"จักรพันธุ์ ยมจินดา ชีวิตที่ผกผันเพราะอ่านประกาศ รสช. 2 ฉบับ"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ..... "

เสียง จักรพันธุ์ ยมจินดา บรรณาธิการข่าวช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ นั่งอ่านประกาศฉบับประวัติศาสตร์ของตัวเขาและประเทศไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ เป็นช่วงเวลาที่คนไทยทั่วไปขนานนามให้ว่า พฤษภาทมิฬ (2535)

จากที่เขาเป็นผู้ที่คุ้นหน้าคุ้นตาของคนทั้งประเทศ ยิ่งเฉพาะตำแหน่งบรรณาธิการข่าวช่อง 7 ที่เรตติ้งสูงสุดขณะนั้นด้วยแล้ว ผู้คนย่อมเชื่อถือเป็นธรรมดา แต่ใครคงไม่หยั่งลึกว่า แค่กระดาษ 2 ใบที่จักรพันธุ์อ่านไปในเดือนพฤษภาคมปีนั้น ได้ทำให้ชีวิตลูกผู้ชายเช่นเขาพลิกทั้งชีวิตอย่างที่เจ้าตัวยากจะลืมเลือน

เขาเดินออกจากกองกำลังรักษาพระนครมาที่ช่อง 7 สิ่งแรกเลยที่เขาคิดในช่วงนั้น คือ ลาออกอย่างเดียว เพราะเขาคิดว่านี้คือความหมายของความรับผิดชอบหรือแสดงความว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาได้อ่านไป แล้วก็เป็นอย่างที่เขาต้องการ

"ผมเคว้งอยู่พักนึงเลยหลังจากนั้น ยังไม่รู้จะทำอะไร ต่อมามีพรรคการเมืองติดต่อให้ลงสมัคร ส.ส. หลายพรรค และปฏิเสธไปทุกพรรค พอวันนึงเพื่อนที่ระยองซึ่งเป็นประธานหอการค้า และเรียนหนังสือที่ระยองมาด้วยกัน มาพร้อมคุณสุรพงศ์ ประธานพรรคประชาธิปัตย์ แวะมาหาที่บ้านที่กรุงเทพฯ ท่านนั่งกล่อมผมอยู่ครึ่งวัน ไป ๆ มา ๆ ก็เลยลองดูเพราะใจชอบพรรคนี้เป็นทุนอยู่แล้ว แต่บอกได้เลยว่าไม่เคยคิดว่าจะมาเล่นการเมืองและไม่ได้เตรียมตัวทั้งกายทั้งทรัพย์สินเลย ตั้งใจไว้แต่เด็กว่าจะทำงานพากย์หนังอยู่อย่างเดียว" จักรพันธุ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท พ้อยต์ออฟวิว เล่าความให้ฟัง

13 กันยายน 2535 การเลือกตั้งทั้งประเทศคึกคักมากยิ่งกับระยองถิ่นของจักรพันธุ์ด้วยแล้ว กระแสนิยมของชาวบ้านได้มอบให้เขาถึง 107,926 คะแนน ซึ่งถือเป็นอันดับ 16 ของคะแนน ส.ส. ทั้งประเทศไทยช่วงนั้น และโชคไม่ดีสำหรับเพื่อนร่วมทีม 2 คนของเขา เพราะสอบตก

6 เดือนแรกที่เขาได้เข้ามาทำงานเป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร เขายอมรับว่าทำงานอะไรไม่ถูกเลย สิ่งหนึ่งที่เขานึกถึงอย่างเดียวคือ อยากแก้ ก.ม. เกี่ยวกับสื่อมวลชน เพราะความที่เป็นนักสื่อสารมวลชนตั้งแต่อยู่ช่อง 3 แล้วในช่วงเริ่มต้นชีวิตและก็ช่อง 7 ในช่วงล่าสุด ฉะนั้นเมื่อเริ่มรู้ลู่ทางว่าจะเริ่มอย่างไรและทำอย่างไรแล้ว การเสนอให้มีการยกเลิก ปร. 15 ปร. 17 คือชิ้นแรกที่เขาทำ โดยยื่นเข้าสภาเมื่อ 7 ตุลาคม 2535 แต่เพิ่งผ่านรวดทั้ง 3 วาระหลังจากที่เขาเป็นผู้แทนไปแล้ว 2 ปี

