ยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้วิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่อย่างวีระ มานะคงตรีชีพ ทำงานอย่างได้ผล
ภายใน 3 ปี ซิทก้าโตแบบก้าวกระโดดเป็นไฟแนนซ์ระดับกลางที่มีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า
30,000 ล้านบาท เตรียมแตกหน่อธุรกิจการเงินให้ครบวงจรอย่างเร้าใจด้วยพลังหนุ่มสาววัย
30 ผลลัพธ์ของวิสัยทัศน์ปี 2000 ของวีระจะนำสถาบันการเงินคนรุ่นใหม่ให้รุ่งไปได้แค่ไหนในบรรยากาศเศรษฐกิจไร้ฟองสบู่
?
วีระ มานะคงตรีชีพ ในช่วงปี 2527-29 ได้รับขนานนามว่าเป็น "เด็กอัจฉริยะแห่งสิโนทัยทรัสต์"
นักเศรษฐศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องจากมหาวิทยาลัยเยลผู้นี้ได้สร้างประวัติการทำงานเยื่ยมด้วยบุคลิกโดดเด่นเชื้อสายพันธุ์มังกรที่ฉับไว
ได้ปูทางไปสู่อาชีพนักการเงินที่รุ่งโรจน์
ดาวรุ่งอย่างวีระแจ้งเกิดในห้วงวิกฤตการณ์การเงินรุนแรงปี 2526-2529 "แบงก์ล้มทรัสต์ปิด"
โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่บริหารระบบครอบครัว ในภาวะตกต่ำและขาดความน่าเชื่อถือนี้
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สิโนทัยทรัสต์ (ต่อมาในปี 2533 เปลี่ยนชื่อเป็น
"บงล. ซิทก้า") ซึ่งก่อตั้งโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ สุธีร์ อัสสรัตน์
ร่วมกับเสฐียร เตชะไพบูลย์ และสมคิด พนมยงค์ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน แต่ได้ประคองตัวให้รอดพ้นได้
ต่อมาในปี 2527 สุธีร์ได้ทาบทามคนรุ่นใหม่อย่าง วีระ มานะคงตรีชีพ เข้าเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการหนุ่มเพื่อสร้างภาพพจน์มืออาชีพ
ด้วยกลยุทธ์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ วีระได้เข้าปรับแผนยุทธศาสตร์ซิทก้าเจาะทะลุตลาดโลกาภิวัฒน์ยุคดิจิตอล
คือ
หนึ่ง-ยุทธศาสตร์ระยะยาว ที่ทอผันจะให้ซิทก้ากรุ๊ปเป็น "สถาบันการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่"
ที่ให้บริการธุรกิจทางการเงินครบวงจร (FULL FINANCIAL SERVICES) ไม่ต่ำกว่า
12 ประเภทธุรกิจคอนเซ็ปต์ใหม่ภายใต้นโยบายเปิดเสรีการเงิน ตั้งแต่บริษัทเงินทุน
บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทวาณิชธนกิจ (อินเวสเมนท์แบงก์) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
บริษัทเครดิตการ์ด บริษัทลิสซิ่ง บริษัทเช่าซื้อ บริษัทขายผ่อน บริษัทประกันชีวิต
บริษัทจัดการกองทุน (แอสเซท แมเนจเมนท์) บริษัทบริการสินเชื่อเคหะ และบริษัทจัดการกองทุนไพรเวทฟันด์
"ซิทก้าเห็นว่าแนวยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของเราในอีกห้าปีข้างหน้ากำหนดไว้ชัดเจนว่า
เราจะเป็นสถาบันการเงินที่ใช้บริการการเงินอย่างครบวงจรโดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
