"สุรางค์ เปรมปรีด์ โอกาสธุรกิจที่มากับคลื่นดาวเทียม"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

แล้วช่อง 7 ก็ขบปัญหาแตก ตัดสินใจเพิ่มระบบการส่งสัญญาณเป็นเคยูแบนด์ เสริมพลังซีแบนด์ที่ใช้อยู่ หลังจากปล่อยให้ปัญหาการรับ-ส่งสัญญาณเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน

จากเดิมนั้น ผู้ที่รับสัญญาณทีวีทั่วไปต้องใช้เสาอากาศธรรมดาที่เรียกกันว่า เสาอากาศก้างปลา เป็นตัวรับสัญญาณ เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศเปลี่ยนไป มีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมาย ทำให้พื้นที่หลายแห่งมีปัญหาในการรับสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นช่องใด ๆ เกิดอาการภาพซ้อน ภาพเป็นเงา หรือภาพเป็นเม็ดขึ้นแทบทุกพื้นที่ ยังไม่นับต่างจังหวัดที่แม้ไม่มีตึกมากเท่ากรุงเทพฯ แต่ก็มีภูเขาเป็นอุปสรรคเช่นกัน

บางพื้นที่ในต่างจังหวัด ประชาชนที่อยู่สุดหรือไกลจากรัศมีของคลื่นส่งของสถานีเครือข่ายที่ช่อง 7 มีอยู่ 30 สถานี ก็จะรับสัญญาณไม่ชัดเจน ถูกคลื่นรบกวน หรือถูกคลื่นจากสถานีโทรทัศน์อื่นที่ส่งเข้ามาพร้อมกันรบกวนเช่นกัน ทำให้การรับชมได้ไม่ดี หรือรับชมไม่ได้ ต้องลงทุนเป็นเงินหลายพัน บางหลังอาจจะเป็นเงินหมื่นเพื่อสร้างเสาอากาศสูง ๆ รับคลื่น

"ดิฉันคิดว่าต่อไป กรุงเทพฯ จะมีปัญหายิ่งกว่าต่างจังหวัดอีก เราจึงคิดว่าน่าจะทำตั้งแต่บัดนี้ก่อนที่ปัญหามันจะมากกว่านี้ ซึ่งงานเช่นนี้ใช่ว่าจะทำได้เลยเพียงวันสองวัน เราเตรียมงานเรื่องนี้มาประมาณหนึ่งปีแล้ว" สุรางค์ เปรมปรีด์ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ททบ.7) กล่าว

ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ช่อง 7 ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยเพิ่มการแพร่ภาพสัญญาณผ่านดาวเทียมด้วยความถี่ย่าน KU BAND ซึ่งทำให้ผู้ชมทั่วประเทศไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดของประเทศรับชมได้คมชัด ไม่มีสัญญาณรบกวน เพียงแต่ต้องใช้จานรับดาวเทียมแทน

ขนาดของจานรับสัญญาณที่จะใช้แทนเสาก้างปลาก็กว้างเพียง 2 ฟุต ติดตั้งง่ายไม่เกะกะ ราคา 6,900 บาท

วิธีการนี้ทำให้สัญญาณของช่อง 7 ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทยกว่า 80% มีเพิ่มเต็มร้อยในทันที ยังไม่นับประเทศที่ติดกับเราที่รับช่อง 7 ได้ชัดเจนอยู่แล้ว

สุรางค์กล่าวว่า "การดำเนินการครั้งนี้เราลงทุนไปเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท รวมค่าเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 2 ของบริษัทชินวัตรแซทเทิลไลท์ด้วยอีกประมาณ 40 ล้านบาทต่อปีซึ่งมากกว่าค่าเช่าใช้ในระบบซีแบนด์ถึง 3 เท่าตัว"

ทั้งนี้ในส่วนของชุดเครื่องรับสัญญาณที่ช่อง 7 จะนำเข้ามาจำหน่ายนี้ เป็นการว่าจ้างโรงงานในไต้หวันผลิตให้ภายใต้โลโก้ของช่อง 7 ซึ่งโรงงานนี้เป็นโรงงานที่ผลิตเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมมาเป็นนาน และปัจจุบันทำการผลิตส่งออกไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปด้วย

โดยการรับสัญญาณโทรทัศน์จากดาวเทียมโดยตรง (Diredt Broadcasting System : DBS) ในระบบเคยู แบนด์นี้ ทางช่อง 7 จะจำหน่ายชุดเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมด้วยตนเอง ซึ่งจะแต่งตั้งแทนจำหน่ายทั่วประเทศต่อไป ซึ่งคาดกันว่าคงเป็นร้านค้าเครื่องรับโทรทัศน์ทั่วไปที่ขายเสาก้างปลาอยู่แล้ว เพราะร้านพวกนี้มักมีทีมงานติดตั้งและรู้เทคนิคการรับสัญญาณโทรทัศน์เป็นอย่างดี

