"วิสัยทัศน์แห่งผู้นำ "คิดปีเดียวลงมือเลย"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

30 สิงหาคม 2538 ดร. มหาเธร์ บิน มูหะหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเมืองใหม่ "ปุตราจายา"

ไม่เฉพาะความครึกครื้นตามสไตล์การเปิดพิธีของชาวมาเลย์เท่านั้นที่เป็นที่สนใจของคนที่เห็น แต่ข่าวการเปิดเมืองใหม่กับคำกล่าวสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ที่ว่าเมืองนี้จะเป็นเมืองหลวงใหม่อีกแห่งของมาเลเซียที่ประกอบด้วยความเป็นอัจฉริยะที่ลงตัว ยังเป็นข่าวที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าที่ก้าวไปไกลของมาเลเซีย

"ปุตราจายา" นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความมี "วิสัยทัศน์" ของผู้นำมาเลเซียแล้ว ว่ากันว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นอนุสรณ์ของมหาเธร์ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศที่จะสิ้นสุดการครองอำนาจในปี ค.ศ. 2000 เช่นกัน

มาเลเซียเริ่มคิดที่จะสร้างเมืองใหม่ได้เพียงปีเศษก็เริ่มเป็นรูปธรรม มีการกำหนดและสร้างสัญลักษณ์ลงในพื้นที่อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องมีแผนการดำเนินงานที่ยุ่งยากแล้วต้องใช้เวลานับหลาย ๆ ปีอย่าง บ้านเรา แล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ

"การเมืองมาเลเซีย แบ่งเป็นสองพรรค คือพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงที่แข็งมาก จะเป็นหนึ่งเดียวกันในการตัดสินใจ เรื่องใดที่ยื่นเข้าคณะรัฐมนตรี เมื่อผ่านออกมาแล้วก็ถือว่าแน่นอน ไม่มีการล้มเลิกอย่างเรื่องปุตราจายาแม้ตอนแรกจะตั้งเป็นแผนงานชั่วคราวก่อนจะเป็นแบบถาวร ทุกคนก็ยังเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริง" ตันศรี ดาโต๊ะ มูฮัมหมัด บิน ฮัจยี มูฮัมหมัด ตาอีฟ ประมุขแห่งรัฐเซลังงอร์ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินเมืองหลวงแห่งใหม่นี้กล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว ดร. มหาเธร์เอง เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนมาเลเซียรัก ชื่นชมและเชื่อมั่นในความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศมาหลายสมัยด้วยกัน เมื่อผู้นำมีความคิดจะสร้างเมืองใหม่ มีหรือที่ประชาชนมาเลเซียยุคตามผู้นำจะไม่เห็นดีด้วย

ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ คนขายผ้า ผู้คนตามท้องถนนที่ "ผู้จัดการ" ได้พูดคุยด้วย ต่างก็พอใจกับสิ่งที่จะมีขึ้น แล้วยิ่งคนในหน่วยงานราชการด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่ถูกใจมาก

มาเลเซียเริ่มกำหนดฝ่ายพัฒนาเมืองใหม่ปุตราจายาขึ้นเมื่อ 19 เมษายน 2538 เป็นการชั่วคราวในหน่วยงานของสำนักนายก ก่อนจะตั้งหน่วยงานถาวรขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นคนก่อสร้าง บริหารและพัฒนาปุตราจายาอย่างเต็มที่ต่อไปในอนาคต

ภายหลังจากได้มีการเซ็นสัญญาสร้างเมืองปุตราจายาระหว่างรัฐบาลรัฐเซลังงอร์กับรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 "เปอร์บาดานัน ปุตราจายา" (PERBADANAN PUTRAJAYA) ก็ถูกตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานถาวรเพื่อพัฒนาปุตราจายาโดยเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง

