บาทแข็งและผลของมาตรการใหม่แบงก์ชาติ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินบาทในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมามีความผันผวนมากเป็นพิเศษ ช่วงการซื้อขายตอนเช้าแตะระดับแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.06/10 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเมื่อแบงก์ชาติออกมาตรการใหม่เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทเวลา16.30 น. ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 40 สตางค์ โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 35.69/70 ในเย็นวันจันทร์ และ อ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยในช่วงเช้าวันอังคารที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์

มาตรการใหม่หรือหลักเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนมีรายละเอียดดังนี้ ครับ

ในการรับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทจากบุคคลใด ให้นิติบุคคลรับอนุญาตซึ่งก็คือสถาบันการเงินกันเงินสำรองไว้ในอัตราร้อยละ 30 หากมีการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรณีที่รับเงินสำรองคืน เมื่อครบกำหนด 1 ปี ให้สถาบันการเงินจัดให้ผู้นำเข้าเงินตราต่างประเทศยื่นเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าได้ดำรงเงินที่นำเข้าไว้ในประเทศเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และในกรณีที่รับเงินสำรองคืนโดยดำรงเงินที่นำเข้าไว้ในประเทศไม่ถึง 1 ปีหรือนำเงินออกประเทศ แบงก์ชาติก็จะคืนเงินที่กันสำรองไว้ให้เพียง 2 ใน 3 ของเงินกันสำรองไว้ เท่ากับเก็บเงินสำรองไว้ 1 ใน 3 ซึ่งก็เท่ากับ การเก็บภาษี 10%

มาตรการควบคุมเงินทุนลักษณะนี้ ย่อมมีผลทำให้กองทุนขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งมีข้อจำกัดในการลงทุนในประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติเองก็เทขายหุ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหุ้นสถาบันการเงิน เช้าวันอังคารหลังจากมาตรการออกมาบังคับใช้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปมากกว่า 60 จุด และแนวโน้มภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นอาจจะซึมยาวไปอีกหลายเดือนจนกว่าจะมีการทบทวนมาตรการ

การออกมาตรการต่างๆบางทีอาจต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า มันจะส่งผลกระทบข้างเคียง และ ต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงของโลกาภิวัฒน์และภาวะไร้พรมแดน ที่สำคัญข้อมูลต้องแน่นอาศัยทฤษฎีอย่างเดียวคงไม่ได้ อย่างน้อยต้องพอจะคาดเดาได้ว่า พฤติกรรมและการตอบสนองต่อมาตรการเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการตอบสนองที่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงทางลบ

ผลที่มีต่อการสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาทมีผลระดับหนึ่ง

แต่ผลที่มีต่อตลาดทุนตลาดตราสารหนี้รุนแรงมากเกินไป อีกระยะหนึ่งอาจต้องกลับมาคิดใหม่จำเป็นต้องทบทวนมาตรการหรือไม่ ครับ

วิธีที่ดีที่สุด ในการจัดการเคลื่อนไหวในตลาดการเงินในโลกยุคไร้พรมแดน วิธีที่ดีที่สุด ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำให้ แทรกแซงให้น้อยที่สุด และ สร้างกลไก ระบบ สถาบันต่างให้เข้มแข็งเพื่อให้ดูแลตัวเองให้ได้และมีความ

เวลาเงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่มักจะหรืออาจไม่เห็นความจำเป็นในการทำประกันเสี่ยงเอาไว้ เพราะไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียม การเปิด Position เอาไว้ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใดในช่วงเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง แต่ ณ. วันนี้ สถานการณ์พลิกผัน เงินบาทมีโอกาสแข็งแต่คงไม่ผันผวนมาก การเลือกวิธีในการเผชิญความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินและดอกเบี้ยมีแนวทางใหญ่ 4 ใหญ่ๆ

แนวทางแรก คือ การพยายามคาดการณ์ทิศทางของค่าเงินให้แม่นยำด้วยการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดหรือทำการค้าในเงินสกุลเดียวกัน

แนวทางที่สอง คือ การป้องกันความเสี่ยงในตลาดเงินตราล่วงหน้า (Hedge in the forward Market)

