|
สมาคมแบงก์ขอเอี่ยวเสนอธปท.ยกเว้นกัก30%ลูกค้ากู้เงินนอก
ผู้จัดการรายวัน(21 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ประธานสมาคมธนาคารไทยผสมโรงขอแบงก์ชาติยกเว้นสำรองเงินทุน 30%สำหรับบริษัทที่กู้เงินจากต่างประเทศในระยะเวลาเกิน 1 ปี ยาหอมแบงก์ชาติพลิกสถานการณ์เร็วทำให้นักลงทุนพอใจ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจับตาหากมาตรการนี้ไม่ได้ผล มีโอกาสสูงที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ย คาดจนถึงสิ้นปีบาทแกว่งในกรอบ 35.50-36.00 บาท ด้านนักวิชาการหนุนระบุถือเป็นมาตรการที่ทำตรงจุดที่สุดแล้ว
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกเลิกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทสำหรับเงินที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเงินลงทุนโดยตรงนั้น คาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนพอใจ และน่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับคืนมาได้ รวมทั้ง ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนกลับมาคึกคักมากขึ้น ส่วนกรณีที่ธปท.ได้เปลี่ยนแปลงมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทมาเป็นการยกเลิกนั้น ประเมินว่าน่าจะเป็นการสร้างจุดแข็ง และทำให้นักลงทุนพอใจ เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
“มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นจุดแข็งที่ธปท.พลิกสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วทำให้นักลงทุนพอใจ และเรียกความมั่นใจนักลงทุนกลับคืนมาได้ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีผลกระทบ” คุณหญิงชฎา กล่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนสมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือร่วมกัน และเห็นว่าควรที่จะเสนอให้ ธปท.ปรับปรุงมาตรการบางอย่าง คือ ให้ยกเลิกการตั้งสำรองเงินทุน 30%สำหรับบริษัทไทยที่ต้องการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาในระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป เพราะเห็นว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากเงินต่างประเทศและเป็นเงินทุนในระยะยาว ส่วนทิศทางของค่าเงินบาท คาดว่าคงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเมื่อใด ต้องดูสถานการณ์ก่อน
กสิกรฯระบุใช้ยาแรงเกินคาด
นายพิศาล มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงมาตรการของธปท.ที่ให้มีการกันสำรองเงินจากต่างประเทศจำนวน 30%ว่า หลังจากที่ธปท.ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ผลที่ปรากฏออกมาก็คือมาตรการที่ใช้แรงเกินไปโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาก ทางการจึงยอมที่ถอยออกมาก้าวหนึ่งโดยการยกเว้นเงินที่นำเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องกันสำรอง 30%ตามมาตรการของธปท. ซึ่งเป็นการปรับมาตรการที่ใช้ให้อ่อนลง ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นวานนี้
"มาตรการที่ออกมาเมื่อวันจันทร์เป็นยาที่แรงเกินไปอย่างไม่ได้มีใครคาดคิดว่าเกิดผลที่รุนแรงขนาดนั้น แบงก์ชาติก็ยอมถอยก้าวหนึ่งแต่เป็นการถอย ไม่ใช่การยูเทิร์น คือไม่ได้ยกเลิกมาตรการ ยังใช้มาตรการอยู่แต่ปรับยาให้อ่อนลงเท่านั้น ซึ่งก็ได้ผลดี ตลาดหุ้นปรับขึ้นมา 60 จุด ก็ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ลดลงไปวันก่อน ซึ่งก็จะต้องดูในรายละเอียดอีกว่าการปรับขึ้นนั้นเป็นการกลับเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ หรือนักลงทุนไทยเล่นกันเอง เพราะช่วงนี้ต่างชาติอาจจะยังกล้าๆกลัวๆอยู่"นายพิศาลกล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ธปท.ปรับท่าทีผ่อนคลายมาตรการกันสำรองฯนั้น ถือว่าต้องชมในความกล้าหาญของธปท.ที่เมื่อรู้ว่าผลของมาตรการที่ออกมาเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเกินไป ก็ตัดสินใจที่ถอยออกมา โดยต้องยอมรับว่าการดำเนินมาตรการของธปท.วันก่อนนั้น ไม่ได้หารือกับทางตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ทำให้ผลที่ออกมาค่อนข้างรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความตื่นตระหนก
"ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายมองว่าการปรับมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธปท.นั้น ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ซึ่งความเชื่อมั่นน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายของธปท.ซึ่งหากธปท.มองว่ามาตรการนี้น่าจะแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อใช้แล้วเกิดผลเสียมาก ก็สามารถปรับยูเทิร์นได้ แต่อีกฝ่ายอาจจะมองการเมื่อยูเทิร์นแล้วจะเกิดผลเสียเรื่องความเชื่อมั่นมากกว่า นั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนมากกว่า"กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว
คาดหากบาทยังแข็งธปท.ลดดอกเบี้ย
สำหรับเงินบาทนั้น ก็ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมาระดับหนึ่งหลังจากออกมาตรการดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็คงจะดูการเคลื่อนไหวอีกระยะหนึ่งเนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้ นักลงทุนอาจจะอาจจะยังรอดูธปท.ว่าจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่
นายพิศาลกล่าวว่า เรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมา โดยมีสัดส่วนการแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคนั้น ก็มักจะมีคำถามออกมาทำไมธปท.ไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งในเรื่องนี้เข้าใจว่าธปท.น่าจะประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศในภูมิภาคก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หากลดดอกเบี้ยครั้งแรกแล้วไม่ได้ผลก็เกรงว่าอาจจะต้องลดอีกหลายครั้ง ขณะที่ปัจจัยด้านเงินเฟ้อแม้ว่าจะขยับลดลง แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจนักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีโอกาสปรับขึ้น จึงทำให้ธปท.ยังยืนยันที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากมาตรการกันสำรองฯที่ธปท.ใช้ครั้งนี้ ยังไม่สามารถกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ เชื่อว่าธปท.จะต้องหันมาพิจารณาใช้มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างแน่นอน
ส่วนแนวโน้มเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น ไม่น่าจะมีความเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากนัก คงจะแกว่งตัวอยู่ระหว่าง 35.50-36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่หลายๆฝ่ายก็มองว่าตัวเลขเงินบาทที่ระดับ 36.00-37.00 บาทน่าจะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย รวมทั้งในด้านของผู้ส่งออกด้วย
"Level ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ น่าจะเป็นที่ถูกใจของทุกฝ่าย แต่ถ้าจะให้อ่อนลงไปถึง 38-39 บาทคงเป็นเรื่องยาก ขณะที่หากแข็งค่าขึ้นไปถึงระดับ 35 บาทต้นใกล้จะแตะ 34 บาทก็เป็นระดับที่ผู้ส่งออกเดือดร้อนมาก จึงน่าต้องหาระดับที่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย"นายพิศาลกล่าว
มั่นใจธปท.ใช้มาตรการถูกทางแล้ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการที่ธปท.ได้ประกาศออกมาเพื่อใช้สกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทว่าเป็นมาตรการที่เชื่อว่า ธปท. ได้ดำเนินการมาชัดเจนและการใช้มาตรการนี้เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนมากในการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เนื่องจากธปท.มีความต้องการให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนเป็นเงินทุนระยะยาวไม่ใช่เงินทุนระระสั้น โดยหากเปรียบเทียบกับมาตรการอื่นๆ เช่น การลดดอกเบี้ยก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณไม่ตรงจุด เนื่องจากการลดดอกเบี้ยนั้นมีเจตนารมณ์เพื่อผ่อนคลายนโยบายเงินเฟ้อ ซึ่งการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ตรงจุดเมื่อเทียบกับการใช้มาตรการควบคุมที่เป็นมาตรการที่ส่งสัญญาณตรง
