"มิติใหม่ "ยูทีวี" ผ่านใยแก้วนำแสง ที่ยังไม่มีอะไรแตกต่าง"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"วันนี้ เราขอต้อนรับคนกรุงเทพฯ สู่สาระบันเทิง มาตรฐานโลกกับยูทีวีรวม 30 กว่าช่อง สด 24 ชั่วโมง กับข่าวซีเอ็นเอ็น เอชบีโอ แบบชัดใส เอ็มทีวี สะใจวัยแบบนี้...เป็นบริการพิเศษหนึ่งเดียว จากยูทีวีที่คุณกดรีโมตคอนโทรลสั่งได้เลยค่ะ...." เสียงใส ๆ ของโฆษกสาวในส่วนหนึ่งของโฆษณาชุดเปิดตัว ของยูทีวี เคเบิลทีวี ที่ออกอากาศในช่วงไพรมไทม์ ของทีวีช่องต่าง ๆ มาตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยความยาว 60 วินาที

นี่คือ ส่วนหนึ่งของการเปิดมิติใหม่ของเคเบิลทีวีในไทย ที่เป็นการส่งผ่านข่ายใยแก้วนำแสง จากเดิมที่มีการส่งสัญญาณผ่านระบบไมโครเวฟ หรือ MMDS จากสองผู้ให้บริการไอบีซี และไทยสกายทีวี

แม้ว่าการแพร่ภาพและกระจายเสียงเคเบิลทีวีของยูทีวี ถูกกำหนดมาตั้งแต่มกราคม 2538 แต่ที่ผ่านมายูทีวีทำได้เพียงแต่ทดลองให้บริการ เฉพาะบริเวณสุขุมวิทเท่านั้น

ปัญหาสำคัญที่ยูทีวีต้องเผชิญ คือ การเชื่อมเครือข่ายเคเบิลทีวี ที่ยูทีวีจะต้องเดินสายเคเบิล COAXIAL จากชุมสายโทรศัพท์ย่อย (RCU) ที่เชื่อมต่อมาจากข่ายสายไฟเบอร์ออปติกมายังบ้านพักอาศัย ซึ่งต้องใช้เวลาในการติดตั้งไม่ใช่น้อยที่จะให้ครอบคลุมลูกค้าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศรวมทั้งการหาซื้อซอฟต์แวร์รายการต่าง ๆ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ ในช่วงเวลาอันสั้น โดยเฉพาะผู้ให้บริการเคเบิลทีวีทั้งสองรายเดิม ที่เร่งรับมือการเปิดตัวของยูทีวี ด้วยการเร่งควานหาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเข้ามาในเครือข่ายกันเต็มที่

แม้ว่ากำหนดเปิดบริการของยูทีวีจะล่าช้าออกไป แต่คู่แข่งขันต่างก็ประเมินสภาพของยูทีวีค่อนข้างดี เพราะความเป็นยักษ์ใหญ่อย่างซีพี ที่เป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก ที่สามารถให้บริการด้วยลูกเล่นใหม่ เช่น เปย์เปอร์วิว หรือวีดีโอออนดีมานด์ได้ ไม่นับเงินลงทุน ช่องทางจัดจำหน่าย และที่สำคัญการมีพันธมิตรที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์รายการบันเทิงจากต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีพันธมิตรอย่างไนเน็กซ์ ซึ่งมีข่ายสายในธุรกิจบันเทิงเป็นจำนวนมาก อาทิ เวียคอม บ๊อกซ์บัสเตอร์ เจ้าของธุรกิจเคเบิลทีวี รวมทั้งการมีบริษัทในเครืออย่างเอ็มทีวี ผู้ผลิตรายการเพลงอันลือลั่น

ด้วยการถูกประเมินจากคู่แข่งนี้เอง ทำให้คู่แข่งขันที่ครองตลาดมาดั้งเดิมก็ต้องระแวดระวังมากขึ้น ไอบีซีเคเบิลทีวี ที่แม้จะเป็นอันดับ 1 ในตลาดเคเบิลทีวีอยู่ในเวลานี้ ก็ต้องเร่งไปอีกก้าวด้วยการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจบันเทิงท้องถิ่น แกรมมี่เอ็นเตอร์เม้นท์ และสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี

อย่างที่รู้ว่าแกรมมี่ เป็นค่ายเทปเพลงอันดับหนึ่งของไทย มีธุรกิจบันเทิงอยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต และระยะหลังยังได้หันมาสร้างละคร ที่มีเรตติ้งอยู่ในขั้นดี ส่วนของช่อง 7 ก็ได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ตลอดจนรายการกีฬาต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

การจับมือระหว่างไอบีซี แกรมมี่ และช่อง 7 สี จึงเป็นการผนึกกันระหว่างเจ้าของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์เพื่อเกื้อกูลธุรกิจระหว่างกันอย่างลงตัว

หรือแม้แต่ไทยสกายทีวี ได้มีการปรับปรุงผังรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเน้นไปที่รายการท้องถิ่น คือ การผลิตข่าว และภาพยนตร์ในย่านเอเชีย ซึ่งไม่เป็นที่นิยมจากผู้ชมเท่าที่ควร จนต้องเป็นฝ่ายเดินตามไอบีซีมาตลอด ซึ่งในระยะหลังไทยได้อุดช่องโหว่ของตัวเอง โดยหันไปซื้อรายการดัง ๆ จากต่างประเทศ เช่น ข่าว CNN INTERNATIONAL และ TNT & CARTOON NETWORK