ในภาคเอกชนก็มีส่วนรวมในการพัฒนาครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการระดมความคิดในการพัฒนาที่หลากหลาย โดยเกิดจากการรวมตัวของบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศ 6 บริษัท เมื่อ พ.ศ. 2537 ภายใต้ชื่อบริษัท กุมปุลัน เปอร์รันดิง โคตา บิสตาริ จำกัด (KUMPULAN PERUNDING KOTA BISTARI SDN BHD) ประกอบด้วย บริษัทจุรูรันชัง (มาเลเซีย) จำกัด, บริษัทบีอีพี อคิเท็ค จำกัด,บริษัทฮิจจัส คัสตูริ แอสโซสิเอทส์ จำกัด, บริษัทมินคอนซัลท์ จำกัด, บริษัทเปอร์รันดิง อารามบินา จำกัด และบริษัท เรการันชัง จำกัด ร่วมด้วยสำนักผังเมืองและกรมแรงงานของรัฐบาล

การทำงานครั้งนี้จึงถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล และภาคเอกชน โดยมีวิธีบริหารแบบเอกชน ช่วงการดำเนินงานที่ผ่านไปผู้บริหารโครงการก็ได้จัดการให้มีการขายที่ดิน ที่ตั้งสำนักงานเก่าของส่วนราชการในกัวลาลัมเปอร์เพื่อนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างในที่แห่งใหม่

ดังนั้นกัวลาลัมเปอร์ก็ยังมีการขยายตัวต่อไปเพราะเอกชนที่ซื้อที่ดินก็ต้องพัฒนาทำเลเหล่านั้นซึ่งกัวลาลัมเปอร์ก็จะเป็นเมืองในเชิงพาณิชย์ การค้าโดยเฉพาะภาคเอกชน

ถึงตอนนี้รัฐบาลได้จัดขายไปแล้วบางแห่งเป็นจำนวนเงินนับสิบล้านริงกิต (1 ริงกิต=10 บาท) และชิ้นสุดท้ายคาดว่าจะเป็นสนามบินเก่าที่ SABANG ที่มีแผนจะรื้อแล้วนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ภายหลังสนามบินที่เซปัง (KLIA) ซึ่งมีระยะทางห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 45 กิโลเมตร และห่างจากปุตราจายา 20 กิโลเมตร แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2541 (1998) ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่ตกลงใจว่าจะเปิดประมูลหรือจะพัฒนาเอง

นายเจบาซิงกัม อัสสัก จอห์น (JEBASINGAM ISSACE JOHN) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเมืองหลวงบริหารของรัฐบาลกลางปุตราจายา (DEVELOPMENT UNIT FEDERAL ADMINISTRATIVE CAPITAL CITY PUTRAJAYA = UPPj) กล่าวว่า การสร้างเมืองใหม่จะเป็นการแสดงถึงศักยภาพและความร่วมมือร่วมใจของชาวมาเลเซีย

"การสร้างเมืองใหม่ครั้งนี้จะถือเป็นการแสดงคุณภาพของชาวมาเลเซีย ทุกอย่างดำเนินงานโดยคนมาเลเซีย และจะเป็นความภูมิใจของคนมาเลเซีย เราไม่คิดที่จะให้ต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ยอมรับว่าต้นแบบของเมือง เราเอาแบบอย่างมาจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ ในแง่ของเมืองราชการ เมืองอิสตันบูลของตุรกี ในแบบของเมืองที่มีความเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นต้น" อิสสักกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้คาดการณ์อนาคตของกัวลาลัมเปอร์ว่า หากปล่อยให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่เตรียมขยายเมืองไปที่อื่น สักวันกัวลาลัมเปอร์จะต้องเกิดปัญหาความแออัด รถติด ฯลฯ และรัฐต้องการเก็บกัวลาลัมเปอร์ให้ดีเหมือนอย่างที่เคยเป็น รัฐจึงตัดสินใจที่จะสร้างเมืองใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรี ดร. มหาเธร์ มูหะหมัด เป็นผู้นำในการตัดสิน

