"อินเตอร์ฟาร์อีสท์-ตะวันเทเลคอม พันธมิตรกู้วิกฤต !"

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อถึงจุดตกต่ำ "อินเตอร์ฟาร์อีสท์" จำเป็นต้องดิ้นรนหาทางออก หลังจากที่พยายามมาหลายทางแล้ว "ณรงค์ เตชะไชยวงศ์" พบว่า เขาวนกลับมาที่เดิม จนในที่สุดมาพบกับ "ตะวันเทเลคอม" ของ "เธียร ปฏิเวชวงศ์" การเป็นพันธมิตรจึงเริ่มขึ้น สหกรุ๊ปต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองจากอินเตอร์ฟาร์อีสท์ และณรงค์ต้องลงจากบัลลังก์ผู้มีอำนาจเต็มเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี การกู้วิกฤตครั้งนี้จะทำสำเร็จหรือไม่? นี่คือก้าวกระโดดโชคหลายชั้นของคนชื่อ "เธียร" ? สหกรุ๊ปจะหลุดจากทางวิบากเข้าสู่ธุรกิจไอทีเสียที ? หรือในที่สุดพวกเขาต้องกลับไปที่เดิมอีกครั้ง?!

หากนับบรรดาผู้ค้าเครื่องถ่ายเอกสารเกือบ 10 รายที่อยู่ในตลาดเวลานี้ มีเพียงบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด แห่งเดียวเท่านั้น ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกเหนือจากเป็นบริษัทขายเครื่องถ่ายเอกสารบริษัทเดียวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว อินเตอร์ฟาร์อีสท์ยังมีกลุ่มสหกรุ๊ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

แต่หากจัดอันดับของเครื่องถ่ายเอกสารที่มียอดจำหน่ายสูงสุดแล้ว โคนิก้า/ยูบิกซ์ที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์เป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ กลับอยู่ในอันดับที่ 3 หรือ 4 เท่านั้น

ภาวะการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสาร และอุปกรณ์สำนักงานเท่านั้น

อินเตอร์ฟาร์อีสท์นั้นได้ชื่อว่า เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มสหกรุ๊ปไม่กี่แห่งที่ดำเนินธุรกิจค้าขายอุปกรณ์สำนักงาน

จุดกำเนิดของอินเตอร์ฟาร์อีสท์นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญก็ว่าได้ เมื่อบุณย์เอก โชควัฒนา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซันคัลเลอร์ และเป็นตัวแทนจำหน่ายฟิล์มของโคนิก้า ตอบตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารให้กับโคนิก้า ซึ่งขณะนั้นผู้บริหารกำลังปวดหัวกับการที่ต้องเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายบ่อย ๆ เพราะแต่ละรายทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย

ส่วนทางสหกรุ๊ปเองก็มีการขยายธุรกิจออกไปมากมาย การมีบริษัทค้ามาดูแลเรื่องอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และยังสามารถหารายได้อีกด้วยทุกอย่างจึงลงตัว

บริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์วิศวกิจ ที่บุญชัย โชควัฒนา เป็นผู้ก่อตั้งแต่ปี 2520 เพื่อให้บริการติดตั้งและเครื่องปรับอากาศให้กับบริษัทในเครือ ถูกโอนมาทำตลาดเครื่องถ่ายเอกสารโคนิก้า และต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็นอินเตอร์ฟาร์อีสท์วิสาหกิจ และบุณย์เอกได้ชักชวนณรงค์ เตชะวงศ์ มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

ณรงค์ คลุกคลีกับธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสารมาตลอด เพราะเขาเป็นทายาทคนหนึ่งของบริษัทเอฟเอ็มเอ เป็นธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารให้กับแคนนอน

ปี 2526 จึงเป็นการเปิดฉากธุรกิจค้าเครื่องถ่ายเอกสารของอินเตอร์ฟาร์อีสท์อย่างแท้จริง และมีทีท่าว่าจะไปได้ดี เพราะการแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก ลำพังลูกค้าในเครือสหกรุ๊ปก็มีเหลือเฟือ

เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี ณรงค์ เริ่มนำสินค้าเครื่องใช้สำนักงานประเภทอื่น ๆ มากขึ้น เช่นเครื่องแฟกซ์ ยี่ห้อ TEC และซันโย และเครื่องเย็บเล่มเอกสาร และเคลือบบัตร ยี่ห้อ GBC เพื่อหวังขยายกิจการ

"น้ำขึ้นในให้รีบตัก" คงใช้ได้ดีกับอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในเวลานั้น เพราะหลังจากได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในปี 2531 ในช่วงนี้เองณรงค์ ได้รุกขยายเพิ่มสินค้าเข้ามาจำหน่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร ยี่ห้อ ซันโย ที่ได้จัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ คือ รีโปรเมติกขึ้นมารับผิดชอบ และต่อมาเปลี่ยนเป็นยี่ห้อเร็กซ์โรตารี และจำหน่ายแฟกซ์นาชัวร์

พร้อมกับเพิ่มอุปกรณ์สำนักงานประเภทใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอีกด้วยการเป็นตัวแทนเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล ยี่ห้อ "ริโซ่" จากญี่ปุ่น การนำเครื่องฟอกอากาศ อินมาร์เฟล็กซ์เข้ามาทำตลาดโดยมอบหมายให้บริษัทไอเฟคเซอร์วิส ทำตลาด

ไม่เท่านั้น เมื่อตลาดพีซีคอมพิวเตอร์เริ่มบูม แม้จะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ แต่ณรงค์ก็ตัดสินใจไปลงทุนร่วมกับกลุ่ม "ไต้แส" ซึ่งทำธุรกิจเดินเรือ เปิดบริษัทชื่อว่า อินเตอร์คอมไบน์ เพื่อเป็นตัวแทนขายพีซีคอมพิวเตอร์ ฮุนได

ขณะเดียวกัน อินเตอร์ฟาร์อีสท์ได้สร้างอาคารสำนักงานใหญ่ ขึ้นที่แห่งใหม่ในซอยรามคำแหง 22

ภาพอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในเวลานั้นจึงดูสวยงามยิ่งนัก แม้ว่าจะยังไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับบริษัทในเครือสหพัฒนฯ แต่ก็นับได้ว่า สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างดี และยังมีเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ไว้ใช้ขยายธุรกิจ

แต่เส้นทางธุรกิจย่อมมีวันเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะธรรมชาติของสินค้าที่ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงปลายปี 2533 ต่อเนื่องจนถึงปี 2534 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ของไทยในปี 2535 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมาก

อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เป็นหนึ่งในบริษัทหลายแห่งที่โดนแรงกระทบเหล่านี้ด้วย เนื่องจากลูกค้าชะลอการตัดสินใจชื้อ จะเห็นได้ว่ารายได้ และผลกำไรของบริษัทตั้งแต่ปี 2534-2535 ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปี 2535 เกิดเหตุการณ์ค่าเงินเยนแข็งตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น รวมถึงอินเตอร์ฟาร์อีสท์ด้วยเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสาร โคนิก้า ซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้หลักให้กับอินเตอร์ฟาร์อีสต์มาตลอด จึงมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงอยู่แล้ว เพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างผู้ค้าด้วยกันก็ยิ่งรุนแรงเพราะทุกค่ายต่างต้องการล้างสต็อกออกไปให้เร็วที่สุด กลยุทธ์ทุกรูปแบบต่างถูกงัดมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งตัดราคาและเงินผ่อน

คู่แข่งรายสำคัญ ๆ อย่างซีร็อก ได้เคลื่อนไหวปรับปรุงบริการและเทคโนโลยี อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขา หรือการนำระบบคอมพิวเตอร์มาไว้ให้บริการ

"เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยบริการหลังการขายสูงมาก เพราะเป็นสินค้าละเอียดอ่อนต้องซ่อมบำรุงตลอดเวลาไม่เหมือนอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ" ประทิน บูรณบรรพต ประธานกรรมการบริหารของไทยฟูจิซีร็อกส์ ให้ความเห็น

โคนิก้าเอง แม้จะมียอดขายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 4 ในตลาดไม่สามารถแซงหน้าคู่แข่งอีก 3 รายไปได้ ซีร็อกส์ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ตามมาด้วยมิต้าและแคนนอน (ดูส่วนแบ่งประกอบ)

ณรงค์เองรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ดี จึงมีการนำระบบเงินผ่อน และการให้เช่าเครื่อง เพื่อหวังเพิ่มยอดรายได้ แต่การทำตลาดในลักษณะนี้ ต้องใช้ทั้งเงินทุนเป็นจำนวนมาก และเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องใช้เวลานานในการรับรู้รายได้

ที่สำคัญการแข่งขันกับผู้ผลิต อย่างซีร็อกส์ แคนนอน หรือ มิต้า ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของเงินทุน และเทคโนโลยีมากกว่า ตัวแทนจำหน่ายมากนักจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่อินเตอร์ฟาร์อีสต์จะขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้ง่าย ๆ

ขณะเดียวกันอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานประเภทอื่น ๆ ที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์นำเข้ามาทำตลาด เพื่อหวังจะเพิ่มขอดขายเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะเครื่องแฟ็กซ์หรือ เครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อใหม่ ๆ ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงในเรื่องราคาจนเป็นเหตุให้ณรงค์ต้องตัดสินใจเลิกเป็นตัวแทนขายไปในที่สุด

บริษัทในเครือบางแห่ง ก็ถูกปิดตัวลงในเวลาถัดมา ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์คอมไปน์ ที่จำหน่ายเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ของฮุนได และรีโปรเมติก ที่ทำตลาดเครื่องถ่ายเอกสารซันโย และเร็กซ์โรตารี่ เครื่องแฟกซ์ยี่ห้อนาชัวร์

ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่ไม่ต้องเผชิญกับหน้าคู่แข่งมากนัก เช่น เครื่องฟอกอากาศ อินมาร์เฟล็กซ์ หรือเครื่องพิมพ์สำเนา ริโซ่กราฟ

รวมทั้งบริษัทไอรีส แอนด์ ไอเฟคที่ณรงค์ไปร่วมลงทุนกับกลุ่มธุรกิจคนไทยและสิงคโปร์ เพื่อจำหน่ายและติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม MFG/PRO ที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีอยู่

ณรงค์รู้ดีว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปคงไม่ดีแน่ แม้ว่ารายได้หลักในเวลานี้จะมาจากโคนิก้า แต่ก็เสี่ยงเกินไปที่จะยึดธุรกิจนี้ไว้อย่างเดียวเพราะจะไม่มีวันแข่งขันกันผู้ผลิตทำตลาดเองแน่ และยังไม่รู้ว่าโคนิก้าจะสนใจมาร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ หากวันดีคืนดีโคนิก้ามาบอกยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของเอฟเอ็มเอ มาแล้ว ก็คงแย่แน่

นอกจากนี้ อินเตอร์ฟาร์อีสท์ ยังเคยได้บทเรียนจากการที่ ริโซ่กราฟ เข้ามาตั้งบริษัทในไทย และทำตลาดเอง ทำให้อินเตอร์ฟาร์อีสท์กลายสภาพเป็น 1 ในดีลเลอร์เท่านั้น

ทางออกที่ณรงค์เลือก คือ การหา "พันธมิตร" เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเสริมรายได้ เพราะสิ่งที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ ขาด คือ ประสบการณ์ ตัวณรงค์ก็เชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องธุรกิจค้าเครื่องใช้สำนักงานเท่านั้น

