"บุญชัย เบญจรงคกุล ไม่ได้ "โทรศัพท์" ยูคอมอาจลำบาก"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงสายของวันที่ 31 วิงหาคม ณ ห้องบอลรูมโรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล กลุ่มยูคอมประกาศว่าจะเป็นวันแถลงผลประกอบการและทิศทางของกลุ่ม แต่ในความเป็นจริง ช่วงเวลาดังกล่าวมีความหมายมากกว่านั้น

โดยเฉพาะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กระทรวงคมนาคมกำลังพิจารณาโครงการโทรศัพท์ 1.9 ล้านเลขหมายและการแก้ไขแผนแม่บทโทรคมนาคม ที่มีประเด็นสำคัญ คือ การขยายโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมาย ที่ทุนสื่อสารทั้งหลาย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรแบ่งออกเป็นระบบโซนนิ่งอ้างว่าเพื่อให้เอกชนรายเล็กรายน้อย ได้เข้าไปมีส่วนบ้างแทนที่จะเป็น 2 รายคือ ทีเอและทีทีแอนด์ที และก็แน่นอนว่า ยูคอมย่อมเป็นหนึ่งในเอกชน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีกับแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ถ้อยแถลงของบุญชัย เบญจรงคกุล คนโตของค่ายยูคอมในวันนั้น ประเด็นหลักจึงไปอยู่กับเรื่องโทรศัพท์พื้นฐานไป ส่วนนโยบายธุรกิจของบริษัทจึงกลายเป็นแค่ของแถม

นั่นเพราะ เป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจยูคอมในเวลานี้ ไม่ใช่การลงทุนในต่างประเทศ ไม่ใช่การขยายธุรกิจสื่อสารแบบครบวงจรแต่เป็น "โทรศัพท์พื้นฐาน"

ไม่เพียงเพราะผลประโยชน์อันมหาศาล ที่จะได้มาจากการเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแห่งยุคที่สำคัญที่สุด คือ การได้ครอบครองเครือข่ายแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออพติก) ที่สามารถแตกหน่อออกเป็นบริการเสริมเป็นจำนวนมากมาย

ในวันนั้น ยูคอมประกาศว่าปี 2537 มียอดรายได้ 10,600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดรายได้ปีที่แล้ว 5,130 ล้านบาท ถึง 110.52% และในปีนี้ยูคอม คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 20% จากปีที่แล้ว นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

รายได้ของครึ่งปี 2538 มีรายได้รวม 6,087 ล้านบาทซึ่งที่มาของรายได้หลักมาจากการขายอุปกรณ์เทอร์มินัล 38% รายจากการให้บริการ 34% รายได้จากการรับเหมาติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคม 21% อื่น ๆ 7%

หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ที่มารายได้ของกลุ่มยูคอม ยังคงมาจากธุรกิจดั้งเดิม ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ คือธุรกิจรับเหมาติดตั้ง และรายได้จากการขายเครื่องลูกข่ายคือโทรศัทพ์มือถือ ภายใต้ยี่ห้อโมโตโรล่า ส่วนรายได้จากการให้บริการมาจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ระบบแอมป์ 800 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนขยายเครือข่ายอีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะการลงทุนระบบดิจิตอล พีซีเอ็น 1800 ที่ต้องลงทุนอีกมากกว่าจะมีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศ

ในขณะที่รายได้จากสัมปทานบริการสื่อสารประเภทอื่น ๆ ที่ยูคอมคว้ามาครอง ในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว อาทิ ทรังค์เรดิโอ โมบายดาต้า วิทยุติดตามตัว ยังไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

รวมทั้งสัมปทานใหม่อย่าง เคเบิลทีวี ที่ได้รับสัมปทานจาก อ.ส.ม.ท. ก็ยังไม่ได้เริ่มลงมือ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง และการแข่งขันก็รุนแรงมาก หรือแม้แต่โครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมอีเรเดียม ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะมีรายได้ ในขณะที่สัมปทานดั้งเดิม อย่างโฟนพ้อยต์ สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

บุญชัยยอมรับว่า แม้ยูคอมจะมีสัมปทานอยู่ในมือเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงบริการเสริมเท่านั้น ซึ่งบริการเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาวงจรต่อเชื่อมของโทรศัพท์พื้นฐานทั้งสิ้น