คือธุรกิจรุ่นใหม่และชนชั้นกลางรุ่นใหม่ เราจะเป็นสถาบันการเงินของคนรุ่นใหม่
นี่คือปณิธานของซิทก้ากรุ๊ป" วีระผู้บริหารซิทก้าหนุ่มวัย 38 พูดถึง
"คนรุ่นใหม่" ราวกับว่าจะเป็นทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมบริการการเงินในอนาคต
ที่มีส่วนกำหนดกระแสธุรกิจและวิถีอุปโภคบริโภค
สอง-ยุทธศาสตร์ระยะสั้นที่ปรับทิศทางสินเชื่อสู่ภาคพาณิชยกรรมอุตสาหกรรม
สาธารณูปโภค การค้า ขณะเดียวกันก็เปิดศึกการตลาดรุกรีเทลแบงกิ้งโดยกระจายสู่สินเชื่อบุคคล
ภายใต้คอนเซปต์ใหม่ "ซิทก้า เครดิต คลับ" ที่นำเสนอเป็นแพคเกจบริการทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นมนุษย์เงินเดือนบริษัทมหาชน
สาม-ยุทธศาสตร์โตแล้วแตก ด้วยพันธมิตรธุรกิจที่ขยายเครือข่ายและศักยภาพเชิงซินเนอยี่ให้เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับพันธมิตรธุรกิจต่างประเทศและในประเทศ เช่นครั้งที่ร่วมลงทุนกับแบงก์เครติดอะกริโกลซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่เชี่ยวชาญสินเชื่อส่วนบุคคลแห่งยุโรป
ก้าวกระโดดภายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดพันธมิตรธุรกิจซิทก้ายิ่งกว่าที่ซิทก้าเคยเป็นมาในช่วง
20 ปี พัฒนารูปแบบธุรกิจการเงินใหม่ ๆ ให้ครบวงจร จากฐานธุรกิจดั้งเดิม บงล.
ซิทก้า สู่กิจการในเครือ 10 แห่งที่มาจากการร่วมลงทุนหรือซื้อควบกิจการเช่น
บงล. มหานครทรัสต์และรุกหนักที่จะเป็นผู้นำที่หนึ่งในสายธุรกิจเช่าซื้อรถ
โดยใช้บริษัทซิทก้าลิสซิ่งเป็นฐานขยายไปซื้อบัญชีลูกหนี้สยามกลการ บริษัทกาญจนบุรี
เอส. ไอ. ลิสซิ่ง และบริษัทสระบุรี เอส. ไอ.ที ลิสซิ่ง นอกจากนี้ธุรกิจบัตรเครดิตก็มีบริษัทซิทก้า
เอ็มบีเอฟ คาร์ด ทำธุรกิจมาสเตอร์การด์เป็นหลัก ธุรกิจแฟคเตอริ่งที่ซิทก้าร่วมลงทุนในบริษัท
เอ็มบีเอฟ แฟคเตอร์ส (ประเทศไทย) ให้บริการเงินทุนในรูปแบบรับซื้อบัญชีลูกหนี้จากลูกค้า
และติดตามเก็บเงินแทน ส่วนบริษัทพานาเชนทำธุรกิจเช่าซื้อเครื่องไฟฟ้า เช่นเดียวกับบริษัทไดสตาร์เชน
(ดูล้อมกรอบก้าวกระโดซิทก้า)
สี่-ยุทธศาสตร์สร้างภาพพจน์ความน่าเชื่อถือขององค์กร ที่จะนำไปสู่การทำแบงก์พาณิชย์และธุรกิจที่บริการการเงินใหม่
ๆ ซิทก้ากรุ๊ปจะมีคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิอยู่มาก โดยเฉพาะอดีตผู้ใหญ่ของแบงก์ชาติ
เช่น ศ. วารี หะวานนท์ อดีตรองผู้ว่าการฯ ที่เข้าบริหารฟื้นฟูแบงก์สยาม ประจวบ
พันธุมจินดา อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการที่มีบทบาทสร้างระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ยุคใหม่ของแบงก์ชาติ
ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย อดีตโฆษกแบงก์ชาติ ชัยชาญ วิบุลศิลป์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสัมพันธ์
