เอ็กโกมั่นใจชนะประมูลไอพีพีจับมือมิตซูบิชิผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เอ็กโกมั่นใจชนะประมูลไอพีพีจับมือมิตซูบิชิผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ

เอ็กโกมั่นใจจุดแข็งมิตซูบิชิ พันธมิตรธุรกิจใหม่ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าทันสมัย -ไร้มลพิษ เสริมศักยภาพให้เอ็กโกแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย เพื่อปิดจุดอ่อนก๊าซธรรมชาติหมดใน 10 ปีข้างหน้า ระบุมุ่งลงทุนในประเทศมากกว่าต่างประเทศเพราะความเสี่ยงต่ำ ขณะเดียวกันหวังสร้างโรงไฟ้ฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่ม 2 โรง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประมูลไอพีพี เม.ย.50 มั่นใจคว้าประมูลงานได้ 30%

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นด้วยการดึงกลุ่มมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นและผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมหลากหลาย ได้เข้าร่วมถือหุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก สัดส่วนร้อยละ 11.2 จากการขายหุ้นออก 50% ของกลุ่ม CLR ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ฮ่องกง ซึ่งได้ทำให้เกิดคำถามมากมายกับเอ็กโกว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นครั้งนี้จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้เอ็กโกได้อย่างไรในเมื่อต้องยอมให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง CLR ขายหุ้นในส่วนของตัวเองออกไปมากถึง 50% และเอ็กโกมีความมั่นคงแค่ไหน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า อีกไม่เกิน 10 ปีวัตถุดิบหลักของการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยจะถึงจุดวิกฤต และคนไทยอาจไม่มีไฟฟ้าใช้!

เอ็กโกมั่นใจจับมือมิตซูบิชิได้เปรียบ

วิศิษฎ์ อัครวิเนค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กล่าวว่าช่วงแรกบริษัทมีความกังวลอยู่เหมือนกันว่า CLP POWER PROJECTS (THAILAND)LIMITED จะขายหุ้นให้กับบริษัทใด แต่เมื่อทราบว่าเป็นกลุ่มบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และจากการพิจารณาจากข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ก็ได้ข้อสรุปว่า "กลุ่มบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น"จะเข้ามาเสริมศักยภาพให้เอ็กโกได้ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าที่มีความต้องการสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเกือบทั้งหมดใช้ก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิตไฟฟ้ามากถึง 70% และจากการสำรวจพบว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ก๊าซธรรมชาติในเมืองไทยจะหมดไป และนั่นแสดงให้เห็นว่าไทยไม่มีความมั่นคงในระบบ ถ้าไม่เตรียมหาวัตถุดิบอื่นมารองรับ การผลิตไฟฟ้าของไทยก็จะถึงขั้นหยุดชะงัก และถือว่าเป็นปัญหาที่วิกฤตรุนแรงที่สุด ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่องค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานจำเป็นจะต้องเร่งพิจารณาแนวทางการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ เอฟทีที่สูงขึ้น

ชูถ่านหินพลังงานทางเลือก-ลดค่าไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี พลังงานที่เอ็กโกอยากลงทุนมากที่สุดเวลานี้คือ ถ่านหิน เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำ และจะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนถูกลง อีกทั้งมีปริมาณสำรองจำนวนมาก จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย

โดยถ่านหินมีความมั่นคงทั้งราคาและปริมาณหากเทียบกับก๊าซธรรมชาติและน้ำมันโดยถ่านหินคุณภาพดีจะยังสามารถใช้ได้นานไปถึง 164 ปี มีสำรองที่จะนำมาใช้ได้สูงถึง 9,000 ล้านตัน ราคาปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% จึงทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ได้หันไปพึ่งพิงถ่านหินผลิตไฟมากขึ้นเช่น ประเทศญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะผลิตไฟฟ้าในปี 2557 หรืออีก 5-6 ปีข้างหน้าจะใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนถึง 20% แอลเอ็นจี 22% น้ำมัน 6% และนิวเคลียร์ 41% ที่เหลือจะเป็นพลังงานจากเขื่อนและพลังงานใต้พิภพ