"เราคิดเรื่องเมืองใหม่กันมาได้ประมาณปีเศษ ๆ ว่าถ้าเราจะย้ายควรจะทำอย่างไร ถ้าต้องย้ายภาคธุรกิจออกไปก็เป็นเรื่องยากมาก รัฐบาลก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องย้ายออกไปเอง เพราะทำได้ง่ายกว่า เพื่อทุกอย่างจะไม่ต้องมุ่งมาที่กัวลาลัมเปอร์ ที่สำคัญเราอยากเก็บกัวลาลัมเปอร์ไว้อย่างที่เคยเป็น เป็นเมืองหลวง ที่ยังคงดำเนินชีวิตเหมือนเดิม" นายอิสสัก กล่าว

จากการที่ "ผู้จัดการ" ได้ไปพบเห็นและใช้ชีวิตอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบสภาพความแออัดกับกรุงเทพฯ แล้ว ถือว่ายังห่างไกลกันมากกัวลาลัมเปอร์มีประชากรเพียง 1.1 ล้านคน รถแล่นได้เพียง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนมาเลเซียก็จะบ่นกันแล้วว่ารถติดมาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนเห็นด้วยที่จะมีเมืองใหม่

ในขณะที่กรุงเทพฯ มีประชากรถึง 6-7 ล้านคนในทะเบียน หรืออีกเกือบ 10 ล้านคนในความเป็นจริง รถจอดนิ่ง ๆ บนถนนครึ่งชั่วโมงขยับได้ 1 เมตร ก็ยังทนกันได้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่มีความกระตือรือร้นว่าเราควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ หรือมีเมืองใหม่ ที่จะช่วยลดปัญหาในกรุงเทพฯ ได้แล้วและควรเป็นแบบเร่งด่วนด้วย

นี่ไง….ปุตราจายา ! "วันนี้มีเพียงแลนด์มาร์ค"

"ปุตราจายา" เป็นชื่อที่รู้จักกันในฐานะเมืองใหม่ของมาเลเซีย มีที่มาของคำว่า "ปุตรา" จากชื่อนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพ่อของชาติ คือ ตุนกู อับดุล รามาน ปุตรา อัลฮัจ และ "จายา" ที่หมายถึงชัยชนะและมักจะเป็นชื่อต่อท้ายสถานที่หลายแห่งเช่น ปัตลิงจายา ซาบังจายา และชื่อคอมเพล็กซ์ต่าง ๆ ในเมือง

ทั้งนี้ "ปุตราจายา" มีชื่อเต็ม ๆ ว่า PUTRA JAYA THE FEDERAL GOVERNMENT ADMINISTRATIVE CENTRE

ทำเลที่ตั้งของปุตราจายาอยู่ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 25 กิโลเมตร ไปทางใต้ มีเส้นทางเดินรถที่ใช้เวลาขับประมาณ 30 นาทีเท่านั้นในปัจจุบัน

นายอิสสัก ผู้อำนวยการ UPPj เล่าว่าก่อนหน้าจะเลือกพื้นที่สร้างเมืองปุตราจายา รัฐบาลได้มีตัวเลือกหลายพื้นที่ ทั้งในเขตรัฐเซลังงอร์และรัฐอื่น ๆ พื้นที่ในรัฐเซลังงอร์ได้รับเลือกเพราะมีทำเลที่ตั้งเหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ที่กำหนดสร้างเมืองปุตราจายาอยู่ระหว่างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของมาเลเซียที่กำหนดจะสร้างที่เซปัง (SEPANG) กับกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียมีแผนจะพัฒนาเมืองให้มีความเจริญติดต่อกันแบบระเบียงที่ทอดยาว (MULTI MEDIA SUPER CORRIDOR) ตั้งแต่สนามบินแห่งใหม่จนถึงกัวลาลัมเปอร์

นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างทางด่วนสายใหม่เชื่อมชาอาราม-ปุตราจายา กัวลาลัมเอร์-ปุตราจายา สนามบินใหม่-กัวลาลัมเปอร์ ฯลฯ เพื่อให้การเชื่อมโยงกันได้สะดวก ในทางด่วนแต่ละสายก็จะมีทางรถไฟควบคู่กันไป ทางเหล่านี้จะทำให้เชื่อมโยงกันสะดวก และผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การตั้งถิ่นฐาน และธุรกิจที่จะเกิดตลอดสองข้างทางของถนนแต่ละสายในลักษณะของ LINEAR SATTLEMENT

สำหรับการคาดการณ์พื้นที่ต่อการรับประชากรในเมืองปุตราจายา นอกจากข้าราชการจำนวน 76,000 คน รวมนายกรัฐมนตรี ที่จะอยู่ในพื้นที่ 1.5 ล้าน ตร.ม. จากพื้นที่ของปุตราจายา 4,400 เฮกเตอร์ (27,500 ไร่) ที่เหลือรับประชากรได้จำนวน 250,000 คน จากจำนวน 52,000 ครัวเรือน และบริเวณพื้นที่รอบนอก 11,000 เฮกเตอร์อีกประมาณ 570,000 คน

แผนการพัฒนาปุตราจายา แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกของหน่วยงานราชการจะแล้วเสร็จในปี 2000 (2543)

ส่วนที่เหลือ อาทิ ส่วนพาณิชย์ ที่พักอาศัยบางส่วนจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2005 (2548) ทั้งที่แผนการดำเนินงานของโครงการที่สร้างใจสไตล์การ์เด้นซิตี้ ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่จากเดิมที่มีการออกแบบมาให้เลือก 5 สไตล์ และ 4 แบบที่ไม่ได้รับเลือก คือคอนเซ็ปต์แบบ SUB-UR-BAN, THE CRESCENT, ELEVATED LINEAR CITY และ BUILD WITH NATURE

ภายในเมืองปุตราจายา ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนราชการ ส่วนพาณิชย์ ส่วนวัฒนธรรม ส่วนการพัฒนาแบบผสม และส่วนของกีฬาและพัฒนาการ

พร้อมกันนี้ จากการบอกเล่าของประมุขแห่งรัฐเซลังงอร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับคนมาเลเซียแท้ (เชื้อสายมาเลย์) แต่ยังไม่ได้กำหนดจุดที่แน่นอน

"พื้นที่ส่วนนี้จะมีแต่คนเชื้อสายมาเลย์เท่านั้นที่ถือสิทธิ์ได้ ถ้าคนจีนหรือเชื้อสายอื่นจะเข้ามาทำกิจการอะไรในบริเวณนี้ ก็สามารถเช่าสิทธิ์ได้จากเจ้าของที่เชื้อสายมาเลย์ แต่ไม่สามารถซื้อขาด"

อย่างไรก็ตามจุดนี้ก็คงต้องพิจารณาในหลายด้าน ๆ เพราะเป็นเรื่องของเชื้อชาติ ขณะที่มาเลเซียพยายามรวมกลุ่มคนเหล่านี้ให้เป็นหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาการแบ่งเชื้อชาติในประเทศ

สำหรับคนที่คิดจะซื้อที่ดินในบริเวณรอบนอกใกล้ ๆ กับปุตราจายา ซึ่งไม่ใช้เขตที่เป็นสิทธิของรัฐบาล สามารถซื้อได้ตั้งแต่ตลอด 25 กิโลเมตรจากกัวลาลัมเปอร์หรือต่อไปอีก 20 เมตรถึงสนามบินแห่งใหม่ ตามแผนการพัฒนาเมืองแบบระเบียงยาว แต่ถ้าเป็นเขต 10 กิโลเมตรก่อนถึงปุตราจายา จากกัวลาลัมเปอร์ เห็นที่จะซื้อกันได้ยาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในมือหน่วยงานใหญ่ ๆ เกือบทั้งสิ้น และถ้าเป็นบ้านคนท้องถิ่น ก็เห็นที่จะต้องกล่อมกันนานเพราะหลาย ๆ คนยังยืนยันจะไม่ขายที่ดิน

