เดอะทิปปิ้งพ้อยท์ สาวเอ็มบีเอ และภาษาอังกฤษ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณเคยอ่านหนังสือ ที่เปลี่ยนชีวิตคุณบ้างไหม โอเค ไม่เว่อร์ถึงกับเปลี่ยนชีวิตก็ได้ แต่มีอิทธิพลมากขนาดทำให้คุณเริ่มมองโลกในมุมใหม่.... และในทางที่ดีขึ้น

The Tipping Point - How Little Things Can Make a Big Difference เขียนโดย Malcolm Gladwell เป็นหนังสือ ที่ผู้เขียนนึกถึงในระยะหลังนี้ เมื่อได้ยินผู้คนบ่นท้อแท้เรื่องภาษาอังกฤษ เพราะหนังสือเล่มนี้ยืนยันว่า มนุษย์เรามีศักยภาพ ที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ของตนเอง และสามารถลงมือทำอะไรฉลาดๆ เพื่อช่วยตนเองได้

ล่าสุดนี้ รุ่นน้องสาวสวย ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับต้นๆในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และกำลังเรียนเอ็มบีเอหลักสูตรทางไกลของมหาวิทยาลัยเมืองนอก ปรับทุกข์ให้ฟังว่าอาจจะต้องเลิกเรียนกลางคัน ซึ่งจะทำให้เธอเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งเสียเวลา และโอกาสก้าวหน้าในงานด้วยทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะเธอตามเนื้อหาในบทเรียนไม่ทัน ทำนองว่าต้องอ่านหลายรอบจึงจะพอรู้เรื่องเธอจึงวิตกมากว่าจะทำข้อสอบไม่ผ่าน เธอบอกด้วยว่า ตัวแทนมหาวิทยาลัยเมืองนอกแห่งนี้ ก็พยายามช่วยเสริมภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนในหลักสูตรด้วยแต่เธอ และ เพื่อนเรียนอีกหลายคนคิดว่าไม่พอกับความต้องการ เธอบ่นว่าค่าเล่าเรียนก็ไม่ถูกเลยเธอจึงไม่มีงบเหลือ ที่จะไปเรียนอังกฤษเพิ่ม ปัญหาอีกอย่างคือ เธอทำงานหนักด้วย ไม่มีทางเจียดเวลาเดินทางไปเรียนอะไร ที่ไหนอีกแล้ว

ฟังแล้ว ผู้เขียน ซึ่งเพิ่งจะอ่านเดอะทิปปิ้งพ้อยท์จบ ก็เลยส่งต่อแรงบันดาลใจ ที่ได้จากหนังสือให้เธอฮึดสู้ภาษาอังกฤษอีกสักตั้งนึง

เราทั้งสองจึงนั่งลงคุยกัน โดยผู้เขียนเห็นทางออกอยู่ทางเดียว นั่นคือ เธอต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเมื่อเธอไตร่ตรองดูแล้วเห็นด้วย เราจึงช่วยกันวางแผนปฏิบัติการเป็นขั้นเป็นตอนให้เธอนำไปใช้โดยมีผู้เขียนช่วยให้กำลังใจ

ผู้เขียนเห็นว่า ขั้นตอน ที่ว่านี้น่าสนใจ และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ที่อาจมีอุปสรรคคล้ายๆกับสาวเอ็มบีเอจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

ขั้นตอน ที่หนึ่ง: คุณเก่งอะไรบ้าง

อย่ามัวมองแต่ข้อด้อยหรือจุดอ่อนของตัวเองในการเรียนภาษาอังกฤษ ถามตัวเองว่า เก่งอะไรบ้าง ถ้ายังเขินตอบไม่ได้ ก็ถามต่อไปว่า ชอบอะไรบ้าง ที่เป็นภาษาอังกฤษลองเปิดความคิดให้กว้างกว่าเพียงสี่ทักษะหลัก ที่ใครๆชอบอ้างถึง ชีวิตนี้มีมากกว่า ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน คุณชอบเล่นเกมส์ครอสเวิด ชอบฟังเพลง ดูหนัง อ่านการ์ตูน อ่านโฆษณา เขียนการ์ดวันเกิด ถ้ายังตอบไม่ได้อีก

