"โทนี่และปั้น"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"โทนี่" ในที่นี้คือชาติศิริโสภณพนิชและ "ปั้น" ก็คือบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงเทพและแบงก์กสิกรไทยตามลำดับ ทั้งสองคนนั้นอาจจะถูกมองอย่างริษยาว่าต่างก็เกิดมาบนกองเงินกองทอง เพราะทั้งสองนามสกุลนั้นหลายคนแปลว่า "เงิน" หรือ "รวย"

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็ต้องบอกว่าต้องเห็นใจเขาทั้งคู่ เนื่องจากแม้จะเกิดบนกองเงินกองทอง หากทว่าต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งยิ่งนัก ทันทีที่เกิด ต่างก็ถูกคาดหวังจากบุพการีว่าจะสานสร้างงานที่คุณพ่อชาตรี โสภณพนิชและคุณพ่อบัญชา ล่ำซำให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ด้วยฝีมือและความสามารถไม่ใช่เพราะนามสกุล

เจตนาในการเขียนถึงโทนี่และปั้นครั้งนี้อาจจะพูดได้ว่าไม่ต้องการเล่าเรื่องประวัติการเรียนหรือการทำงาน เพียงอยากจะสื่อสารความเป็นมนุษย์ของทั้งสองหนุ่ม ส่วนเรื่องอื่นนั้นเท่าที่ค้นข้อมูลมาก็เขียนกันเยอะแล้วหลายเล่มหลายฉบับเอามาลอกต่อก็เป็นการเอาเปรียบผู้อ่านเกินไป

โทนี่เป็นคนที่ภายนอกสุภาพอ่อนโยนขยันขันแข็ง วันเสาร์ยังมาทำงานที่แบงก์กรุงเทพและมักจะมาเช้ากว่าคนอื่นเหมือนคุณชาตรี โสภณพนิช ที่เขียนแบบนี้ไม่ใช่จะบอกว่าภายในของโทนี่ไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วโทนี่เป็นคนที่แข็งมาก เชื่อมั่นในตัวเองสูง ครั้งหนึ่งเคยไปนั่งในห้องของพีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์สมัยที่ยังเป็นผู้จัดการสำนักค้าเงินตราของแบงก์กรุงเทพ หรือ รมช. กระทรวงคมนาคมในปัจจุบัน

เผอิญวันนั้นแต่งตัวดีหน่อยคล้าย ๆ กับพนักงานของแบงก์โทนี่จึงไม่ระแวงสงสัย พีระพงศ์แม้จะไม่ยอมพูดว่าตัวเป็นอาจารย์ของโทนี่ ในทางปฏิบัติแล้วน่าจะใช่ไม่มากก็น้อย วันนั้นนั่งฟังโทนี่โต้เถียงกับพีระพงศ์อยู่เกือบครึ่งชั่วโมงเกี่ยวกับการถือครองเงินตราต่างประเทศประเภท OVER NIGHT พีระพงศ์ก็พยายามชี้แจงให้โทนี่เข้าใจว่าสิ่งที่โทนี่คิดนั้นมันไม่ถูกต้อง แต่โทนี่ก็ยังยืนกรานความคิดเห็นของตัวเองและคำพูดของโทนี่ประโยคหนึ่งที่ไม่เคยลืมเลยก็คือ "งั้นผมจะเอาเรื่องนี้ไปบอกคุณพ่อ"

โดยตัวของโทนี่เองแม้ไม่มีนามสกุลโสภณพนิชก็ต้องประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่แล้ว เพราะเป็นคนเรียนเก่ง และขยันตลอดเวลาเหมือนคุณพ่อและคุณปู่ชิน ไปเรียนสหรัฐฯ จบปริญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีในระดับเกียรตินิยม ความสนใจด้านวิศวฯ ยังไม่จบสิ้นจึงไปเรียนต่อปริญญาโทที่ MIT แถมยังได้ MBA จากสถาบันแห่งเดียวกันด้วย

เคยตั้งข้อสังเกตกับชาตรี โสภณพนิชเมื่อครั้งไปสัมภาษณ์ที่บ้านพร้อมครอบครัวครบหน้าตาว่า ทำไมลูกทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาติศิริ สาวิตรี ชาลีและสุชาดาถึงต้องเรียน MBA กันหมด ชาตรีก็ตอบว่าเรียน MBA นั้นไปทำอะไรก็ได้...ทำได้ทุกอย่าง

แต่ความแตกต่างของโทนี่ก็คือเขาสมัครใจไปเรียนต่างประเทศเอง ส่วนสาวิตรีกับชาลีนั้น ชาตรีเล่าให้ฟังว่าที่ส่งไปเรียนระดับปริญญาตรีที่เมืองนอกเนื่องจากมีข่าวคราวว่าจะมีการจับตัวไปเรียกค่าไถ่ จึงต้องส่งไป ส่วนสุชาดาน้องนุชสุดท้องที่อ้อนพ่อเก่งถูกอารักขาไว้เมืองไทย

ย้อนมาทางด้านของปั้นบ้าง ปั้นที่รู้จักมาเป็นคนที่มีสุนทรียะด้านศิลปะมากคนหนึ่ง จำได้ว่าปั้นเคยมางานประจำปีของผู้จัดการซึ่งครั้งนั้นเชิญศิลปินโซปราโนแซกโซโฟนอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยคือเทวัญ ทรัพย์แสนยากรมาสร้างความสุขความบันเทิงให้กับผู้ร่วมงาน ปั้นติดอกติดใจจนอยู่ร่วมงานเกินเที่ยงคืน

เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนที่ติดตามวงการเงินก็คงรู้ว่าปั้นนั้นเขาชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ โดยเวลาว่างเขาก็ชอบสีซอสามสายอยู่แล้ว อีกทั้งคุณพ่อบัญชา ล่ำซำที่ล่วงลับไปแล้วก็ชอบงานศิลปะ จนกระทั่งแบงก์กสิกรไทยเป็นแหล่งสะสมงานศิลปะของศิลปินชั้นนำของเมืองไทยแห่งหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นลูกไม้ที่ไม่ใช่ลูกยางถึงหล่นไม่ไกลต้น

เมื่อปั้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่คุณอาบรรยงค์ ล่ำซำเปิดไฟเขียวให้ ก็แสดงฝีมือด้วยการรีเอนจิเนียริ่งแบงก์กสิกรไทยจนโด่งดังไปทั้ววงการ ซึ่งปั้นไปร่ำเรียนจากฝรั่งคนหนึ่งไมเคิล แฮมเมอร์ ที่ไปเปิดหลักสูตรที่ฮาวาย และต่อมาก็เอาฝรั่งคนนั้นมาพูดที่เมืองไทย มีคนสนใจเข้าฟังอย่างเนื่องแน่น หากทว่าความสำเร็จของปั้นก็คือเอาไอเดียของฝรั่งมาปรับใช้ อย่างได้ผลเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา บริการของแบงก์กสิกรไทยที่เดิมก็ดีอยู่แล้ว ได้รับคำชมเชยว่าดีมากขึ้น ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้

หากโลกของวิญญาณมีจริงคุณพ่อบัญชา ล่ำซำก็คงมองมาที่ลูกด้วยความชื่นชม ส่วนคุณพ่อชาตรี โสภณพนิชก็คงหมดห่วงกับแบงก์กรุงเทพภายใต้การนำของโทนี่ที่เป็นอภิชาติบุตรสืบสายลวดลายมังกรต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.