ลิ้มตระกูล อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงาน และอำนวย ลิ้มตระกูล อดีตผู้จัดการกองทุนฟื้นฟู
ทั้งนี้ประธานกรรมการคือ อนันต์ อนันตกูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เคยเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้วิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่ ทำงานอย่างได้ผล กำไรสุทธิที่เคยได้เพียง
12 ล้านในปี 2534 ก้าวกระโดดเป็น 286 ล้านบาทในปีที่แล้ว ขนาดสินทรัพย์รวมของซิทก้ากับ
บงล. มหานครทรัสต์ ก้าวจากขนาดเล็กสู่สถาบันการเงินระดับกลางทันทีคือ 30,258
ล้านบาทจากเดิมปี 2533 อยู่ที่ 1,595 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณธุรกิจเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ก็พุ่งพรวดจาก
3,147 ล้านบาทเป็น 19,405 ล้านบาท (ดูตาราง)
เบื้องหลังของตัวเลขเงิน ๆ ทอง ๆ บนแท่งกราฟที่ดูดีนี้ เกิดจากวีระได้ปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารสู่มืออาชีพ
ผนวกกับยุทธวิธีซื้อควบกิจการและสร้างพันธมิตรธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดลักษณะซินเนอยี่แบบหนึ่งบวกหนึ่ง
ให้ผลมากกว่าสอง
กรณีซิทก้าซื้อควบกิจการ บงล. มหานครทรัสต์ เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลือทางพันธมิตรธุรกิจที่คลาสสิกมาก
ๆ เพราะเดิมมหานครทรัสต์นั้นทางตระกูลเตชะไพบูลย์ถือหุ้นใหญ่ 94.6% แต่การบริหารงานไร้ประสิทธิภาพจนกระทั่งขาดทุนสะสมมหาศาลถึง
900 ล้านบาท ถึงขั้นแบงก์ชาติต้องบังคับให้ต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการ ในที่สุดซิทก้าก็เข้าเทกโอเวอร์หุ้น
84.6% มูลค่าเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,527 ล้านบาท
ความสัมพันธ์ระหว่างสุธีร์ อัสสรัตน์กับตระกูลเตชะไพบูลย์รู้จักกันมานานแม้เมื่อตั้งสิโนทัยทรัสต์ยุคแรก
เสถียร เตชะไพบูลย์ อดีตเจ้านายเก่าที่แบงก์เอเชียสมัยที่สุธีร์ทำงานอยู่เป็นผู้อำนวยการ
ผ่ายต่างประเทศก็ยังถือหุ้นร่วมอยู่ เมื่อถึงคราวมหานครทรัสต์ตกที่นั่งลำบากเมื่อสามปีที่แล้ว
มียอดขาดทุนสะสม 900 ล้านบาทขณะที่สินทรัพย์รวมเพียง 1,000 ล้านบาทและยังไม่ได้เพิ่มทุน
ซิทก้าก็ไม่กล้าเสี่ยงเข้าไปรับเพราะเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
จนกระทั่งสองปีผ่านไป ขณะที่ซิทก้าโตเร็วเหมือนต้นไม้ได้ฝนจากนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน
แผ่กิ่งก้านอาณาจักรธุรกิจบริการทางการเงินไปไกล มีสินทรัพย์รวมเฉพาะซิทก้าตัวเดียวปีที่แล้วก็ปาเข้าไป
25,289 ล้านบาท ซิทก้าจึงเข้าซื้อควบกิจการมหานครทรัสต์ ซึ่งได้เพิ่มทุนเป็น
1,805 ล้านบาทและตัดยอดขาดทุนสะสมเหลือ 763 ล้านบาทแล้ว ซึ่งหนึ่งในลูกหนี้รายใหญ่ก็คือบริษัทโรงแรมเชียงใหม่ออคิดที่มียอดหนี้
