"22 ปี ... สิบสี่ตุลา พลวัตจากป่าสู่สภา-ธุรกิจ"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"ตายสิบเกิดแสน" จากวันมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2538 ยี่สิบสองปีผ่านไป กงล้อประวัติศาสตร์ของขบวนการประชาธิปไตยของกลุ่มผู้นำนักศึกษาอย่างเคยเข้าป่า ใต้ดาวแดงได้แปรภารกิจต่อสู้กับเผด็จการจักรวรรดินิยมที่เคียงป่าเคียงไหล่ประชาชน สู่เงื่อนไขผู้นำยุคใหม่ในโลกไร้พรมแดนวันนี้ "ไม่มีพรรค มีแต่พวก"

พินิจ จารุสมบัติ - ประสาน มฤคพิทักษ์ และวิรัติ จิระศักดิ์ภาพงศ์เป็นกรณีของคนรุ่นหนุ่มเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ที่มีโอกาสเรียนรู้และร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชนในเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคที่ไม่มีใครลืม มาถึงยุคเหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากจำ เจ็บเกินไปกว่าคำบรรยาย

"ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั้นย่อมมีการต่อสู้" เป็นบทบาทชูธงประชาธิปไตยในฐานะผู้นำนักศึกษาประชาชนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อย่างรองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งวิรัติ จิระศักดิ์ภาพงศ์ ดำรงตำแหน่งก่อนพินิจ จารุสมบัติ ขณะที่ประสาน มฤคพิทักษ์เป็นกรรมการพรรคสังคมนิยม

ภูมิหลังการศึกษา ประสานและวิรัติเรียนรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ ขณะที่วิรัติเรียนปี 1 ประสานก็เรียนอยู่ปี 4 มีตำแหน่งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) ทั้งคู่เคยมีบทบาทสำคัญเดินขบวนต่อต้านการคอรัปชั่นในจุฬาฯ ปี 2513 พอปีต่อมาก็เดินขบวนประท้วงคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 สมัยจอมพลถนอมปฏิวัติตัวเอง และปีที่สามเดินขบวนคัดค้าน ดร. ศักดิ์ อธิการบดีรามคำแหงที่ลบชื่อนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย และปี 2516 ที่เกิดเหตุวันมหาวิปโยคก็เดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย

ส่วนพินิจจบนิติศาสตร์ รามคำแหงไม่เคยว่าความสักคดีเดียว ชอบการเล่นการเมืองเป็นชีวิตจิตใจ มีปราศรัยหาเสียงหรือไฮปาร์คที่ไหน พินิจต้องไปที่นั่น เคยเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เลขาธิการพรรคสัจธรรมก่อนที่จะเป็นรองเลขาศูนย์ฯ สมัยที่มีคำนูณ สิทธิสมานรักษาการเลขาธิการศูนย์ฯ

ในครั้งนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเต็มไปด้วยพลังคนหนุ่มสาวอันเร่าร้อนจริงจังในยุคหลัง 14 ตุลา ภาพขบวนการนักเรียนนักศึกษาที่แสวงหาความเป็นธรรม ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่กับกิจกรรมชุมนุม เดินขบวนวางหรีด ออกค่ายสัมผัสชนบท จัดอภิปรายและนิทรรศการ คุยกันในสภากาแฟและชมรม แจกใบปลิว ติดโปสเตอร์และบ่อยครั้งขัดแย้งกับพ่อแม่อย่างจริงจัง บางทีมีชีวทัศน์โลกทัศน์เยาวชนที่แห้งแล้ง อ่านหนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงหรือเชกูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่และฟังเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวาน โคมฉาย กรรมาชน ลูกทุ่งสัจธรรม

ผู้นำขบวนการประชาชนถูกไล่ล่าฆ่าฟันจากอำนาจรัฐที่ใช้ลักษณะ "ขวาพิฆาตซ้าย" อย่างรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ช่วงเวลาก่อนและหลัง 6 ตุลา ชีวิตของผู้นำนักศึกษาตกอยู่ในอันตรายและไม่มีทางเลือกระหว่าง "การเข้าคุก" กับ "เข้าป่า"

