ในเดือนตุลาคมนี้ "เรโนลต์" จะถึงจุดหักเลี้ยวสำคัญอีกครั้ง เมื่อผู้แทนจำหน่ายรายเดิม
"บุญรักษ์ บุญวิสุทธิ์" หมดสิทธิ์ครอบครอง หลายค่ายต่างเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
และบางรายต้องการนำ "เรโนลต์" กลับมาสู่ตลาดอีกครั้ง แต่จากบทเรียนการเปิดเสรีนำเข้ายานยนต์ไทยเมื่อปี
2534 ที่ทำให้รถยนต์ยี่ห้อดังจากฝรั้งเศสนี้ต้องพังพาบอย่างหมดรูป กำลังเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้นำเข้ารายใหม่ต้องตอบว่าจะฟื้นคืนชีพเรโนลต์ได้อย่างไร
?
"สถานการณ์ทำให้เราผิดพลาดอย่างที่ไม่อาจจะแก้ไขได้ มีอยู่ทางเดียวก็คือทางบริษัทแม่จะต้องเข้ามาช่วยแก้ไข
โดยเฉพาะการช่วยเหลือในด้านต้นทุนราคา แต่เมื่อเขาไม่ทำทั้ง ๆ ที่เราชี้แจงโดยละเอียดแล้ว
ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร มาถึงวันนี้ทุกอย่างก็เป็นจริงอย่างที่เราคาดการณ์
รถยนต์เรโนลต์ยากที่จะทำตลาดในเมืองไทยอีกต่อไป"
ผู้บริหารระดับสูงที่เคยอยู่ในทีมงานของบริษัท เรโนลต์ (ประเทศไทย) จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทที่ตระกูลบุญวิสุทธิ์ ถือหุ้นใหญ่ และนับเป็นบริษัทที่เข้ามารับช่วงทำตลาดเรโรลต์ในไทย
เป็นรายที่สี่ ได้กล่าวถึงความผิดพลาดครั้งสำคัญ
รถยนต์เรโนลต์ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกโดยรายย่อยเพื่อทำเป็นรถแท็กซี่ในราวปี
2490 เปลี่ยนมือมาหลายเจ้า ยอดจำหน่ายไม่มากนัก แม้แต่ในช่วงที่บริษัทอิตัลไทยทำตลาดก็มียอดจำหน่ายเพียงปีละ
100 กว่าคัน
จนกระทั่งปี 2528 บุญรักษ์ บุญวิสุทธ์ จึงได้สิทธิ์จำหน่ายเรโนลต์ในไทยและก่อตั้งบริษท
เรโนลต์ (ประเทศไทย) ขึ้นมา จนที่สุดสิทธิ์ที่ได้มากำลังจะหมดไปในเดือนตุลาคม
2538 นี้
ชีวิตที่มีอนาคตของเรโนลต์ในไทยเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2530 เมื่อบริษัทเรโนลต์
(ประเทศไทย) ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ไทย-สวีดิชแอสเซมบลีย์ ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถยนต์วอลโว่
ให้ทำการประกอบรถยนต์ ซึ่งนับจากครั้งนั้นยอดจำหน่ายรถยนต์เรโนลต์ เริ่มโดดเด่นขึ้น
เรโนลต์ในยุคแรก ๆ ของบุญรักษ์นี่เอง ที่แผนงานทุกอย่างได้หลั่งไหลจากเรโนลต์
ฝรั่งเศส มายังเมืองไทยอย่างมากมาย จนขณะนั้น มองได้ว่า เรโนลต์จะเป็นรถยนต์ยุโรปอีกยี่ห้อหนึ่งที่จะได้ใหญ่ในเมืองไทย
จุดขายของเรโนลต์ยุคนั้น อยู่ที่ความเป็นรถยนต์คุณภาพที่ราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ยุโรปด้วยกัน
ในระดับเดียวกัน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรถยนต์ญี่ปุ่นในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
ก็จะไม่เห็นความแตกต่างด้านราคากันมากนัก เรียกว่า เป็นรถยุโรปที่ถูกกว่ารถยุโรป
และเป็นรถยุโรปที่มีราคาเป็นรถญี่ปุ่น
จากยอดจำหน่าย 572 คันในปี 2531 ขยับมาเป็น 778 คันในปี 2532 และเพิ่มเกือบเท่าตัวในปี
2533 เป็น 1,471 คัน นับเป็นข้อมูลยืนยันได้ว่าตลาดรถยนต์เรโนลต์รุ่งโรจน์เพียงใด