และด้วยประสบการณ์จากการอ่านข่าวกีฬาจากช่อง 3 และอ่านข่าวที่ช่อง 7 ทำให้เขาอยากเข้าไปดูกีฬา จนได้เป็นกรรมาธิการกีฬา และต่อสู้เรื่องกีฬามาตลอด พูดได้ว่า ช่วงของเขาคือช่วงที่การกีฬาถูกตรวจสอบมากที่สุดยุคหนึ่งของไทยเลยทีเดียว

"แต่เมื่อผมเริ่มจับทางได้ มันก็เริ่มท้อ คิดว่าเราไม่เหมาะกับการเมือง ก็พูดกับคนในพรรคว่าคงเล่นสมัยเดียว ไปที่ไหนก็พูดเช่นนี้" จักรพันธุ์กล่าวพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ เหมือนว่ามีอะไรที่หนักมากที่คนจริงเช่นเขายังรับไม่ได้

ว่ากันว่า เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกินกำลัง ส.ส. สมัยแรกเช่นเขาจะรับผิดชอบได้ ทั้งยังฤดูเด็กฝาก หรือฤดูทางสังคมต่าง ๆ ในช่วงนั้น ยังไม่นับปัญหาชาวบ้านอีกร้อยแปดพันเก้าที่ฝากความหวังไว้กับเขา

จนกระทั่งความรู้สึกและจิตใจรับไม่ไหว และประกอบกับเกิดเหตุวิกฤตศรัทธารัฐบาลชวน หลีกภัย จากกรณี ส.ป.ก. 4-01 จนมีการยุบสภากันต่อมา การลาออกจากการเป็น ส.ส. ของจักรพันธุ์เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ แม้จะถูกทัดทานจากผู้ใหญ่ในพรรคหลายท่านก็ตาม

2 ปี 8 เดือนในชีวิต ส.ส. จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขายากจะลืมเลือน

แต่จักรพันธุ์ก็ยังวนเวียนช่วยงานให้พรรคอีกระยะหนึ่งและด้วยวิญญาณนักพากย์ นักอ่านข่าวฝังในส่วนลึกของเขา ทำให้ร้อนวิชา จึงวิ่งไปที่ช่อง 3 ที่ที่เขาคิดว่าพอมีศักยภาพสำหรับเขา แต่ผู้ใหญ่ช่อง 3 ได้ให้เขาลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองก่อน ซึ่งด้วยความที่ตั้งใจจริงแล้วว่าจะเลิกการเมือง จึงไม่มีปัญหา และได้ทำงานอ่านข่าวเป็นตัวหลักของช่อง 3 ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 38 เป็นต้นมา

ด้วยประสบการณ์และเวลาที่พอจะมีทำให้เขาคิดที่จะเป็นเจ้าของของตนเอง จึงฟอร์มทีมงานขึ้นชุดหนึ่ง ในชื่อ "บริษัท พ้อยต์ออฟวิว จำกัด" ด้วยความช่วยเหลือของผู้ใหญ่คนหนึ่ง

เป็นบริษัทผลิตรายการทุกอย่าง "ร็อคสปอร์ท" (8.30-9.00 เสาร์ช่อง 5) คือรายการกีฬาเดียวขณะนั้นที่บริษัททำได้ ซึ่งช่วงนั้นจักรพันธุ์ก็ไม่ได้มาลงแรงอย่างเต็มที่ เพราะรับงานพากย์หนังพากย์ละคร อ่านสปอตไปพร้อมกับอ่านข่าวด้วย จนรายการขาดทุนเขาจึงตัดสินใจทิ้งงานพากย์ลงมาช่วยบริษัทเต็มตัว และเปลี่ยนเป็นรูปแบบรายการใหม่ชื่อ "ไลฟ์ทอล์ค" ในเวลาเดิม ชีวิตการทำงานของเขาจึงเป็น 2 เวลาคือ ครึ่งวันเช้าอยู่ที่บริษัทและช่วงบ่ายเข้าอ่านข่าวที่ช่อง 3

