"ธปท.-อุ๋ย"เย้ยรายย่อยแค่หมาเห่าก็ขายหุ้น!


ผู้จัดการรายวัน(21 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หม่อมอุ๋ยเล่าเป็นฉากๆ ที่มาผ่อนคลายมาตรการ 30% เผย "ธาริษา" ตกใจหลังหุ้นดิ่งเหว โทรศัพท์มาปรึกษาหาทางออก จึงตัดสินใจเลิกใช้มาตรการกับเงินลงทุนในตลาดหุ้น ระบุต้องการแค่เงินบาทไม่แข็งไปกว่า 35.11 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนความเสียหายของนักลงทุนรายย่อย "ไม่ต้องห่วงพวกนี้ เมื่อวานนี้ขาย วันนี้ก็ซื้อกลับ บางคนก็ได้กำไรด้วย" ด้านรองผู้ว่าฯ ธปท.ปากดี ลั่น "นักลงทุนในตลาด หมาเห่าก็ขายหุ้นแล้ว" กลางที่ประชุม กมธ.การเงินฯ ปชป.จี้ต่อมธรรมาภิบาล "ธปท.-คลัง"

"ตลาดหุ้นช่วงเช้าขึ้นมา 65 จุด ก็ดีขึ้นแล้ว ที่อ้างว่ามาร์เก็ตแคป (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) ลดลงไป 8 แสนล้านบาท ก็ถือว่าขึ้นมาแล้ว 5 แสนล้านบาท เดี๋ยวดูตอนบ่ายเปิดต่อ ซึ่งก็ไม่ได้หวังว่าจะขึ้นครบ 108 จุดอย่างเมื่อวาน (19 ธ.ค.) แต่อย่างน้อยขึ้นมา 65 จุดก็สบายใจได้ จะไม่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการอีกแล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวกับผู้สื่อข่าว เมื่อเวลา 13.10 น. วานนี้ (20 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงที่มาของการผ่อนคลายมาตรการว่า เดิมทีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่นึกว่าผลกระทบมาตรการจะรุนแรงมาก หลังตลาดหลักทรัพย์ปิดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. ได้โทรศัพท์มาจาก จ.เชียงใหม่ หลังหารือทางโทรศัพท์จึงได้แนวทางและตกลงกันว่าจะประชุมช่วงเช้าเพื่อประกาศใช้ ตนจึงบอกไปว่าไม่ทันหรอกต้องประกาศเพื่อใช้มาตรการตั้งแต่ตอนเช้าเลย นางธาริษาจึงขอให้ตนนัดประชุมโบรกเกอร์ ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ผู้รับฝากหลักทรัพย์ (คัสโตเดียน) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตนจึงทำหน้าที่แทนเมื่อคืนวันที่ 19 ธ.ค.ก็ได้ผล หลังการชี้แจงออกอากาศทางโทรทัศน์ แต่ตนก็คุยและช่วยกันคิดกับนางธาริษาตลอด

"จุดที่แบงก์ชาติต้องการคือ เงินบาทไม่แข็งต่อไป เพราะวันนั้นค่าเงินบาท 35.11 บาทแล้ว ดูแล้วหากไม่ทำอะไรถึง 34 บาทแน่ หากถึงตอนนั้นผู้ส่งออกสู้ไม่ไหวก็เลยออกมาตรการควบคุมให้อยู่ที่ระดับ 35 บาท มันมีผลข้างเคียง เราก็ต้องเลยรีบแก้อันที่มีผลข้างเคียง วันนี้ดูแล้วได้ทั้ง 2 อย่างคือบาทยังอ่อนอยู่ และตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มกลับมา เมื่อมีอะไรก็จะรีบทำเลย"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจการเมืองเก่า จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่เทขายเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. เป็นต่างชาติอย่างชัดเจน เพราะต่างชาติก็กลัวว่าจะมีมาตรการใดอีก ส่วนพวกกองทุนต่างๆ นั้น เมื่อต่างชาติขายแล้วก็ขายตามกันเป็นปกติ ไม่อย่างนั้นจะขาดทุนด้วย และเมื่อความกลัวหายก็กลับเข้ามา เชื่อว่าต่างชาติจะเชื่อมั่นในที่สุด พร้อมยืนยันว่ามาตรการนี้ไม่ได้ป้องกันกลุ่มทุนใดๆ ที่จะเข้ามาโจมตีตลาดหุ้นและค่าเงินบาท

