"สหกรุ๊ป จะเป็นได้แค่ "ผู้แทนจำหน่ายไอที

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"อี-เจี๊ยะ-จู้-เกี๊ย" คือคำในภาษาจีนที่แปลเป็นไทยว่า "กินดีอยู่ดี-เครื่องนุ่งห่มเยี่ยม-ติดต่อ-เดินทางสะดวก" กำลังจะกลายเป็นปรัชญาธุรกิจใหม่ของกลุ่มสหพัฒน จากที่เคยมีเพียงแค่สองคำแรก ในปรัชญาธุรกิจตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

นี่คือ คำประกาศของกลุ่มสหกรุ๊ป ที่จะเข้าไปสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในอนาคตอันใกล้นี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหกรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตธุรกิจอาหาร เครื่องนุ่งห่ม จะต้องหันมามองธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

เพราะนับตั้งแต่ 3-4 ปีมานี้ ธุรกิจโทรคมนาคม ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจ "ดาวรุ่ง" ที่ใครต่อใครต้องหมายปอง ไม่เพียงแค่รายได้ทางตรงจากตัวธุรกิจเองก็มีมูลค่ามหาศาล ยังไม่รวมถึงผลทางอ้อมธุรกิจ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ ด้วยกันแล้ว ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ตัวอย่างการเติบโตของยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมทุกวันนี้ อาทิ กลุ่มชินวัตร ยูคอม จัสมินที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ก่อร่างสร้างตัวจากบริษัทเล็ก ๆ หรือจากลูกจ้างของหน่วยงานรัฐและเอกชน มาเป็นเจ้าของกิจการมูลค่านับหมื่นล้านบาท แม้กระทั่งกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือล็อกซเล่ย์ ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจค้าไก่และซื้อมาขายไป ยังต้องกระโดดเข้ามาร่วมในธุรกิจนี้ รวมทั้งนักลงทุนหน้าใหม่ที่กำลังจะดาหน้าเข้ามาอีกมากมายบนธุรกิจสายนี้

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ทายาทคนที่สามผู้สืบทอดธุรกิจต่อจากนายห้างเทียมได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมาตลอดว่า ธุรกิจเทคโนโลยี และสื่อสารโทรคมนาคมจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่สหกรุ๊ป จะต้องขยายเข้าไปอย่างแน่นอน

สหกรุ๊ปเชื่อว่า ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถฟื้นฟูการเติบโตของบริษัทไปสู่สากล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อาศัยธุรกิจทางด้านนี้เป็นฐานยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายของกินของใช้ที่สกรุ๊ปทำอยู่ทุกวันนี้แม้ว่ายังคงมียอดเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตนี้ใช่ว่าจะคงที่ได้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตลอดเวลาดังเช่นในปี 2537 ที่อัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 13-15% จากที่เคยเติบโตถึง 30% ต่อปีมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่สหกรุ๊ปตระหนักดี

ที่จริงแล้ว สหกรุ๊ปเองก็เคยหาประสบการณ์ในธุรกิจสายนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ทำจริงจังเท่าใดนักเป็น ได้แค่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเท่านั้น ยังไม่เคยเดินหน้าไปถึงขั้นของการเป็น "ผู้ให้บริการ" แม้แต่ครั้งเดียว

อินเตอร์ฟาร์อีสท์วิศวการ นับได้ว่าเป็นบริษัทในเครือสหกรุ๊ป ที่มีความเคลื่อนไหวการลงทุนในธุรกิจไอทีค่อนข้างมากที่สุด แม้ว่าเส้นทางการลงทุนของอินเตอร์ฟาร์อีส์จะขลุกขลักก็ตาม

ทางด้านตัวของสหกรุ๊ปเอง ก็ได้มีการลงทุนในธุรกิจนี้ประปรายมาตลอดเช่นการลงทุนร่วมกับบริษัทซีคอมจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัทไทยซีคอมพิทักษ์กิจให้บริการรักษาความปลอดภัยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการประกาศจะลงทุนกับบริษัทเอ็นทีทีจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่จนบัดนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