"ผมไม่อยากเริ่มจากศูนย์ ผมอยากเริ่มจากสิบหรือจากร้อย ดังนั้นสิ่งที่จะไปได้เร็วที่สุด คือ การหาพันธมิตร ผมยอมรับว่าผมไม่มีเวลา" ณรงค์เล่า

ตลอด 2 ปีมานี้ เวลาส่วนใหญ่ของณรงค์ จึงหมดไปกับการแสวงหาพันธมิตรทั้งการหาข้อมูลจากข่าวสาร และการไปติดต่อขอพบกับกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะร่วมมือกันได้

ผลที่เกิดขึ้นคือ อินเตอร์ฟาร์อีสท์มีแผนกอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (ไอที) เกิดขึ้นในบริษัท เพื่อทำธุรกิจวางระบบจัดเก็บเอกสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าอินฟอร์ม่า โดยได้ว่าจ้างทีมงานทั้งหมดของบริษัทยูนิเวอร์แซล อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อินฟอร์ม่านี้เข้าทำงานในบริษัท

พร้อมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ ทางด้านโทรคมนาคมมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยาอิสึ ระบบเคเบิลรวมสัญญาณ

นอกจากนี้ ณรงค์ยังเข้าไปลงทุนในโครงการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงานของ บริษัทยูบี เฮเวิร์ท (ประเทศไทย) และยังได้ลงทุนในบริษัทเอกปกรณ์ ทำธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง

ในปี 2537 ณรงค์ ตัดสินใจไปซื้อหุ้นในบริษัท ซิโนเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการข้อมูลออนไลน์ จากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ ณรงค์ต้องการจะเข้าสู่ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการไปสู่ธุรกิจการผลิต คือการตั้งโรงงานผลิตเครื่องสำรองกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ UTS เพื่อวางตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะซิโนเทคมีฐานธุรกิจเหล่านี้ในต่างประเทศอยู่แล้ว

รวมทั้งลงทุนในบริษัทยูไนเต็ด บิสซิเนส เซ็นเตอร์ เพื่อทำธุรกิจให้เช่าสถานประกอบการแก่ลูกค้า และการลงทุนจัดตั้งบริษัทสมาร์ทพรินท์ ทำธุรกิจศูนย์การพิมพ์ ครบวงจร

สังเกตได้ว่า การลงทุนของณรงค์ในครั้งนี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย และมีการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการมากขึ้น เช่น ธุรกิจไอที และการลงทุนร่วมกับซิโนเทค และศูนย์บริการสมาร์ทพรินท์

นอกจากนี้ ณรงค์ยังกระจายความเสี่ยง ด้วยการไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ให้เช่าอุปกรณ์สำนักงาน

ผลลัพธ์ที่เกิดจากการลงทุนครั้งนั้น คือไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่ณรงค์ไม่เคยเชี่ยวชาญมาก่อน ณรงค์ยอมรับว่า ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา อินเตอร์ฟาร์อีสท์ ไม่มีการเติบโตขึ้นเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้

"การลงทุนในครั้งนั้นจึงได้แต่ผลทางอ้อมมากกว่า" ณรงค์ กล่าว

เขาตัดสินใจยกเลิกแผนกอินฟอร์เมชั่น ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นธุรกิจแนวใหม่ลงพร้อมกับทีมงานเดิมของ ยูนิเวอร์แซลอินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ ลาออกไปตั้งบริษัทใหม่

ณรงค์ เล่าถึงสาเหตุการลงทุนในครั้งนั้นว่า เพื่อรองรับกับอนาคต เพราะเขาเชื่อว่า ต่อไปอุปกรณ์สำนักงานจะเชื่อมโยงกัน และระบบจัดเก็บเอกสารจะเป็นทุกอย่างที่จะอยู่ในนั้น

แต่เขาลืมไปว่า การทำธุรกิจไอทีต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะในเรื่องบุคลากร ที่จำเป็นต้องจ้างคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามา ทำให้รายได้ไม่คุ้มกับเงินลงทุนที่ลงไป