การป้องกันความเสี่ยงในตลาดล่วงหน้าจะเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาล่วงหน้า โดยอ้างจะทำสัญญาซื้อขายเงินตราเพื่อส่งมอบในอนาคต (Future Contract) หรือ ทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้า (Forward Contract) โดยการทำสัญญาทั้งสองอย่างมีการแตกต่างกันคือ สัญญาซื้อขายเงินตราเพื่อส่งมอบในอนาคต หมายถึง สัญญามาตรฐานที่ทำการซื้อขายในตลาดจดทะเบียน ผู้ซื้อผู้ขายสามารถพบหน้ากันในการซื้อขาย ขนาดของการซื้อขายและระยะเวลาครบกำหนดเป็นมาตรฐาน ผู้มีส่วนร่วมต่างคุ้นเคยกับรูปแบบของสัญญาทำให้การซื้อขายเงินตราทำได้สะดวก ส่วนสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้าเป็นการซื้อขายกันเป็นส่วนตัวระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งจะติดต่อกันทางโทรศัพท์ การซื้อขายที่สามารถเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายจะต้องทำการค้ากัน ณ. ห้องค้าเงินตรา ส่วนสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้าขนาดของการซื้อขายไม่เป็นมาตรฐานขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคลปริมาณการซื้อขายของสัญญาซื้อขายเงินตราเพื่อส่งมอบในอนาคตเพิ่มขึ้นโดยตลอดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในธุรกรรมระหว่างประเทศ Future Contracts สัญญาจะเป็นสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นมาตรฐานในการซื้อขาย

แนวทางที่สาม คือ การป้องกันความเสี่ยงในตลาดซื้อขายสิทธิที่จะซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (Hedge in option Market) วิธีนี้อาจจะไม่จำเป็นมากในสถานการณ์เวลานี้ เพราะเงินบาทไม่ได้ผันผวนมากแต่คาดเดาได้ว่ามันจะแข็งค่าขึ้น ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1982 ตลาดเงินและตลาดปริวรรตชั้นนำของโลก ได้เปิดให้มีการอนุญาตซื้อขายสิทธิที่จะซื้อขายเงินตราต่างประเทศ สิทธิที่จะซื้อขายเงินตราต่างประเทศจะไม่เหมือนกับสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าและสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต กล่าวคือ สิทธิที่จะซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือ Currency Option เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อโดยไม่ถือเป็นภาระผูกพันที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ตกลงกันไว้

แนวทางที่สี่ การป้องกันความเสี่ยงในตลาดเงิน การป้องกันความเสี่ยงแบบนี้จะเกี่ยวข้องกับสัญญาและแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะปฏิบัติ นอกจากนี้อาจจะลดความเสี่ยงด้วยวิธีการทำสว๊อพ วิธีการทำสว๊อพเองก็สามารถทำได้ 4 วิธี ทั้ง Back to Back swap, Currency Swap, Credit Swap, Interest rate Swap

จริงๆแล้วเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Forward, Futures และ Options นั้นเริ่มต้นจากการที่พ่อค้าเกษตรพืชผลในสหรัฐฯต้องการมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพืชผลเกษตรก่อน ต่อมายิ่งนำมาใช้ในแวดวงการเงิน อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเหล่าก็ก่อให้เกิดการเก็งกำไรเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากกำไรและขาดทุนในการซื้อขายตราสารอนุพันธ์เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน นอกจากนี้แล้วทั้ง Futures และ Options ยังไม่จำเป็นต้องส่งมอบสินค้ากันจึงทำให้ดูคล้ายการพนันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตลาดเงินตลาดทุนในประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก ทำให้มีการแสวงหากำไรด้วยการปันราคาหรือเก็งกำไรเพื่อทุบค่าเงินหรือดันค่าเงิน

แบงก์ชาติได้ออกมาตรการออกมาหลายชุดคุมเข้มการทำธุรกรรมทางการเงินของตลาดอินเตอร์แบงก์หรือตลาดเงินระหว่างธนาคาร นอกจากนี้แบงก์ชาติก็พยายามปิดช่องการเก็งกำไรด้วยการมีมาตรการสกัดการไหลเข้ามาลงทุนเก็งกำไรในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับมาตรการใหม่ซึ่งมีผลเท่ากับการเก็บภาษีเงินไหลเข้า 10% นี้ย่อมเกิดให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นส่วนหนึ่งเป็นเงินระยะสั้น และเงินเหล่านี้เคลื่อนย้ายเร็ว เมื่อเรามามาตรการลักษณะนี้ก็จะทำให้เงินเหล่าเคลื่อนย้ายไปลงทุนในตลาดอื่นๆในตลาดเอเชีย อย่างไรก็ตาม

ความมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพของค่าเงิน มีความสำคัญแน่นอน

แต่มาตรการต่างๆต้องคิดให้ละเอียดว่า มาตรการที่ออกมาส่งผลต่อเป้าหมายมากน้อยเพียงใด และ มีผลกระทบข้างเคียงด้านลบอย่างไรบ้าง นอกจากนี้มีทางเลือกทางด้านนโยบายอื่นๆหรือไม่ที่ดีกว่า ครับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.