นี่ยังไม่นับถึงการที่โรงงานไทย-สวีดิชแอสเซมบลีย์ ไม่สามารถผลิตป้อนความต้องการให้ได้ทันเนื่องจากขณะนั้นรถยนต์นั่งวอลโว่ก็มียอดจำหน่ายที่โดดเด่นเช่นกัน
การขยายกำลังการผลิตเพื่อเรโนลต์จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะอย่างไรเสียโรงงานแห่งนี้ก็ต้องเอาวอลโว่ไว้ก่อนเนื่องจากผู้ถือหุ้นของโรงงานคือวอลโว่
แห่งสวีเดน และบริษัทสวีเดนมอเตอร์ส ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์นั่งวอลโว่ในไทย
ปัญหาด้านกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตลาดเรโนลต์ในยุคนั้นขยายตัวได้อย่างยากลำบาก
เรโนลต์ ฝรั่งเศส และแม้แต่บุญรักษ์ย่อมทราบดีว่า การยืมจมูกผู้อื่นหายใจย่อมไม่ใช่เรื่องดี
แผนงานเพื่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์เรโนลต์ขึ้นเองในไทยจึงเกิดขึ้น
ปัญหาใหญ่ในขณะนั้นก็คือ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงงานประกอบรถยนต์ ใช่จะหามาได้ง่าย
ๆ เพราะยุคนั้นรัฐปิดกั้นเพื่อไม่ให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะมาแข่งกับรายเก่าที่มีอยู่
เป็นแนวคิดที่อาจจะมีความจำเป็นในช่วงเวลานั้น เพื่อคุ้มครองให้อุตสาหกรรมด้านนี้สามารถเติบโตได้
ซึ่งต่อมาในปี 2534 หลังนโยบายเสรีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ ในยุครัฐบาลอานันท์
ปันยารชุน ประกาศใช้ได้ไม่นาน การประกาศเปิดเสรีโรงงานประกอบรถยนต์ก็ตามมาอีกระลอก
แต่ก็ถือว่าสายเกินไปเสียแล้วสำหรับเรโนลต์
นับจากปี 2532 ถึงปี 2533 บริษัทเรโนลต์ (ประเทศไทย) มีความชัดเจนในแผนการลงทุนมากที่สุดบริษัทหนึ่ง
ต้นปี 2532 ประกาศย้ายสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จากประเทศอินโดนีเซียมาประจำที่ประเทศไทย
กลางปี 2533 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรโนลต์ ฝรั่งเศส เข้าพบ ศิววงศ์ จังคศิริ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแสดงเจตจำนงในการตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทย
ด้วยเงินลงทุนของโครงการ 200-300 ล้านบาท บนที่ดิน 50 ไร่ ในจังหวัดสระบุรีพร้อมแผนที่จะให้ไทยเป็นศูนย์การผลิตของเรโนลต์ในภูมิภาคนี้แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชาติชาย
ชุณหะวัณ ก็ถูกรัฐประหารเสียก่อนเมื่อต้นปี 2534
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเรโนลต์ จะยังมีแผนสองรองรับไม่เพียงแต่รอไฟเขียวจากภาครัฐเท่านั้น
ในเดือนพฤศจิกายน 2533 บุญรักษ์ได้เข้าประมูลซื้อโรงงานกรรณสูต ที่กรมบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด
ครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เรโนลต์หวังจะได้ใบอนุญาตเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์
มากกว่าได้ซากโรงงานประกอบรถยนต์ เช่นเดียวกับอีกหลายรายที่เข้าร่วมประมูล
แต่แล้วความพยายามของเรโนลต์ก็ต้องล้มเหลวอีกครั้ง เพราะพ่ายแพ้ต่อทุนญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า
ที่มีความต้องการไม่แพ้เรโนลต์เช่นกัน
การดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ของเรโนลต์ในไทยนับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด
"ถ้าช่วงปี 2532 ถึง 2533 เราสามารถตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ได้ ก็คงไม่มีวันนี้
เพราะทางฝรั่งเศสคงทุ่มเทกับการรุกตลาดเมืองไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากลงไปมาก
และจริง ๆ แล้ว ในช่วงสำคัญนั้น เรโนลต์ฝรั่งเศสได้หันไปมองทำเลที่ประเทศจีนและเวียดนามมากขึ้น
ในเมื่อประเทศไทยไม่มีการพิจารณาเปิดเสรีโรงงานประกอบรถยนต์ในช่วงที่เขาต้องการเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมารอคอย"
อดีตผู้บริหารของเรโนลต์ (ประเทศไทย) กล่าวต่อ "ผู้จัดการ"
ปัญหาด้านงานบริการ เป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงรถยนต์เรโนลต์
ด้วยความเป็นรถยนต์ฝรั่งเศส ที่อะไหล่และอุปกรณ์ต่าง ๆ จะมีความเป็นพิเศษไม่เหมือนสากลเสียเท่าไรและที่สำคัญไม่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับความเป็นญี่ปุ่นได้เลย
จึงทำให้ปัญหาการซ่อมบำรุงทั้งเรื่องบุคลากรและอะไหล่เป็นเรื่องที่หายาก
เนื่องจากประเทศไทยชินกับความเป็นญี่ปุ่นมากกว่าในยุคหลัง
และเมื่อตลาดขยายตัวออกไป การหาบุคลากรมารองรับตรงนี้จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
"ปัญหาบุคลากรด้านศูนย์บริการทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ในช่วงหนึ่งมีการดึงช่างที่มีความชำนาญรถยนต์ยุโรปมาจากค่ายอื่น
พอเขารู้ก็มีการสู้ในเรื่องของค่าแรงกันในที่สุดต้นทุนก็สูงขึ้น และเมื่อเขาไม่ยอมเราก็ลำบาก
ตอนนั้นคนใช้รถสองพันกิโลก็ต้องกลับมาซ่อมที เพราะช่างเราไม่เก่งพอ มันก็ไม่ไหวแล้ว
ใครจะมาทนใช้ ยิ่งเป็นรถที่ซ่อมที่อู่ทั่ว ๆ ไปลำบากยิ่งไปกันใหญ่"
พิศาล แพร่ภัทร อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของเรโนลต์ (ประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด
บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความล้มเหลวส่วนหนึ่งของเรโนลต์ในไทย
นโยบายที่เปลี่ยนไปของเรโนลต์ฝรั่งเศสก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้ เรโนลต์ไทยไม่ประสบความสำเร็จ
พิศาลได้เล่าถึงต้นเหตุสำคัญแห่งความร้าวฉานระหว่างเรโนลต์ ฝรั่งเศส กับผู้บริหาร
ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของเรโนลต์ (ประเทศไทย) ว่า ปลายปี 2533 คาบเกี่ยวปี
2534 เมื่อไทยเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์แล้วนั้น ทุกค่ายรถยนต์ต่างวางแผนตลาดอย่างเข้มข้น
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือเรื่องราคา
แต่สำหรับเรโนลต์แล้ว เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเรโนลต์ ฝรั่งเศส ไม่ลดราคา
รวมถึงไม่ให้ความช่วยเหลือเรโนลต์ (ประเทศไทย) ในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเป็นจุดสำคัญมากที่ทำให้เรโนลต์
ในไทย แย่ลง ตรงนี้จึงเป็นเรื่องขัดแย้งครั้งแรกในด้านนโยบาย จนเกิดปัญหาตามมามากมายในภายหลัง
