เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจรแล้ว ที่พูดกันหนาหูในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้น
"จีไอเอส" -GIS (Geographic Information System) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประยุกต์มาจากการจัดการข้อมูลทางภูมิศาสตร์หรือแผนที่
โดยอาศัยการหาข้อมูลจากการภาพถ่ายทางอากาศ หรือทางดาวเทียม อันเป็นวิธีการวิเคราะห์ทรัพยากรด้านเกษตร
และอุตสาหกรรมแต่ในอดีต โดยการนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจรนั้นได้มีการพัฒนาระบบการทำงานให้เป็นแบบ
Client&Server ซึ่งมีหลักการคือเมื่อรวบรวมข้อมูลของแผนที่หลักและฐานข้อมูลแล้ว
ทั้งหมดจะถูกจัดเก็บไว้ในเครื่อง Server ซึ่งด้วยระบบใหม่นี้ จะมีการปรับข้อมูลให้ถูกต้องตลอดเวลา
และสอดคล้องกันทั้งระบบ
ผศ. ดร. รอยล จิตรดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีไอเอสของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(NECTEC) อรรถาธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า ด้วยระบบจีไอเอสนี้จะสามารถทำงานร่วมกับระบบฐานข้อมูลอื่น
ๆ นอกระบบ รวมถึงระบบจำลองแบบ (Simulation) ได้ด้วย รวมถึงความสามารถที่จะทำงานร่วมกับภาษาคอมพิวเตอร์ทั้งภาษา
C หรือภาษา Fortran ได้ด้วยซึ่งระบบ Client&Server นี้จะดีกว่าระบบเก่า
ที่รวมเทคโนโลยีเดิม ๆ ไว้ทั้งหมด นับตั้งแต่การเขียนแผนที่และข้อมูลบนแผ่นกระจก
ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมที่สุดมาถึงการรายงานข้อมูลฝ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
หรือระบบจีไอเอสแบบใช้เครื่องเดียว (Stand alone) ซึ่งเป็นการสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด
"เนื่อง ด้วยวิกฤตจราจรของไทยทรุดหนักถึงขนาดนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อจะต้องหาเทคโนโลยีในการแก้ไข
ก็จะต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด และแน่นอนว่าจะต้องแพงขึ้นมาบ้าง แต่เท่าที่ได้คำนวณในขณะนี้
คาดว่าในเบื้องต้นจะใช้งบประมาณในส่วนของเครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรประมาณ
40-50 ล้านบาทเท่านั้น"
สำหรับระบบจีไอเอสนี้ เป็นการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจราจรที่ Nectec มีกับสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
(สจร.) ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการติดต่อกับทางกรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม
ที่จะมีการว่าจ้างให้ทางกรมฯ ถ่ายรูปทางอากาศ เพื่อให้เห็นสภาพโดยรอบของกทม.
และเนื่องด้วยสาเหตุที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของชาติ การว่าจ้างให้กรมแผนที่ทหารถ่ายภาพทางอากาศจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งมีผลทำให้เครือข่ายจีไอเอสจำเป็นต้องล่าช้าออกไปบ้าง
เนื่องด้วยยังเป็นก้าวแรกของการนำจีไอเอสเข้ามาใช้กับจราจรเมืองไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ยังไม่สามารถใช้จีไอเอสอย่างเต็มรูปแบบได้
จึงต้องใช้ในรูปของกึ่งอัตโนมัติไปก่อน โดยยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยสั่งการ
ณ พื้นที่ด้วย ผสมผสานไปกับการสั่งจากหน่วยบังคับการที่ส่วนกลาง
ผศ. รอยล ยืนยันว่าด้วยระบบจีไอเอสนี้ จะช่วยลดการติดขัดของจราจรลงไปได้ประมาณ
15-20% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่สิ่งที่จะเป็นผลพวงคืออัตราอุบัติเหตุที่จะลดน้อยอย่างทันตาเห็นไม่น้อยกว่า
40% ในขณะที่อัตราความเร็วของรถจะเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา 10-13 กม./ชั่วโมง