"ต่างชาติมั่นใจขึ้นแล้ว เมื่อสักครู่ วอลสตรีทเจอร์นัลกับซีเอ็นบีซี โทรมา มาตรการนี้พูดชัดเแล้วว่า เราต้องการไม่ให้คนมาเก็งกำไรเงินบาท เดิมมันมีหลายช่อง ทั้งช่องตลาด ตั๋วสัญญาตราสารหนี้ระยะสั้นและช่องตลาดทุน ทีนี้มันคลุมถึงตลาดทุนก็มีผล เมื่อเราดูแล้วเงินส่วนใหญ่เข้าตลาดตราสารหนี้ เราก็ผ่อนอันนี้ได้ เมื่อผ่อนอันนี้ก็ได้ผลทั้งสองด้าน เขาก็บอกว่าสบายใจ"

ส่วนกรณีความเสียหายของนักลงทุนรายย่อยที่ขาดทุน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า "พวกนั้นซื้อกลับมาตั้งแต่แรกเลย ไม่ต้องห่วงพวกนี้ พวกนี้เก่งกว่าคุณ เมื่อวานนี้ขาย วันนี้ก็ซื้อกลับบางคนก็ได้กำไรด้วย"

ผู้สื่อข่าวรายงานภาวะตลาดหุ้นวานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างประเทศยังไม่กลับมาตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรต้องการ เห็นได้จากวานนี้ การซื้อขายสุทธิเป็นนักลงทุนประเภทสถาบันที่ซื้อจำนวน 9,738 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศขาย 2,872 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนรายย่อย 6,866 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรบอกว่าต่างชาติจะกลับมา ส่วนรายย่อยยังคงได้รับความเสียหายเช่นเดิม

"พวกที่ได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นมีเฉพาะบางกลุ่มที่เข้าซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ส่วนรายย่อยที่ลงทุนวันนี้ (20 ธ.ค.) ไม่มีกำไร หุ้นส่วนใหญ่บวกเพิ่มขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดตั้งแต่เปิดตลาด จะเห็นได้ว่าหุ้นรายตัวบวก 20% ขณะที่ดัชนีบวกแค่ 11%"

ธาริษาเผยฝรั่งกำไรเยอะเกิน

ด้านนางธาริษากล่าวว่า ด้มีการปรึกษาหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มีเพียง ก.ล.ต.และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ได้เข้าหารือเกี่ยวกับมาตรการที่ออกไปต้องเก็บไว้เป็นความลับไม่สามารถหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดได้ เพราะเกรงว่าหากข่าวออกมาก่อนจะยิ่งให้เกิดความเสียหายและหาผลประโยชน์ได้ จึงได้หารือกันในวงแคบเท่านั้น

“เงินทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้บอกป้ายว่าจะเอาไปทำอะไร ในเมื่อโปรเกอร์แสดงถึงความพยายามว่าจะแยกกองเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้และช่วยกันดูแล ซึ่งเราก็ยินดีผ่อนเกณฑ์ จึงยินดีที่จะลองดูวิธีนี้”