ระยะทางจากกัวลาลัมเปอร์ถึงปุตราจายาสภาพการเป็นอยู่แบบชาวบ้านมีให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทางสลับกับโครงการก่อสร้าง เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน มีใครแวะจอดรถถามทาง ก็จะเข้ามากรูกันเกลียว เดินวนไปวนมามองคนแปลกหน้า พวกผู้ใหญ่เองก็ขี้อาย กว่าจะยอมพูดคุยกันได้ก็ถามคำตอบคำไปหลายประโยค แต่อีกไม่นานคนกลุ่มนี้คงจะคุ้นเคยกับคนแปลกหน้ามากขึ้น และรู้จักการพัฒนาอาชีพนอกเหนือจากเกษตรกรรมที่ทำกันอยู่

กว่าจะถึงพื้นที่ปุตราจายา "ผู้จัดการ" และผู้เดินทางรายอื่น ๆ ต้องผ่านเนินเขาเตี้ย ๆ ประมาณ 2-3 เนิน ผ่านทางแยกไปไร่ปาล์มขนาดใหญ่ของบริษัททำปาล์ม ซึ่งอนาคตคงจะแปลงสภาพต้นปาล์มไปทำอย่างอื่นได้มากมาย เพราะพื้นที่อยู่ติดกับโครงการแยกทางกันตรง 3 กิโลเมตรก่อนถึงโครงการ

ตลอดสองข้างทางจาก 5 กิโลเมตรสุดท้าย ถนนมีการปรับสภาพ ราดด้วยหินคลุกเป็นการชั่วคราวสองข้างทางปลูกหญ้าเป็นหย่อม ๆ ถัดไปเป็นสวนปาล์มที่รอการเปลี่ยนแปลง

เข้าไปในเขตพื้นที่ มีการปรับระดับพื้นที่เนินเขาเป็นลานจอดรถชั่วคราวถึง 4 ชั้น ลดระดับลงไปจนถึงชั้นสุดท้ายซึ่งเป็นที่ตั้งของสัญลักษณ์ของเมืองที่ก็สร้างจากสแตนเลสทั้งหมด พื้นปูด้วยโมเสดและมีสระน้ำอยู่ตรงฐาน รูปทรงคล้ายยอดหมวกของสุลต่านหากแต่หมายถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเพื่อมนุษย์และพระเจ้า

ด้านข้างไกลออกไปสัญลักษณ์มีรถแทรกเตอร์หลายคันพร้อมคนงานบางส่วนเดินวนไปมา ตลอดเวลาที่ "ผู้จัดการ" ใช้เวลาอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น เราได้เห็นรถวิ่งวนเวียนมาดูสถานที่แห่งนี้อยู่ตลอดบางรายก็แวะลงมาเดินดู และจากการสนทนาพูดคุยด้วย ทุกคนเห็นด้วยว่า มันน่าจะเกิดขึ้นจริงตามเป้าหมาย เพราะเพียงแค่ผ่านจากพิธีเปิดตัวไป 2 สัปดาห์ ก็สามารถปรับพื้นที่ไปได้มากแล้ว ตามแนวเขาลูกต่าง ๆ ก็มีปักธงแสดงตำแหน่งเพื่อที่จะพัฒนาต่อไปในเร็ววัน

เมื่อวันแห่งความสำเร็จ เนินเขาแต่ละลูกก็คงตระหง่านไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่สวยงามตามแบบที่รัฐกำหนดไว้ ตามแผนงานในจุดที่สูงจะเป็นตำแหน่งของหน่วยงานราชการ บริเวณโดยรอบเนินก็จะเป็นส่วนการค้าและอื่น ๆ

