"สมชาย ทรงศักดิ์เดชา วิศวกรผู้สร้าง "แอร์โรว์" มา 20 ปี"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมจบวิศวะ แต่มาอยู่โรงงานทำเสื้อเพื่อนผมหัวเราะกันใหญ่ เพราะตอนนั้นไม่มีใครเห็นคุณค่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แตกต่างกับตอนนี้ที่มูลค่าการส่งออกปีละเป็นแสนล้านบาท" สมชาย ทรงศักดิ์เดชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด(มหาชน) เจ้าของลิขสิทธิ์ผู้ผลิตเสื้อเชิ๊ตแอร์โรว์ในประเทศไทยเล่าเหตุการณ์เมื่อสมัย 20 ปีก่อนที่เขาถูกมอบหมายให้มารับผิดชอบจัดตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งแรกของธนูลักษณ์ให้ฟัง

ช่วงก่อนที่ธนูลักษณ์จะได้ลิขสิทธิ์แอร์โรว์มาผลิตเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2518 นั้น ในประเทศไทยมีการนำเสื้อเชิ๊ตสำเร็จรูปสำหรับผู้ชายมาจำหน่ายเพียง 2-3 ยี่ห้อ นอกจากแอร์โรว์ ก็มีแมนฮัตตันและเอสไควร์ โดยขณะนั้นบริษัท บางกอก โกเซอรี่เป็นผู้นำเข้าแอร์โรว์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา และอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ (ไอซีซี) ก็รับเสื้อจากบางกอก โกเซอรี่มาจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง

สมชายเล่าว่า ปริมาณยอดขายของแอร์โรว์ในช่วงนั้นมีจำนวนไม่มากนัก เพราะคนไทยยังไม่นิยมใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเรียกกันอย่างดูถูกนิด ๆ ว่า "เสื้อโหล" อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้เสื้อเชิ๊ตที่นำเข้ายังมีขนาดไม่เหมาะกับรูปร่างคนไทยที่ตัวเล็กกว่าคนอเมริกันแป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับราคาจำหน่ายที่สูงถึงตัวละ 500 กว่าบาท เพราะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าประมาณ 80-100%

อย่างไรก็ดีแม้ว่าเชิ๊ตแอร์โรว์ที่ขายอยู่จะยังไม่ได้รับความนิยม แต่บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา บอสใหญ่ของไอซีซีก็มองเห็นการณ์ไกลว่า อนาคตตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยน่าจะไปได้ดีเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งช่วงนั้นไอซีซีมีบริษัทในเครือที่ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว

แนวคิดดังกล่าวทำให้บุณยสิทธิ์ตัดสินใจติดต่อขอลิขสิทธิ์การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อเชิ๊ตแอร์โรว์ แต่ผู้เดียวในประเทศไทยจากบริษัท CLUETT PEABODY เจ้าของลิขสิทธิ์แอร์โรว์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแอร์โรว์ก็ไม่ขัดข้องหลังจากที่เดินทางมาดูโรงงานตัดเสื้อและเครือข่ายการขายที่ไอซีซีมีอยู่

เมื่อแอร์โรว์ตกลงให้สิทธิ์การผลิต บุณยสิทธิ์ก็มอบหมายให้สมชาย ซึ่งเป็นวิศวกรที่รับผิดชอบเรื่องการเพิ่มผลผลิตให้กับโรงงานผงซักฟอกของสหพัฒนพิบูลมาตั้งแต่ปี 2516 เป็นโปรเจกต์ แมเนเจอร์ในการตั้งโรงงานผลิตเสื้อเชิ๊ตแอร์โรว์ให้ไอซีซีเป็นผู้จัดจำหน่าย

สมชาย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ และปริญญาโทด้านวิศวกรรมอุตสาหการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบเขาก็ยังได้ไปฝึกและดูงานในโรงงานมากมายหลายแห่งทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น และยุโรป จนมีความเชี่ยวชาญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมาก ตรงกันข้ามกับเรื่องสิ่งทอที่เขาไม่มีความรู้เลย แต่เมื่อได้รับมอบหมายจากเจ้านายก็ยอมมาแต่โดยดี

นี่นับเป็นการมองการณ์ไกลของบุณยสิทธิ์ครั้งที่สอง เพราะการที่แอร์โรว์ และธนูลักษณ์มีโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปีในฐานะผู้นำตลาดเสื้อผ้าชายในวันนี้ เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าเขาใช้คนไม่ผิด

สมชายถูกส่งไปฝึกการตัดเย็บเสื้อกับแอร์โรว์สหรัฐอเมริกาอยู่ 2 เดือน ก่อนที่จะกลับมาตั้งโรงงานแห่งแรกของธนูลักษณ์ โดยเขาต้องทำทุกอย่างเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเด็กให้เย็บเสื้อ การหาผ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เพราะสิ่งทอในประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีการพัฒนาเลย

"นอกจากผมจะไม่รู้เรื่องสิ่งทอแล้ว ผมยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนจีน คนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้าที่ผมไปติดต่อด้วยอีก เขาพูดภาษาไทยก็จริงแต่ผมฟังไม่รู้เรื่อง ต้องหาคนมาช่วยแปลกันวุ่นวาย" สมชายเล่าเรื่องที่ตลกไม่ออกในอดีตให้ฟังด้วยเสียงหัวเราะ