เหตุการณ์ดังกล่าวหากจะถามหาความรับผิดชอบจากธปท.ไม่ได้ เนื่องจากสิ่งที่ธปท.ทำอยู่ต้องถามกลับกันว่าเราทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ใคร ซึ่งผู้ที่เสียหายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นนักลงทุนต่างชาติ โดยจุดประสงค์หลักของธปท.ต้องการสกัดเงินทุนที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่เงินทุนต่างชาติระยะยาวก็ต้องการดูแลให้อยู่ในไทยนานที่สุดด้วย ขณะเดียวกันธปท.ต้องการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทที่นำเงินทุนระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาถึง 14-15% ดังนั้นธปท.จึงจำเป็นต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ธปท.จะยังไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพราะในช่วงปลายปีจะมีธุรกรรมน้อยและธปท.จะรอติดตามมาตรการที่ออกไปหลังจากได้มีการผ่อนปรนบ้างแล้วสักระยะ

“คิดให้ดีสิ่งที่แบงก์ชาติทำไปถูกหรือไม่ และควรหรือไม่ควร เราก็ต้องปกป้องสมบัติที่อยู่ในชาติ ซึ่งเราต้องการทำเท่าที่เราทำได้ ส่วนชื่อเสียงขอองแบงก์ชาติที่ต่างชาติมองว่าติดลบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นใครดูหากเป็นนักลงทุนต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะไม่ชอบกับมาตรการนี้ แต่หากเป็นต่างชาติกลุ่มอื่นๆ เขาก็เข้าใจสถานการณ์ที่มีเงินทุนระยะสั้นเข้ามาหากำไรจากบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างดีว่าแบงก์ชาติมีเหตุผลต้องทำอย่างนี้”

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า ธปท.มีการดำเนินนโยบายแบบกลับไปกลับมานั้น นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ใช้นโยบายแบบกลับไปกลับมา เพราะก่อนที่ธปท.จะออกมาตรการดังกล่าวออกมาก็ได้มีการประเมินจากข้อมูลทั้งหมดที่เรามีอยู่และพฤติกรรมของนักลงทุน ผลลัพธ์ออกมานักลงทุนยังได้กำไรมากกว่าต้นทุนที่เสียไป ขณะเดียวกันเมื่อมาตรการดังกล่าวส่งผลแรงเกินไปทางโปรเกอร์ก็เสนอให้มีการยกเลิกเงินกันสำรอง 30%ในส่วนของตลาดหุ้นและรับปากว่าจะช่วยแยกเงินของต่างชาติก้อนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วย เพื่อช่วยดูแลได้ง่ายขึ้นหากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น

“เราพิจารณาดูแล้วว่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาจะมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจในไทยเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เขาได้รับจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 14-15% ถือว่าคุ้มค่าจึงตัดสินใจออกมาตรการดังกล่าว แต่วันแรกที่ตลาดหุ้นรับรู้มาตรการออกไป ยอมรับว่าเกิดความรุนแรงเกินไปจนทำให้นักลงทุนในต่างประเทศกังวลและทำให้นักลงทุนไทยเฮโลกันออกไปด้วย”

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า เมื่อขยายในส่วนของกันสำรองเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยในสัดส่วน 30% แล้ว ธปท.ได้เสนอให้มีการแยกบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (เอ็นอาร์บีเอ) สำหรับผู้ที่มีการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นต่างหาก เพื่อให้สามารถติดตามดูแลเงินทุนไหลเข้าออกสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธปท. กล่าวว่า ในอีก 1-2 วันนี้ ธปท.เตรียมออกประกาศให้แยกบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศในเฉพาะส่วนของนักลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดวงเงินในการทำธุรกรรม และเพื่อให้มีเอกสารที่ชัดเจนเมื่อมีเงินเข้าออกภายในบัญชีดังกล่าว ขณะเดียวกันเตรียมกลับมาจำกัดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศแต่ละรายไม่ให้เกิน 300 ล้านบาท จากเดิมเมื่อมาตรการกันสำรอง30%มีผลวันแรกดัชนีตลาดหุ้นตก ธปท.ได้มีการผ่อนปรนให้ แต่ในส่วนนี้ไม่จำเป็นแล้ว

