ธอส.ห่วง'ซิตี้คอนโด'ปั๊มฟองสบู่ "ขรรค์"งัดตัวเลขยอดอนุมัติพุ่ง1พันอาคาร


ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้คอนโดฯโตพุ่งพรวด ระบุตัวเลขการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยอาคารสูง เพียงแค่ไตรมาส 2 ทะลุ 1,045 อาคาร โต 129% กว่า 5.2 ล้านตร.ม. เตือนผู้บริโภคระวังซื้อ-ขายกระดาษ หวั่นภาวะฟองสระบู่ แนะให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการเชื่อถือได้หรือไม่ ยันปี 2550 วางเป้าปล่อยกู้ 90,000 ล้านบาท

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2550 ว่า จะยังมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับลดลงในครึ่งปีหลัง อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่การเมืองหลังมีการร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะราบรื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนค่อนข้างเป็นห่วงในส่วนของโครงการซิตี้คอนโดมิเนียม ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างมาก พิจารณาได้จากตัวเลขขออนุญาตก่อสร้างพบว่า ในไตรมาส 1 ผู้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงจำนวน 457 อาคาร จำนวนพื้นที่ก่อสร้างรวม 2,405,960 ตรม. ไตรมาส 2 ตัวเลขขออนุญาตก่อสร้างปรับสูงขึ้นอย่างมาก โดยมีจำนวน 1,045 อาคาร เพิ่มขึ้น 129% จำนวนพื้นที่อาคารรวม 5,212,893 ตรม.เพิ่มขึ้น 117%

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าว อาจจะส่งผลให้เกิดการซื้อขายกระดาษหรือเกร็งกำไรขึ้น จนเกิดภาวะฟองสระบู่ได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการว่าเป็นมืออาชีพที่เชื่อถือได้หรือไม่ ขณะที่ราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบริเวณถนนรัชดาภิเษก ปรับขึ้นทะลุถึง 60,000 บาท/ตรม.แล้ว

“เชื่อว่าฟองสระบู่แตกคงไม่เกิดอีก เพราะตอนนี้แบงก์มีเครดิตบูรโรสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้กู้ได้ว่า มีหนี้อยู่ที่ไหนบ้างกู้เงินซื้อบ้านอยู่รึเปล่า ต่างจากเมื่อก่อนที่ตรวจสอบไม่ได้” นายขรรค์กล่าวถึงความแตกต่างของปัญหาที่ผ่านมา

แต่ตนก็ยอมรับว่า ในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) อย่างถนนสุขุมวิทและถนนสาทร คอนโดมิเนียมที่ถูกสร้างส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวต่างชาติที่มองว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยถูกกว่าหลายประเทศ อย่างสิงคโปร์, ฮ่องกง หรือเซี่ยงไฮ้ของจีน ทำให้มีนักลงทุนจากต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนโดยการขยายระยะเวลาเช่าออกไปจาก 30 ปี เป็น 99 ปี หรือให้ซื้อขายสัญญาเช่าได้ ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดชาวต่างชาติขึ้นมาอีก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการซื้อขายผ่านนอมินี ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์

“ อย่างไรเสียต่างชาติก็มีวิธีการที่จะเข้ามา ไม่ว่า การใช้นอมินีเข้าถือแทน ถ้าขยายเวลาเช่าออกไปจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ ถึงกระนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือ การที่ต่างชาติจะนำที่ดินที่มีสัญญาเช่าระยะยาวไปพัฒนา เพื่อหากำไรคนไทยอีกทอดหนึ่ง ”นายขรรค์กล่าว

สำหรับนโยบายของธอส.กรรมการผู้จัดการกล่าวว่า ยังคงมีนโยบายที่จะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยวงเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท และเดินหน้าโครงการบ้าน ธอส.-กบข. , ธอส.-การเคหะฯ และโครงการบ้านมั่นคง ที่รัฐบาลอนุมัติงบก่อสร้าง 2,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนให้นำสัญญาเช่ามาค้ำประกันเงินกู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าที่ดินของรัฐหรือที่ธรณีสงฆ์

เชื่อมออนไลน์อปท.เพิ่มอีก 7 จังหวัด

ด้านนายสัมมา คีตสิน รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 2 ปี สามารถจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ผ่านเว็บไซท์ www.reic.or.th และในปีนี้ได้จัดทำวารสารศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สามารถขยายขอบเขตพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลจากกทม.-ปริมณฑล เป็น 30 จังหวัดในปี 2548 และปัจจุบันข้อมูลส่วนใหญ่สามารถจัดเก็บครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว อาทิ สถิติการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย และการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 6 ประเภท ได้แก่ ที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ, ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง, อาคารสำนักงาน, อาคารเพื่อการพาณิชย์ ,โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับข้อมูลที่ไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล แต่เป็นข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลยอดขายที่อยู่อาศัย การเริ่มก่อสร้างที่อยู่อาศัย (Housing Starts) ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลชี้วัดด้านอุปทานและอุปสงค์ที่ขาดไป ศูนย์ข้อมูลฯ ใช้วิธีการการสำรวจภาคสนาม โดยในปี 2549 ทำการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัย 3 ประเภท ได้แก่ บ้านจัดสรร ,อาคารชุดพักอาศัย และ อพาร์ตเมนต์-หอพักให้เช่า ใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ - ปริมณฑล และ 11 จังหวัดในภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, พระนครศรีอยุธยา, นครราชสีมา, ขอนแก่น, ชลบุรี, ระยอง, ภูเก็ต และสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูล และจะจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลการสำรวจภาคสนามดังกล่าวในปี 2550

" ผลการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลฯในปี 2549 นอกจากจะเป็นไปตามเป้าหมาย และยังมี 2 โครงการใหม่ที่เริ่มดำเนินการในปีที่ผ่านมา และจะขยายผลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในปี 2550 โครงการแรก โครงการเชื่อมโยงระบบการจัดเก็บใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ได้ดำเนินการติดตั้งโปรแกรมและจัดอบรมวิธีการใช้โปรแกรมออน ไลน์ให้แก่อปท. ในจังหวัดปริมณฑล 5 แห่ง และ 11 จังหวัดในภูมิภาคแล้ว "

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ มีแผนจะขยายการติดตั้งโปรแกรม และจัดอบรมวิธีการใช้โปรแกรมให้กับ อปท.เพิ่มอีก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ทั้งนี้เพื่อลดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลการออกใบอนุญาตก่อสร้างจากแหล่งข้อมูลที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งในปี 2549 ศูนย์ข้อมูลฯ ติดตั้งโปรแกรมให้กับ อปท. ไปแล้ว 1,769 แห่ง ปัจจุบันมีการส่งข้อมูลใบอนุญาตก่อสร้างอาคารผ่านระบบออนไลน์ กลับมาที่ศูนย์ข้อมูลจำนวน 8,852ใบอนุญาต

สำหรับผลงานการให้บริการข้อมูลของศูนย์ข้อมูลฯ ในปี 2549 มีผู้ใช้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.reic.or.th และสมัครเป็นสมาชิกแล้วจำนวน 2,900 ราย แบ่งเป็น สมาชิกประเภทบุคคลทั่วไป 2,798 ราย และสมาชิกประเภทนิติบุคคล 102 ราย โดยสมาชิกประเภทบุคคลทั่วไปที่ใช้บริการข้อมูลสูงสุดแยกตามอาชีพ 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. อาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษา 2. สถาบันการเงิน และ 3. บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปี 2550 ศูนย์ข้อมูลฯ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิกผู้ใช้บริการข้อมูลอีก 50%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.