480.2 ล้านบาท
"เราคงจะพร้อมที่จะยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2539 จากนี้ไปเราจะเดินตามรอยซิทก้า
คือจะขยายตัวไปทุก ๆ ด้านซึ่งในชั้นต้นนี้ต้องแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่มีคุณภาพให้ดีขึ้น
โดยการลดทุนจดทะเบียนลงจาก 1,805 ล้านบาทให้เหลือ 1,100 ล้านบาท แล้วจะมีการเพิ่มทุนอีกครั้ง"
สมชาย วสันตวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการทั่วไปของมหานครทรัสต์กล่าว
ต่อมาเกิดกรณียิ่งซื้อยิ่งโต คือ กลุ่มบริษัทซิทก้าสายลิสซิ่งเข้าไปรับซื้อบัญชีลูกหนี้เช่าซื้อรถจากบริษัทสยามกลการจำนวน
22,841 บัญชีที่มีมูลค่าบัญชี 4,049 ล้านบาท ดีลนี้เป็นผลงานของจรูญศักดิ์
มนทิวาลัย ผู้จัดการสายการลงทุนและโครงการพิเศษที่ทำให้ธุรกิจเช่าซื้อของซิทก้าเพิ่มมาร์เกตแชร์สูงถึง
15% หรือ 12,000-13,000 ล้านบาททันที แม้ว่าจะมีข้อวิตกกังวลของคนภายนอกต่อปัญหาคุณภาพสินเชื่อบางส่วน
"ซิทก้า ลิสซิ่งจะเป็นกำลังสำคัญในธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์
ต้นปีหน้าเราจะเริ่มบุกโดยใช้ 69 สาขาทั่วประเทศโดยจะมีกลุ่มเอ็มซีซีของกฤษดานครเข้ามาร่วมด้วย
ผมยืนยันว่าเราจะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพสินเชื่อดีที่สุดแห่งหนึ่ง" วีระแถลง
นับว่าเป็นโชคดีของซิทก้า หลังจากเทกโอเวอร์มหานครทรัสต์แล้ว ซิทก้าเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพียงหนึ่งเดียวที่มีกำไรสูงสุด
จัดงานแถลงข่าวใหญ่ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสสองปีนี้และเปิดตัว "ดร.
วรภัทร โตธนะเกษม" ที่จะมารับตำแหน่งประธานบริหารบริษัทหลักทรัพย์ซิทก้า
ด้วยเสียงดังกังวานของวีระว่า "กำไรพุ่ง 457%" หรือเม็ดเงิน
355.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้วกำไรเพียง 63.74 ล้านบาท ท่ามกลางภาวะผันผวนของตลาดหุ้นที่ตกต่ำยิ่งกว่าเศรษฐกิจสบู่ไร้ฟอง
ซิทก้ามีรายได้ในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ 2,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันถึง
198.5% ก็กลายเป็นข่าวพาดหัวหน้าการเงินทุกฉบับ
ที่มาของรายได้และกำไรที่ก้าวกระโดดนี้ มาจากการขายหุ้นมหานครทรัสต์แก่พันธมิตรธุรกิจอย่างเช่น
บริษัท ช. การช่างที่รับซื้อ 12 ล้านหุ้น ๆ ละ 22 บาท รวมมูลค่า 276 ล้านบาท
แต่ชำระงวดแรกเพียง 20% ที่เหลือจะจ่ายตอนโอนปลายปีนี้ ซึ่งก็จะทำให้การรับรู้รายได้เกิดขึ้นในไตรมาสที่สี่ซึ่งกำไรจะสูงกว่าที่อื่น
เปรียบเสมือนยิงนกสองตัวด้วยกระสุนนัดเดียว กลยุทธ์การขยายฐานสินทรัพย์ให้เป็นไฟแนนซ์ขนาดกลางนี้
รองรับการตั้งแบงก์พาณิชย์ที่มี ช. การช่างร่วมเป็นแกนนำด้วย
โดยหลักการมหานครทรัสต์จะค่อย ๆ แก้ไขภาวะขาดทุน DILUTE ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหานักลงทุนมาซื้อกิจการต่อไปได้