ระบบใหม่นี้ เมื่อผู้ชมทางบ้านซื้อชุดเครื่องรับมา จัดวางตามคำแนะนำไม่ว่าจะเป็นที่หน้าบ้าน เฉลียง กันสาด หน้าจั่วบ้าน หรือบริเวณพื้นที่ที่เปิดทางให้จานหันขึ้นสู้ท้องฟ้าได้ชัดเจนก็จะสามารถรับสัญญาณได้อย่างสบาย

โดยวิธีติดตั้งที่ง่ายที่สุดเพียงตัวเราหันหน้าไปทางทิศใต้ ยกแขนขึ้นสองข้าง ทางด้านขวามือคือทิศทางที่จะรับไทยคม 2 หรือรับช่อง 7 ให้เราหันจานไปทิศนี้ แล้วปรับจานเงยขึ้นมา 60 องศา เพียงเท่านี้เอง ง่ายกว่าติดตั้งเสาอากาศก้างปลามาก เพราะเราจะต้องหมุนปรับค่อนข้างใช้เวลาและต้องติดตั้งไว้สูง แต่เคยูแบนด์สามารถติดหรือวางไว้บนพื้นดินก็ได้ สิ้นพื้นที่ประมาณ 5 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น

ศรัณย์ วิรุฒมวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิควิศวกรรมและวางแผนของกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ กล่าวว่า "ขณะที่เราพัฒนาเป็นระบบใหม่ เราจะพัฒนาใช้ระบบนี้ส่งสัญญาณจากสถานีเครือข่าย หรือว่าศูนย์ข่าวต่างจังหวัดกลับมายังกรุงเทพฯ ให้สามารถรับชมกันได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่เรียกกันว่า SGN หรือ Sattelite News Gathering ซึ่งเป็นการรายงานข่าวสดผ่านดาวเทียม ที่จะเป็นจุดขายต่อไปของเรา"

หากเป็นไปได้อย่างที่ศรัณย์ว่าไว้ นั่นก็หมายความว่า ระยะเวลาอีก 10 ปี ที่กรุงเทพโทรทัศน์ฯ ได้ต่อสัญญากับกองทัพบก จะต้องเป็นระยะเวลาต่อสู้ทางการตลาดมากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง เพราะต่อไปช่องอื่นที่เหลือจะอยู่นิ่งไม่ใช้ระบบเคยู แบนด์ไม่ได้แล้ว ทุกช่องจะต่อกรกันที่ระบบเคยู แบนด์กันต่อไป

และหากอนาคตกรุงเทพโทรทัศน์ฯ สามารถได้สัมปทานการทำเคเบิลทีวีจากกรมประชาสัมพันธ์อีก 10 ช่อง การตลาดของเคยู แบนด์ก็จะยิ่งทวีความสำคัญเป็นเท่าตัว

บุญเต็ม ธเนศวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนา กล่าวทิ้งท้ายกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ที่ช่อง 7 ทำเช่นนี้นั้น เราไม่ได้มีเจตนาให้มีการซื้อเพิ่มหรือเปลี่ยนเครื่องรับนะครับ เราทำเพื่อสนองผู้ที่มีปัญหาการรับสัญญาณมากกว่า ถ้าคุณพอใจกับการรับสัญญาณแบบแล้ว ผมว่าก็ไม่จำเป็น ฉะนั้นขอให้เข้าใจความประสงค์ของเราด้วย"

แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม งานนี้ของช่อง 7 สีก็ถูกตีความว่าช่อยเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับไอบีซีของกลุ่มชินวัตร ในฐานะพันธมิตรและผู้ถือหุ้น

เพราะที่ผ่านมาไอบีซีประสบปัญหาในการเปลี่ยนเสาอากาศรับคลื่นของไอบีซีเป็นจานรับสัญญาณดาวเทียมจากดาวเทียมไทยคม หรือระบบไดเร็กต์ทูโฮม (ดีทีเอช) เนื่องจากเมื่อเปลี่ยนเป็นจานรับสัญญาณดาวเทียมแล้ว การรับสัญญาณจะจับได้เพียงจุดเดียว จากแต่เดิมบ้านหนึ่งสามารถเปิดโทรทัศน์รับชมไอบีซีได้ถึง 3 ช่องพร้อมกันลูกค้าก็เลยยังไม่ยอมเปลี่ยน

แต่สำหรับผู้ที่ซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมของช่อง 7 สี หากต้องการรับไอบีซีในอนาคตก็อาจจะมีบริการขายตัวแปรสัญญาณ (ดีโคดเดอร์) ประกอบ ทำให้รับไอบีซีได้ เพราะจานรับสัญญาณมีลักษณะเดียวกัน

ความสำคัญอยู่ที่ว่า จะมีผู้สนใจซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมของช่อง 7 สีมากขนาดไหน

ถ้ามีเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือโอกาสธุรกิจสำหรับไอบีซีอย่างไม่ต้องสงสัย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.