ภายในพื้นที่ปุตราจายา ณ วันนี้ แม้สิ่งที่เป็นรูปธรรมจะมีเพียงสัญลักษณ์สีเงินและแผนงานของรัฐบาลก็ตาม แต่สายตาของทุกคู่ที่แวะเวียนมากลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจว่าที่นี่จะเป็นที่ที่พวกเขาภูมิใจ

ความหวังของคนมาเลเซีย "ราชการจะมีคุณภาพขึ้น"

คนมาเลเซียโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเมืองกัวลาลัมเปอร์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการส่วนใหญ่พอใจและมีความกระตือรือร้นกับการที่รัฐบาลจะสร้างเมืองใหม่

มีผู้คนขับรถจากในเมืองต่าง ๆ มาดูที่ตั้งของเมืองใหม่กันไม่ขาดสาย ทั้งนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ซึ่งแน่นอนที่ย่อมมีทั้งคนพอใจและคนไม่พออกพอใจอยู่บ้าง

"รามาน" จากรัฐกลันตัน กล่าวถึงความรู้สึกของตนเองที่ได้มาเห็นปุตราจายาว่า เขารู้สึกเศร้าใจเมื่อมองอนาคตของปุตราจายา แล้วย้อนกลับไปมองรัฐของตนเอง ที่ไม่ได้มีอะไรพัฒนาขึ้นเลยแม้เวลาจะผ่านไปนับสิบ ๆ ปี

"คะแนนเสียงเลือกตั้งของรัฐบาลชุดนี้ในรัฐกลันตัน มีคะแนนแพ้ฝ่ายค้าน รัฐบาลจึงไม่มีแผนที่จะพัฒนาอะไรให้รัฐกลันตัน ถนนที่สร้างมากกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้รับการปรับปรุง กลันตันไม่เคยได้รับการเหลียวแล ถึงแม้จะมีนักธุรกิจหลายคนเป็นเศรษฐีชั้นนำของมาเลเซียหลายคนที่มาจากรัฐกลันตัน คนพวกนี้ก็ไม่เคยคิดที่จะกลับไปพัฒนารัฐของตัวเอง เพราะธุรกิจส่วนใหญ่และแหล่งรายได้ของเขาอยู่ในเขตเมืองอย่างกัวลาลัมเปอร์หรือรัฐเซลังงอร์"

อย่างไรก็ดี รามานก็เป็นหนึ่งในคนจากกลันตันที่มาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพอยู่ในกัวลาลัมเปอร์

นักธุรกิจรายหนึ่งที่เข้ามาเยี่ยมชมที่ตั้งของปุตราจายากล่าวว่า ดีใจที่มาเลเซียจะมีเมืองใหม่ เขายังกล่าวเปรียบเทียบกับประเทศไทยว่า แม้เมืองไทยจะโตอยู่แล้ว แต่ที่ยังไม่เริ่มสร้างเมืองใหม่เพื่อกระจายความเจริญ ก็เท่ากับได้เสียเปรียบมาเลเซียที่ลงมือไปก่อนแล้ว เพราะคนที่ไปเร็วกว่าย่อมได้เปรียบ

"หากในอนาคตไทยจะมีเมืองใหม่ที่ใหญ่กว่าปุตราจายา ผมก็ไม่คิดว่าเราจะเป็นคู่แข่งกัน เพราะคนในเอเซีย โดยเฉพาะในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ควรที่จะเกื้อกูลกัน และหากทุกประเทศเจริญเหมือนกันก็เป็นเรื่องดี"

สื่อมวลชนรายหนึ่งที่คลุกคลีอยู่กับข่าวสารให้ความเห็นเกี่ยวกับปุตราจายาว่า จะเป็นการพัฒนาที่ดินที่ยิ่งใหญ่มากโครงการหนึ่ง โดยการดำเนินการก่อสร้างจะต้องขายที่ดินเดิมของรัฐในกัวลาลัมเปอร์เพื่อนำเงินไปก่อสร้างที่ใหม่ เป็นการใช้ทดแทนกันถือเป็นการดำเนินงานในสไตล์เอกชนที่ดีของรัฐ