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าตั้งแต่ในอดีตมา โรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยถูกต่อต้านมาตลอด เพราะสร้างมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหามลภาวะเป็นพิษอย่างรุนแรงในอดีตทำให้ภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองไทยมีสภาพเหมือนเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด

เชื่อใช้เทคโนโลยีสะอาด-ไม่ซ้ำรอยแม่เมาะ

แต่การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่เอ็กโกได้ร่วมหุ้นกับกลุ่มมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและมีนโยบายหลักของบริษัทที่จะเน้นใช้เทคโนโลยีสะอาด ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านั้นมาใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนั้นจะไม่มีปัญหาเนื่องเพราะทางเอ็กโกได้ไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่น ก็พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่นได้รับการยอมรับมากจากประชาชนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญและมีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยพิสูจน์แล้วว่าสารพิษที่ออกมาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้ามีน้อยมาก และโรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่นยังตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติของญี่ปุ่น (อ่านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาอิซุรุ)

"เราไปศึกษามาก่อนจึงมั่นใจว่า การตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินในไทยโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของกลุ่มมิตซูบิชิ จะเป็นผลดีกับไทย และจะไม่สร้างปัญหามลภาวะเป็นพิษ"

วิศิษฎ์ อัครวิเนค ย้ำว่าประเทศไทยอาจจะโชคไม่ดีที่อดีตมีปัญหาในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่แม่เมาะ แต่เพราะในอดีตเทคโนโลยียังไม่มีการพัฒนาและถ่านหินก็มีคุณภาพไม่ดีนักขณะเดียวกันไม่มีใครคิดมากก่อนว่าอากาศจะปิดแล้วทำให้เกิดฝนกรดขึ้นแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยมากอย่างญี่ปุ่นซึ่งได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ออกจากปล่องผลิตไฟจากถ่านหินได้ค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐกำหนดเสียอีก

มั่นใจประมูลไอพีพีได้ 30%

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ต้องรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องดีที่กระทรวงพลังงานประกาศมาแล้วว่าจะสนับสนุนโรงงานถ่านหินในประเทศไทยในการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ พีดีพีใหม่ และระบุการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไทยในการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระรายใหญ่หรือไอพีพีที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ แต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน

ดังนั้น เอ็กโกจึงรอความชัดเจนในส่วนนี้ เพราะถือการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย ในที่สุดจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากทั้งในแง่วัตถุดิบจำนวนมาก และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง และเอ็กโกได้เตรียมพร้อมที่จะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระรายใหญ่หรือไอพีพีที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน2550 นี้ ซึ่งมีความมั่นใจว่าจากศักยภาพด้านการผลิตและด้านการเงินของเอ็กโกจะทำให้เอ็กโกได้งานครั้งนี้ประมาณ 30%

ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เอ็กโกได้เตรียมที่ดินที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเอาไว้ 3 ที่ คือ โรงไฟฟ้าระยอง โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะสามารถประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติได้ 2 โรง

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้ามีความชัดเจนจากกระทรวงพลังงาน เอ็กโกก็พร้อมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการหาพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเตรียมพร้อมรองรับนโยบายรัฐบาล ซึ่งเอ็กโกกำลังศึกษาพื้นที่ต่าง ๆ 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อหาที่เหมาะสม และทำประชาพิจารณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน โดยพื้นที่ที่เหมาะสมน่าจะเป็นพื้นที่ติดทะเลที่สุด เพราะจะสามารถควบคุมอันตรายจากถ่านหินที่สามารถจุดไฟได้เองตั้งแต่กระบวนการขนส่ง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในขั้นตอนใด ๆ ทั้งสิ้นในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง เพราะต้องซื้อถ่านหินคุณภาพดีจากจีน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

