"เชสเตอร์ กริลล์ขึ้นแท่นอันดับ 2 เรื่องเหลือเชื่อของ "วีระพงษ์ สังคปรีชา"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมวางเป้าหมายไว้ว่าปีหน้า เชสเตอร์ กริลล์จะต้องก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของธุรกิจฟาสต์ฟูดบ้านเรา" วีระพงษ์ สังคปรีชา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัดเจ้าของลิขสิทธิ์ฟาสต์ฟูดเชสเตอร์ กริลล์ หนึ่งธุรกิจด้านอาหารของเครือซีพี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เป็นคำพูดที่หากจะต้องดำเนินการให้บรรลุผลแล้ว นับเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสเอาการ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันธุรกิจฟาสต์ฟูดมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมแข่งขันมากมาย จนทำให้เค้กก้อนนี้ต้องถูกแบ่งสรรปันส่วนซอยย่อยลงไปอีก

โดยเฉพาะกางวางตำแหนางเป้าหมายของเชสเตอร์กริลล์ ในครั้งนี้วีระพงษ์เปรียบมวยกับเคเอฟซี แมคโดนัลด์ และพิซซ่า ฮัท ซึ่งปัจจุบันเชสเตอร์ กริลล์ยังรั้งตำแหน่งอันดับ 4

วีระพงษ์กล่าวว่าโอกาสที่เชสเตอร์ กริลล์จะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองในปีหน้านั้นมีความเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ หนึ่ง-พัฒนาตัวสินค้าให้ผู้บริโภคยอมรับ สอง-มีเครือข่ายสาขาบริการอย่างทั่วถึง และสาม-ทำยอดขายได้ตามเป้า

เชสเตอร์ กริลล์ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2531 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่วีระพงษ์ ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มซีพี โดยเข้ามารับผิดชอบในส่วนของการพัฒนาธุรกิจฟาสต์ฟูดของคนไทย

วัตถุประสงค์ของกลุ่มซีพีในยุคนั้นคือต้องการที่จะผลักดันฟาสต์ฟูดฝีมือคนไทยให้ขึ้นเทียบชั้นระดับอินเตอร์ เพื่อขยายตลาดไปทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายของกลุ่มซีพีนับเป็นมุมมองเดียวกันกับวีระพงษ์ เขามีความต้องการที่จะสร้างชื่อฟาสต์ฟูดไทยให้มีโอกาสแข่งขันกับฟาสต์ฟูดระดับอินเตอร์ในเวทีโลกได้

จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาในฐานะเป็นผู้หนึ่งในการร่วมผลักดันเคเอฟซีในตลาดเมืองไทยกับกลุ่มเซ็นทรัลมานานถึง 5 ปี ทำให้เขาเชื่อว่าโอกาสที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับเชสเตอร์ กริลล์เป็นที่ยอมรับในฐานะฟาสต์ฟูดส์ระดับอินเตอร์นั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก

โดยเฉพาะเมื่อได้กลุ่มซีพีซึ่งมีความแข็งแกร่งในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน วัตถุดิบ เครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศและประสบการณ์จากความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ของเซเว่น-อีเลฟเว่น น่าจะเป็นจุดเอื้อความสำเร็จได้ไม่ยากนัก

แต่ก่อนที่จะผลักดันให้เชสเตอร์ กริลล์ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้บริโภคในประเทศยอมรับเสียก่อน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้บริหารของเชสเตอร์ฟู้ดต่างมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งตลาดในประเทศเป็นหลัก

สำหรับแผนงานการขยายธุรกิจของเชสเตอร์ กริลล์ได้กำหนดออกเป็น 3 ระยะ กล่าวคือระยะที่ 1 จะเป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อหยั่งฐานไประยะหนึ่ง ระยะที่ 2 จะเป็นการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์และระยะที่ 3 จะเป็นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

จะเห็นได้ว่าในขณะนี้การดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว

สำหรับตลาดต่างประเทศปัจจุบันเชสเตอร์กริลล์มีสาขาในประเทศจีนประมาณ 5 แห่ง และปีหน้ามีแผนที่จะขยายไปยังประเทศอินเดีย และเวียดนาม

ปัจจุบันเชสเตอร์ กริลล์มีเครือข่ายสาขาในประเทศ 21 แห่ง แบ่งเป็นสาขาที่ทางบริษัทดำเนินการเอง 18 แห่ง สาขาในรูปการขายแฟรนไชส์อีก 3 แห่ง

วีระพงษ์กล่าวว่าสำหรับแผนระยะยาวในส่วนของเครือข่ายสาขาทางบริษัทได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในระยะ 3 ปี เชสเตอร์ กริลล์จะขยายสาขาให้ครบ 100 แห่ง

รูปแบบการขยายสาขานับจากนี้ไปจะเน้นการขยายรูปแบบแฟรนไชส์เป็นหลัก โดยคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 90% ที่เหลืออีก 10% ทางบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเอง

ซึ่งหากแผนการขยายสาขาเป็นไปตามที่กำหนด คือ 20 แห่งต่อปี จะทำให้ภายในปีหน้าเชสเตอร์ กริลล์จะมีเครือข่ายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวมกันประมาณเกือบ 60 แห่ง

อย่างไรก็ตามในปีนี้จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดว่าจะขยายสาขาในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 20 แห่งแต่จากปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทำให้เป้าหมายจำนวนสาขาไม่สามารถดำเนินการได้ โดยคาดว่าภายในปีนี้บริษัทจะสามารถขยายสาขาได้เพียง 10 แห่งเท่านั้น

ซึ่งหากเชสเตอร์ กริลล์ ยังมีปัญหาในเรื่องการขยายสาขาที่ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ อาจทำให้โอกาสการก้าวขึ้นสู่อันดับสองในปีหน้านั้นเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันเรื่องเครือข่ายสาขาที่มีจำนวนมาก นับเป็นกลไกสำคัญที่มีส่วนสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ซึ่งแต่ละค่ายก็พยายามที่จะมุ่งเน้นกับการขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุด จะเห็นได้จากค่ายผู้ประกอบการมีความพยายามที่จะคิดค้นรูปแบบร้าน และบริการใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเช่นคีออส เทกโฮม ไดร์ฟทูเป็นต้น

"บุคลากรกำลังเป็นปัญหาของเรา และต้องยอมรับว่าบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญสุดของเราซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่าเป้าหมายที่เราวางไว้จะดำเนินการได้หรือไม่"

กรณีของการขยายสาขาในปีนี้ที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอเป็นเหตุ คือภาพสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

แผนการตั้งศูนย์เทรนนิ่งเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งเพื่อผลิตบุคลากรรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต คือทางออกที่วีระพงษ์กำลังให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะตระหนักดีว่าตราบใดที่ปัญหาเรื่องบุคลากรขาดแคลนยังแก้ไม่ตก โครงการต่าง ๆ ที่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนคงจะต้องชลอ

วีระพงษ์ยอมรับว่าตรงนี้คือปัญหา และกลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเป้าหมายในการนำเชสเตอร์กริลล์ผงาดขึ้นสู่อันดับ 2 ในวงการฟาสต์ฟูดไทยอาจจะยิ่งไกลเกินเอื้อม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.