ยูคอมเคยได้เรียนรู้จากบทเรียนอันเจ็บปวดในอดีตมาจากการเปิดให้บริการโทรศัพท์แอมป์ 800 ในช่วงที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นระบบ 01 ยังต้องใช้เลขหมาย 7 หลักให้บริการแก่ลูกค้า ที่ต้องผจญกับความยุ่งยากนานาประการเพราะปัญหาการขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์

"แม้คุณจะมีบริการเสริมมากมายในมือ แต่หากคุณขาดโทรศัพท์พื้นฐานเท่ากับว่าไม่มีวงจรต่อเชื่อมคุณก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ที่สำคัญคุณไม่สามารถวางแผนธุรกิจได้เลย" บุญชัยตอกย้ำถึงความสำคัญของโทรศัพท์พื้นฐาน

นั่นเพราะการเป็นเพียงเจ้าของสัมปทานบริการเสริมแต่ไม่มีบริการพื้นฐานอยู่ในมือย่อมเป็นอันตรายยิ่งนักเมื่อรัฐบาลเปิดเสรีขึ้น โดยเฉพาะการที่ต้องต่อกรกับคู่แข่งที่มีบริการพื้นฐานอยู่ในมือ

การประกาศของบุญชัยที่จะไม่ขวางทีเอ และทีทีแอนด์ที ที่กำลังจะคว้าโครงการโทรศัพท์ 1.1 ล้านเลขหมายอีกต่อไป แต่ขอให้ยูคอมและชินวัตรมีส่วนร่วมใน 8 แสนเลขหมายที่เป็นขององค์การโทรศัพท์ฯ ก็เป็นพอ ก็เป็นการตอกย้ำความพยายามเป็นอย่างดี

นั่นเพราะยูคอมรู้แล้วว่าขวางไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้รอทำโครงการใหม่ดีกว่า ซึ่งรัฐบาลชุดของนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มีสมบัติ อุทัยสาง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นแกนหลักในเรื่องการขยายโทรศัพท์ก็เห็นชอบในการแบ่งโซนนิ่งตามที่เหล่าบรรดาเอกชนสื่อสารเสนอมา

ในวันนั้น บุญชัยกล่าวกับบรรดานักข่าวว่า แท้ที่จริงแล้วโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะกลุ่มยูคอม

บุญชัยจึงชี้แจงแถลงไขว่า เมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว กลุ่มยูคอมเคยอาจหาญยื่นเสนอขอโครงการขอติดตั้งโทรศัพท์จำนวน 1 แสนเลขหมายไปที่องค์การโทรศัพท์ฯ ในสมัยที่ไพบูลย์ ลิมปพยอมยังนั่งเป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ แต่แล้วพอเปิดประมูลเข้าจริง กลุ่มยูคอมถูกเขี่ยตกไปโดยไม่มีสาเหตุมาก่อน ซึ่งจากโครงการที่ยูคอมเสนอไป 1 แสนเลขหมาย ก็ได้ขยายเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 3 ล้านเลขหมาย แต่ถูกหั่นเป็น 2 ล้านและ 1 ล้านเลขหมายมาอยู่ในมือของทีเอ และทีทีแอนด์ทีในที่สุด โดยที่ไม่มียูคอมร่วมวงไพบูลย์แต่อย่างใด

สิ่งที่บุญชัยพูดมาทั้งหมด เพื่อที่จะบอกให้รู้ว่ายูคอมมีความพร้อมเพียงใดกับการที่จะเข้าไปมีส่วนในการติดตั้งโทรศัพท์

"กลุ่มยูคอมมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะมากกว่าคนที่ได้ทำโทรศัพท์อยู่ในวันนี้เสียอีก" บุญชัยประกาศ

แม้การที่บริษัทแทคบริษัทลูกที่รับสัมปทานโทรศัพท์มือถือ แอมป์ 800 จากการสื่อสาร ที่ได้ยื่นขอแปลงจากสัมปทานมาเป็นหุ้นก็มีทีท่าว่า จะเห็นองค์การโทรศัพท์ดีกว่าการสื่อสารเสียแล้ว ถึงกับเสนอให้หุ้นกับ ทศท. ถึง 11% ในขณะที่ กสท. ได้แค่ 10% และก็กลายเป็นว่า ทศท. จะเข้ามาถือหุ้นในแทคก่อนเจ้าของสัมปทานอย่าง กสท. เสียแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คงจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในรัฐบาลแล้ว ยูคอมคงต้องจะเข้าไปมีส่วนในโครงการขยายโทรศัพท์ 8 แสนเลขหมายของ ทศท. หรือแม้แต่ 6 ล้านเลขหมายอย่างแน่นอน ไม่ได้ก็เสียชื่อแย่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.