ข่าวร้ายยุคไร้สติปราบเซียนหุ้นสิ้นปี กดดันให้วิวัฒน์ ศรีสัมมาชีพต้องฆ่าตัวตายประท้วงตลาดหลักทรัพย์เปรียบไปก็เหมือนโศกนาฎกรรมในบ่อนการพนัน
ที่ผู้เล่นยอมรับกติกาบ่อนไม่ได้และมองโบกในแง่ร้ายกว่าความเป็นจริง กติกาที่ว่านี้คือมาตรการฟอร์ชเซลล์ที่บังคับขายหุ้นที่ไปวางค้ำประกันเงินกู้มาเล่นหุ้น
เพื่อลดความเสี่ยง
"แม้จะมีการประท้วงด้วยการยิ่งด้วยการยิงตัวตาย ก็ไม่ได้กระทบต่อหน้าที่ของผมเพราะจะทำอะไรต้องมีสติและรอบคอบ
ไม่ใช่เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งผมจะอยู่หน้าที่ในฐานะผู้นำของตลาดหุ้นต่อไป"
เสรี จินตนเสรียืนยัน ฐานะกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ต่อไป หลังหายช็อคจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา
การประท้วงกดดันให้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ลาออกครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก
ในปี 2525 ยุคตลาดหุ้นที่เคยซื้อขายกันวันละ 250 ล้านบาทต่อวัน ลดเหลือเพียงวันละไม่ถึง
10 ล้าน นักเล่นหุ้นรายย่อยแบบมาร์จิ้นต่างเจ็บหนักขณะที่โบรกเกอร์กลุ่มหนึ่งก็เรียกร้องให้กระทรวงการคลังยุคปู่สมหมาย
ฮุนตระกูลเป็น รมว. คลังเข้าช่วยเหลือภาวะซบเซานี้ ผลจากการแทรกแซงครั้งนั้นทำให้สามผู้บริหารระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์ยื่นใบลาออก
ได้แก่บัณฑิต บุณยะปานะ ประธานกรรมการ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กรรมการและผู้จัดการทั่วไป
และทวี วิริยฑูรย์ รองผู้จัดการ
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาของตลาดหลักทรัพย์โศกนาฏกรรมของผู้ลงทุนรายย่อยได้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี
2520 หุ้นของราชาเงินทุนของเสรี ทรัพย์เจริญที่ปั่นราคาจาก 275 บาท พุ่งขึ้นสูงสุด
2,470 บาท และภายในปีเดียวกันก็หล่นวูบลงเหลือ 375 บาท บริษัทราชาเงินทุนมีปัญหาชำระเงินคืนลูกค้าผู้ตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้
เพราะเช็คเด้งเนื่องจากแบงก์กรุงเทพปฏิเสธการจ่ายเงิน จนทางแบงก์ชาติต้องเพิกถอนใบอนุญาตนักเก็งกำไรที่กู้ยืมเงินทองทั้งหมดซื้อหุ้นเพิ่มทุน
เพื่อหวังรวยจากลูกหุ้นราคาถูกต่างก็สิ้นเนื้อประดาตัว บ้างก็โดดตึกฆ่าตัวตาย
บ้างก็เป็นบ้าเคาะกระดานสูง-ต่ำอยู่ในโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นที่น่าสลดสังเวชใจ
แม้เวลาจะเพิ่มประสบการณ์ชีวิต แต่สัจธรรมที่ว่าความโลภไม่เคยปรานีใครก็ทำให้เกิดเหยื่อรายใหม่
ๆ เกิดขึ้นเพราะคิดว่าเป็นคนละเรื่องที่น่าจะออกตัวได้ทัน แต่อนิจจา…กรณีของวิวัฒน์
ศรีสัมมาชีพก็เกิดขึ้นฟ้องตัวเองว่ากู้ยืมเงินเล่นหุ้นและติดหุ้นราคาสูงไว้
เมื่อถูกบังคับขายก็แทบบ้าฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงเสรี โชคร้ายที่วิวัฒน์ลืมคิดไปว่า
ในการพนันทุกชนิดคนรวยที่สุดคือ "เจ้ามือ" ส่วนคนที่เล่นชนะแล้วรู้จักเลิกเล่น
นั่นแหละคือหนทางรอด
ท่ามกลางความวิตกกังกลเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่ง ดร.