อัตราก้าวหน้าของกำไรซิทก้านี้เป็นที่ริษยาของโบรกเกอร์อื่น ๆ ว่าหาใช่ฝีมือการบริหารไม่
! นักวิเคราะห์หุ้นบางสำนักไม่แนะนำให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพราะคาดว่าปีหน้า
ความสามารถการทำกำไรและรายได้จะลดลงจาก 500.76 ล้านในปีนี้เป็น 387.58 ล้านในปีหน้า
ภายหลังเพิ่มทุนแล้วจะเกิด DILUTION EFFECT ต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นมาก
"ปีหน้าจะเป็นปีที่เราเริ่ม CONSOLIDATE จากธุรกิจที่เรามีสิบกว่าแห่งเข้าด้วยกัน
และหนุนเกื้อตัวหัวใจคือบริษัทเงินทุนซิทก้าให้ดีที่สุด สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นปีหน้า
ค่าใช้จ่ายดำเนินการของบริษัทเงินทุนซิทก้าจะลดลงมาก เพราะเราจะมีการแยกออกไปด้านธุรกิจหลักทรัพย์
บริษัทซิทก้า เอ็มบีเอฟ คาร์ด เราจะหาพาร์ตแนอร์ใหม่ ธุรกิจจัดการกองทุนรวมเราแยกไปจัดตั้งร่วมกับแบงก์ศรีนคร
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เราแบกไว้ในปีนี้และปีที่แล้วก็จะไม่เกิดขึ้นในปีหน้า
นี่เป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุน" วีระเล่าให้ฟังแบบชวนฝันดีฝันเด่น
หุ้นเพิ่มทุนใหม่ 146 ล้านหุ้นจากทุนจดทะเบียน 940 ล้านเป็น 2,400 ล้านบาทได้จัดสรร
94 ล้านหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ในราคาหุ้นละ 25 บาท ขณะที่อีก
52 ล้านหุ้นให้กลุ่มบุคคลเฉพาะเจาะจง (PRIVATE PLACEMENT) 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก 27 ล้านหุ้น ที่ซิทก้าจะขายให้กับหมู่พันธมิตรธุรกิจใหญ่ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
8 ราย ที่วีระภูมิในนักหนาวันเปิดตัวซิทก้ากรุ๊ปที่ดุสิตธานีประกอบด้วย บริษัท
กฤษดามหานคร 10 ล้านหุ้น ปัญญา ควรตระกูล 7.2 ล้านหุ้น บริษัทสยามกลการ 2.6
ล้านหุ้น บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ 2.6 ล้านหุ้น บริษัท ซุ่นฮั่วเส้ง
โฮลดิ้ง 2 ล้านหุ้น สรรชัย วัฒนสมบัติ 1 ล้านหุ้น บริษัท อิมพีเรียล บางนา
1 ล้านหุ้น และบริษัท ไดสตาร์ อิเลคทริก คอร์ป 0.6 ล้านหุ้น
ราคาซื้อขายสำหรับคนกันเองนี้ จะคำนวณ 95% ของราคาถัวเฉลี่ยราคาปิดระหว่างวันที่
30 ตุลาคม -17 พฤศจิกายน 2538
กลุ่มที่สอง 25 ล้านหุ้น จะจัดสรรให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นนักลงทุนสถาบัน
17 ประเภท โดยกำหนดราคาวิธีสอบราคาจากลุ่มผู้ลงทุนแล้ว (BOOK BUILDING) งานนี้วีระพร้อมฝ่ายจัดการคงได้เดินทางทำ
"โรดโชว์" ในสหรัฐฯ อังกฤษ ฮ่องกงในปีหน้า
"โครงการโรดโชว์ในต่างประเทศเราเลื่อนไปปีหน้า เพราะสภาพตลาดไม่เอื้ออำนวย
ออกไปก็เหนื่อย แต่คิดว่าระดมทุนภายในประเทศก็ได้มากพอแล้ว เรื่องเพิ่มทุนไม่มีปัญหา
ช่วง 20-24 พ.ย. เป็นช่วงทะยอยชำระค่าหุ้น ถ้าไม่รีบไปกรรมการเอาไปจัดสรรกันเองนะ"
