"พอล สมิธ เวลา 5 ปีกับความหวังใหม่ของฟุตบอลไทย ?"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ความล้มเหลวในการจัดแข่งขันฟุตบอลระดับชาติของไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลถ้วย ก.ควีนส์คัพ หรือคิงส์คัพฯ ที่แฟนบอลต่างเสื่อมศรัทธา และเข้าดูอย่างร่อยหรอลงไปนั้น เนื่องด้วยคณะกรรมการของสมาคมฟุตบอลชุดปัจจุบันและชุดก่อนหน้า ยังใช้วิธีการเดิม ๆ ด้วยการให้แต่ละสโมสรส่งทีมเข้าแข่งแบบสมัครเล่นแบบลวก ๆ ตลอดมา ความคิดที่จะสร้างทีมให้เป็นแบบอาชีพ และแข่งให้คล้ายคลึงกับอารยะประเทศที่เขามีบอลอาชีพกันไปนานแล้วนั้น ที่ผ่านมาเคยทำได้แค่ Semi-Pro League ซึ่งพังอย่างไม่เป็นท่าในเวลาต่อมา

มาบัดนี้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีกลเม็ดอันใหม่ที่จะมาปลุกผีวงการฟุตบอลอีกแล้วกับ "โครงการฟุตบอลไทยแลนด์ลีก" อันเป็นความฝันบรรเจิดอีกครั้งของสมาคมฟุตบอลฯชุดปัจจุบันที่มีวิจิตร เกตุแก้วเป็นนายกสมาคมฯ และธวัชชัย สัจจกุลหรือ "บิ๊กหอย" อุปนายกหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ที่หวังจะแก้ไขปัญหาหลักในความล้มเหลวของการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติที่ผ่านมา นั่นคือความผิดพลาดด้านการบริหารการตลาด โดยขาดทีมงานที่มีความสามารถในการหาสปอนเซอร์ที่เป็นกอบเป็นกำ และมีการวางแผนทั้งระยะสั้นระยะยาวในการสนับสนุนทีมชาติชุดปัจจุบัน และการเตรียมทีมชาติในอนาคต

ดังนั้นหลังจากคร่ำเคร่งกับการไขว่คว้าหามืออาชีพ ที่จะมาเป็นผู้บริหารการตลาดให้กับทีมชาติไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ก็มาเจอบริษัทอินเตอร์ เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ กรุ๊ป หรือไอเอ็มจี ที่สมาคมฟุตบอลโดยเฉพาะ "บิ๊กหอย"หมายมั่นปั้นมือไว้เป็นอย่างมากว่า ไอเอ็มจี นี่แหละจะเป็นผู้มาชุบชีวิตให้กับวงการฟุตบอลได้

ความยิ่งใหญ่ของไอเอ็มจีมีมากอย่างที่บิ๊กหอยหวังหรือไม่นั้น หากไปพื้นปูมหลังดูจะพบว่า ด้วยความเป็นบริษัทที่ปรึกษาของนักกีฬาชั้นนำทั่วโลกทางด้านการวางแผน และบริหารการตลาด อย่างเช่น พีท แซมพราส, อรันท์ซ่า ซานเชส วิคคาริโอ, อังเดร อากัสซี่ ซึ่งเป็นสุดยอดนักเทนนิส ปัจจุบัน หรือนิค ฟัลโด, เบริ์นฮาร์ด ลังเกอร์ นักกอล์ฟที่มีชื่อเสียง

นอกจากนั้นไอเอ็มจี ยังก้าวเข้าไปเป็นบริษัทร่วมจัดหาสปอนเซอร์ให้งานกีฬาครั้งใหญ่มากเป็นพิเศษ นับตั้งแต่การจัดตั้งสำนักงานสาขาที่ฮ่องกง และญี่ปุ่น การเป็นบริษัทรายแรกที่เข้าไปโปรโมทการกีฬาในจีนหรือการเข้าไปบุกเบิกถ่ายทอดกีฬาแบดมินตันอย่างจริงจัง จากที่ไม่เคยมีทำมาก่อน จนกลายเป็นกีฬายอดฮิตทางทีวีอีกอย่างหนึ่งโดยปริยาย

ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วโลก โดยมีสำนักงานถึง 63 แห่ง มีพนักงานประจำกว่า 2,000 คน และเพดานบินในการรับวางแผนการตลาดมาแล้วถึง 30 ปี พร้อมทั้งธุรกิจข้างเคียงเพื่อความครบวงจรของการรับงานเป็นที่ปรึกษา เช่น การจัดรายการโทรทัศน์ ด้านอสังหาริมทรัพย์ เหล่านี้ทำให้ ณ วันนี้สมาคมฟุตบอลให้ความสนใจกับศักยภาพของไอเอ็มจีดังว่าเป็นอย่างมาก

ซึ่งหลังจากมีการประชุมร่วมกันอย่างเคร่งเครียด ระหว่างสมาคมฟุตบอลกับไอเอ็มจีอยู่นานถึง 18 เดือน ก็ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการฟุตบอล "ไทยแลนด์ลีก" ว่า จะต้องนำระบบการจัดการสำหรับกีฬานี้โดยเฉพาะที่เรียกว่า "Total Football" โดยมีการปฏิวัติรูปแบบการจัดแข่งขันฟุตบอลระดับชาติใหม่ โดยอาศัยการจัดแข่งที่อาศัยต้นแบบจากยุโรป ที่ใช้วิธีแพ้ตกรอบทันที เพื่อความสะใจของผู้ชม โดยในขั้นต้นจะต้องมีการแบ่งสาย จัดกลุ่มที่มีฝีมือใกล้เคียงกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน

โดยไอเอ็มจี มีหน้าที่เป็นตัวแทนด้านการตลาดสำหรับการแข่งครั้งนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่การหาสปอนเซอร์ การจัดการด้านลิขสิทธิ์ในความครอบครองของสมาคมฟุตบอลนับตั้งป้ายโฆษณา บัตรเข้าชม การรับรองแขก วีไอพี กราฟฟิคแสดงชื่อและโลโก้สินค้าที่ปรากฏในจอทีวี รวมถึงการดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขันทั้งหมดด้วย

"ความล้มเหลวของการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยที่ผ่านมา เนื่องจากขาดการบริหารการตลาดที่ดีพอ เราจึงจำเป็นต้องจัดรูปแบบในการหาสปอนเซอร์แบบใหม่ โดยเราจะเลือกลูกค้าที่จะโฆษณาแบบ Package เป็นหลักโดยครอบคลุมสื่อทุกอย่างที่มีอยู่และเป็นสัญญาระยะยาว โดยเรากำหนดที่จะทำงานตามโครงการ Total Football ให้กับสมาคมฯ เป็นเวลา 5 ปี" พอล สมิธ รองกรรมการผู้จ้ดการด้านต่างประเทศ ในส่วนฟุตบอลของไอเอ็มจี ผู้เข้ามาเรียนรู้วงการกีฬาไทยระยะหนึ่งแล้ว กล่าวถึงสภาพข้อเท็จจริงของวงการฟุตบอลไทยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์และผลตอบแทนที่สมาคมฟุตบอลจะได้จากการที่ให้ไอเอ็มจี เข้ามาช่วยจัดการด้านการตลาดให้นั้น ทางไอเอ็มจียังไม่สามารถคิดคำนวณออกมาได้ว่าเป็นเท่าไร เนื่องจากต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับค่าโฆษณา และส่วนลดรวมถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่จะให้กับลูกค้าในอนาคตต่อไป แต่ทางไอเอ็มจียืนยันว่า รายได้จากสปอนเซอร์ สถานีโทรทัศน์ที่ทำการถ่ายทอด และการขายลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่ง จะเป็นทุนสำรองในการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนในระยะยาว รวมถึงฟุตบอลในระดับภูมิภาคด้วย

ดังนั้นการเข้ามาของไอเอ็มจีในครั้งนี้ อย่างน้อยก็เป็นการเปิดศักราชให้สมาคมฟุตบอลได้ปฏิวัติรูปแบบในการจัดการแข่งขัน ที่เคยแบ่งแยกการแข่งขันอกเป็นสารพัดถ้วย ให้เหลือเพียงถ้วยเดียว ทำให้เกิดความมีเอกภาพในการแข่งขันและทำให้ไทยแลนด์ลีคเป็นแมทช์ระดับชาติสมจริง นอกจากนั้น ความสมบูรณ์ของนักฟุตบอลอันเต็มเปี่ยมที่แต่ละสโมสรจะต้องทุ่มเทให้กับแมทช์นี้ บวกกับความตั้งใจใจจริงของแต่ละสโมสรที่จะต้องทุ่มเทพลังปั้นนักเตะเข้ามาบดในไทยแลนด์ลีคนี้ก็จะมีสูงขึ้น

ปัจจัยที่เปลี่ยนไปอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไอเอ็มจีเชื่อมั่นว่า การสร้างไทยแลนด์ลีกจะประสบความสำเร็จก็คือ การที่ไอเอ็มจีได้ "สัมปทาน" เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งมีเวลาพอที่ไอเอ็มจีจะลองผิดลองถูกกับตลาดฟุตบอลเมืองไทย และพร้อมที่จะทุ่มทุนในช่วงแรกเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าภายหลัง

ต่างจากผู้จัดรายการอื่น ๆ ที่รับผิดชอบเป็นปี ๆ ซึ่งจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะพ้นขาดทุนในช่วงสั้น ๆ การลงทุนระยะยาวจึงไม่เกิดขึ้น

และถ้าหากไอเอ็มจีเดินหมากทางการพัฒนาคุณภาพนักเตะแต่ละสโมสร ตามที่ได้ลั่นปากไว้นอกจากการวางหมากทางการตลาดแล้ว ก็จะถือเป็นก้าวสำคัญของวงการฟุตบอลไทยที่จะได้มืออาชีพขนานแท้ที่ยอมรับทั่วโลกมาแล้ว มาวางระบบในการพัฒนาสมาคมฟุตบอลไทยให้เป็นจริงเป็นจังเสียที

อย่างไรตาม มีความวิตกกังวลในหมู่ผู้เชี่ยวชาญวงการกีฬาว่า ฝีมืออย่างของพอล สมิธหรือจะปลุกปั้นวงการฟุตบอลไทยให้คึกคักขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายที่มีทั้งประสบการณ์และเข้าใจตลาดฟุตบอลไทยอย่างดีรวมทั้งสปอนเซอร์จำนวนมหาศาลก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันก็มีเสียงกังวลว่า บทบาทของไอเอ็มจีก็อาจจะไม่แตกต่างจากผู้จัดรายการแข่งขันคนก่อน ๆ ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ คือเป็นเพียงหา "สปอนเซอร์" รายใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีความสามารถในการจัดการแข่งขันแท้จริงและฟุตบอลก็จะเป็นเพียง "ธุรกิจ" ประเภทหนึ่งไม่ได้มีความหมายในเชิงพัฒนาวงการกีฬา ขณะเดียวกันสมาคมฟุตบอลเองก็คำนึงถึงผลตอบแทนเป็นหลัก ซึ่งไป ๆ มา ๆ ทุกอย่างก็จะเปรียบเสมือน "พายเรือในอ่าง" เช่นเดิม

พลอ สมิธ มีเวลาไม่เกิน 5 ปีในการพิสูจน์ความจริงข้อนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.