"ผ่านไป 2 เดือนจากรายการที่ขาดทุนอยู่ก็เริ่มมีกำไรบ้างแม้โฆษณาจะยังไม่เต็มก็ตาม" จักรพันธุ์เล่า

สำหรับคอนเซ็ปต์รายการไลฟ์ทอล์คที่จักรพันธุ์คิดขึ้นนั้นเป็นการสัมภาษณ์คนร้อน เรื่องร้อนในแต่ละสัปดาห์ ช่วงแรกพิธีกรคือตัวเขาจะเป็นคนถาม ช่วงหลังเปิดให้สายทางบ้านโทรเข้ามาถามแขกที่เชิญมา

ถึงแม้ว่ารูปแบบรายการดูจะคล้ายรายการอื่น ๆ ที่มีอยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้อยู่ที่ประเด็นและบุคคลที่มาร่วมรายการและรวมทั้งการเปิดสายให้ทางบ้านได้โทรเข้ามาถามอย่างทันทีทันใด แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เป็นจุดสนใจเพียงพอเมื่อดูจากโฆษณาที่เข้ามาเพราะเวลาที่เขาได้มานั้นมันคือเวลาซึ่งเด็กจะตื่นมาดูการ์ตูน ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ยังหลับเต็มที่หลังจากทำงานมาทั้งอาทิตย์ ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอดเขาจะต้องโปรโมตรายการตนเองให้มากและต้องไขว่คว้าเวลาที่เหมาะสมกว่านี้

"ตอนนี้ผมยังไม่อยากทำอะไรมาก ต้องการทำอะไรให้มั่นคงก่อนเป็นงานแรก เมื่อเป็นดังที่ตั้งใจไว้ต่อไปก็คงทำอะไรมากขึ้น ทั้งผลิตสื่อ อาทิ ผลิตภาพยนตร์สารคดี สไลด์มัลติวิชั่นหรือสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ศักยภาพของบริษัทเราคิดว่าทำได้เพราะเราพร้อมทุกฝ่ายอยู่แล้ว ฉะนั้นช่วงแรกนี้คงเป็นช่วงสร้างความมั่นคงก่อน แล้วจากนั้นค่อยมาว่ากันใหม่"

ส่วนการร่วมเป็นพันธมิตรกับเจ้าใหญ่เพื่ออาศัยฐานและช่องทางเติบใหญ่นั้น จักรพันธุ์กล่าวว่า

"ทุกวันนี้ ตลาดผลิตรายการ เป็นไปลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก หากบริษัทเราเล็ก ๆ มันก็จะถูกกลืนด้วยบริษัทใหญ่ ๆ มีทุนหนามาก ๆ แต่ผมคิดว่าถ้าเราบริหารงานเป็นมันก็ไปรอดโดยไม่ต้องพึ่งรายใหญ่ ๆ ได้เหมือนกัน ฉะนั้นผมจึงใช้สไตล์การทำงานแบบเพลย์เซฟ นั่นคือให้มีกำไรก่อนแล้วเรื่องอื่นค่อยมาว่ากัน"

แม้ว่าเขาแสดงถึงความไม่ประมาทในการดำเนินงาน แต่ประโยคสุดท้ายที่ว่า

"ตนเองไม่ห่วงเรื่องงานโปรดักชั่นเพราะถนัด แต่เป็นห่วงเรื่องเดียวคือการตลาด" นี้นับว่าเป็นประโยคที่น่ากลัวเหมือนกัน สำหรับอนาคตพ้อยต์ออฟวิวของเขาหากทำไม่ได้ในเรื่องหลังแต่อีกนัยหนึ่ง เมื่อเขามั่นใจเรื่องรูปแบบรายการของเขาละก็นั่นก็น่าจะถือว่าเป็นความสำเร็จได้เปราะหนึ่งแล้ว

รอเพียงได้เวลาที่เหมาะสมในการออกอากาศเท่านั้น และเมื่อการตลาดเขาทำได้บวกกับเวลาที่เหมาะสมและรูปแบบรายการแน่น คำว่า "เสี่ยจักรพันธุ์" ก็คงจะไม่หนีไปจากเขาในอนาคต เช่นเดียวกับที่ได้เกิดขึ้นกับพิธีกรหรือนักพากย์หรือนักอ่านข่าวมาแล้วหลายคนในบ้านเรา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.