ประเด็นสำคัญเกิดจากเรโนลต์ฝรั่งเศสเองก็มีผลประกอบการย่ำแย่ในยุโรป การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากในตลาดเมืองไทย
หลังเปิดเสรีนำเข้ายานยนต์ทำให้เรโนลต์ฝรั่งเศส ซึ่งไม่พร้อมอยู่แล้วปรับตัวไม่ทัน
ประกอบกับความขัดแย้งในการลงทุนเพื่อถือหุ้นในโรงงานไทย-สวีดิชแอสเซมบลีย์
แต่ฝ่ายบุญรักษ์ อ้างว่าได้ลงทุนไปมากแล้ว ทำให้เรโนลต์ฝรั่งเศสตัดสินใจมาถือหุ้นเองและในที่สุดก็เจ็บปวดจนต้องถอนหุ้นไปในเวลาต่อมา
จะว่าไปแล้วปัญหาของเรโนลต์ในประเทศไทย นับจากเปิดเสรียานยนต์เรื่อยมา
เป็นเรื่องที่ฝ่ายบุญรักษ์เข้าใจดี และพยายามจะแก้ปัญหา แต่ระยะหลังนโยบายการทำตลาดของเรโนลต์
(ประเทศไทย) กับเรโนลต์ ฝรั่งเศส ค่อนข้างสวนทางในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา,
การขยายช่องทางตลาดและภาพพจน์สินค้า
ในระหว่างที่เรโนลต์ประสบปัญหาในการทำตลาดอย่างรุนแรงนั้น ดีลเลอร์รายใหญ่ของเรโนลต์และเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งใน
เรโนลต์ (ประเทศไทย) เริ่มเห็นเค้าลางแห่งความล้มเหลว ได้ถอนตัวไป เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้ารถยนต์นั่งแดวูจากประเทศเกาหลีใต้แทน
ซึ่งว่ากันว่าหุ้นส่วนจำนวนหนึ่งที่ก่อตั้งบริษัท เพื่อนำเข้ารถยนต์นั่งแดวูนั้น
น่าจะเป็นของบุญรักษ์ด้วย
เช่นเดียวกัน ดีลเลอร์ของเรโนลต์อีกหลายรายได้ถอนตัวไป และบางรายถอนตัวไปเพื่อเป็นดีลเลอร์ให้กับ
แดวู จนปัจจุบันดีลเลอร์ที่เคยมีอยู่ 25 รายในยุคเฟื่องฟู ถึงวันนี้เหลืออยู่เพียงน้อยนิด
ด้วยยังหวังการกลับมาของเรโนลต์ ส่วนรายที่มีงานด้านบริการอยู่ก็คงรับซ่อมบำรุงอยู่ต่อไปเพราะลูกค้าเก่าก็ยังพอมีมาใช้บริการ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลด้านการบริการหลังการขายของ เรโนลต์ (ประเทศไทย)
ในปัจจุบันกล่าวต่อ "ผู้จัดการ" ว่าโดยปกติถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์การจำหน่ายนั้น
ผู้ที่ได้รับสิทธิ์รายใหม่จะต้องเข้ามารับทอดและเรียนรู้งานจากรายเดิมเสียก่อน
โดยเฉพาะงานด้านศูนย์บริการโดยจะต้องเจรจากันว่าจะรับโอนลูกค้ากันอย่างไร
และเรื่องของบุคลากรด้านช่างจะฝึกกันอย่างไร
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อเข้ามา ทั้งนี้เข้าใจว่าคงต้องรอว่าทางฝรั่งเศสจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องนี้
จากนั้นจึงให้เวลารายใหม่เข้ามาศึกษางาน และมั่นใจได้ว่างานด้านบริการคงไม่เปลี่ยนมือไปทันทีในเดือนพฤศจิกายนนี้
หลังจากที่ผู้ได้สิทธิ์รายเดิมคือ เรโนลต์ (ประเทศไทย) หมดอายุสัญญาลง ส่วนงานขายหรือการเปิดตลาดอีกครั้งขึ้นอยู่กับรายใหม่ว่าจะดำเนินการได้เร็วแค่ไหน
ซึ่งคิดว่าน่าจะมีขึ้นหลังสิ้นปีนี้ไปแล้ว
"เรโนลต์ (ประเทศไทย) ยังให้บริการอยู่ ต่อเมื่อรายใหม่เข้ามาจึงโอนให้
จึงขึ้นอยู่กับว่ารายใหม่จะพร้อมให้บริการเมื่อไร ซึ่งระหว่างนั้นเราคงต้องให้บริการไปก่อน"
คำถามสำคัญคือ เรโนลต์ฝรั่งเศสจะตัดสินใจอย่างไร และเสียเวลาไปไม่น้อยกว่า
1 ปีแล้วสำหรับการตัดสินใจ
ผู้บริหารซึ่งเคยอยู่กับ เรโนลต์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า ถ้าไม่เป็นเพราะการตัดสินใจของเรโนลต์