ส่วนกรณีที่ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกหลังจากที่มีการผ่อนปรนมาตรการของธปท.นางธาริษา กล่าวว่า นักลงทุนที่ขายหุ้นออกไปยังไม่ได้รับชำระเงินในการขายหุ้น ทำให้เงินในส่วนนี้ยังไม่ออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อมีการยกเว้นการกันสำรอง 30% เชื่อว่าจะส่งผลดีให้แก่นักลงทุนต่างชาติอาจตัดสินใจหันมาลงทุนในไทยเในลักษณะอื่นๆ ต่อไปได้ อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ก็ส่งผลดีให้ค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มมีความผันผวนน้อยลงและเริ่มนิ่งแล้ว จึงเชื่อว่ามาตรการได้ผลได้ระดับหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่ดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าออกในประเทศ ยืนยันว่าไม่มีกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ(เฮดส์ฟันด์)ที่ร่วมกับนักการเมือง อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาสร้างความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจไทยตามกระแสข่าว เนื่องจาก ธปท.จะการตรวจสอบและจับตาดูเงินที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทส่วนใหญ่จากจำนวนเงินมากกว่าจะพิจารณาจากชื่อ อย่างไรก็ตามเท่าที่อำนาจการตรวจสอบมีอยู่ไม่พบรายชื่อคนไทยหรือกลุ่มนักการเมืองเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่หากมีการแปลงโฉมหรือใช้ตัวแทนในการทำธุรกิจ(นอมินี) ถือเป็นการดำเนินธุรกิจทางอ้อม ธปท.ตามไม่ถึง

ไอเอ็มเอฟปลื้มไทยกลับลำ

เมื่อวานนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เข้ามาพบนางธาริษา ไอเอ็มเอฟมาแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยยกเลิกมาตรการควบคุมค่าเงินบาทบางส่วน ไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจไทยสามารถรับมือกับความปั่นป่วนทางการเงินที่เกิดจากมาตรการควบคุมที่ประกาศใช้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสกัดกั้นการปรับตัวขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในเอเชียในปีนี้

ไอเอ็มเอฟยังระบุในแถลงการณ์ที่ออกในกรุงวอชิงตันว่า "มาตรการของไทยเป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไปและส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีการยกเลิกมาตรการควบคุมบางส่วนเมื่อวานนี้"

อัจนาหลุด "หมาเห่าก็ขายหุ้น"

วานนี้ คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาฯ ได้ประชุมถึงข้อร้องเรียนของชาวสหกรณ์สวนยางพารา โดยเชิญนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าฯ ธปท. ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย และตัวแทนจากสหกรณ์สวนยาง เข้าร่วมหารือด้วย ทั้งนี้เป็นการเชิญมาก่อนล่วงหน้า 2 สัปดาห์ก่อนที่ ธปท.จะประกาศมาตรการสกัดค่าเงินบาท

นางอัจนา กล่าวชี้แจงถึงมาตรการสกัดค่าเงินบาทว่าถ้าเราไม่ต้องการให้เงินทุนเข้ามาสร้างความผันผวนทำให้ค่าเงินบาทแข็งโดยเกินปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือให้เงินทุนเข้ามาได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้เงินที่เข้ามาไม่สามารถสกัดได้ จึงต้องมีการครอบคลุมเงินทุนได้ทุกประเภท แต่มาตรการที่ออกมาสกัดเงินทุนที่มาลงทุนในพันธบัตรหรือในหุ้นจะต้องถูกสำรองไว้ 30% แต่เนื่องจากตอนนั้นเราคิดว่า เงินเข้ามาถ้าไม่เก็บทุกคนก็จะบอกว่าเข้ามาเล่นหุ้น และออกไปที่อื่น แต่เมื่อเกิดผลกระทบที่เกิดมารุนแรงมากและทางสมาคมโบรกเกอร์ คัสโตเดียน และ ก.ล.ต. ก็ชี้แจงว่า เขารับผิดชอบเองในแง่ของเงินที่เข้ามาเล่นหุ้น เขามั่นใจว่า เขาจะสามารถผูกผ้าแดงได้ และสามารถดูแลให้เงินต่างชาติที่เข้ามาเล่นเฉพาะหุ้นอย่างเดียว ไม่ไปเล่นอย่างอื่น