พอวีระพูดจบ ทันใดนั้นเสียงอุทาน "ไอ้หยา!" ของเสาวนีย์ ลิมมานนท์
พีอาร์ใหญ่ก็ดังขึ้นเตือนเกรงผิดกฎตลาดหุ้น
การประกาศเพิ่มทุนนี้แม้จะมีแผนงานรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายเงินกองทุนขั้นที่
1 ซึ่งตามข้อกำหนดแบงก์ชาติต้องไม่ต่ำกว่า 7,800 ล้านบาทจึงรองรับธุรกิจหลักทรัพย์ที่แยกได้
หรือเตรียมพร้อมทำธุรกิจบริการทางการเงินในอนาคต เช่นการจัดตั้งบริการจัดการกองทุนรวม
บริษัทซิทก้าประกันชีวิตรวมทั้งที่ซิทก้าจะเป็นแกนนำตั้งแบงก์พาณิชย์ใหม่ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจอย่าง
ช. การช่าง และสถาบันการเงินต่างประเทศ
"เงินกองทุนของบริษัทถึงสิ้นปีนี้เราจะเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีขนาดกองทุน
8 พันล้านบาท ก็คิดว่ายิ่งใหญ่พอควรที่จะเสนอตัวเองเข้ารับใช้สังคมในการเป็นสถาบันการเงินที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร"
วีระเล่าให้ฟัง
แต่แผนงานดังกล่าวยังเป็นที่สงสัยว่าความสามารถในการทำกำไรที่ผ่านมายังไม่เป็นที่ยอมรับของโบรกเกอร์อื่น
เพราะซิทก้าโตด้านสินทรัพย์อย่างมาก และครึ่งปีหลังนี้ผู้บริหารซิทก้าได้พยายามรักษาสัดส่วนการขยายธุรกิจโดยลดการเพิ่มของสินทรัพย์ลง
แต่เน้นให้บริษัทมีกำไรและรายได้มากขึ้น โดยความหวังอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
(บลจ.) ที่จะช่วยเพิ่มวอลุ่มธุรกิจ 20%
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งใหม่พร้อมจะแจ้งเกิดทันทีภายในสิ้นปีนี้
ภายใต้การบริหารงานของสมชาย วสันตวิสุทธิ์ วัย 40 ปี ซึ่งจะโยกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทั่วไปของ
บงล. มหานครทรัสต์ ประวัติการทำงานก่อนเข้าร่วมกับซิทก้า เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม
ในเครือไอเอฟซีที นอกจากนี้เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารอินโดสุเอช
"ในช่วงเริ่มต้นเราจะออกกองทุนปิดก่อน เพราะการออกกองทุนเปิดนั้นเราต้องมีความพร้อมทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีที่จะนำมารองรับในการซื้อคืนหน่วยลงทุน
กองทุนปิดนี้จะมีมูลค่าประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท" กลยุทธ์ของสมชายเตรียมสู้คู่แข่งเดิม
8 รายกับใหม่อีก 4-5 ราย ด้วยวิธีแตกต่างที่ใช้ระบบบริหารความเสี่ยงของกองทุนรวมในโมเดล
ATP (ARBITRAGE PRICING THEORY)
ขณะที่สมชายทุ่มเทเวลากับงาน บลจ. ใหม่อย่างหนัก ปีหน้าโบรกเกอร์หน้าใหม่เบอร์
46 อย่างบงล. ซิทก้าก็เตรียมเดินเครื่องบุกตลาดหุ้น โดยสามขุนพลระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
อย่างสุรพล นำศิริกุลที่ดูแลสายบริการและพัฒนาหลักทรัพย์ กับวีรวุฒิ สรรพกิจ