ฝรั่งเศส ยอมที่จะหยุดชื่อของเรโนลต์ไว้ชั่วคราว ซึ่งการหยุดนั้นเพื่อที่จะให้คนลืมบางสิ่งบางอย่างไป
และการกลับมาครั้งใหม่จะได้ลบภาพเก่าได้ง่ายขึ้น
"เขาคงต้องการให้เกิดตำนานบางอย่างประกอบกับความไม่พร้อมและทิศทางที่ไม่ตรงกันในหลายเรื่อง
ของผู้นำเข้ารายเดิม การที่จะเปลี่ยนผู้นำเข้ารายใหม่ในทันทีขณะที่ตลาดยังไม่จาง
น่าจะทำให้ความใหม่หรือยุคใหม่เห็นภาพยาก"
ซึ่งแผนงานเพื่อการฟื้นฟูเรโนลต์ในไทยนั้น ขณะนี้ส่งถึงมือของเรโนลต์ ฝรั่งเศสแล้ว
แน่นอนว่าไม่ใช่แผนงานที่มาจาก บุญรักษ์ บุญวิสุทธิ์
มีกระแสข่าวว่า สวีเดนมอเตอร์สอาจจะมารับช่วงต่อเรโนลต์ โดยเฉพาะการที่อดีตผู้บริหารเรโนลต์
ประเทศไทยอย่างพิศาล แพร่ภัทร มารับตำแหน่งในสวีเดนมอเตอร์ส อีกทั้งสวีเดนมอเตอร์สก็เคยเจรจาขอซื้อสิทธิ์จำหน่ายเรโนลต์เมื่อปลายปี
2536 แต่ไม่เป็นผล
เจฟฟรีย์ โรว์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท สวีเดน มอเตอร์ส
จำกัด(มหาชน) ได้ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าการเข้าซื้อสิทธิ์การจำหน่ายเรโนลต์ในประเทศไทย
โดยสวีเดนมอเตอร์สนั้นจบไปแล้ว
"เมื่อเขาไม่ขายเราก็ไม่สนใจอีกต่อไป"
ปัจจุบันเมื่อสวีเดนมอเตอร์ส ได้ไครสเลอร์ เข้ามาเสริมทัพ จากที่ก่อนหน้านั้นมีเพียงวอลโว่
และมาเซราติ จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าความต้องการได้สิทธิ์จำหน่ายเรโนลต์จะลดน้อยลง
เพราะลำพังเพียงไครสเลอร์ ก็มีรุ่นรถยนต์ให้เลือกมากมายที่จะนำเข้ามาบูมตลาดไทยได้ไม่ยากอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ วันนิวัติ ศรีไกลวิน หุ้นส่วนใหญ่ของสวีเดนมอเตอร์ส
และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมสังคม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่บริษัทตั้งขึ้นมาให้
ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ โดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ต่อ "ผู้จัดการ" ว่า
"เรื่องเรโนลต์ยังไม่จบ ยังอยู่ระหว่างการเจรจา"
สำหรับ พิศาล เขาพูดถึงตัวเอง และโยงไปถึงการทำตลาดเรโนลต์ในไทยไว้อย่างน่าคิดว่า
"ถ้าให้ผมมาทำเรโนลต์ผมคงไม่มา มันทำยาก ตัวโปรดักส์มันยากแล้ว"
ส่วนกลุ่มเคพีเอ็น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย และยังเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์นั่งซูบารุ
ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ก็เคยมีข่าวว่ามีความต้องการที่จะยื่นขอสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายเรโนลต์
เช่นกัน
ประกอบกับในช่วงเวลานั้น เกษม ณรงค์เดช ประธานกลุ่ม ได้ออกมากล่าวถึงแนวคิดที่ว่าบริษัทต้องการที่จะนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง
ซึ่งสามารถขยายตลาดได้มากกว่าซูบารุ มาจำหน่ายเพื่อที่ว่าอนาคตจะเข้าสู่การประกอบรถยนต์ยี่ห้อนั้น
"ซูบารุ คงได้แค่นี้ เพราะตลาดมีเฉพาะกลุ่ม ขยายในวงกว้างไม่ได้มาก
เราจึงต้องการรถที่เป็นแมสมากขึ้นมาทำตลาดในเมืองไทย ขณะนี้เรากำลังพยายามอยู่"