"การย้ายหน่วยงานรัฐไปรวมกัน จะทำให้คุณภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมีคุณภาพขึ้นจะไม่เหมือนเดิม ที่จะมาอ้างว่ารถติดคงไม่ได้ ที่ปุตราจายานั้นที่ทำงานกับบ้านอยู่ใกล้กันไม่ต้องเดินทางเหมือนนักเรียนประจำ แต่รัฐต้องระวัง รัฐควรจัดที่สำหรับบริการประชาชนไว้ในเมือง ไม่อย่างนั้นถ้าจะทำอะไร ๆ อย่างจดทะเบียนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ประชาชนก็ต้องเดินทางไปทำถึงปุตราจายา"

สำหรับกัวลาลัมเปอร์ สื่อมวลชนรายนี้คาดว่าเมื่อเฟส 1 ของปุตราจายาแล้วเสร็จ กัวลาลัมเปอร์ก็จะมีรถไฟฟ้าใช้แล้ว จำนวนรถเข้าเมืองในกัวลาลัมเปอร์ก็จะน้อยลง แต่ก็จะยังมีรถเข้ามาที่จอดรถก็จะแพงมากสำหรับคนนำรถเข้ามา อะไร ๆ จะแพงขึ้นคนก็จะไม่อยากมากัวลาลัมเปอร์

ปัญหาที่กลัวว่าจะเกิดก็ที่ปุตราจายาคือ เรื่องที่ดิน เพราะที่ดินเป็นของรัฐเซลังงอร์ แม้จะมีการเซ็นสัญญากันแล้วให้รัฐบาลกลางมาสร้างเมือง แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันอย่างไร

ที่สำคัญผลกระทบต่อธุรกิจปาล์ม การเปลี่ยนสภาพพื้นที่จากสวนปาล์มมาเป็นเมือง เดิมที่นี่เป็นแหล่งผลิตปาล์มเพื่อส่งออกและทำเงินให้กับรัฐเซลังงอร์เป็นจำนวนมาก รายได้ส่วนนี้ก็คงจะหายไป ซึ่งต้องมีสิ่งใหม่มาชดเชย

นอกจากนั้นประชาชนที่เคยทำกินในแถบนี้จะไปทำอะไร ถ้าที่ดินเป็นของบริษัทเอกชนก็คงไม่มีปัญหา

เซลังงอร์พลิกแผ่นดิน "พร้อมรับอนาคต"

รัฐเซลังงอร์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ถือได้ว่าได้ประโยชน์สูงสุดจากการสร้างเมืองปุตราจายา

เซลังงอร์มีพื้นที่จำนวน 11,000 เฮกเตอร์ (68,750 ไร่) บริเวณรอบนอกที่หุ้มล้อมพื้นที่ปุตราจายาปัจจุบันมีสภาพเป็นหมู่บ้านที่ดินส่วนตัวของเอกชน เป็นพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาบริเวณรอบนอกเมืองทั้ง 4 ทิศ

ในส่วนนี้ รัฐเซลังงอร์ ก็ไม่รอช้าที่จะปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป นอกจากบางพื้นที่ของรัฐเซลังงอร์ที่อยู่ใกล้ปุตราจายา ได้แก่ เซปัง กัวลาลังกัท ฮูลูลังกัท และบางส่วนของปัตลิง พื้นที่รัฐเซลังงอร์จะได้รับผลพลอยได้โดยตรงแล้ว รัฐเซลังงอร์ยังได้มีแผนพัฒนาระยะยาวสำหรับเขตทั้ง 6 เขตรัฐให้เป็นเขตการเติบโตใหม่ไว้ด้วย ดังนี้