ก็ให้ถาม เพื่อน ที่คุณไว้ใจ และมองโลกในแง่ดีด้วย เชื่อว่าคุณต้องค้นพบความเก่ง ความถนัดหรือความชอบหลายข้อเป็นแน่

เมื่อคุณรู้แล้ว จงทำสิ่งเหล่านี้ให้บ่อยขึ้นพลัง ที่เพิ่มขึ้นจากตรงนี้จะทำให้คุณมีกำลังใจ และกำลังปัญญา ที่จะตั้งรับสิ่งที่คุณยังไม่ค่อยถนัดต่อไป

ขั้นตอน ที่สอง: เลือกจุดเร่งด่วนที่สุดก่อน

ถามตัวเองว่าในระยะเวลาถัดจากนี้ไป ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงหนึ่งเดือน สามเดือน หรือครึ่งปี จุดใดด้านใดของภาษาอังกฤษของคุณ ที่อาจทำให้คุณเพลี่ยงพล้ำได้ ในกรณีของสาวเอ็มบีเอนั้น คือ คำศัพท์ และการอ่านเอาความ หรือ รี้ดดิ้งคอมพรีเฮนชั่น

ขั้นตอน ที่สาม:ใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตพัฒนาไปไกลพอ ที่จะให้เราลองทำแบบฝึกหัด และตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยแล้ว เว็ปไซต์บางแห่งมีข้อสอบวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาของเราได้ด้วย ที่สำคัญคือ ฟรีด้วย และมีให้เลือกมากด้วย เพียงแต่คุณหมั่นเข้าไปหาเว็ปไซต์ ที่ถูกใจ และคอยระวังตัวไม่ไปคลิกเข้าโปรมแกรม ที่เสียสตางค์ก็พอแล้ว

ขั้นตอน ที่สี่: เลือกเว็ปไซต์ ที่ตรงกับความต้องการ

สำหรับเว็ป ที่มีแบบฝึกหัดอ่านเอาใจความ ที่ผู้เขียนลองแล้วชอบ คือ

http://www.englishspeaker.com มีหัวข้อภาษาอังกฤษในการทำธุรกิจ และคำศัพท์สำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ ตลอดจนบทความข่าวสาร ที่เกี่ยวกับธุรกิจ สังคม และการเมืองด้วย

http://www.englishlearner.com มีแบบฝึกหัดทดสอบการอ่านเอาความในหลายระดับความสามารถรวมทั้งระดับกลางๆหรืออินเตอร์มีเดีย ซึ่งคนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่จะเข้าข่ายนี้แต่ไม่มีหัวข้อเรื่อง ที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง

http://www.better-english.com มีหัวข้อให้เลือกมากมาย นอกจากธุรกิจแล้ว ยังมีคอมพิวเตอร์ รัฐบาล การศึกษา บันเทิง ฯลฯ ที่ดูจะแปลกหน่อยคือ เว็ปนี้เป็นของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต่อต้านการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศตัวเองมาก

ขั้นตอนสุดท้าย: หมั่นฝึกวิทยายุทธให้สม่ำเสมอ

ลองฝึกทำแบบฝึกหัดด้าน ที่คุณไม่ค่อยถนัดเป็นประจำทุกวัน

โดยจะยืมวิธีการติวของโรงเรียนติวคิดเลขของญี่ปุ่นมาน่าจะได้ คือ ฝึกทำเพียงวันละ 10 นาทีเท่านั้น ในไม่ช้าคุณก็จะรู้ว่า ทำอะไรได้ดีขึ้น และอะไรยังเป็นจุดอ่อนอยู่ เมื่อรู้แล้ว ฮึดสู้ต่อไป

หรือจะลองไปอ่าน The Tipping Point-How Little Things Can Make a Big Difference เป็นกำลังใจโดยตรงก็ได้นะ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.