พร้อมกันนี้อินเตอร์ฟาร์อีสท์ได้ยกเลิกเป็นตัวแทนขายโทรศัพท์มือถือ ยาอิสึ เพราะการแข่งขันในธุรกิจนี้สูงมาก

ส่วนธุรกิจอื่น ๆ เช่น ซิโนเทคยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และให้เช่าสำนักงาน

แต่จากลองผิดลองถูกในครั้งนั้น แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่ณรงค์ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่า การเดินหน้าหาพันธมิตรต่อไป ซึ่งดีกว่าจะมารอแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า

จากประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้มุมมองของณรงค์ในวันนี้ก็เปลี่ยนไป มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น ณรงค์เล่าว่า สิ่งที่เขาอยากได้จากพันธมิตร คือ มาช่วยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรักษาและขยายธุรกิจอุปกรณ์สำนักอันเป็นธุรกิจดั้งเดิมและ ยังเป็นส่วนที่ทำรายได้หลักในเวลาเอาไว้ เพราะจากบทเรียนในอดีต ทำให้เขารู้ว่าหากแข็งแกร่งในด้านนี้เมื่อใด โอกาสที่จะถูกยกเลิกสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายย่อมไม่มี และผู้ผลิตจะเข้ามาหาเอง

เป้าหมายที่สอง คือ การเข้าไปในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีการเติบโตสูง ซึ่งคงหนีไม่พ้นธุรกิจโทรคมนาคม

เธียร ปฏิเวชวงศ์ อดีตมืออาชีพของกลุ่มเลนโซ่ ที่ลาออกมาด้วยความฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมและพลังงานภายใต้ชื่อตะวันกรุ๊ป คือพันธมิตรที่ลงตัวมากที่สุดในสายตาของณรงค์

"ผมยอมรับว่า คุยมากับหลายรายแล้วในวงการไอที แต่บางรายก็ต้องการทำแค่ธุรกิจบางอย่าง หรือ บางรายเขาก็ใหญ่เกินไป ทำให้ขั้นตอนเยอะไม่ลงตัว แต่พอมาเจอคุณเธียร ผมบอกได้เลยว่าเป้าหมายของเราตรงกัน" ณรงค์เล่า

เธียรเคยเป็นมืออาชีพที่เคยทำตลาดวิทยุติดตามตัว "อีซีคอล" จนลือลั่นมาแล้วและยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมหลายโครงการให้กับกลุ่มเลนโซ่ และเขาก็ให้เลนโซ่ต้องประสบความยากลำบากเพราะขยายธุรกิจแบบอหังการมาแล้ว

ที่สำคัญ เธียรกำลังมุ่งมั่นอยู่กับความฝันในการสร้างอาณาจักรของตัวเองซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการโทรศัพท์มือถือรายที่ 3 โทรศัพท์พื้นฐาน และพลังงาน ซึ่งเขาได้ร่วมกับกลุ่มสยามสตีล กลุ่มเอบีบี เข้าประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอบีบี

ด้วยบุคลิกเช่นนี้ ทำให้ณรงค์เชื่อว่าเธียรจะมาช่วยเติมส่วนที่ขาดให้เต็ม เพราะอินเตอร์ฟาร์อีสท์มีเงินแต่ขาดประสบการณ์และบุคลากร ในขณะที่เธียรมีประสบการณ์และทีมงาน และความทะเยอทะยาน แต่ขาดแหล่งเงินทุน

ข้อตกลงของการร่วมมือระหว่างบริษัททั้งสองในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันเท่านั้น แต่หมายถึงการ "ผนึก" บริษัททั้งสองรวมกัน

ตะวันเทเลคอมได้เข้าไปถือหุ้น ในบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ ด้วยสัดส่วน 24% ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มสหกรุ๊ปที่ถือครองอยู่ 51% ลดลงเหลือ 40 กว่า % และหุ้นที่เหลืออีกประมาณ 40% เป็นของนักลงทุนรายเก่าและใหม่