ดูแลสายธุรกิจเงินทุน 1 ขณะที่สุชาติ ปิยะศิรินนท์ดูแลสายวาณิชธนกิจ
ในระยะ 3-4 ปีนี้ ซิทก้าโตด้านหลักทรัพย์ช้ากว่าด้านธุรกิจเงินทุนซึ่งโตนับร้อยเปอร์เซ็นต์
ทำให้ซับโบรกเกอร์อย่างซิทก้ามีมาร์เกตแชร์เพียง 0.7-0.8% ต่อเนื่องมาหลายปี
และเคยมีช่วงตลาดหุ้นบูมและมีปัญหาปั่นหุ้น 4 อภินิหาร ซิทก้าก็ได้ปิดบัญชีลูกค้าที่มีปัญหาจำนวนนี้ไป
ในอดีตซิทก้าไม่มีโอกาสเป็นโบรกเกอร์ จึงไม่มีประวัติผลงานเป็นอันเดอร์ไรเตอร์หุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์
ที่ผ่านมาซิทก้าจะเน้นการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้าที่มีอยู่ 7-8
ราย ขณะที่งานด้านการวิจัยซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความน่าเชื่อถือก็ยังต้องพัฒนายกระดับ
หลังจากที่เคยพลาดหวังมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อกลางปีนี้ บงล. ซิทก้าก็ได้รับเลือกเป็นโบรกเกอร์น้องใหม่เบอร์
46 ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ วีระได้ทาบทาม ดร. วรภัทร โตธนะเกษม เข้ามารับตำแหน่งเป็นกรรมการซิทก้าที่เข้าทุกวันจันทร์
พุธ และศุกร์ ที่เหลือเป็นกรรมการให้กับบริษัทในเครือของวิกรม กรมดิษฐ์ เช่น
บริษัทบางปะกงอินดัสเตรียล ปาร์และบริษัทอมตะซิตี้ที่ระยอง
"เมื่อผมออกจากแบงก์ ใครเชิญผมเป็นกรรมการผู้จัดการ บงล. ผมปฏิเสธทันที
เพราะผมเลยจุดนั้นแล้ว ถ้าผมไปเป็นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะเราจะไปลุยสู้กับเด็กหนุ่มรุ่นใหม่
ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้กรรมการผู้จัดการอายุ 34-37 ที่เก่งและทันเหตุการณ์ไม่ได้
แต่ถ้าจะใช้ประสบการณ์ต่อเนื่องของผมในระดับประธานหรือรองประธานบริหาร ผมคง
CONTRIBUTE ได้ดีกว่า" นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ ดร. วรภัทรตอบรับเป็นประธานบริหารบริษัทหลักทรัพย์ของซิทก้า
นอกเหนือจากเหตุผลสี่ข้อที่ต้องอยู่ในสายการเงินต้องมีทีมรองรับ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เป็นกรรมการบริษัทธุรกิจอื่น
ๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับซิทก้า และสุดท้ายคือ มีเวลาสอนหนังสือที่เขารักได้
แม้ว่า ดร. วรภัทรจะมีภาพลักษณ์ของนักวิชาการธุรกิจ และไม่เคยมีประสบการณ์บริหารธุรกิจหลักทรัพย์มาก่อน
แต่ก็อยู่ในแกนกลางของข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในคลื่นลูกที่สาม ปัจจุบัน
ดร. วรภัทรเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการพิจารณารับหลักทรัพย์ และกรรมการบอร์ดโอทีซีชุดแรก
"ผมสนับสนุนเต็มที่กับการที่ซิทก้าเข้าเป็น DISIGNATED DEALER ซึ่งทำหน้าที่เป็นมาร์เกตเมกเกอร์ของหุ้นสินทรัพย์นครที่เทรดในตลาดโอทีซี
ตั้งแต่วันแรกหรือ DAY-ONE จะเป็นการลงทุนในการเรียนรู้ธุรกิจใหม่ มันอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าตลาดโอทีซีจะบูม