"เอ็กโกคาดว่าจะสร้างได้ยูนิตละ 700 เมกกะวัตต์ ถ้าพื้นที่ที่ได้มีมาก จะสามารถสร้างได้ 2 ยูนิต ยูนิตแรกจะใช้เวลาสร้างประมาณ 4 ปี ส่วนยูนิตที่ 2 จะใช้เวลาน้อยกว่า และคาดว่าเงินลงทุนในส่วนนี้จะประมาณมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาต่อ 1 เมกกะวัตต์"

เปิด 2 โครงการใหม่ "ฟิลิปินส์-เวียดนาม"

วิศิษฐ์ กล่าวว่าเอ็กโกยังยืนยันที่จะลงทุนในไทยมากกว่าจะไปต่างประเทศ เพราะว่าจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่า ตามแผน 5 ปี (2006-2010) เอ็กโกจึงวางเป้าไว้ว่าจะลงทุนในไทย 70% และลงทุนต่างประเทศ 30% โดยในส่วนของการลงทุนต่างประเทศ ขณะนี้มีสัดส่วนแค่ 13-14% คือลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว (น้ำเทิน1,2) แต่เอ็กโกก็มีโครงการที่จะลงทุนอีก 2 ประเทศ ได้แก่ฟิลิปินส์ และเวียดนาม

ในส่วนของฟิลิปปินส์นั้น บริษัทCLP ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของเอ็กโก กำลังไปยื่นซองด้านคุณสมบัติผู้เข้าประกวดราคากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะมีการขายโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3-4 โรง และ CLP ได้มาชวนเอ็กโกในการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เอ็กโกต้องการที่จะประมูลไอพีพีในไทยให้ได้ก่อน และหากประมูลไม่ได้หรือได้น้อยกว่าเป้าหมาย จึงค่อยลงทุนร่วมกับ CLPในฟิลิปปินส์

"ส่วนนี้ไม่เป็นปัญหา CLP ได้มาเท่าไร ค่อยมาขอแบ่งกันตอนหลังตอนนี้อยากประมูลไอพีพีให้ได้ก่อน"

ส่วนเวียดนาม ได้มีนักลงทุนมาชวน 2 แห่ง ได้แก่จีน และเชฟรอน ซึ่งในส่วนของจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง เพราะยังไม่ได้คุยรายละเอียด แต่กับเชฟรอน เป็นพันธมิตรในการถือหุ้นอมตะด้วยกัน ดูจะเป็นไปได้มากที่จะมีการลงทุนร่วมกัน โดยเชฟรอนได้รับสัมปทานน้ำมันในเวียดนาม อยากได้เอ็กโกไปประมูลโรงไฟฟ้า และเชพรอนจะเป็นคนส่งวัตถุดิบให้ ซึ่งจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไร ให้เอ็กโกดูตามความเหมาะสม

"เราจะขอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนต้องใช้จำนวนมากแค่ไหน ถ้ามากอาจจะชวนพันธมิตรโรงไฟฟ้าใหญ่ ๆ ไปร่วมทุน แต่ถ้าไม่มาก เอ็กโกก็น่าจะลงทุนได้เอง"

ปัจจุบันเอ็กโก มีกำลังผลิตติดตั้ง ตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 2,405 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และเล็กรวมทั้งสิ้น 11 โรง และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการแก่งคอย 2 โครงการน้ำเทิน 2 โครงการกัลฟ์ยะลอ กรีน และโครงการขยายกำลังการผลิตที่อมตะพาวเวอร์ บางปะกง มีกำลังผลิตรวม 1,021 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังได้ทำสัญญาซื้อขายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี (BLCP) กำลังการผลิต 1,434 เมกะวัตต์ ซึ่งการโอนโรงไฟฟ้าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า

โดยเอ็กโกตั้งเป้าว่าบริษัทจะมีการเติบโตปีละ 10% หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มเฉลี่ยปีละ 300 เมกกะวัตต์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.