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นถึง 3 แสนกว่าล้านบาทหรือเกือบจะถึง
7% ของจีดีพี ทำให้นักลงทุนต่างชาติขนย้ายเงินหนีไปหาตลาดอื่น ๆ กระทบกระเทือนดัชนีหุ้นตกต่ำวันละ
15-20 จุด การแก้ไขปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดต้องใช้เวลาหลายปีที่จะลดยอดขาดดุลให้เหลือต่ำกว่า
1% ตามเป้าหมาย ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าต่อให้เทวดามาเกิดก็แก้ไม่ได้ระยะสั้น
แต่ที่หยิบกยมาเป็นประเด็นคือความไม่เชื่อมั่นในผู้บริหารกระทรวงการคลัง
"ถ้ามีความมั่นใจ ทุกคนก็จะยอมซื้ออนาคต แต่หลังจากที่ผ่านมา 3 เดือนต่างชาติดูแล้วไม่ค่อยแน่ใจก็เลยขายดีกว่า"
ดร. สมชายวิเคราะห์เหตุให้ฟัง
วิกฤตการณ์ตลาดหุ้นขณะนี้เป็นหนึ่งในแรงกดดันทางการเมือง ที่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล
และเศรษฐกิจโดยม็อบเซียนหุ้นและโบรกเกอร์ต่างดาหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล และรุกหนักทางกระทรวงการคลังให้แทรกแซงเข้าช่วยเหลือเหมือนละครฉากเก่า
ๆ ที่เคยเป็นมา
แรงกดดันทางการเมืองนี้ผลักดันให้บทบาทของสุรเกียรติ เสถียรไทย ในฐานะประธานกรรมการต้องออกมาทำหน้าที่
"หมอใหญ่" ผ่าตัดรักษาคนไข้โรคถุงเงินอักเสบ ด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตั้งแต่วันที่
20 พ.ย. ศกนี้ ด้วยการจัดสรรเงินกู้ 30,000 ล้านบาทที่ระดมย่านแบงก์กรุงไทยแก่ผู้เล่นหุ้นในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
10% ต่อปี
เม็ดเงินที่อัดฉีดไป 30,000 ล้านบาทนี้แบ่งเป็นสองก้อน ก้อนแรก 10,000
ล้านบาทให้กับนักเล่นหุ้นประเภทมาร์จิ้นผ่อนชำระโดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่มหรือบังคับขาย
ส่วนที่เหลือ 20,000 ล้านบาทเสริมสภาพคล่องโดยแบงก์กรุงไทยจะเป็นคนคัดเลือกให้สินเชื่อแก่บริษัทในสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
ที่จะเป็นผู้กำหนดซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง
นอกจากนี้การปรับลดอัตราอินนิเชียลมาร์จินลงจากเดิมที่คิดในอัตรา 40% เหลือ
30% ก็เพิ่มกำลังซื้อให้มากขึ้นเนื่องจากมีเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามาเสริมสภาพคล่อง
เสริมด้วยมาตรการที่ให้ออกซิเจนแก่คนไข้หนัก ด้วยการรับจำนำใบหุ้นเก่าซึ่งถือเป็นทางออกสำหรับผู้เล่นหุ้นที่ถูกบังคับขายในบางส่วนด้วย
แต่มาตรการระยะสั้นทั้งหลายทั้งปวงที่เร่งเสริมสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์นี้
มีปัญหาใหญ่ที่หนักหน่วงอยู่ประการเดียว คือคนไข้ไม่มั่นใจว่า "หมอใหญ่"
อย่างสุรเกียรติ์ เสถียรไทยจะชำนาญโรคหรือไม่ ?!
ดังนั้นข่าวร้ายสิ้นปีนี้จึงอาจจะเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีคลังคนใหม่ในปีหน้า
ขณะที่นักลงทุนรายย่อยก็ต้องเผชิญชะตากรรมยามเศรษฐกิจไร้ฟองสบู่