ความเคลื่อนไหวของไอบีซี และไทยสกายคอม เป็นสิ่งที่ยูทีวีไม่สามารถมองข้ามได้เลย

1 กันยายน หลังการรอคอย ยูทีวีดีเดย์เปิดตัวด้วยเงื่อนไขพิเศษ คือ การยกเว้นค่าติดตั้ง ในราคาปกติ 3,700 บาท ให้กับผู้สมัครสมาชิกในช่วงเดือนกันยายน แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่บริการ ซึ่งผู้บริหารยืนยันว่า ติดตั้งข่ายเคเบิลไปแล้ว 70% ของพื้นที่เป้าหมายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนค่าบริการรายเดือน จะเริ่มจัดเก็บในอัตรา 800 บาท เท่ากับไอบีซีเคเบิลทีวี

ส่วนรายการที่ยูทีวีนำเสนอ จากที่โฆษณาไว้ว่าจะมี 30 กว่าช่อง ในช่วงเปิดตัวจะมีเพียง 10 ช่อง แบ่งเป็นช่องมาตรฐาน 8 ช่อง ซึ่งมีทั้งภาพยนตร์ ข่าวต่างประเทศ กีฬา และช่องพิเศษอีก 2 ช่อง คือ ข่าวซีทีเอ็น ภาษาจีนกลาง สำหรับคนจีนที่อาศัยอยู่ในไทย และช่องเพลงคันทรี เพื่อเจาะตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

การเปิดตัวของยูทีวีมีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ค่าเช่าเครือข่ายเคเบิล ที่ยูทีวีจะต้องจ่ายให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยยังไม่สามารถตกลงกันได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับซอฟต์แวร์รายการทั้ง 10 ช่อง ที่ยูทีวีนำมาเสนอให้กับลูกค้าไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากรายการที่ไอบีซี และไทยสกายทีวีนำเสนออยู่ในเวลานี้ เท่าใดนัก

ยูทีวี มีข่าวซีเอ็นเอ็น ไอบีซี และไทยสกายทีวีก็มี ซึ่งฝ่ายหลังมีทั้งแปลเป็นภาษาไทย และช่องภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน ยูทีวีมีช่องภาพยนตร์จาก HBO เหมือนกับไอบีซี ยูทีวีมี TNT & CARTOON NETWORK ที่ไทยสกายทีวีก็แพร่ภาพไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ มิวสิกวิดีโอจากทั่วโลกที่ไม่ได้แตกต่างไปจากกันนัก และดูเหมือนว่า ไอบีซี และไทยสกายทีวี อาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นสมาชิก เมื่อเปรียบเทียบราคาปกติของทั้งสามค่ายแล้ว ราคาของยูทีวีแพงกว่าสองค่าย

การเปิดตัวของยูทีวี จึงทำให้คู่แข่งขัน ทั้งไอบีซีและไทยสกายทีวี เบาใจลงไปเป็นกอง

สุภกิต เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทายาทของธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งถูกมอบให้ดูแลธุรกิจอาหารสมอง ที่ธนินท์เคยนิยามให้ กล่าวยอมรับว่า รายการของยูทีวีไม่ได้แตกต่างไปจากทั้งสองรายจริง ๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ความคมชัด และการมีบริการเปย์เปอร์วิว การจากสถานีได้เปย์เปอร์วิว เป็นรายการพิเศษนอกเหนือจากปกติ ที่สมาชิกสามารถเลือกชมรายการตามต้องการ โดยไม่มีเงื่อนไขของเวลากำหนด เหมือนเป็นโรงภาพยนตร์ส่วนตัว ที่สมาชิกสามารถกดรีโมตคอนโทรล เพื่อเลือกดูภาพยนตร์ หรือรายการบันเทิงจากจอทีวีได้ทันที

ภาพยนตร์ที่นำมาฉายในเปย์เปอร์วิว จะต้องเป็นหนังชนโรง หรือหนังชุดที่ฉายในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีฉายในไทยเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพราะบริการนี้ลูกค้าจะต้องเสียเงินเพิ่ม ซึ่งยูทีวีประมาณไว้ว่าจะเก็บเรื่องละ 50 บาท

เปย์เปอร์วิว จึงเป็นจุดขายเดียวที่ผู้บริหารยูทีวีพยายามนำเสนอ เพราะคู่แข่งขันทั้งสองราย แม้จะปรับเปลี่ยนไปใช้การส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม หรือระบบดีทีเอชแล้วก็ตาม แต่กว่าจะให้บริการเปย์เปอร์วิวได้ก็คงอีกนาน

แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า บริการเปย์เปอร์วิวยังไม่ได้เปิดให้บริการได้ในวันนี้ตามที่โฆษณาไว้แต่อย่างใด โดยผู้บริหารของยูทีวียืนยันเพียงว่า จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี เพราะอยู่ระหว่างเจรจากับค่ายหนังใหญ่ ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และก็มีวี่แววว่าบริการเปย์เปอร์วิวคงจะถูกเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับการเปิดให้บริการหรือไม่

ที่สำคัญมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เปย์เปอร์วิว แม้จะเป็นบริการแปลกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกให้มากขึ้น แต่เป็นบริการเสริมที่จะดึงดูดลูกค้าได้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น เพราะการที่สมาชิกต้องเสียเงินเพิ่มอีกถึงเรื่องละ 50 บาท

ยามนี้คงได้แต่รอคอยว่า ยูทีวีจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ มานำเสนอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 135,000 ราย ตามที่กำหนดไว้ได้หรือไม่เท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.