เขตซาบักเบอร์นัม ทางทิศเหนือของรัฐ ถูกกำหนดให้เป็นเขตท่องเที่ยวและการเกษตร ถัดลงมาเขตกัวลาเซลังงอร์เหมือนซาบักฯ แต่ให้เพิ่มสถาบันวิจัย ถัดไปทางตะวันออกเขตฮูลูเซลังงอร์ให้เป็นเขตท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมขนาดเล็ก-กลาง รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์

เขตกอมบัก อยู่เหนือกัวลาลัมเปอร์ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง เขตฮูลูลังกัททางทิศตะวันออกของกัวลาลัมเปอร์ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมไฮเทค การท่องเที่ยวและเกษตร

ฝั่งตะวันตกเขตปัตลิงต่อกับแกรง ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมต่อเรือและอุตสาหกรรมทางน้ำถัดลงไป เขตกัวลาลังกัทให้เป็นอุตสาหกรรมหนักสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือ และทางทิศใต้ของกัวลาลัมเปอร์ เขตเซปังซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินแห่งใหม่ที่กำหนดสร้างเสร็จและเปิดใช้ในปี 2541 ให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบิน

จากแผนพัฒนาดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเกิดเมืองที่เรียกว่า MEGACITIES เชื่อมเฉพาะจากสนามบินเซปังไปกัวลาลัมเปอร์ในรูประเบียงตามที่รัฐตั้งไว้เท่านั้น

บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐเซลังงอร์ก็ได้รับผลประโยชน์อย่างมากแล้วนั้น ยังคาดการณ์กัน ว่าจะเกิดแนวทางพัฒนาที่ดินรูปแบบใหม่อีกมาก และเมื่อเซลังงอร์เติบโตถึงขีดสุด ปัญหาที่ดินก็จะต้องตามมาเช่นเมืองใหญ่อื่น ๆ

แต่เซลังงอร์วันนี้ จากการที่ "ผู้จัดการ" ได้ไปเที่ยวชม เรียกได้ว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นระเบียบ มีท่าเรือแกรง (KLANG) ท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งของมาเลเซีย อุตสาหกรรมสำคัญ ๆ หลายอย่างของมาเลเซียก็อยู่ที่เซลังงอร์ อาทิโรงประกอบรถยนต์โปรตอน รถแห่งชาติของมาเลเซียศูนย์วิจัยและแหล่งผลิตยางอันดับหนึ่งของประเทศ

อย่างนี้แล้วเซลังงอร์คงไม่จำเป็นต้องรอถึงปี 2000 ตามที่ นายกรัฐมนตรีเซลังงอร์ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้เซลังงอร์ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศกว่า 50% เพราะขณะนี้เซลังงอร์ก็มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมสูงกว่ารัฐอื่น ๆ อยู่แล้ว

ตัวเลขรายได้จากผลผลิตของรัฐในปี 2533 (ค.ศ. 1990) มาจากภาคอุตสาหกรรม 53.6% ที่เหลือเป็นผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมและอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลเซลังงอร์มีการคาดการณ์ว่าในปี 2543 (ค.ศ. 2000) ผลผลิตของเซลังงอร์จะมาจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น 63% จากเกษตรกรรมไม่เกิน 5% และจากภาคอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มในส่วนธุรกิจการบริการประมาณ 40%

ทั้งยังมีเงินลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมและต่างประเทศเป็นจำนวนนับหลายสิบหลายริงกิตต่อปี ทำให้เรานึกภาพในอนาคตของเซลังงอร์ระหว่างที่ปุตราจายาอยู่ระหว่างการก่อสร้างและแล้วเสร็จได้ไม่ยากว่าพื้นที่ว่าง แนวป่าที่เราเห็นในวันนี้จะค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง

แล้วเมื่อนั้นมาเลเซียอาจจะมีเมืองใหม่เป็นแห่งที่สาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.