เธียรพร้อมผู้บริหารจากตะวันเทเลคอมอีก 2 คน คือ อนุวัฒน์ หลายกิจรุ่งและศุขโต พุ่มมาลี จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่ แทน บุญชัยโชควัฒนา, สมศักดิ์ ธนสารศิลป์ และมงคล ศีธนาบุตร ซึ่งคณะกรรมการเดิมที่ลาออกไป

อินเตอร์ฟาร์อีสต์จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยตัวบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสต์จะกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งกึ่งอินเวสเม้นท์ ที่ประกอบธุรกิจค้าเครื่องใช้สำนักงาน และจะเข้าไปลงทุนในบริษัทลูกที่ทำธุรกิจโทรคมนาคม 2 แห่ง คือตะวันฟาร์อีสท์เทเลคอม และบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์เทเลคอม

บริษัทตะวันฟาร์อีสท์ เทเลคอม หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ตะวันเทเลคอม ที่ยุบมารวมอยู่ในบริษัทแห่งนี้ จะทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์มือถือ ตู้โทรศัพท์สาขาอัตโนมัติ รวมทั้งจะเข้าประมูลโทรศัพท์มือถือรายที่ 3 ซึ่งจะมอบหมายให้อนุวัฒน์ หลายกิจรุ่ง อดีตมือการตลาดของซีร็อกส์ และกรรมการผู้จัดการเลนโซ่ เพจจิ้ง ซึ่งสนิทสนมกับเธียรมานานนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

เธียรชี้แจงว่า ในช่วงแรกนี้ ตะวันฟาร์อีสท์เทเลคอม อาจจะเริ่มด้วยเป็นผู้ให้บริการหรือเซอร์วิส โพรไวเดอร์โทรศัพท์มือถือระบบพีซีเอ็น 1800 ให้กับแทคก่อนเพราะได้มีการเจรจากับผู้บริหารของแทคไปแล้ว

ส่วนบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์เทเลคอมเป็นบริษัทลูกอีกแห่งที่ตั้งขึ้นเพื่อเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมาย ที่จะมีการแบ่งออกเป็น 6 โซนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

อินเตอร์ฟาร์อีสท์ จะเข้าร่วมทุนกับโอปะเรเตอร์จากต่างประเทศอีก 2-3 ราย จะมอบหมายให้ดำริห์ เอมมาโนชญ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ เลนโซ่เทเลคอมมิวนิเคชั่น ซึ่งสนิทสนมกับเธียรมานานนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

ตามข้อตกลงที่ทั้งสองบริษัททำร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้ อินเตอร์ฟาร์อีสท์จะต้องเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทตะวันเอ็นเนอยี่ซึ่งทำธุรกิจพลังงาน เพื่อยุบมาเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งของอินเตอร์ฟาร์อีสท์

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าธุรกิจของกลุ่มตะวันจะถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้อินเตอร์ฟาร์อีสท์ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็เป็นโครงสร้างธุรกิจของอินเตอร์ฟาร์อีสต์ ก็คือ โครงสร้างธุรกิจของตะวันเทเลคอมที่เธียรได้กำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น

ไม่เท่านั้นโครงสร้างการบริหารจะถูกปรับใหม่หมด เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจแนวใหม่ เธียรเล่าว่า จะมีการจัดต้องคณะกรรมการบริหาร (EXCUTIVE COMMITTEE) ขึ้น เพื่อรับผิดชอบการบริหารงานทั้งหมดของอินเตอร์ฟาร์อีสท์ และเธียรจะนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบอร์ดชุดนี้ และมีณรงค์ ซึ่งยังคงรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ในบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ มาเป็นรองประธานกรรมการบริหาร

