"คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องการเมืองใหม่"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ชี้ทางออกของกรุงเทพฯ ในสายตาชนชั้นกลาง

Mis Business Poll สำรวจทัศนคติของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่มีต่อวิกฤติการณ์และทางออกของกรุงเทพมหานคร โดยการสุ่มสำรวจแบบบังเอิญ กระจายตามแนวถนนหลักต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ อาทิ ถนนสุขุมวิท สีลม สาธร พหลโยธิน พุทธมณฑล บางนา-ตราด ทำการสำรวจในช่วงวันที่ 4-13 กันยายน 2538 ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 372 ตัวอย่าง

ลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 54.3% เป็นกลุ่ม คนทำงานรุ่นใหม่ ที่มีช่วงอายุระหว่าง 25-34 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีช่วงอายุน้อยกว่า 25 ปี 35-44 ปี และ 45 ปี ขึ้นไป คิดเป็น 23.1%, 15.9% และ 5.6% ตามลำดับ ระดับการศึกษาของคนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ 55.4% มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี รองลงมาเป็นกลุ่มที่จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี คิดเป็น 35.8% และ 8.9% ตามลำดับ

ด้านอาชีพ ส่วนใหญ่ 79.6% เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ถัดมาเป็นกลุ่มข้าราชการพนักงาน รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการ และวิชาชีพเฉพาะคิดเป็น 8.1%, 4.8% และ 4.6% ตามลำดับ ในด้านตำแหน่งในองค์กร ส่วนใหญ่ 53.5% เป็นกลุ่มพนักงานทั่วไป รองลงมาเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และเจ้าของกิจการคิดเป็น 23.9% 16.1% และ 3.5% ตามลำดับ

สำหรับด้านฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจได้ ส่วนใหญ่ 26.1% มีรายได้ครอบครัวอยู่ระหว่าง 15,000-29,999 บาท ถัดลงมา มีรายได้ครอบครัวต่ำกว่า 15,000 บาท, 30,000-49,000 บาทและ 50,000-69,999 บาท คิดเป็น 22.6%, 19.6% และ 11.3% ตามลำดับ

กรุงเทพฯ : ฤาจะสิ้นยุคฟ้าอมรของชาวกรุง

ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่กว่า 75.8% ไม่พึงพอใจต่อการดำเนินชีวิตในกรุงเทพฯ โดยปัจจัยที่สร้างความไม่พึงพอใจ คือ การจราจรติดขัด มลภาวะ/ปัญหาสิ่งแวดล้อมและค่าครองชีพ ทว่าอีก ส่วนหนึ่ง 14.0% ยังมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในกรุงเทพโดยปัจจัย ที่สร้างความพอใจ คือ ความเจริญ/ความทันสมัย ศูนย์กลางทางธุรกิจ และความสะดวกสบาย

สภาพของกรุงเทพมหานคร ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองที่มีความเจริญ มีการพัฒนาให้ทันสมัยและมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า แต่ทว่าในความเป็นเมืองใหญ่กรุงเทพฯ ยังมีการเติบโตที่ไร้ทิศทางทำให้การขยายตัวของเมือง อยู่นอกเหนือการควบคุม จนรัฐไม่สามารถที่จะให้บริการขั้นพื้นฐานได้ อย่างทั่วถึงและทันการณ์ จนเกิดปัญหาของเมืองมากมาย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคุณภาพชีวิต และสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะที่ได้อย่างเสียอย่าง เช่นนี้ ได้สร้างบรรยากาศของความจำทน ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยเหตุจำเป็น ซึ่งจากการสำรวจความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในกรุงเทพของชนชั้นกลางในเมืองพบว่า ส่วนใหญ่ 75.8% ไม่พึงพอใจต่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ส่วนอีก 14.0% พึงพอใจกับการใช้ชีวิตในเมืองกรุง และอีก 8.9% ไม่แน่ใจ