เมื่อกลางปีนี้เอง ในช่วงที่บุณยสิทธิ์ ประกาศเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมนี้เองสหกรุ๊ปก็ได้เคยประกาศว่า จะร่วมลงทุนกับอาจารย์จากสถาบันพระจอมเกล้าลาดกระบัง ก่อตั้งบริษัทสหอินโฟ เทคโนโลยี เพื่อทำธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ครบวงจร อาทิ การให้คำปรึกษา แนะนำ วิเคราะห์ ออกแบบ ระบบคอมพิวเตอร์ พัฒนาซอฟต์แวร์ การฝึกอบรม ตลอดจนการดูรักษาและบริหารคอมพิวเตอร์

ทางด้านอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติก จำกัด หรือ ไอซีซี แม่ข่ายอีกขาหนึ่งของสหกรุ๊ป ที่ได้มีการลงทุนในเรื่องธุรกิจคอมพิวเตอร์มานานแล้ว เนื่องมาจากการที่ไอซีซีได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในกิจการมาตั้งแต่ปี 2528 และขยายงานเพิ่มขึ้นมาตลอด ประกอบกับบุณยสิทธิ์เอง ก็ชอบเล่นคอมพิวเตอร์เป็นงานอดิเรก จนทำให้ไอซีซีตัดสินใจกระโดดมาเป็นตัวแทนพีซีคอมพิวเตอร์ให้กับซัมซุง เป็นสินค้าชนิดแรก

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็ได้เป็นตัวแทนเครื่องเวิร์คสเตชั่น ยี่ห้อซิลิคอนกราฟฟิก ซึ่งสร้างความแปลกใจบรรดาผู้ค้าในวงการคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก เพราะซิลิคอนกราฟฟิก จัดได้ว่าเป็นสินค้าชั้นดีจากสหรัฐอเมริกา จึงน่าจะหาตัวแทนจำหน่ายที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มากกว่า เพราะไอซีซีเองไม่ได้เติบโตมาจากธุรกิจนี้และการทำตลาดของไอซีซีเป็นไปอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก

แต่ผู้บริหารของซิลิคอนกราฟฟิกกลับมองในทางตรงกันข้ามว่า ไอซีซีมีชื่อเสียงอยู่แล้ว และยังมีเครือข่ายธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นแขนขาในการกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเหตุให้ทุกวันนี้ไอซีซียังได้เป็นตัวแทนของซิลิคอนกราฟฟิกอยู่

ในขณะที่ซัมซุงนั้น ได้โอนย้ายมาอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทไทยซัมซุงซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างไอซีซีและซัมซุง เพื่อทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งคอมพิวเตอร์ของซัมซุง และนับว่าเป็นความฉลาดของไอซีซี ที่หันมาร่วมทุนกับเจ้าของสินค้า แทนที่จะเป็นแค่ตัวแทนขายอย่างเดียว เพราะไม่แน่ว่า เป้าหมายที่ไอซีซีอยากมีโรงงานผลิตสินค้าทางด้านนี้ขึ้นในไทยคงจะเกิดขึ้นได้

แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่ได้ช่วยให้สหกรุ๊ป ได้ใกล้ชิดกับธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และไอที มากไปกว่าการเป็นแค่ตัวแทนจำหน่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงาน และเส้นทางธุรกิจทางด้านนี้ของสหกรุ๊ปไม่ได้ราบรื่น เพราะการแข่งขันที่รุนแรง และตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดูได้จากผลดำเนินงานที่ผ่านมาของอินเตอร์ฟาร์อีทส์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในวันนี้ ที่ยอมให้ตะวันเทเลคอมเข้ามาร่วมทุนด้วย ก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตข้างหน้าสหกรุ๊ปอาจจะได้ชื่อว่า เป็นบริษัทโทรคมนาคมอีกรายที่มีบทบาทอยู่ในตลาด ตามที่บุณยสิทธิ์ตั้งเป้าหมายไว้ หรือไม่ก็ต้องหันไปแสวงหาพันธมิตร และธุรกิจใหม่ ๆ กันอีกครั้ง

สหกรุ๊ปเสียเวลาไปมากแล้ว และอาจต้องเสียเวลาไปอีกพอสมควรในธุรกิจไอที ถ้าการตัดสินใจครั้งนี้ไม่เป็นไปดังที่คาดหมาย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.