การเข้าป่าของพินิจ ประสาน และวิรัติ เป็นชีวิตขอองคนที่เหมือนมีจังหวะของมัน บางทีพบว่าชีวิตออกจะผันผวนอยู่มาก แต่ก็คุ้ม เพราะมันให้ความรู้สึกที่ดีที่จะเป็นคนที่ไม่ยอมศิโรราบให้กับทรราชย์เผด็จการอย่างกล้าหาญ

"ถ้าการเป็นฝ่ายซ้ายคือคอมมิวนิสต์เลย ผมคิดว่าเราคงไม่ใช่ ผมเข้าไปอยู่ป่าเกือบ 3 ปี ไม่ใช่สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์เพราะการเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขาและชนบทมันได้คุณค่าและประสบการณ์ ได้เรียนรู้ในวิถีทางการต่อสู้ในสภาพแวดล้อมหนึ่งเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้ประยุกต์ประสบการณ์จากป่าสู่เมือง ความแตกต่างมันมีสำคัญอยู่ที่ตัวเราเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมคิดว่าผมก็ยังเป็นผมอยู่" ในสภาผู้แทนราษฎรวันนี้พินิจปฏิเสธคำว่าฝ่ายซ้ายแต่เลี่ยงไปใช้คำว่าผู้รักประชาธิปไตยแทน

นอกจากนี้พินิจยังปฏิเสธข่าวลือช่วงเข้าป่าว่าขายของด้วยว่า เป็นเรื่องไม่จริงเพราะช่วงหนึ่งที่พินิจป่วยจึงถูกย้ายให้มาคุมกองพลาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยเสบียงกรังของกองทัพป่า

"เขาให้ผมไปคุมข้าวของเสื้อผ้า คนมาเบิกของเราก็จ่ายไป ถ้าของยังไม่มาก็รอเที่ยวหน้า เรื่องจะเอาไปขาย ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะวินัยเขาเข้มแข็งมาก ๆ และยิ่งเราเป็นผู้รับผิดชอบจะไปทำแบบไร้หลักการไม่ได้เลย" พินิจเล่าให้ฟัง

แต่สำหรับวิรัติซึ่งอยู่ในป่าร่วม 4 ปี มีชื่อจัดตั้งว่า "อาทิตย์" เคยอยู่แนวหลังซึ่งเป็นฐานที่มั่นช่วงชายแดนระหว่างลาวกับจีนถือว่าเป็นเขตปลอดภัยที่สุด เป็นสำนักแนวร่วมฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนการเมืองการทหารมีผู้นำนักศึกษาที่เคยผ่านสำนักนี้แล้วอย่างธีรยุทธ บุญมี ชำนะ ศักดิ์เศรษฐ ประสาน มฤคพิทักษ์ เสกสรร ประเสริญกุล หมอเหวง โตจิราการ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์

"อุดมคติช่วงนั้นผมต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ผมเข้าป่าเพราะถูกประกาศจับตอนนั้นผมทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยกับ อจ. บุญสนอง บุญโยทยานซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยแล้วถูกลอบยิงตาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและยิ่งทางการประกาศจับทำให้ผมอยู่ไม่ได้แล้ว ทางเลือกจึงมีสองทางคือ ไม่ไปอยู่คุกกับคุณสุธรรมก็ต้องไปเข้าป่ากับคุณไขแสง สุกใสที่ไปก่อนแล้ว" วิรัติได้เล่าให้ฟังถึงสาเหตุการเข้าป่าในครั้งนั้น

ตลอดระยะเวลาที่จรยุทธ์อยู่ในป่า คนอย่างพินิจ ประสานหรือวิรัติ มีบ้างบางเวลาที่ต่างค้นพบในห้วงเวลาสั้น ๆ ว่าตัวเองมีวิธีคิดคนละระบบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อรัฐบาลเปิดนโยบาย 66/23 ผู้รักประชาธิปไตยในป่าก็พลันคิดตก กลับคืนรัง ลงจากภูผาผ่านป่าเขาลำเนาไพรเข้าสู่เมือง ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหน้าจะมีอะไรรอพวกเขาอยู่ ?