ด้วยเทคโนโลยีจีไอเอสนี้ ถือเป็นการวางรากฐานการบริหารจราจรอย่างเป็นระบบโดยการสร้างฐานข้อมูลให้แน่นหนา
ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบมหภาค (Macro) ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีอื่นที่จะมีตามนั่นก็คือโครงการ
"เอทีซี"-ATC หรือ Area Traffic Control ซึ่งดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร
ซึ่งมีหลักการที่ลึกลงไปรายละเอียดของจีไอเอสอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเข้าไปควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดตามทางแยกต่าง
ๆ ซึ่งในขั้นต้นจะมีอยู่ 144 ทางแยก ซึ่งเมื่อเต็มโครงการนั้นจะมี 372 ทางแยก
โดยได้มีการตั้งงบประมาณต่อเนื่องเพื่อให้เสร็จสิ้นภายในปีหน้าด้วยงบถึง
656 ล้านบาท
ด้วยเอทีซีจะทำให้รากฐานในการวางระบบจีไอเอสที่มีมาก่อนหน้า สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะนอกจากสายตาของตำรวจจราจร การใช้แผ่นใส และการรายงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
แล้วโทรทัศน์วงจรปิด ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างถูกจุดมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเมื่อการสั่งการของศูนย์บัญชาการเร็วขึ้นแล้ว ในระยะต่อไปก็อาจจะมีการเชื่อมโยงระบบนี้
เข้ากับสถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุต่าง ๆ ที่สามารถเผยแพร่สภาพจราจรที่เป็นจริงไปยังผู้ใช้รถใช้ถนน
ในชั่วโมงเร่งด่วนได้อีกด้วย
แต่นั่นก็เป็นความฝันที่ทุกคนหวังไว้ว่าเทคโนโลยีการแก้ไขวิกฤตจราจรทั้งคู่จะเดินไปด้วยกันอย่างดี
แต่มาบัดนี้ เริ่มส่อแววแล้วว่าทั้ง 2 ระบบจะต้องเดินกันไปคนละทาง เนื่องด้วยการขาดการประสานงานระหว่าง
2 กลุ่มทำงานที่น่าจะทำงานให้ต่อเนื่องกัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ คณะการทำงานของทั้ง
2 กลุ่มแม้ว่าจะเคยปรึกษาหาความสอดคล้องในการทำงานร่วมกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด
โดยขณะที่จีไอเอสนั้นจะมีแม่งานใหญ่คือ NECTEC ซึ่งเป็นผู้ศึกษาและวางระบบให้ผู้ปฏิบัตินำไปใช้งานเท่านั้น
ซึ่งกลุ่มทำงานจริงนั้นก็คือ สจร. และกองบังคับการตำรวจนครบาลทั้งเหนือ ใต้
และธนบุรีซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ในความดูแลของ มท.1 ที่ชื่อว่าบรรหาร
ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ในขณะที่เอทีซี แม่งานที่แท้จริงคือ กรุงเทพมหานคร
ซึ่งคณะบริหารของ กทม. ชุดนี้ก็คือคนจากพรรคพลังธรรมซึ่งย่อมประสานงานใกล้ชิดกับ
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รองนายกรัฐมนตรีที่ต้องเข้ามาดูแลปัญหาจราจรอย่างเข้มข้น
ตามสัญญาประชาคม 6 เดือนที่ให้ไว้
แหล่งข่าวใน สจร. เปิดเผยว่า ในขณะนี้แทบจะเรียกได้ว่า ต่างฝ่ายต่างศึกษาในทิศทางของตนเอง
จนกระทั่งในระดับปฏิบัติการของแต่ละฝ่ายจะทราบแต่เพียงเทคโนโลยีในส่วนของตนเท่านั้น
แม้ว่าจะต้องทำงานร่วมกันในอนาคตก็ตาม
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ฝ่าย กทม. มักจะกล่าวหาว่า จีไอเอสนั้นเป็นเพียงโครงการบุกเบิกเพื่อประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึงเนื้อแท้ของการแก้ไขด้วยเอทีซีในอนาคตเท่านั้น
โครงการหลักที่แท้จริงมีแต่เอทีซีที่จะแก้ไขวิกฤตจราจรให้ผ่อนคลายได้"
จากจุดนี้เองทำให้เกิดความพะวงว่าเมื่อระบบเอทีซีจะต้องเริ่มใช้ภายในปลายปีนี้
แม้ว่าโดยเทคโนโลยีของเอทีซีจะแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากการสนับสนุนด้านข้อมูลพื้นฐานจากจีไอเอสเสียแล้ว
ความบาดหมางของจีไอเอสและเอทีซีก็จะกลายเป็นเงื่อนไขตามที่บีบคอทักษิณ
ชินวัตร ให้ได้คิดว่าสัญญาประชาคม 6 เดือนที่ให้ไว้กับประชาชนนั้นน้อยเกินไปเสียแล้ว