|
บิ๊กBEXตอกย้ำเกณฑ์ธปท.พลาดฉุดมูลค่าตราสารหนี้วูบ3.2หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(21 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้จัดการตลาดตลาดตราสารหนี้ โต้มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินแบงก์ชาติ กระทบตลาดตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เตรียมรวบรวมข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจว่าจะต้องเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อธปท.หรือไม่ภายในสัปดาห์นี้ ระบุยากที่หาคนรับผิดชอบ หวังเพียงการออกมาตรการจากภาครัฐให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายร่วมเสนอข้อมูล ด้าน ThaiBMA เผยมาตรการแก้ปัญหาไม่ถูกที่ ฉุดมูลค่าตราสารหนี้ ณ 19 ธ.ค.วูบ 3.2 หมื่นล้าน ขณะที่ผู้บริหาร "ตลาดอนุพันธ์" มั่นใจนักลงทุนต่างชาติไม่โยกเงินหนี หลังธปท.ผ่อนกฏเหล็ก
นายสันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ หรือ BEX กล่าวถึง มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีจุดประสงค์ต้องการสกัดกั้นการเข้ามาเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้น ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การไหลเข้ามาของเม็ดเงินจากต่างประเทศเป็นการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเงินโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้
ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์นี้จะรวบรวมปริมาณเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ว่าสอดคล้องกับปริมาณเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ก่อนจะสรุปเรื่องส่งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาสรุปว่าจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ธปท.หรือไม่
"เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการธปท.ที่ต้องการป้องกันการเก็งกำรตราสารหนี้ระยะสั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการใช้มาตรการกลับส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้ประเภทระยะยาวมากกว่า โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 0.30-0.40% ทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลง"
สำหรับมูลค่าตราสารหนี้คงค้างในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปี 49 อยู่ที่ 17,000-18,000 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท
"ช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางการพยายามดึงเงินนอกเข้ามาในประเทศด้วยข้อเสนอต่างๆ เช่น การไม่ต้องเสียภาษีจากการลงทุน แต่มาตอนนี้กลับใช้มาตรการที่พยายามสกัดกั้นเงินนอกที่จะเข้ามาลงทุน ตอนนี้ผมเข้าใจว่าเค้าไม่แน่ใจว่าเราจะเอาอย่างไงกับเค้าแน่" นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวอีกว่า ความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวคงไม่สามารถระบุได้ว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจากทางธปท.ได้มีการประเมินถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่คงไม่คาดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกับตลาดทุนมากเพียงนี้ แต่หลังจากนี้อยากให้การหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานงานมากขึ้น โดยควรจะให้ความสำคัญในการดึงหน่วยงานจากด้านตลาดทุน โดยเฉพาะสภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้มีส่วนรวมในการเสนอถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนต่อ BEX วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาจะพบว่า นักลงทุนจำนวนมากหยุดการซื้อขายเพื่อประเมินสถานการณ์และรอความชัดเจนต่อมาตรการของภาครัฐว่าจะสรุปออกมาอย่างไร จึงทำให้ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ตรงข้ามกับตลาดหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายคึกคักขึ้นแต่ BEX มูลค่าการซื้อขายกลับลดลง
"เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับดีลเลอร์หลายแห่ง พบว่ายังไม่มั่นใจต่อตลาดว่าจะไปในทิศทางไหนจึงทำให้เกิดช่องว่างของผลตอบแทนในตราสารหนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้การเทรดซื้อขายลดลง" นายสันติ กล่าว
ThaiBMAรับผลกระทบแรง