ห้วงเวลาที่หายไปในป่า เพียงระยะสิบปีที่ผ่านมา โลกภายนอกเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินรุนแรงทั้งเศรษฐกิจและเมือง เช่น กำแพงเบอร์ลินแตก รวมเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก เหตุการณ์โซเวียตล่มสลาย นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่สร้างภาพโลกไร้พรมแดน วิถีชีวิตสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยความหลากหลายและแข่งขันแบบเสรีนิยม ฯลฯ

"เมื่อก่อนนี้เรามีความคิดด้านอุดมคติค่อนข้างจะสูง แต่พอเราโตขึ้นๆ เราก็มองโลกในความเป็นจริง เดี๋ยวนี้ความรู้สึกเป็นทุนนิยม และสังคมนิยมมันจางหายไปแล้ว เส้นแบ่งค่อนข้างจะเลือนราง" วิรัติกล่าว

ด้วยเหตุนี้คนที่ออกจากป่าอย่างพินิจประสานหรือวิรัติซึ่งขณะนั้นอายุ 30 ต้น ๆ จึงต้องเร่งปรับตัวให้อยู่รอด และแสวงหาโอกาสจากระบบที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจการให้ได้ แม้ว่าเบื้องแรกต้องเริ่มนับถอยจากหนึ่งใหม่ แต่ความเอื้ออาทรของมิตรสหายคือกำลังใจ

วิรัติเริ่มต้นชีวิตทำงานถนัดที่ศูนย์ฝึกอบรม บริษัทอินเตอร์ไลฟ์ เนื่องจาก ดร. ทัศนีย์ บุญโยทยานเป็นผู้บริหารศูนย์นี้ ต่อมาได้มาทำเป็นวิทยกรศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพของทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ซึ่งเป็นพี่ชายประสาน และต่อมาได้ย้ายมาเป็นผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หลังจากใช้เวลาสี่ปี ล่าสุดวิรัติเป็นผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการในกลุ่มซีพีบริหารงานบุคคล ธุรการและประสานงานกับราชการ ส่วนงานการเมืองวิรัติขอเป็นเพียงผู้สนับสนุน

"ผมจะช่วยในขอบเขตที่ช่วยได้เป็นส่วนตัว การจะไปทำกิจกรรมทางการเมืองหวือหวาคงไม่ได้ เพราะผมเป็นลูกจ้างเขาอยู่ บทบาทอาจจะแคบลง" วิรัติเล่าให้ฟัง

ส่วนประสาน มฤคพิทักษ์กับเวลา 5 ปี ในป่า วันนี้เขามีธุรกิจส่วนตัวในนามบริษัท ชีวิตธุรกิจ จำกัด ทำรายการทีวี "ชีวิตธุรกิจ" ช่อง 9 อสมท. ทุกเช้า 6.45 น. ทำฝึกอบรม เขียนหนังสือและผลิตเทปคาสเซท กับเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ล่าสุด ดร. เสรี วงษ์มณฑา ทาบทามประสานเข้าไปร่วมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมของกลุ่มบริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชั่นในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

"ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายเมื่อกลับมาก็ต้องการประกอบสัมมาอาชีพในแนวที่ตัวเองถนัดและมีความสามารถสองอย่างคือ หนึ่ง-พูดและสอง-เขียน จริง ๆ ผมรักการเขียนมากกว่าการพูดด้วยซ้ำไป" ประสานเล่าให้ฟังในงาน "ปิติจากเพื่อนพ้องน้องพี่" ซึ่งเป็นงานสำหรับคนที่เคยอยู่ในขบวนการประชาธิปไตยทั้งในป่าและในเมือง จัดมาแล้ว 6-7 ครั้งโดยมีประสานเป็นแม่งานใหญ่ในปีนี้ที่โรงแรมสยามซิตี้