เมื่อถึงเวลานั้นเราบอกลูกค้าได้เลยว่าเราเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่จะเอาหุ้นลูกค้าเข้าตลาดโอทีซี
มันคุ้มที่จะโดดลงไปเล่นด้วย" นี่คือวิสัยทัศน์ของ ดร. วรภัทร
ตอนนี้เรามีอดีตนักเรียนทุนกสิกรไทยมาร่วมงานกับเรานับสิบคน" จากคำบอกเล่าของวีระ
ซิทก้าได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมหัวกระทิสำคัญ ๆ เช่น สมชาย วสันตวิสุทธิ์ที่จบฮาร์วาร์ดร่วมรุ่นเดียวกับ
ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ในช่วงเติบโตก้าวกระโดด ซิทก้าได้ขุนพลที่เต็มไปด้วยพลังคนหนุ่มสาวที่ผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์การเงินให้เคลื่อนไหวในทิศทางไร้พรมแดน
ไร้พันธนาการ
บุญเลิศ อันประเสริฐพร เป็นตัวอย่างหนึ่งของอดีตคนกสิกรไทยที่ลาออกมาร่วมงานกับวีระ
ด้วยวัยเพียง 31 ปีวันนี้บุญเลิศมีตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบัญชีลูกค้าพิเศษ
และผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบุคคล 1 ซึ่งล่าสุดรับผิดชอบโครงการ "ซิทก้า
เครดิต คลับ" ที่เปิดตัวยิ่งใหญ่แต่ไม่เร้าใจกับลีลาการพูดของบุญเลิศสลับฉากกับการฉายความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์
บนเวทีแถลงข่าว ทั้งวีระและบุญเลิศดูราว "คู่แฝด" จนนักข่าวบางคนสับสน
เนื่องจากมีหุ่นแบบพิมพ์นิยมลักษณะสั้น ท้วม เตี้ย บุคลิกสวมแว่นและลีลาคำพูดคล้าย
ๆ กัน
บุญเลิศเริ่มงานกับซิทก้าได้ 1 ปี 8 เดือน หลังจากที่เคยอยู่กสิกรไทยมาเกือบ
7 ปี โดยมีตำแหน่งล่าสุดเป็นหัวหน้าส่วนฝ่ายคอมพิวเตอร์ พื้นฐานการศึกษาบุญเลิศจบปริญญาตรี
สถิติศาสตร์ สถิติประยุกต์(ธุรกิจ) จากรั้วสีชมพูจุฬาลงกรณ์หลังจากนั้นได้สอบชิงทุนกสิกรไทยได้ไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ
จากมหาวิทยาลัยมินิโซต้า
"หลังจากที่ผมใช้ทุนที่กสิกรไทยเรียบร้อย ผมก็ร่วมงานที่ซิทก้า เพราะความต้องการส่วนตัวของผมอยากจะกระโดดมาอยู่อีกสนามหนึ่ง
ตอนแรกผมเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสายการตลาดและย้ายมาคุมด้านสินเชื่อบุคคล
ผมก็เอาเทคโนโลยีมาใช้ในงานบริการได้
ส่วนที่มองว่าทำไมที่นี่ผู้บริหารอายุน้อย ผมคิดว่าอายุไม่ใช่ตัวบอกว่าความสามารถของคนมีมากหรือน้อยแค่ไหนในช่วง
5 ปีที่ผ่านมาทุกคนทำงานหนักเราถึงวันนี้ได้ ซึ่งสิ่งที่เราได้มาไม่ใช่เรื่องฟลุ้กแต่เป็นความสามารถของทีมงาน"
นี่คืออหังการของ บุญเลิศหนึ่งในผู้บริหารดาวรุ่งคนหนึ่งที่ซิทก้า ซึ่งมีพลังแรกกล้าที่ฝันให้ไกล
ไปให้ถึงเป้าหมายการเป็นสถาบันการเงินของคนรุ่นใหม่ที่ให้บริการครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ปี
2000 ของวีระ มานะตรีคงชีพ ที่มักทำอะไรใหญ่เกินตัวเสมอ !