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ในตลาดตราสารหนี้ของไทยปรับตัวขึ้นทันที โดยเส้น Yield curve มีการปรับตัวขึ้นสูงถึงกว่า 30 Basis point เป็นผลให้ราคาของตราสารหนี้ทั้งตลาดลดลง โดยเฉพาะตราสารหนี้ประเภทอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกันดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Clean price index) เมื่อวันที่ 19 นั้นมาอยู่ที่ระดับ 97.16 ลดลงไป 1.36 จุด สำหรับตราสารหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบและมีราคาลดลงมากที่สุด คือ รุ่นที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้กลุ่มผู้ลงทุนที่ขายออกมามากที่สุดคือ กลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิทั้งสิ้นประมาณ 580 ล้านบาท
"มูลค่าตลาดตราสารหนี้ คิดเฉพาะในส่วนของพันธบัตรรัฐบาล ในวันที่ 19 นั้นลดลงไปทันทีประมาณ 32,000 ล้านบาทในวันเดียว นับเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างแรงทีเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตามดูผลกระทบต่อไปอีกระยะหนึ่งว่า นักลงทุนจะผ่อนคลายความกังวลลงได้บ้างหรือไม่เพียงใด" นายณัฐพล กล่าว
นางสาวอริยา ติรณประกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล ThaiBMA กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังบรรดา Dealer ถึงผลกระทบและมาตรการที่ออกมานั้น ความคิดเห็นโดยรวมมองว่าบรรดามาตรการของธปท. ที่มีทยอยออกมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม - 19 ธันวาคมนั้น ดูเหมือนยังเป็นมาตรการที่เกาไม่ถูกที่คันนัก เพราะเมื่อดำเนินการออกมาแล้วกลับมีผลกระทบกับการลงทุนทั้งในส่วนของตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ จุดประสงค์ต้องการที่จะให้เป็นมาตรการเพื่อควบคุมเงินเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าบรรดานักลงทุนระยะยาวในตลาด บรรดา Long-term investor ทั้งหลายกลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ
"จากข้อมูลในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนซื้อขายตราสารหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 2,200 ล้านบาท หรือ 14% ของการซื้อขายของตลาดทั้งหมด แต่หลังจากที่มีมาตรการของทางธปท. ออกมา ปรากฏว่าสัดส่วนการซื้อขายลดลงไปเหลือเพียงประมาณ 2% ต่อวันเท่านั้น ทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลงด้วย" นางสาวอริยา กล่าว
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า หลังจาก ธปท. ได้ผ่อนปรนมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน ทำให้นักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลและมีการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ต่อไปไม่มีการปิดสถานะการลงทุน จากเดิมที่มีความกังวลว่านักลงทุนต่างประเทศจะไม่ลงทุนต่อเนื่อง
"จากการผ่อนคลายมาตรการแล้ว ได้มีการสอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์ที่มีลูกค้าเป็นนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า นักลงทุนต่างประเทศจะมีการโลวโอเวอร์สัญญาต่อไป จากสัญญาเดือนธันวาคมที่จะหมดอายุก็จะไปลงทุนในสัญญาเดือนมี.ค.แทน โดยเชื่อว่าภาวะการลงทุนในตลาดอนุพันธ์กลับมาเหมือนเดิม และพอเปิดตลาดซื้อขายราคาซื้อขายชอง SET50 Index Futures ปรับตัวเพิ่มขึ้น"นางเกศรา กล่าวว่า
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์จะกลับมาคึกคักจากการที่ธปท.ผ่อนปรนมาตรการ และจากการที่ในสัปดาห์สัญญาเดือนธันวาคมจะหมดอายุทำให้นักลงทุนจะต้องมีการปิดสัญญา ซึ่งขณะนี้มีสัญญาซื้อขายจำนวน 4,300 สัญญา เพื่อไปลงทุนในสัญญาเดือนมีนาคมแทน ซึ่งปกติแล้วในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของสัปดาห์จะมีปริมาณการซื้อขายคึกคักอยู่แล้ว และตลาดอนุพันธ์ยังคงดำเนินงานตามแผนเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับความกังวลกับมาตรการขอธปท.ทำให้วันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมามีนักลงทุนมีการปิดสถานะทำให้จำนวนสัญญาคงค้างลดลง 218 สัญญา ทำให้สถานะคงค้างเหลือจำนวน 8,929 สัญญา จากวันจันทร์ที่18 ธันวาคม อยู่ที่ 9,147 สัญญา โดยปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 8,505 สัญญา ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศมีการขายสุทธิ 22% นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 19% นักลงทุนทั่วไปมีการซื้อสุทธิ 59%
นางเกศรา กล่าวว่า จากปริมาณการซื้อขายจำนวนมากนั้นระบบการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์สามารถที่จะรองรับได้ โดยในวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ตลาดอนุพันธ์มีการเรียกเก็บหลักทรัพย์ค้ำประกันกับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกเพิ่มจำนวน 4-5 ราย รายละ 10 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|