“มาตรนี้ถือเป็นมาตรการที่ธปท.ทำตรงจุดที่สุดแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับมาตรการการลดอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นการผ่อนคลายนโยบายเงินเฟ้อมากกว่า” นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ธปท.ได้ประกาศกฎดังกล่าวออกมากลับส่งผลกระทบกระเทือนมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับแรงกดดันปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง ซึ่งยอมรับว่าปฏิกิริยาตอบสนองของตลาดหุ้นมีสูง แต่หลังจากธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายกฎลงไป ส่งผลให้มีการเปลี่ยนประเด็นตลาดหุ้นไทยมีแนวทางป้องกันดูแลการเก็งกำไรได้ โดยเห็นได้ชัดเจนจากวานนี้ (20 ธ.ค.) ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นกลับเข้ามาสู่ภาวะที่ดีขึ้น มีมูลค่าการซื้อขายก็กลับมาค่อยข้างมาก ซึ่งหมายความว่านักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มกลับมามั่นใจ ขณะที่ค่าเงินบาทก็ยังทรงตัวอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนตัวลงจาก 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงแรกๆ แต่ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งตัว 35.9บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาแตะที่ระดับ 35.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่ามาตรการนี้มันไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้อย่างที่ตังใจ เงินบาทยังกลับมาแข็งอีกเล็กน้อย
“ถ้าโดยเปรียบเทียบมาตรการนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่ใช้ได้ทำให้บาทกลับมาอ่อนจาก 35.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ 35.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และก็ทำให้ตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องดูคือมาตรการได้ส่งสัญญาณอะไรให้กับนักลงทุน และได้ส่งสัญญาณทางจิตวิทยาว่าธปท.ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้”นายธนวรรธน์ กล่าว
เชื่อค่าบาทปีหน้าไม่ต่ำกว่า 34.5 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ เชื่อว่ามาตรการที่ธปท.ประกาศผ่อนคลายออกมาจะยังส่งผลกระทบบ้าง ต่อนักลงทุนต่างประเทศบางส่วนที่ยังอาจขาดความมั่นใจในแนวนโยบายของไทย แล้วทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งชะลอการลงทุนในไทย แต่แนวนโยบายดังกล่าวก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งตัวเร็ว ซึ่งหากมองในภาพรวมเป็นนโยบายที่ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งเร็วเกินไป
“มาตรการนี้อาจมีผลกระทบกระเทือนบ้างทำให้นักลงทุนต่างประเทศบางส่วนอาจจะไม่มั่นใจในนโยบาย โดยรวมคงต้องใช้เวลาสักช่วงหนึ่งสำหรับประเมินมาตรการดังกล่าว ถ้ามีอะไรในเรื่องของการปรับปรุงเพิ่มเติมเชื่อว่า ธปท.จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากธปท.ใช้มาตรการผ่อนคลายแล้วเชื่อว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าตัวน่าจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากในปีหน้าแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาคเอเชียก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็น่าจะมีทิศทางอ่อนค่าลง ซึ่งเชื่อว่าบรรยากาศเหล่านี้จะทำให้ค่าเงินบาททรงตัวแข็งค่าขึ้น แต่ในส่วนของมาตรการของธปท.ที่ออกมานั้นคงจะไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ดังนั้นกรอบที่จะเคลื่อนไหวได้น่าจะอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่ทิศทางของเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าของการส่งออกทีไม่เพิ่มมากนักซึ่งการที่ภาคการส่งออกไม่ขยายตัวมากก็จะค่อยๆ คลายให้เงินบาทอ่อนค่าลงมา แม้การว่าการออกมาตรการการเก็งกำไรค่าเงินบาทจะไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วขึ้น หรือทำให้ค่าเงินบาทอ่อได้แต่เชื่อว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาอาจเป็นเงินทุนที่ไหลเข้ามาระยะยาวจริงๆ เพราะฉะนั้นทิศทางของค่าเงินบาทก็น่าจะแข็งตัวเล็กน้อยแต่ไม่มากน่าโดยในช่วงครึ่งแรกของปีน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ไม่น่าจะต่ำไปกว่า34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|