ในกลุ่มที่ไม่พึงพอใจต่อการใช้ชีวิตในเมืองกรุงนั้นให้เหตุผล คือ การจราจรติดขัด อันเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม 26.3% ค่าครองชีพ/ภาวะเงินเฟ้อ 16.7% ปัญหาอาชญากรรม 5.4% และปัญหาความเห็นแก่ตัว/ศีลธรรม 4.1%

ส่วนกลุ่มที่พึงพอใจต่อการใช้ชีวิตในเมืองกรุงพบว่า 19.1% ให้ความพอใจต่อความเจริญ/ทันสมัย 15.7% พอใจกับความเป็นศูนย์กลางทางการค้า/ธุรกิจ 14.6% พอใจกับความสะดวกสบาย 13.5% พอใจ ต่องาน/แหล่งงานที่ดีและมั่นคง และ 12.4% พอใจกับสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน

ระบบขนส่งมวลชน : ปัญหาหนักอกของชาวกรุง

วิกฤติการณ์ของกรุงเทพมหานคร ในสายตาของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ พบว่า วิกฤติการณ์ที่ได้รับความสำคัญ 5 อันดับแรก นั้น ปัญหาขาดระบบขนส่งมวลชนมีความตื่นตัวในระดับสูงสุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความเห็นด้วย คิดเป็น 89.6% รองลงมาเป็นปัญหาสุขภาพจิต/ร่างกายแย่ลง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม/การคอร์รัปชัน/ทุจริตในเมืองมีมาก ขาดการวางแผนพัฒนาเมือง/ผังเมืองที่ดี คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 89.6%, 89.1% และ 87.8% ตามลำดับ

คงความเป็นกรุงเทพฯ : ทางออกที่ตอกย้ำความล้มเหลวของมหานคร

ทางออกของวิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ นั้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ยังคงมีความยึดติดอยู่กับวิถีทางเดิม ๆ โดยเห็นความทางออกในการแก้ไขวิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ ที่ดีที่สุด คือ การคงความเป็นกรุงเทพฯ ด้วยการปรับเปลี่ยนปัจจัยภายใน โดยดำเนินการขยาย ความเจริญไปสู่รอบนอกของกรุงเทพฯ และลงทุนจัดวางระบบคมนาคม ขนส่งภายในกรุงเทพฯ ใหม่ ส่วนทางออกในการจัดสร้างเมืองใหม่ได้รับความเห็นด้วยในระดับรอง ๆ ลงมา

วิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ ที่มีการสะสมปัญหามานานนับสิบ ๆ ทำให้ปัญหาของเมืองมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุก ๆ ระดับอาชีพต่าง ๆ ความพยายามของรัฐที่หามาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา นั้น ช่วยได้เพียงการบรรเทาปัญหาเท่านั้น ดังนั้นปัญหาของกรุงเทพฯ จึงนับได้ว่าเป็นปัญหาร่วมสมัยที่เป็นปัญหาร่วมกันของชาวกรุงเทพฯ

ซึ่งจากทัศนคติของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ พบว่ามีความต้องการให้แก้ไขวิกฤติการณ์ของเมือง โดยการคงความเป็นกรุงเทพฯ ไว้ โดยพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์จากปัจจัยภายในเมือง ด้วยขยายความเจริญไปสู่รอบนอกของกรุงเทพฯ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 89.7% และต้องการให้มีการแก้ไขด้วยการลงทุนจัดวางระบบคมนาคมขนส่งภายในกรุงเทพฯ ใหม่ด้วยคะแนนเฉลี่ย 87.9%

รอง ๆ ลงมา เป็นทางออกที่ประสงค์ให้มีการปรับรูปโฉมของมหานครใหม่ โดยการจัดสร้างเมืองใหม่หรือเมืองบริวารของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ใหม่ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเดียวกัน อันสามารถ รองรับความเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ ลดปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย ความหนาแน่นของประชากร ความแออัดของชุมชน ปัญหาการจราจร และช่วยลดแรงกดดันในเรื่องปัญหาสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ โดยการสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรม เพื่อรองรับโรงงานจากกรุงเทพฯ เป็นแนวทางเมืองใหม่ที่ได้รับความเห็นด้วยสูงสุด ด้วยคะแนนเฉลี่ย 84.5% ถัดมาเป็นการสร้างศูนย์กลางทางธุรกิจ/พาณิชยกรรมใหม่ สร้างศูนย์กลางทางการศึกษาใหม่ และสร้างศูนย์กลางแหล่งที่พักอาศัยใหม่ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 79.7%, 79.5% และ 79.1% ตามลำดับ

