"วิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศล ขอกลับมาเรียนศัพท์การตลาดใหม่"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"งานที่นี่มันท้าทาย แตกต่างจากงานที่ผมเคยทำราวฟ้ากับดิน เหมือนยืนคนละซีกของกระจก ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสดีมากที่ผมจะได้กลับมาเรียนรู้เรื่องระบบการจัดจำหน่าย ซึ่งมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วงที่ทำงานกับผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของแบรนด์เองด้วย เราจะมองเห็นแต่ด้านการตลาด คือทำอย่างไรจึงจะพัฒนาแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้จัก แต่เมื่อมาเป็นผู้แทนจำหน่าย เราจะได้เห็นอีกด้านหนึ่ง คือ ทำอย่างไรจึงจะกระจายสินค้าได้กว้าง ขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ รวมทั้งต้องสนับสนุนการขายอย่างไร สินค้าจะระบายได้รวดเร็ว ดังนั้นหลังจากที่อยู่กับนิโคลัสกีวีและซาราลีมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว ผมคิดว่าถ้าได้ประสบการณ์ด้านการจัดจำหน่ายเพิ่มด้วยผมจะคล่องทั้งสองซีก ทำให้เห็นอะไรชัดเจนขึ้นอีกเยอะ" วิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศลกล่าวถึงสาเหตุที่เขาลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาลารี เทรดดิ้งส์ ประเทศไทยเข้ามาร่วมงานกับอีเอซี มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ประเทศไทย

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยเอแบค ปริญญาโทด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยดีทรอยด์ และด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น วิวัฒน์เริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกที่แผนกเครื่องมือแพทย์บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย ในตำแหน่งมาร์เก็ตติ้ง โคออดิเนเตอร์อยู่ 4 ปี ก่อนที่จะลาออกไปอยู่ที่บริษัท บอร์เนียว (ประเทศไทย) เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการตลาด

วิวัฒน์อยู่ที่บริษัท บอร์เนียว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออินช์แคป (ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นอินช์แคป คอนซูเมอร์ มาร์เก็ตติ้งในปัจจุบัน) เป็นระยะเวลา 4 ปี เริ่มจากการเป็นแบรนด์ แมเนเจอร์ ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดูแลยาสีฟันฟลูออคารีล หลังจากนั้นก็ย้ายตามฟลูออคารีลมาอยู่ในสังกัดแอง-โกลไทย ในตำแหน่งดิวิชั่น แมเนเจอร์

"ช่วงที่ดูแลฟลูโอคารีลที่บอร์เนียวและแอง-โกลไทย ผมรู้สึกว่าทำงานไม่ได้ดังใจ เพราะเราเป็นผู้แทนจำหน่าย จะทำอะไรก็ต้องขอความเห็นชอบจากเจ้าของสินค้าก่อน อย่างเช่นผมแนะนำให้ทำการโฆษณา แต่เจ้าของแบรนด์ไม่เห็นด้วยก็ทำไม่ได้ ทำให้ความคิดของเราไม่ถูกนำไปใช้เต็มที่ จึงไปอยู่กับนิโคลัสกีวีไทยแลนด์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดจนกระทั่งซาราลีซื้อหุ้นนิโคลัส-กีวีในเมืองนอกและนิโคลัส-กีวีไทยแลนด์ก็เปลี่ยนเป็นซาราลี เทรดดิ้ง ประเทศไทย ผมก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป และกรรมการผู้จัดการในที่สุด" วิวัฒน์ย้อนอดีตให้ฟัง

แต่หลังจากที่อยู่กับนิโคลัส-กีวี และซาราลี เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตมากกว่า 10 ปี วิวัฒน์ก็เกิดอยากรู้ว่าระบบการจัดจำหน่ายในปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างไร เพราะรู้สึกว่าตอนนี้ดิสทริบิวชั่นเป็นตัวที่สำคัญที่สุดของมาร์เก็ตติ้ง บิสซิเนส และเป็นคีย์ที่จะทำให้ธุรกิจกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ประกอบกับสองปีหลังยักษ์ใหญ่ในวงการอุปโภค-บริโภคมักพูดถึงคำศัพท์แปลก ๆ อย่างคอนเซสชั่นแนล เอสดีโอ ลอจิสติก ซึ่งอยู่ในเรื่องการจัดจำหน่ายหมดเลย เขาจึงตัดสินใจมาร่วมงานกับอีเอซี มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิสซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ ทางการจัดจำหน่าย คือ "ดิสทริบิวชั่นเซนซัส" เพิ่มอีกหนึ่งตัว

"ผมหวังว่าคงได้มาทดลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น เมื่อก่อนที่อยู่กับซาราลี ยอดขายเราแค่นี้ เราก็ได้ทดลองด้วยเครื่องไม้เครื่องมือแค่นี้ แต่เมื่อผมมาอยู่ที่นี่ ปีแรกผมบอกว่าจะขายได้พันล้าน แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะทำได้สองพันล้านก็ได้ เกิดมีเอเจนซีใหญ่ ๆ เปลี่ยนใจมาให้เราขาย เมื่อยอดขายเรามาก เราก็สามารถทดลองอะไรในสโคปที่กว้างขึ้น" วิวัฒน์กล่าวอย่างกระตือรือร้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.