"ความผูกพันฉันท์มิตรที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีปัญหาเดือดร้อนเราก็เอื้ออารีต่อกันตามสภาพที่ทำได้ วันนี้มาเจอหน้าทักทายและแสดงความยินดีต่อกัน ส.ส. และเพื่อน ส.ส. หนุ่มสาวที่กะมาร่วมงานประมาณ 25 คน" นี่คือการรวมตัวของกลุ่มการเมืองหัวก้าวหน้าคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะการดึงแนวร่วมใหม่ ๆ อย่างศันสนีย์ นาคพงศ์-อริสมันต์ พงษ์เรืองรองมาด้วย

ความสนใจติดตามทางการเมืองของประสานมีต่อเนื่อง เคยเป็นประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยหลังเกิดเหตุพฤษภาทมิฬปี 2535 ประสานเคยเข้าสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในนามพรรคพลังธรรมที่เขต 1 กรุงเทพมหานครเมื่อคราวที่อากร ฮุนตระกูล ลาออก แต่ประสานก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

"ผมไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ทุกวันนี้เราก็มีความสุขกับงานอาชีพเรา แต่ว่าอนาคตไม่แน่ สมมุติเงื่อนไขการเมืองเปลี่ยนไปเช่นมีการปฏิรูปทางการเมือง ทำให้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ ไม่ต้องซื้อเสียง มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต วันแมนวันโหวตและผู้สมัครสามารถสมัครอิสระได้ไม่ต้องสังกัดพรรค ถ้าเงื่อนไขนี้เปิดให้ ก็จะทำให้คนที่ตั้งใจดีและบริสุทธิ์ใจไม่ต้องใช้เงินซื้อเสียง สามารถที่จะไปนั่งในสภา แต่ถ้าสภาพการเลือกตั้งต้องทุ่มเงิน 10-20 ล้านซึ่งเป็นความจริงของการเมืองไทย เราก็ไม่ทำ" ประสานเล่าให้ฟัง

แต่สำหรับพินิจไม่ธรรมดา เขากลับมาเริ่มต้นที่บ้านเกิด แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ช่วยทางบ้านทำธุรกิจเอเยนต์เก่าแก่ชื่อ หจก. ไทยบำรุงการค้าบุหรี่ค้าเหล้าที่ทำให้ใกล้ชิดกลุ่มเตชะไพบูลย์ กิจการดั้งเดิมมีกิจการโรงสีหลายแห่ง เช่นโรงสีไฟรุ่งเรืองคลองเจ้า โรงสีกิมเซ่งล้ง โรงสีปากคลองพญาสมุทร เป็นต้น พินิจเป็นคนมีเพื่อนมาก ร่วมกับเพื่อนเก่ารับซื้อกุ้งกุลาดำจนกระทั่งปัจจุบันเป็นผู้รับซื้อกุ้งกุลาดำรายใหญ่ตั้งแต่ตราดลงมาถึงแปดริ้ว สมุทรปราการ

แต่ความปรารถนาเป็นนักการเมืองไม่เคยปรานีใคร ปี 2529 และปี 2531 ชื่อพินิจ จารุสมบัติก็ปรากฏลงเลือกตั้งในนามพรรคราษฎรที่ฉะเชิงเทรา แต่พ่ายแพ้ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้ง ๆ ที่ปี 2531 ผองเพื่อนร่วมขบวนการอย่างเช่น ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ อดีต รมช. มหาดไทยและสุธรรม แสงปทุม รองประธานรัฐสภาปัจจุบันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นทั้งคู่

แม้จะอับโชคทางการเมืองปี 2531 แต่พินิจก็โชคดีภายหลังระหว่างปี 2532-34 นับว่าเป็น ปีเงินปีทองของพินิจจริง ๆ

"ผมประสบความสำเร็จและได้เงินได้ทองมากที่สุดคือค้าที่ดินแถวชลบุรีแปดริ้วและระยอง บางแปลงผมซื้อวันเดียวขายไปสามทอดราวกับซื้อขนมซื้อของเล่น" พินิจเล่าให้ฟัง

