"ดร. พิบูลย์ ลิมประภัทร บุรุษผู้มากับความหวังของหุ้นนอกตลาด"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

บนชั้น 20 ของอาคารสินธร 3 ที่กำลังตกแต่งโฉมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,720 ตารางเมตรเป็น "ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงเทพ" (ศ.ล.ก.) หรือที่รู้จักกันในนามตลาดโอทีซี ประมาณปลายตุลานี้จะกลายเป็นศูนย์บัญชาการใหม่ของ ดร. พิบูลย์ ลิมประภัทร อดีตคณะบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สลัดคราบนักวิชาการธุรกิจสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนแรก ตามคำชวนของ ดร. สังเวียน อินทรวิชัย ประธานกรรมการ ศ.ล.ก.

ความเป็นหนุ่มโสดวัย 54 ของ ดร. พิบูลย์ผนวกกับวัยวุฒิและคุณวุฒิปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ รวมทั้งมีประสบการณ์เชิงธุรกิจต่าง ๆ เช่น ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์และกรรมการบริษัทเพรสิเดนท์ไรซ์ โปรดักส์ เป็นจุดเด่นที่ทำให้ ดร. พิบูลย์สามารถแบกรับภารกิจสร้างตลาดโอทีซีได้เต็มที่

แม้ตลาดโอทีซีจะเกิดช้าไปสิบปี แต่นับว่ายังไม่สายเกินไป เพราะตลาดหุ้นไทยในพอศอนี้พร้อมรับแนวความคิดเรื่องตลาดโอทีซีแล้ว นับจากการผลักดันอย่างหนักยุควิโรจน์ นวลแข ประธานคณะทำงานเรื่องนี้ จนถึงยุคประทีป วงศ์นิรันดร์เป็นนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์

ด้วยเงินลงขันของ 74 บริษัทสมาชิกผู้ก่อตั้งที่ยอมควักกระเป๋า "ลงทุนเพื่อซื้ออนาคต" รายละ 7 ล้าน ก็ทำให้ทุนจดทะเบียนของตลาดโอทีซีเป็น 500 ล้านบาทเกินเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดไว้บวกกับเงินทุนหมุนเวียนที่ได้จากค่าบำรุงของสมาชิกอีก 300,000 บาทต่อราย ว่าแล้วก็ต่างทอฝันว่าตลาดโอทีซีจะเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนที่มีอนาคตรุ่งโรจน์สดใสในอนาคต

แต่สำหรับบริษัทที่จะสมทบภายหลังวันเซ็นสัญญาเมื่อ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ตามระเบียบต้องจ่ายแพงขึ้นอีกจาก 7 ล้านเป็น 20 ล้าน ได้แก่บริษัทแอสเซทพลัส บงล. ลีลาธนกิจ บงล. ตะวันออกพาณิชย์ทรัสต์และ บงล.ไทยมิตซูบิชิอินเวสเมนท์

ปัญหาเรื่องเงินจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ภารกิจหนักของ ดร. พิบูลย์หลังจากที่ร่างจัดตั้งผ่านการอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว คือการสรรหาสินค้าคุณภาพประเภท "จิ๋วแต่แจ๋ว" เข้ามาเทรดในตลาดน้องใหม่นี้

"ขนาดของธุรกิจไม่มีกำหนด บริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 10-20 ล้าน หากมีศักยภาพเติบโตก็สามารถเข้ามาระดมทุนได้ ผมมั่นใจภายในสิ้นปีนี้จะมีหลักทรัพย์เข้ามาเทรดได้ 5-6 บริษัท ซึ่งก็น่าจะพอ เพราะขณะนี้มีบริษัทที่ยื่นความจำนงแล้ว 15 รายโดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 5-6 แห่ง" ดร.พิบูลย์เล่าให้ฟัง

เป็นที่คาดหวังว่าตลาดโอทีซีนี้จะอ้าแขนรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่พลาดโอกาสจะเข้าไปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเนื่องจากคุณสมบัติต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่มีทางเลือกที่จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดโอทีซีได้

แม้ว่าตลาดโอทีซีของไทยจะแตกต่างกับต้นแบบ NASDAQ ที่สหรัฐอเมริกาตรงที่มีปลอกคอจากมหาอำนาจ ก.ล.ต. คุมอยู่ เมื่อบริษัทที่จะนำสินค้ามาซื้อขายต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วกระจายหุ้นกับ ก.ล.ต. ก่อนจะนำหุ้นเข้ามาขอจดทะเบียนเทรดในตลาดโอทีซีซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น โดยเกณฑ์การพิจารณาไม่ยุ่งยาก

สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 500 ล้านเช่นบริษัทไมโครเนติคซึ่งเลือกจะเทรดในตลาดโอทีซีหลังจากเพิ่มทุนเป็น 80 ล้าน ก็ต้องกระจายหุ้นไม่ต่ำกว่า 10% ให้กับประชาชน แต่ถ้าหากทุนจดทะเบียนเกิน 500 ล้าน ต้องยื่นกระจายหุ้น 15% และมีกรรมการอิสระ 2 คน

"มีหลายคนมองว่าหลักเกณฑ์เข้าตลาดโอทีซีโดยทางตรงแล้วดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้มงวดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนจดทะเบียน หรือไม่ต้องมีผลกำไรต่อเนื่อง 3 ปีแต่จริง ๆ แล้วขั้นตอนสุดท้ายก่อนการอนุมัติจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. หากเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง ก.ล.ต. ก็คงไม่อนุมัติ" จิตติมา เคหะสุขเจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริษัทสมาชิกโอทีซีเล่าให้ฟัง ก่อนหน้านี้จิตติมาเคยอยู่ฝ่ายวาณิชธนกิจของ บงล. เอกสิน

ความเสี่ยงยิ่งมาก ผลตอบแทนยิ่งสูง ตลาดโอทีซีจึงเป็นทางเลือกใหม่ ล่าสุดมีบริษัท 20 รายเสนอสินค้าเข้ามาช่วงแรก โดยเฉพาะครึ่งหนึ่ง จะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ต้องแข่งขันกันหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำในการสะสมซื้อที่ดิน (แลนด์แบงก์)

"สาเหตุที่กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สนใจจะเข้าเทรดในตลาดโอทีซี ก็คงเป็นเพราะที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้ไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ประกอบกับหุ้นในกลุ่มที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ขาดสภาพคล่อง ทำให้ทางตลาดมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเป็นพิเศษในการรับ ขณะที่ความต้องการทุนไปขยายธุรกิจต้องไปกู้ธนาคาร ทำให้ต้นทุนสูงตามภาวะดอกเบี้ย ตลาดโอทีซีจึงเป็นทางออกในการระดมเงินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในขณะนี้" กรรมการผู้จัดการตลาดโอทีซีอธิบาย

ภายในสิ้นปีนี้ ภาพประวัติศาสตร์ของการเทรดในตลาดโอทีซีจะปรากฏ มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 5 รายเข้ามาเปิดม่าน นักลงทุนจะเห็นกระดานราคาสินค้าตลาดโอทีซีในจอคอมพิวเตอร์ตามห้องค้าหุ้นของแต่ละโบรกเกอร์ โดยศูนย์ระบบคอมพิวเตอร์ใช้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

ระบบการซื้อขายของตลาดโอทีซีก็เป็นแบบไทย ๆ ที่ประสมประสานระบบดีลเลอร์ชิปที่ใช้ "คนทำ" กับระบบออโตแมตชิ่งที่ใช้ "เครื่อง" ทำหน้าที่จับคู่เมื่อมีคำสั่งซื้อหรือขายเข้ามา ค่าคอมมิชชั่นก็คิดจากวอลุ่มซื้อขายแบบ "รีเกรท ซีฟ เรต" ถ้าไม่เกิน 50,000 บาทเก็บค่า 1% แต่ถ้าเกิน 50,000-200,000 บาท เรียกเก็บ 0.75% และถ้าเกินกว่า 200,000 บาทเก็บ 0.5%

ดังนั้น ผลตอบแทนเล็กน้อยจากตลาดโอทีซีระยะแรกจึงไม่ดึงดูดความสนใจของโบรกเกอร์ เพราะไม่คุ้มเมื่อเทียบกับการนำบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โบรกเกอร์จะได้ค่าธรรมเนียม 10-20 ล้านบาท ขณะที่จดทะเบียนในตลาดโอทีซีโดยมีขนาดทุนจดทะเบียนแค่ 50 ล้าน จะได้เงินแค่ 1-2 ล้านบาทเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ขั้นตอนการเป็นที่ปรึกษาการเงินต้องทำงานหนักเท่า ๆ กัน

ถึงกระนั้นก็ตามแต่ตลาดโอทีซีก็ต้องมีไว้เป็นทางเผื่อเลือกไว้รองรับลูกค้าที่พลาดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเภทเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ซึ่งในอนาคตเบี้ยเล็ก ๆ ที่วันนี้อาจดูด้อยค่าอาจพลิกผันเป็นเบี้ยทองคำ ดังเช่นแอปเปิลคอมพิวเตอร์เคยอาศัยช่องทางระดมทุนจากตลาดโอทีซี NASDAQ แล้วรุ่งโรจน์เป็นยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ฉะนั้นยิ่งตลาดโอทีซีเกิดขึ้นได้เร็วเท่าใด โอกาสที่ปลาเล็กจะมีโอกาสเกิดและเติบโตเป็นปลาใหญ่ยิ่งมีมากเท่านั้น !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.