ส่วนทางออกในการสร้างเมืองหลวงใหม่นั้น พบว่า เป็นแนวทางที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก และค่อนข้างไม่ได้รับความเห็นด้วย โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความเห็นด้วยในระดับต่ำสุด ด้วยคะแนนเฉลี่ยเพียง 55.4%

ชาวกรุงกว่าครึ่งเปิดใจให้เมืองใหม่

เป็นทางออกของกรุงเทพฯ

หากพิจารณาเจาะลึกถึงความเห็นในเรื่องการจัดสร้างเมืองใหม่ เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ พบว่าถึงแม้ว่าการจัดสร้างเมืองใหม่จะได้รับความเห็นด้วยในระดับรอง ๆ ลงมาแต่กลับพบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ 52.7% เห็นว่าทางออกของกรุงเทพฯ โดยจัดสร้างเมืองใหม่มีความเหมาะสม โดยมี 18.3% เห็นว่าทางออกของกรุงเทพฯ โดยการจัดสร้างเมืองใหม่ นั้น ไม่เหมาะสม ส่วนอีก 27.4% ไม่แน่ใจ

ส่วนในด้านช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการจัดสร้างเมืองใหม่นั้น พบว่า ชาวกรุง มีความร้อนใจต่อการแก้ไขวิกฤติการณ์อย่างยิ่ง โดยส่วนใหญ่ 54.9% มีความเห็นว่าการจัดสร้างเมืองใหม่ควรที่จะเริ่มดำเนินการภายใน 1-3 ปี รองลงมาเห็นว่าควรเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ 4-6 ปี และ 7-9 ปี คิดเป็น 34.2%, 4.9% และ 3.3% ตามลำดับ

เมืองใหม่ในฝัน : ภาพสะท้อนของความต้องการ

ภายใต้ความหวังของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่มีต่อวิถีชีวิตที่จะแปรเปลี่ยน เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีความคาดหวังในเมืองใหม่ในฝันอยู่ในระดับสูง โดยมีระดับคะแนนเฉลี่ยของความสำคัญอยู่ระหว่าง 72.4-93.9%

ซึ่งพิจารณาในความคาดหวังที่มีต่อเมืองใหม่ในฝัน 5 อันดับแรกนั้น พบว่าชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีความคาดหวังต่อเมืองใหม่ในฝัน ในประเด็นการคมนาคมสะดวก ด้วยระดับคะแนนความสำคัญสูงที่สุดคิดเป็น 93.9% รองลงมาเป็นการคาดหวังในภาวะแวดล้อมที่ดีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอ สถานศึกษาที่มีคุณภาพ และระบบรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คิดเป็น 93.3%, 93.3%, 92.6 และ 92.6 ตามลำดับ

ทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ : พื้นที่แนวเชื่อมต่อที่ต้องขบคิด

จากแนวคิดในการสร้างเมืองใหม่ เพื่อเป็นเมืองบริวารของมหานคร ที่รองรับการขยายตัวของเมืองโดยสร้างเมืองใหม่เพื่อที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางระดับ Matropolis ที่เป็นความพยายามในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ด้วยการจัดสร้างพื้นที่แนวเชื่อมต่อ เพื่อเสริมสร้างที่ขั้วความเจริญในเมืองใหม่ขึ้นมา แทนที่จะต้องมุ่งตรงมาที่มหานครอย่างกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวอาทิ ศูนย์กลางพานิชยกรรม ศูนย์กลางทางอุตสาหกรรม ศูนย์ราชการ ศูนย์ที่พักอาศัย ฯลฯ

