง Palm มาขาย ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป แต่ตอนนี้ผมขอเสนอเรื่องราวของคู่แข่ง ที่ร้ายกาจของ PalmOS นั่นคือ Pocket PC

Pocket PC เป็นผลงานล้างอายของบริษัท Microsoft ยักษ์ใหญ่ ที่หารับประทานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศกึ่งผูกขาดจนร่ำรวย Windows CE คือ นามเดิมของ Pocket PC ซึ่งถือกำเนิดด้วยต้องการให้เป็นระบบปฏิบัติการหลักในหมู่เครื่องคอมพิวเตอร์หิ้วได้ขนาดเล็กหรือ Note Book (ต่อมาเป็น Sub Note Book) Windows CE ก็คือ ระบบปฏิบัติการที่มีการใช้งานคล้ายกับระบบ Windows ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ทั่วไป แต่ลดทอนคุณสมบัติ เพื่อให้ใช้หน่วยความจำน้อยลง และลดความซับซ้อนของการประมวลผล เพื่อให้เหมาะกับเครื่องขนาดเล็ก ปรากฏว่าล้มไม่เป็นท่า

จากนั้น เมื่อบริษัท Palm สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ PDA ออกขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทาง Microsoft จึงเกิดไอเดียจะเอาอย่างแล้วยังคิดการใหญ่จะสร้างระบบปฏิบัติการครองโลกอีก โดยพยายามเข็น Windows CE รุ่นที่ 2 ออกมา เพื่อให้ใช้กับเครื่อง PDA แต่ก็ยังไม่ประสบผล สาเหตุสำคัญ ที่ Windows CE รุ่นก่อนๆ ไม่ประสบผลสำเร็จก็เป็นเพราะ Microsoft พยายามคงรูปแบบของ User Interface ให้คล้ายคลึงกับระบบ ปฏิบัติการ Windows ซึ่งมีการใช้งาน ที่ซับซ้อน และไม่เหมาะกับจอแสดงผลที่มีขนาดเล็ก

หลังจากนั้น Microsoft พยายามอีกเฮือกโดยเข็นระบบปฏิบัติการ Windows CE รุ่นที่ 3 ซึ่งพยายามลบข้อด้อย และปรับปรุง (โดยชำเลืองดูจากตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จ) จนมีคุณภาพน่ายอมรับได้ แต่ด้วยเหตุ ที่ภาพพจน์ของ Windows CE ไม่เป็นที่ศรัทธาต่อประชาชน Microsoft จึงเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อ Window CE รุ่นที่ 3 เป็น Pocket PC ด้วยต้องการที่จะให้เหมือนในอดีต ที่คำว่า PC คือ 'เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่มี Windows อยู่ข้างใน' และยังเป็นการสร้างมาตรฐานสำหรับผู้ผลิตเครื่อง PDA ให้คล้อยตาม ทำให้คำว่า Pocket PC กลายเป็นชื่อชนิดของ PDA ไปในตัว

คุณสมบัติของ Pocket PC ที่เด่นคือ ความสามารถด้าน Multimedia คือ สามารถ ดูภาพถ่ายจากกล้องดิจิตัล ฟังเพลง MP3 ดู Video clip สั้นๆ และยังมีลูกเล่นด้านกราฟิกสำหรับเกม ได้ แต่ข้อเสียของเครื่อง Pocket PC คือ เครื่องต้องใช้หน่วยความจำมาก และต้องการตัวประมวลผลที่มีความเร็วสูง ซึ่งทั้ง 2 กรณีทำให้เครื่องกินไฟมาก อีกทั้งการจะโชว์จุดเด่นเรื่อง Multimedia จำเป็นต้องใช้จอภาพสี ซึ่งกินไฟมาก นอกจากนั้น ขนาดของตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องในกลุ่ม Palm และ ที่สำคัญเครื่องมีราคาสูง ถ้าถามว่าสงครามระหว่าง กลุ่ม Palm กับ กลุ่ม Pocket PC ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ดูจากข้อมูลปัจจุบันในบ้านเรา 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ PDA เลือกใช้ PDA จากกลุ่ม Palm โดยเฉพาะยี่ห้อ Palm ขายดีที่สุด ค่าย Pocket PC มีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบัน Pocket PC ยังตามไม่เห็นฝุ่น ที่กลุ่ม Palm ทำไว้แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เพราะ Microsoft มีศักยภาพ และความพร้อมในการรบระยะยาว และสามารถเท่าทันกับเทคโนโลยี ที่วิ่งไม่หยุด นักวิเคราะห์ทางด้านไอที หลายคนลงความเห็นว่า แม้เครื่อง PDA ในกลุ่ม Palm จะได้อิ่มหนำสำราญกับยอดขาย แต่วิวัฒนาการของเครื่อง Palm และการพัฒนา PalmOS ดูเชื่องช้า และจำกัด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกไม่นานก็อาจโดนแซง และผู้แซงก็...รู้ๆ อยู่...ไม่ไช่ใครอื่นไกล

ถ้าถามว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีอนาคตในระยะยาวอย่างไร หรือเป็นเพียงของเล่นฉาบฉวยชั่ววูบของคนมีเงิน(เหลือ) ถ้าให้ผมตอบ ผมจะทุบโต๊ะไปว่า อุปกรณ์ PDA (หรือ อะไรทำนองนี้ ที่เก่งกาจกว่าในอนาคต) จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนครั้งใหญ่ ลองคิดถึง PDA ที่ทำหน้าที่เป็นกระเป๋าสตางค์ (e-cash) เป็นบัตรเครดิต ที่ไม่ต้องรูดหรือเซนต์ชื่อ (e-credit) ท่านเพียงแต่นำเครื่องไป ที่จุดรับสัญญาณ (e-cashier) ท่านก็สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ครบถ้วนโดยรายการสินค้า ที่ซื้อยังถูกบันทึกลงฐานข้อมูลส่วนตัวเอาไว้ตรวจสอบได้ด้วยว่าเดือนที่แล้ว ที่บ้านใช้กระดาษชำระไปกี่ม้วน เวลาท่านไปทำงานในเมืองด้วยรถไฟฟ้า ท่านสามารถยืนเบียดเสียดกับผู้คนอ่านหนังสือพิมพ์ (e-news) บนฝ่ามือ (ข้างเดียว) ของท่านพร้อมกับฟังเพลงโปรด (e-music) ยามเช้า หรือยามว่างท่านสามารถอ่านนวนิยาย ที่มีตัวละครกราฟิกแสดงเหมือนดูหนัง (e-book) ท่านสามารถสั่งจองสินค้า จองตั๋วภาพยนตร์ โรงแรม รถ เรือ เครื่องบิน ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ Wireless Internet หรือ ที่จุดบริการ (จุดรับสัญญาณ) นอกจากนั้น ด้วยอุปกรณ์เสริมพิเศษท่านสามารถดำเนินการประชุมผ่านจอภาพบนรถ หรือบันทึกภาพส่งให้คนทางบ้านดู (e-card) เวลาไปต่างประเทศ และแน่นอน ที่ขาดไม่ได้ คือ สามารถรับส่ง e-mail ได้ด้วย ในอนาคต (อันใกล้) เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือกระเป๋าหิ้วอาจกลายเป็นเรื่องล้าหลัง และน่ารำคาญเวลาใช้

เลยเถิดไปนิดแต่ไม่น่าเกินความจริง คราวหน้าผมจะย้อนเวลามาหาปัจจุบันแล้วดูว่าเครื่อง PDA ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดเป็นอย่างไรกันบ้าง แล้วพบกันครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.