สมชายเล่าว่า เสื้อเชิ๊ตแอร์โรว์รุ่นแรก ๆ ที่ผลิตขึ้นมามีปัญหา คือเสื้อขึ้นขนเพราะต้องตัดเย็บจากผ้าใยสังเคราะห์ผสมคอตตอน เนื่องจากไม่มีผ้าคอตตอนแท้ที่มีคุณภาพให้เลือกใช้ เขาต้องเข้าไปช่วยโรงทอพัฒนาคุณภาพผ้า โดยลงไปศึกษาเรื่องโครงสร้างของผ้าอย่างลึกซึ้ง จึงแก้ปัญหาได้ และทำให้ผ้าคอตตอนถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ จนมีให้เลือกใช้หลายเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ 30 เบอร์ 40% เบอร์ 50 เบอร์ 80 เบอร์ 100 หรือล่าสุดแอร์โรว์ได้แนะนำเสื้อเชิ้ต "Wrinkle Free" รีดง่ายแต่ยับยากออกมาให้ลูกค้าที่มีเวลาไม่มากนักในการรีดผ้าได้ใช้ อันเป็นพัฒนาการล่าสุดของแอร์โรว์

สมชายกล่าวถึงความสำเร็จของแอร์โรว์ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดแฟชั่นเสื้อผู้ชายสูงถึง 35% ว่า มาจากหลักการ 3 ข้อ เริ่มจากการมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ (Value Added) และจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นผู้นำแฟชั่นตลอดเวลา การยึดหลัก Product Development ด้วยการวิจัย ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตและการศึกษาความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธนูลักษณ์มีโอกาสในการขยายตัวตลอดเวลา 20 ปีที่ดำเนินงานมา กล่าวคือ

ปี 2520 ขยายไปผลิตกางเกง เสื้อยืด ชุดนอนแอร์โรว์ และเริ่มทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทสู่ต่างประเทศ ทั้งยุโรปและเอเชีย

ปี 2523 แยกแผนกกางเกง เสื้อยืด ออกไปตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ ประชาอาภรณ์

ปี 2526 เริ่มผลิตเครื่องหนัง กระเป๋า เข็มขัด และใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลข้อมูล

ปี 2527-2528 ได้จัดตั้งโรงงานหลังใหม่ และได้รับลิขสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ GUY LAROCHE จากฝรั่งเศส

สำหรับปี 2528-2538 ซึ่งเป็นช่วงก้าวสู่ทศวรรษที่สองนั้น ธนูลักษณ์ได้ขยายฐานการผลิตจากเครื่องแต่งกายชาย ไปสู่การผลิตเสื้อผ้าสำหรับเด็กและเสื้อผ้าสตรี รวมทั้งได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2530 ด้วย

ปัจจุบันบริษัทธนูลักษณ์ มีทั้งสิ้น 5 สาขา คือ หนึ่ง-สำนักงานใหญ่ส่วนกลางอยู่ที่ถนนช่องนนทรี ซึ่งดำเนินการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษและเครื่องหนังแอร์โรว์ กี ลาโรช, ZAZCH, เก็ตอะเวย์ เครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพสตรีลา ฟาม, มิกซ์ เซลฟ์, เสื้อผ้าเด็กแอบซอร์บา, a และ Z สอง-ธนูลักษณ์ ณ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารงานของบริษัทในกลุ่มธนูลักษณ์กรุ๊ป สาม-ธนูลักษณ์ ณ สวนอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องหนัง สี่-ธนูลักษณ์ ณ สวนอุตสาหรรม กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นแหล่งผลิตเสื้อเชิ๊ต ห้า-บริษัท ธนูลักษณ์ ณ ซอยพัฒนาการ ดำเนินงานด้านการผลิตเสื้อผ้าสตรี

โดยสัดส่วนการผลิตของธนูลักษณ์ประกอบไปด้วย เครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษ 56% ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 25% เสื้อผ้าเด็ก 7% เสื้อผ้าสตรี 12% ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ 75% อีก 25% ที่เหลือส่งออกไปในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 50% ของการส่งออก

นอกจากนี้ธนูลักษณ์ยังเข้าไปบุกตลาดใน 2 ประเทศ คือ จีนและอินโดนีเซีย โดยจีนนั้นจะใช้แอร์โรว์เข้าไปบุกเบิก ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นใช้กีลาโรซเป็นหัวหอก

ในปี 2537 ที่ผ่านมา ธนูลักษณ์มียอดขายรวม 1,109 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 11% ในปี 2538 ซึ่งในครึ่งปีแรกสามารถทำไปได้แล้ว 620 ล้านบาท

สมชายกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญที่ธนูลักษณ์ต้องพัฒนาต่อไปคือ พัฒนาโรงงานให้ทันสมัยกว่าที่เป็นอยู่ โดยต้องการพัฒนาให้เทียบเท่ากับโรงงานในสหรัฐฯ ด้วยการสั่งซื้อเครื่องจักรที่เรียกว่า "Movable Hanger System" ซึ่งไม่ต้องใช้แรงงานคนในการเย็บเสื้อเข้ามาใช้จำนวน 6 ตัว

"แม้ว่าเครื่องจักรนี้จะมีราคาแพงกว่าจักรเย็บผ้าถึง 6 เท่า แต่เราต้องยอม เพราะตระหนักดีว่าการแข่งขันในตลาดนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เพื่อความรวดเร็วและลดต้นทุนในการผลิต" คำกล่าวทิ้งท้ายของสมชายยังสะท้อนให้เห็นว่าความรู้เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานยังมีอิทธิพลกับเขาอยู่เต็มร้อย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.