คำพูดของเกษม
แต่จนถึงขณะนี้ ความคืบหน้าในส่วนของกลุ่มเคพีเอ็นดูจะเบาบางลงไปมาก
พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ต่างหากที่ดูจะจริงจังกับเรื่องนี้
ภายหลังที่อินช์เคป ประเทศไทยต้องล้มแผนนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทย
กิตติวุฒิ ศิริรัตนคุ้มวงศ์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง ได้รวมทีมงาน และหนึ่งในนั้นก็คือชินทัต
ตันตราวงศ์ซึ่งทั้งสองได้เคยร่วมงานที่ค่ายพระนครยนตรการมาด้วยกันในยุคที่ฮุนได
และโอเปิลโด่งดังมากนำแผนงานทั้งหมดเกี่ยวกับการปลุกรถยนต์เรโนลต์ ในไทยซึ่งอินช์เคปคิดจะทำ
มาเสนอกับกลุ่มพรีเมียร์ จนกระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งสองจึงเข้ามารับตำแหน่งในพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์
ทุกอย่างเป็นความลงตัวในเงื่อนไขเวลา กลุ่มพรีเมียร์ ที่มีวิเชียร พงศธรเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ต้องการที่จะบุกด้านธุรกิจยานยนต์พอดี
วิเชียร พงศธร นอกจากจะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์แล้วยังรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์
จำกัด(มหาชน) โดยตรง ซึ่งพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ แห่งนี้คือบริษัทตัวแทนของกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจการจำหน่ายรถยนต์
ด้วยการเป็นดีลเลอร์ของรถยนต์หลายยี่ห้อ และนับเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมของเครือข่ายรอบด้านรวมทั้งการบริการด้านการเงินที่มีให้กับลูกค้าด้านยานยนต์
ซึ่งได้กลายเป็นกลยุทธ์โดดเด่นของการค้ารถยนต์ยุคปัจจุบัน
วิเชียร เคยกล่าวถึงทิศทางของบริษัทว่า มีแผนที่จะทำตลาดรถยนต์อีกหลายยี่ห้อซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
และหวังที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้แทนนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ จากที่ปัจจุบันเป็นเพียงดีลเลอร์จำหน่าย
รถยนต์ในประเทศเท่านั้น
ในปี 2537 ที่ผ่านมา พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ มียอดจำหน่ายรถยนต์มากถึง
5,438 คัน และปี 2538 นี้คาดการณ์ว่าจะสามารถจำหน่ายได้ประมาณ 6,000 คันเป็นอย่างน้อย
สำหรับรถยนต์ที่พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์เป็นดีลเลอร์ในขณะนี้อาทิเช่น นิสสัน,
มิตซูบิชิ และมาสด้า
การเคลื่อนทุนเข้าสู่การเป็นผู้นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศของกลุ่มพรีเมียร์
จึงน่าจับตาว่าจะคืบคลานไปถึงระดับใด
ทางด้าน เรโนลต์ ฝรั่งเศส ถ้าได้กลุ่มพรีเมียร์มาเป็นตัวแทนนำเข้า ก็น่าที่จะพอใจไม่น้อยเพราะศักยภาพรอบด้านของกลุ่มพรีเมียร์
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ค้ารถยนต์รายใดก็ว่าได้
สำหรับกิตติวุฒิ เขาเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการของพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์
ดูแลงานสายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งก็คือการวางแผนในการเข้าถือสิทธิ์เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์เรโนลต์
ในประเทศไทย และยังรวมถึงการเสนอขอรับสิทธิ์การจำหน่ายรถยนต์อีกอย่างน้อย
2 ยี่ห้อจากต่างประเทศเพียงแต่ว่าแผนการนำเข้าเรโนลต์เป็นเรื่องที่ชัดเจนและดูว่าจะเร่งด่วนกว่า
ในขณะนี้
ส่วนชินทัตนั้น ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการเช่นกัน แต่ดูแลด้านงานต่างจังหวัด
ซึ่งเป็นงานที่ชินทัตคุ้นเคย
กิตติวุฒิ ผู้ที่มีความโดดเด่นมากในแนวคิดของธุรกิจเชิงรุก กล่าวต่อ "ผู้จัดการ"
ถึงแนวทางในการกลับมาฟื้นตลาดรถยนต์เรโนลต์ในไทยว่า แนวทางการทำตลาดในระยะแรกนั้นจะเน้นให้รถยนต์เรโนลต์สามารถแข่งขันในตลาดรถยนต์ยุโรปในเมืองไทยให้ได้ก่อน
ทั้งด้านของภาพพจน์ ชื่อเสียง ต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์บริการ
ดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์บริการ ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
หรือที่เรียกว่า คัสโตเมอร์ แคร์ ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นจะใช้นโยบายดีลเลอร์ทั้งหมด
โดยรถเรโนลด์ที่จำหน่ายนั้นจะเป็นการนำเข้าทั้งสิ้น ยังไม่มีการประกอบในช่วงแรกนี้
"คงต้องใช้ดีลเลอร์ทำตลาด ลงทุนเองคงช้าไป และแน่นอนรถที่ขายจะเป็นซีบียูทั้งหมด
ซีเคดีคงไปไม่ได้"
ถ้าพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ ได้สิทธิ์เรโนลต์จะกลับมาได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องยากที่จะตอบ
แต่กิตติวุฒิ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า
"การที่เรโนลต์จะกลับมาได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า ราคา และการเกื้อหนุนจากบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศส
เป็นอย่างไร"
ทำไมต้องขึ้นราคา? "ผู้จัดการ" ถาม
"ต้องใช้ราคาดัมพ์ตลาด เพื่อปลุกตลาดก่อน เพื่อให้ตลาดหันมาสนใจเพราะสินค้าดีอยู่แล้ว
ไม่อย่างนั้นฟื้นเรโนลต์ไม่ได้" คำตอบจากกิตติวุฒิ ที่มั่นใจว่า นี่จะเป็นอีกครั้ง
ที่เขาจะสามารถสร้างความเด่นดังให้เกิดในวงการรถยนต์เมืองไทยถ้าเกิดพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์
ได้สิทธิ์จำหน่ายเรโนลต์ขึ้นมา
แนวทางคร่าว ๆ ข้างต้น คือ ส่วนหนึ่งของแผนงานโดยละเอียดที่พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์
ยื่นเสนอต่อเรโนลต์ฝรั่งเศส เพื่อขอสิทธิ์เป็นผู้นำเข้า
การกลับมาของเรโนลต์ในตลาดไทยดูเหมือนว่า พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์จะเป็นรายเดียว
ที่เปิดตัวมากที่สุด ขณะที่สวีเดนมอเตอร์ส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยต้องการกลับแสดงเจตจำนงที่จะล้มเลิกแผน
การรับช่วงเพื่อเป็นผู้จำหน่ายเรโนลต์ในไทยครั้งนี้ ไม่ได้สำคัญที่ว่าใครจะได้สิทธิ์เป็นรายต่อไป
แต่สำคัญที่ว่าผู้ได้สิทธิ์มาแล้วจะปลุกตลาดเรโนลต์ให้โด่งดังอีกครั้งได้อย่างไรมากกว่า
ที่สำคัญเชื่อว่าที่เรโนลต์ ฝรั่งเศสลังเลมากว่า 1 ปีก็เพราะเช่นนี้