“ตรงนี้ถือเป็นจุดผ่อนคลายมาตรการที่รมว.คลัง ออกมาชี้แจงว่า เราทำไปเพราะไม่ได้คิดว่าจะมีการผูกผ้าแดงได้ และความผิดก็อยู่ที่คัสโตเดียน และโบรกเกอร์ ซึ่งเราจะมอนิเตอร์เป็นระยะๆและส่งรายงานให้ ธปท. ทุกสัปดาห์ ดังนั้นยาแรงที่ออกมานี้เชื่อว่าจะไม่กระทบมากเกินไปแต่ว่า ผลของมาตรการก็จะต่างลง”นางอัจนากล่าว

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการเงินฯ กล่าวว่า กมธ.ได้เสนอความเห็นว่ามาตรการของ ธปท.อาจจะได้รับผลดีกับเกษตรกร แต่การดำเนินการนี้ถึงแม้จะจำเป็น แต่จังหวะเวลาอาจจะรุนแรงเกินไปหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอยู่ ตนคิดว่าทางรัฐบาลและกระทรวงการคลัง คงจะเห็นอยู่แล้วถึงให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ จากนี้ไป 1 เดือนก็จะต้องติดตามดูว่าตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวขึ้นหรือไม่ เชื่อว่าหากจะที่เข้าทางคงจะต้องใช้เวลาเพราะผลที่เกิดขึ้นกระทบกับทั่วโลก ความมั่นใจของนักลงทุนก็สูญหายไป จึงไม่สามารถที่จะปรับตัวเองได้ในระยะเวลาสั้น ๆเพรานักลงทุนคงไม่ได้มองว่า เมื่อมีการผ่อนผันเงินที่นำมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

“เรื่องนี้ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ (นางอัจนา ไวความดี)ได้ชี้แจงใน กมธ.ว่า นักลงทุนในตลาดหมาเห่าก็ขายหุ้นแล้ว ผมคิดว่านักลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้บริหารกองทุน สิ่งที่เขากลัว คือสิ่งที่เขาไม่รู้ไม่แน่ใจว่า ธปท. จะมีมาตรการอะไร ที่มีลักษณะที่เรียกว่ามีการกีดกันการไหลของเงินเพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ จึงต้องจับตาดูอีกระยะเวลาหนึ่ง ผมคิดว่าคงจะต้องเป็นระยะเวลาหลายเดือนที่เขาจะแน่ใจว่าทุกอย่างคงที่” นายสมชายกล่าว

ปชป.จี้สำนึกธรรมาภิบาล

นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตหน้าที่ของ ธปท.และกระทรวงการคลังกรณีออกและเลิกมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30%ว่า ผิดหลักธรรมาภิบาลเพราะไม่รู้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวกันแน่ ธปท.เป็นผู้ประกาศมาตรการแต่ รมว.คลังเป็นผู้ประกาศยกเลิก ดังนั้นทั้ง 2 องค์กรต้องชี้แจง ไม่ช่นนั้นจะเกิดความสับสนในนโยบายจากภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติ

"ผมไม่เข้าใจการทำงานของแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ เป็นไปได้มั๊ยว่าแบงก์ชาติไม่เห็นด้วยกับการที่คลังตัดสินใจยกเลิกมาตรการ หรือที่จริงแล้วคลังเป็นคนสั่งให้ออกมาตรการ ยิ่งก่อนหน้านี้ ครม.เพิ่งอนุมัติให้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินเข้าสภาฯ ให้แบงก์ชาติมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และกำลังจะมีการผ่าน พ.ร.บ.แบงก์ชาติออกมาอีก" นายกรณ์กล่าว.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.