|

“ผู้ส่งออก” พอใจมาตรการ ธปท.ทำบาทอ่อนทันที
ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“เกริกไกร” ยันไม่ปรับเป้าหมายส่งออกแม้บาทแข็งโป๊ก แนะผู้ส่งออกพัฒนาคุณภาพสินค้าสู้ อย่าทำแค่ลดราคาไปแข่ง หอการค้าไทยหนุนมาตรการ ธปท. ทำบาทอ่อนค่าลงทันที ผู้ส่งออกยิ้มได้ พร้อมแนะหากมีการเก็งกำไรอีกปรับสำรองเพิ่มเป็น 40-50% ยอมรับตลาดหุ้นไม่ชอบแน่ ผู้ส่งออกชี้รัฐให้ยาแรง แต่ช้าไปนิด ต้องรอผล 2-3 วันถึงจะชี้ชัดได้ เผยจากนี้ไปจะรู้ว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจริงหรือไม่ หรือแค่ภาพลวง นักวิชาการแนะธปท.ผ่อนคลายมาตรการ
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2550 ว่าจะมีอัตราการขยายตัว 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นเดิม เพราะไม่จำเป็นต้องปรับ แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น และอยากบอกตลาดอย่าตกใจ และไม่ควรตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทให้เข้าสู่จุดสมดุลอยู่
“มีคนเรียกร้องไม่อยากให้ค่าเงินแข็งขึ้น เพราะการเก็งกำไร ถ้าต่างประเทศเห็นว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเราดีจริง และค่าเงินแข็งขึ้น เราควรจะดีใจ และต่อไปการแข่งขันต้องแข่งขันที่คุณภาพของสินค้า ไม่ใช่ลดราคาไปแข่ง แต่การที่ค่าเงินแข็งขึ้นขณะนี้ เพราะการเก็งกำไร มาตรการที่รัฐบาลออกมา จะทำให้การเก็งกำไรลดลงหรือหมดไป”นายเกริกไกรกล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยพอใจกับมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมา เพราะเป็นมาตรการที่ได้ผล โดยขณะนี้ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงไป 40-50 สตางค์แล้ว
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น โดยการที่ดัชนีปรับลดลงอย่างรุนแรง จะเป็นการปรับฐานดัชนีไปในตัวและส่งผลดีในระยะยาว เพราะหากภาคการส่งออกเดินหน้าต่อไปได้ เศรษฐกิจไทยก็จะดีขึ้น และมีผลต่อการลงทุนของต่างชาติในอนาคต
“ต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทต่อไป เพราะหากยังมีการเก็งกำไรค่าเงินบาทอยู่ เชื่อว่าธปท.คงเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการที่ให้สถาบันการเงินกันเงินตราสำรองต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากสัดส่วน 30% เป็น 40-50% แต่ไม่ใช่การออกมาตรการใหม่ ด้านผลกระทบต่อตลาดหุ้น รัฐบาลคงต้องเลือกว่าจะช่วยอะไรระหว่างผู้ส่งออกและนักลงทุน ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้แน่นอนคนเล่นหุ้นต้องไม่ชอบ แต่สำหรับภาคส่งออกที่มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รวมอยู่ด้วย ก็จะได้ผลดี”นายพรศิลป์กล่าว
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ดี แม้จะออกมาบังคับใช้ช้าไปหน่อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการไหลเข้าของเงินต่างประเทศจำนวนมากจนเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า และทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งหากธปท.ออกมาตรการเร็วกว่านี้ คาดว่าผลกระทบไม่น่าจะมากเช่นนี้
“ถือว่าเป็นยาแรงมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐรู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร อย่างที่รมว.อุตสาหกรรมบอก ว่ามีการไหลเข้ามาของเงินที่ผิดปกติ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ค่าเงินบาทเป็นปกติได้ แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดคงต้องดูอีก 2-3 วัน”นายเดชกล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่า หลังใช้มาตรการเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่คงจะไม่อ่อนค่าลงไปถึง 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐยังคงอ่อนตัวอยู่
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการส่งออก โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มคงต้องมีการประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังเชื่อว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 4-5%
นางวิไล เกียรติศรีชาติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า จะทำให้เห็นภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยว่ามีเสถียรภาพจริงจนทำให้เงินบาทแข็งค่าสูงเหมือนช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในแง่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและค่าเงินบาท
“สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการคืออัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพไม่ใช่พลิกผันไปมาจนให้การส่งออกชะลอตัวเช่นที่ผ่านมา และหลังมาตรการนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ทั้งลูกค้าในต่างประเทศและผู้ส่งออกกล้าตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมาลูกค้า จะ wait and See ค่าเงินบาท จนทำให้การส่งออกชะลอตัว จากเดิมที่คาดว่า ปี 2549 ส่งออกอาหารสำเร็จรูปจะขยายตัว 12-15% ก็เหลือแค่ ไม่เกิน 10% " นางวิไลกล่าว
สำหรับค่าเงินบาทหลังการประกาศใช้มาตรการฯ คาดว่าจะอยู่ในระดับ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นและลดลงจากนี้ 1 บาท แต่ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาจากอัตราแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคนี้ประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการส่งออกจากมาตรการนี้ฯ จะใช้เวลาพิจาณาสักระยะ เพราะต้องประเมินหลังจากมีการชำระเงินค่าสินค้าจริง โดยเงินบาทแข็งค่าเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะสะท้อนผลกระทบในช่วงไตรมาส 1 ปี 2550
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งผิด และเหมาะสมสำหรับการดูแลเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไร แต่ปัญหาคือ เป็นมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ต้องการเงินบาท และทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบด้วย เพราะเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่เป็นเงินระยะสั้น ซึ่งธปท.น่าจะปรับปรุงมาตรการใหม่ โดยดำเนินการแบบผ่อนคลายมากขึ้น
“หากดำเนินมาตรการรุนแรงเกินไป เงินทุนต่างประเทศก็จะหายไปหมด ที่สำคัญเงินทุนระยะสั้นไม่ใช่จะเลวทั้งหมด เงินทุนที่ดีๆ ก็มี ดังนั้น ธปท.จึงน่าจะปรับมาตรการ โดยปรับลดเงินที่ถูกหักสำรองลงเหลือ 3-5% และมุ่งไปที่เงินที่ถือครองไม่เกิน 3-6 เดือนจะดีกว่า ส่วนตลาดหุ้นคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบตลอดระยะเวลาที่ธปท.ใช้มาตรการนี้อยู่ แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการเมือไร ตลาดหุ้นก็น่าจะดีขึ้น” นายตีรณกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|