จากการสำรวจ พบว่าชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้คะแนนความเหมาะสมในทำเลต่าง ๆ ในระดับใกล้เคียงกัน โดยอยู่ระหว่าง 52.3-68.7%

ทำเลที่มีความเหมาะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อ. บางปะอิน จังหวัดอยุธยา คิดเป็นคะแนนเฉลี่ยความเหมาะสม 68.7% รองลงมา คือทำเล อ. นครชัยศรี จังหวัดนครปฐมเขตลาดกระบัง-มีนบุรี-ลำลูกกา-ตลิ่งชัน อ. กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อ. องครักษ์ จังหวัดนครนายก ด้วย 66.1%, 65.7%, 65.1 และ 61.2 ตามลำดับ

ในการจัดสร้างเมืองใหม่แบบศูนย์ราชการนั้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้คะแนนความเหมาะสมอยู่ในระหว่าง 10.6-22.8% โดยพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อการจัดสร้าง คือ พื้นที่บางปะอิน จังหวัดอยุธยา 22.8% และ อ. นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 19.1%

ในการจัดสร้างเมืองใหม่แบบศูนย์กลางธุรกิจนั้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้คะแนนความเหมาะสมอยู่ในระหว่าง 13.1-23.6% โดยพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อการจัดสร้าง คือพื้นที่ เขตลาดกระบัง-มีนบุรี-ลำลูกกา-ตลิ่งชัน 23.6% และจังหวัดสุพรรณบุรี 23.0%

ในการจัดสร้างเมืองใหม่แบบศูนย์กลางอุตสาหกรรมนั้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้คะแนนความเหมาะสม อยู่ในระหว่าง 14.6-49.5% โดยพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อการจัดสร้าง คือพื้นที่ จังหวัดสมุทรปราการ 49.5% และ อ. เมือง บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา 34.9%

ในการจัดสร้างเมืองใหม่แบบศูนย์กลางที่พักอาศัยนั้นนั้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้คะแนนความเหมาะสม อยู่ในระหว่าง 15.3-29.6% โดยพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อการจัดสร้างคือพื้นที่ อ. บ้านนา จังหวัดนครนายก 49.5% และ อ. องครักษ์ จังหวัดนครนายก 34.9%

ส่วนในการจัดสร้างเมืองใหม่แบบศูนย์กลางทางการศึกษานั้น พบว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ให้ความเหมาะสม อยู่ในระหว่าง 8.9-27.0% โดยพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมต่อการจัดสร้างคือพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก 27.0% และ อ. กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 24.9%

สรุป : คนกรุงกว่า 40% ยังไม่แน่ใจกับเมืองใหม่

ในทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ นั้น แม้ว่าภาพลักษณ์ของความต้องการของชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ จะยังมีความยึดติดอยู่กับความเป็นกรุงเทพฯ และมีความปรารถนาให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ โดยการขยายความเจริญของกรุงเทพฯ ออกไปสู่ชานเมือง และการลงทุนวางระบบคมนาคมภายในกรุงเทพฯใหม่ ส่วนแนวทางในการแก้ไขวิกฤติการณ์ด้วยการสร้างเมืองเป็นทางเลือกในอันดับรอง ๆ

และเมื่อพิจารณาโดยภายรวมแล้ว จะพบว่าปัจจุบันชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีตื่นตัวน้อยมากต่อการจัดสร้างเมืองใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ของกรุงเทพฯ นั้น นั่นคือ การจัดสร้างเมืองใหม่ได้รับความสนใจจากชาวกรุงค่อนข้างน้อย โดยพบว่า มีเพียง 17.4% ที่คิดว่าหากมีการจัดสร้างเมืองใหม่ จะไปอยู่ที่เมืองใหม่ส่วนกลุ่มที่คิดว่าจะอยู่ที่เดิม ไม่ไปอยู่ที่เมืองใหม่แน่นอนมีอยู่ถึง 38.8% และส่วนใหญ่ 43.8% เป็นกลุ่มที่ไม่แน่ใจต่อการจะอพยพไปอยู่ที่เมืองใหม่หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.