นี่คือส่วนหนึ่งของฐานเงินทุนก้อนใหญ่ของพินิจที่ใช้ในการลงเลือกตั้งในเดือนกันยายน ปี 2535 ซึ่งครั้งนั้นพินิจวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว เห็นว่าควรย้ายไปลงเขตจังหวัดหนองคายในนามพรรคเสรีธรรมซึ่งเป็นพรรคเล็กที่มี ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์เป็นหัวหน้าพรรค ในที่สุดก็สมความปรารถนา ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร และได้รับโควต้าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในชุดรัฐบาลชวน 2 ในปี 2536

ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคมที่พินิจได้รับตั้งแต่เป็น ส.ส. สมัยแรกจะเกี่ยวข้องกับสถานะ "ถุงเงินของพรรค" หรือไม่นั้น พินิจปฏิเสธว่า "พรรคเสรีธรรมของเราเป็นพรรคเล็ก เลือกตั้งคราวนี้ได้มา 11 เสียงไม่ใช่ผมเป็นถุงเงินถุงทองของพรรคก็พูดกันไป เพียงแต่เรามีความจริงใจให้กับเพื่อนและผู้สมัคร เมื่อชวนเขามา เราก็ต้องช่วยเหลือเต็มที่ ผมไม่มีสินทรัพย์บารมี เมื่อเป็นรัฐมนตรีก็ปกติธรรมดา ใครจะมาเรียกผมว่าท่าน ๆ ผมยังไม่ชอบเลย หรือเพื่อนฝูงยกมือไหว้ผมยังถามว่าทำไมมึงต้องทำอย่างนั้น ผมรู้ว่าตำแหน่งทางการเมืองเป็นหัวโขนชั่วคราวเป็นสิ่งหลอกลวงไม่เที่ยงแท้ มาวันนี้วันหน้าก็ต้องไป อย่าลืมตัวนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

ในอดีตของนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่รับใช้ประชาชน พินิจเป็นผู้นำการต่อต้านระบอบเผด็จการที่มีต้นตอปัญหาจากจักรวรรดินิยมขุนศึกศักดินา ในฐานะรองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กรณีต่อสู้เรียกร้องในกรณีเหมืองแร่เทมโก้ และการฆ่ายัดถังแดงที่จังหวัดพัทลุง เป็นผลงานเด่นของพินิจกับกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาอย่างเช่น พีรพล ตริยเกษม, สัมภาษณ์ สืบตระกูล

"สหรัฐอเมริกาเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา พร้อมกันนั้นชนชั้นปกครองในระดับสูงของเราหลายคน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งทหารและพลเรือนคอยเป็นสมุนรับใช้อเมริกาตลอดมา การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปโดยผู้บริหารระดับบนทั้งสิ้นแต่ฝ่ายเดียว" บางตอนของคำสัมภาษณ์พินิจในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" รายสัปดาห์เมื่อ 6 มีนาคม 2518

วันนี้บทบาทเปลี่ยน แต่คนไม่เปลี่ยนภายใต้เงื่อนไขต่อสู้เผด็จการสู่ยุคเสรีโลกานุวัตร จากพินิจผู้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ยากไร้ที่ถูกฆ่าคดียัดถึงแดงที่พัทลุง ได้พัฒนาสู่การต่อสู้เพื่อบริการโทรคมนาคมรับใช้ชนชั้นกลางประเภท "ไร้สาย" และ "มีสาย" รวมทั้งต่อรองผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐกับกลุ่มยักษ์ใหญ่ธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่ากลุ่มนายทุนผูกขาดยุคเผด็จการครองเมือง

