"ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ งานที่กาดสวนแก้วจะหนักกว่าที่ผาแดง?"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ้นเดือนตุลาคมนี้ "ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ" จะอำลาจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือได้ว่าประวิทย์มีอายุงานมากที่สุดคนหนึ่งในบริษัทดังกล่าว

การอำลาครั้งนี้ดูจะเป็นจริงและยากที่คณะกรรมการบริษัทจะทักท้วงเช่นเมื่อคราวก่อน

เหตุผลลึก ๆ ในการอำลาของประวิทย์ทั้ง 2 ครั้ง ดูไม่แตกต่างกันนักเพียงแต่ว่า ครั้งนี้ความจำเป็นที่ต้องออกไป ทับทวีมากขึ้นมากกว่าเมื่อ 1 ปีที่แล้ว

อาสา สารสิน ประธานผู้บริหารบริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่งของนายประวิทย์ ซึ่งข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

"นายประวิทย์ ได้แสดงความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2537 โดยขอเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปี ตามข้อบังคับของบริษัท ที่ใช้กับพนักงานคนอื่น ๆ แต่บริษัทได้ขอให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปตามวาระของกรรมการบริษัท ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2540 อย่างไรก็ตามในปีนี้นายประวิทย์ได้แสดงความประสงค์ขอลาออกอีกครั้ง โดยขอให้พ้นจากตำแหน่งในสิ้นเดือนตุลาคม 2538 เพื่อไปประกอบธุรกิจส่วนตัว

เมื่อถึงคราวที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจะต้องว่างลง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะหาผู้มาดำรงตำแหน่งแทน ในขณะที่การบริหารงานขององค์กรแห่งนี้ยากยิ่งขึ้นทุกขณะ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อถึงเวลาที่ตำแหน่งจะต้องว่างลงและบริษัทยังไม่สามารถหาผู้เหมาะสมมารับตำแหน่ง บริษัทคงต้องตัดสินใจให้อาสา สารสิน มาควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเป็นการชั่วคราวไปก่อน เพราะอย่างน้อยอาสาก็เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว และยังติดตามงานของบริษัทมาโดยตลอดในฐานะของประธาน ซึ่งการเข้ารับตำแหน่งชั่วคราวก็เพื่อไม่ให้งานของบริษัทต้องสะดุด

สำหรับผาแดง ประวิทย์นับเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งขึ้นมาเลยทีเดียว ด้วยการรับหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจและการกู้เงินจากต่างประเทศ รวมทั้งการดูแลการก่อสร้างโรงงานถลุงแร่สังกะสีที่จังหวัดตาก ครั้งนั้นประวิทย์เข้ามาในลักษณะของการยืมตัวมาจากกระทรวงการคลัง โดยมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินเป็นเวลา 4 ปี

การก่อตั้งบริษัท ผาแดงอินดัสทรีเกิดขึ้นเมื่อปี 2524 เพื่อทำเหมืองแร่สังกะสีและผลิตโลหะสังกะสีจำหน่ายในประเทศ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 20% เหตุผลของการตั้งบริษัทก็เพราะรัฐบาลขณะนั้นต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟื้นตัวขึ้นบ้าง เนื่องจากขณะนั้นไม่มีการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นเลย

ประวิทย์ที่อยู่ผาแดงช่วงแรก 4 ปีซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่โรงงานถลุงแร่ที่จังหวัดตากของผาแดงสร้างเสร็จและสามารถผลิตแร่ได้ในปี 2528 ซึ่งช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ประวิทย์จะต้องกลับไปรับราชการ เพราะหมดวาระในการดึงตัวมาช่วยงาน แต่จากผลงานที่ปรากฏทำให้ผู้บริหารของผาแดงในขณะนั้นเห็นฝีมือ จึงมีการชักชวนให้อยู่ต่อ

จนในที่สุดประวิทย์ตัดสินใจลาออกจากราชการ เพื่อมารับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการรองผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีของผาแดง และอีกเพียงข้ามปีประวิทย์ ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการ

นับจากปี 2528 ที่โรงงานสามารถถลุงแร่ได้เรื่อยมา บริษัทจึงเริ่มมีกำไรและเม็ดเงินกลับคืนมามากขึ้น จนปี 2530 จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนับเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมในระดับแนวหน้าทั้งภาพลักษณ์ของหุ้นเก็งกำไรและหุ้นพื้นฐานผสมกันอย่างแยกไม่ออก

ช่วงปี 2532 นับเป็นช่วงสำคัญสำหรับประวิทย์เช่นกัน เมื่อผาแดงมีการเปลี่ยนผู้บริหาร โดยไกรศรี จาติกวณิชลาออกเพื่อไปประกอบธุรกิจส่วนตัว จากนั้นผาแดงจึงได้อาสา สารสินเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน

ในยุคของอาสา ผาแดงนับว่าเป็นองค์กรที่ขยายงานมากแห่งหนึ่ง และประวิทย์ก็ได้ช่วยอาสา บริหารงานร่วมกันมาตลอด

จนกระทั่งปี 2534 เมื่อรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญอาสา สารสินเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ประวิทย์จึงต้องเข้ามารับผิดชอบงานแทนทั้งหมด

ซึ่งในยุคที่ประวิทย์เป็นกรรมการผู้จัดการของผาแดงนับจากปี 2534 เรื่อยมา กล่าวได้ว่า ผาแดงได้ถูกนำให้เข้าไปสู่ความเป็นองค์กรระดับนานาชาติมากขึ้นทุกที นอกจากนี้ยังสยายปีกไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมาก ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดในอนาคต

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น แม้การขยายงานจะเป็นผลดี แต่บางครั้งและบางช่วงโอกาส ก็อาจจะเกิดผลเสียที่คาดไม่ถึงได้ ดังเช่นการดำเนินงานช่วง 1 ปีจนถึงล่าสุดที่บริษัทต้องขาดทุนมากมาย

ในรอบครึ่งปีแรก 2538 นี้บริษัทผาแดงอินดัสทรี แม้จะมีกำไรสุทธิ 97.20 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2537 จะพบว่าเป็นกำไรที่ลดลงถึง 36.76% ประกอบสำคัญเมื่อนำผลประกอบการของบริษัทย่อยมารวมจะเห็นว่าในครึ่งปีแรกนี้บริษัทขาดทุนถึง 117.12 ล้านบาท ขณะที่ระยะเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 106.72 ล้านบาท

บริษัทย่อยเกือบทั้งหมดของผาแดงประสบปัญหาขาดทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผาแดง พร็อพเพอร์ตี้ ขาดทุน 62.15 ล้านบาท, ผาแดง พุงซาน ขาดทุน 63.25 ล้านบาท และภูเทพ ขาดทุน 2.68 ล้านบาท

ในยุคปลายของประวิทย์ดูเหมือนว่า ผาแดงจะอับแสงเต็มที

ขณะที่ ผาแดงยังคงมีทิศทางที่ไม่สดในนัก ประวิทย์กลับจะผละไป เพื่อเข้าไปปรับปรุงหรืออาจกล่าวได้ว่าฟื้นฟูอีกกิจการหนึ่ง

โครงการกาดสวนแก้วของ "สุชัย เก่งการค้า" ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ คือ กิจการที่ประวิทย์จะเข้าไปดูแลในฐานะประธานกรรมการ นับจากเดือนพฤศจิกายน 2538

"การเข้าไปปรับปรุงกิจการกาดสวนแก้วครั้งนี้ นับเป็นการช่วยเหลือ สุชัย ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายของ ประวิทย์ มากกว่าเหตุผลเป็นอย่างอื่น" ผู้ใกล้ชิดประวิทย์กล่าว

การปรับโครงสร้างการบริหารงานของกาดสวนแก้วจะมีขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากประวิทย์เข้ามารับตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ สุชัยในฐานะหุ้นส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด ทุกเรื่อง แต่ด้วยความเป็นผู้บริหารที่มีอารมณ์ศิลปินเต็มตัว จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างรายได้จากงานที่ลงทุนไป

จนถึงปัจจุบัน "กาดสวนแก้ว" มีขาดทุนสะสมสูงถึงเกือบ 637 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และสูงขึ้นทุกปีด้วยเหตุนี้จึงต้องการผู้เข้ามากอบกู้

"เมื่อคุณสุชัยได้ผู้ที่ไว้วางใจเข้ามาดูแลกิจการทั้งหมด ทั้งโรงแรมปางสวนแก้ว โรงละครและศูนย์การค้า ตัวเองก็คงจะปลีกไปดูแลงานด้านโปรดักชั่นที่ถนัดเพียงอย่างเดียว ส่วนการสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่คงเป็นเรื่องของทีมบริหารใหม่ที่จะเข้ามา" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกล่าว

ปัญหาเร่งรีบที่ประวิทย์จะต้องเข้าไปจัดการกับกิจการการสวนแก้วในขณะนี้ซึ่งคนเชียงใหม่ได้ยินได้ฟังมาก็คือ ปัญหาเรื่องบุคลากร โดยเฉพาะผู้บริหารระดับกลาง ที่ระยะหลังเหลืออยู่น้อยและอีกปัญหาที่สำคัญที่สุด คือการกอบกู้สถานการณ์ด้านการเงินที่แย่อยู่มากให้คล่องตัวขึ้น ไม่เช่นนั้นทุกอย่างอาจจบสิ้น

การลาออกของประวิทย์เพื่อไปบริหารงาน ณ ที่แห่งใหม่ ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันเลยในเนื้อหา

ชีวิตหลังเกษียณของ "ประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ" ดูจะหนักหนากว่าวัยทำงานด้วยซ้ำไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.