ล่าสุดผลงาน 17 โครงการสมัยที่พินิจอยู่ในตำแหน่ง รมช. คมนาคมใน 1 ปี 10 เดือน พินิจคุยว่า "ผมมีผลงานมากที่สุดในกระทรวง" เช่น โครงการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 10,000 วงจร, สร้างศูนย์โทรคมนาคมที่บางรัก 30 ชั้นมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาท, วางเคเบิลใยแก้วเชื่อมทุกจังหวัด, โครงการวีแซทเสรี, โครงการอินเตอร์เนต, โครงการอัพลิงค์ ดาวน์ลิงค์, โครงการอีเรเดียมของยูคอม, โครงการอิมาแซทพีของชินวัตร, โครงการทรังค์เรดิโอของสหวิริยา,โครงการลดราคาบริการมือถือ 50 บาท, โครงการเร่งรัดติดตั้งเบสสเตชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ, โครงการปรับปรุงการบริหารความถี่, โครงการวิทยุร่วมพลเรือน, โครงการเพจเจอร์ข้าราชการ, โครงการร่วมทุนระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยกับบริษัททีเอไปต่างประเทศ และโครงการพยากรณ์อากาศเพื่อพัฒนาประเทศ

แต่ละโครงการล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ที่น่าจับตา พินิจซึ่งจะต้องต่อรองกับบริษัทยักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก ซึ่งพินิจอ้างประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อนอันดับหนึ่ง บ้างก็เล่าลือถึงความเป็นถุงเงินถุงทองของพรรคเสรีธรรมในฐานะเลขาธิการพรรคฯ บางคนก็ร่ำลือถึงความร่ำรวยผิดปกติสมัยเป็นรัฐมนตรี เรื่องนี้พินิจปฏิเสธทันควันว่า

"ไม่จริง เสียงเล่าลืออาจจะมาจากเสียงอิจฉาริษยาก็มี หรืออาจจะมาจากความไร้เดียงสา รู้ไม่จริง ซุบซิบนินทา ตามสังคมเก่า ผมไม่หงุดหงิด ผมบอกว่าเป็นนโยบายว่า ไม่มีใครจ้างเราได้ ให้ผลประโยชน์เรา เราไม่รับ หรือเราก็ไม่ไปเรียกร้องผลประโยชน์ แม้แต่ทีมงานของผม ผมจะสั่งหมดทุดคน เอกชนไม่ต้องเสียค่าน้ำร้อนน้ำชา เขาก็เกิดความพึงพอใจแต่ถ้าหากเขาอยากจะช่วยเราในฐานะเป็นนักการเมืองที่มีหลักการดีมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง เขาก็มาสนับสนุนช่วย ระหว่างเลือกตั้ง เป็นการช่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรืออนุญาตใด ๆ"

สินทรัพย์ที่พินิจเปิดเผยให้ฟังมีบ้านอาศัยอยู่หลังเดียวที่กรุงเทพ ส่วนที่ดินที่ซื้อไว้ส่วนตัวที่กรุงเทพฯ บางแปลงและแปลงที่ยังไม่ได้ขายอีกที่แปดริ้ว ส่วนธุรกิจกุ้งกุลาดำยังเป็นธุรกิจหลักที่ร่วมกับเพื่อน เป็นคนกลางรับซื้อเข้าห้องเย็น "ผมไม่ได้ตั้งบริษัท อย่างที่แปดริ้ว ในนามของพินิจคนก็รู้แล้ว เป็นเครดิตส่วนตัวไม่รู้สิว่าเป็นเจ้าพ่อหรือเปล่า ?"

วันนี้ดาวแดงอาจอับแสง จักรวรรดินิยมแปลงรูป เปลี่ยนสัญชาติป่าที่เคยอยู่อาจเป็นรีสอร์ท ทุนนิยมยังยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง และ "พวกเขา" อาจถูกมองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

แม้ว่าบทบาทและภาระหน้าที่ในสังคม "พวกเขา" จะตรงกันข้ามกับในอดีต แต่ครั้งหนึ่งในช่วงชีวิต "พวกเขา" คือคนที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ และเป็นคนหนุ่มสาวที่อาจหาญเสียสละและเป็นตัวอย่างของคนรุ่นหลังนับไม่ถ้วน

อย่างน้อย ๆ ภาพบันทึกและความทรงจำอันงดงามเมื่อ 22 ปีที่แล้วในตัวพวกเขายังคงอยู่ ....



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.