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานในลักษณะนี้ เท่ากับว่า เธียร จะเข้ามีบทบาทในการบริหารงานทั้งหมดของบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารของบอร์ดบริหาร ซึ่งแม้ว่าณรงค์จะยังคงร่วมบริหารงานเช่นเดิมก็ตาม แต่โดยตำแหน่งแล้วเธียรมีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าณรงค์ และการดำเนินงานของณรงค์ในธุรกิจโอเอ จะต้องรายงานให้เธียรรับรู้ด้วย ในฐานะประธานบอร์ด

เธียรกล่าวว่า สาเหตุที่เขาต้องไปมีบทบาทในการบริหารงานในลักษณะนี้เพราะบทเรียนในสมัยที่ทำงานกับเลนโซ่ที่ไม่ได้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาต้องลาออกจากเลนโซ่

"ผมบอกเขาแต่แรกเลยว่า ผมจะต้องเป็นประธานกรรมการบริหาร ซึ่งตอนที่บอกเขาอื้งไป แต่พออธิบายให้ทางผู้บริหารของสหพัฒนฯ ฟังเขาก็เข้าใจ เพราะสหพัฒน์เองก็รู้ว่าเขาจะต้องปรับอย่างไร" เธียรเล่า

กระนั้นก็ตาม แม้ว่าณรงค์ จะยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องให้มีผู้บริหารใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งเปรียบแล้วก็เหมือนกับการมอบ "อาวุธ" ในการต่อกรกับศัตรู ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ตาม

แต่ณรงค์ ก็ยืนยันถึงตำแหน่งของเธียรในครั้งนี้ว่าเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของ ตะวันฟาร์อีสท์เทเลคอม และกรรมการของบริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสท์เท่านั้น ไม่ได้มีการแต่งตั้งบอร์ดบริหารแต่อย่างใด ซึ่งเขาจึงเสนอให้เธียรเป็นรองประธานกรรมการของบอร์ดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง

คำกล่าวเช่นนี้ของณรงค์ ไม่แน่ว่าเขาอาจยังไม่อาจรับข้อเสนอของเธียรก็เป็นได้และไม่แน่ว่าการเจรจาอาจยืดเยื้อออกไปอีก

แต่ที่แน่ ๆ การแสวงหาธุรกิจใหม่ของอินเตอร์ฟาร์อีสท์ในครั้งนี้ หากเปรียบเป็นเงินแล้ว ต้องแลกด้วยราคาค่างวดที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นครั้งแรกที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ยอมเปิดทางให้มีผู้ถือหุ้น และผู้บริหารกลุ่มใหม่เข้ามานั่งในองค์กร ซึ่งณรงค์ เองยอมรับว่า ต้องใช้เวลาอธิบายให้กับผู้ใหญ่ในสหกรุ๊ป ซึ่งมีบางคนที่เข้าใจ และบางคนที่ยังไม่เข้าใจ

แต่ณรงค์ยังเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ต้องเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เขาทำในวันนี้ จะคุ้มค่าแน่ กับบุคลากรและประสบการณ์ที่จะได้จากตะวันเทเลคอม ในการจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในวันข้างหน้า

"ที่ผ่านมาอินเตอร์ฟาร์อีสท์ ทำได้แค่การขายอุปกรณ์เท่านั้น และในอนาคตนี้เมื่อรัฐเปิดเสรีโทรคมนาคม เราก็พร้อมที่จะเข้าไปได้ทันที และคุณเธียรเขาก็มีความพร้อมในเรื่องประสบการณ์ และเราก็มีความพร้อมในเรื่องของเงินทุน การร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการลงตัวที่สุด" ณรงค์กล่าว

แน่นอนว่า นับจากอินเตอร์ฟาร์อีสท์ จะต้องเป็นบริษัทที่ต้องถูกจับตามอง ในฐานะของบริษัทในเครือของสหพัฒนฯ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งในฐานะของบริษัทผู้ค้าอุปกรณ์สำนักงานคิดจะพลิกผันธุรกิจ

หากสำเร็จ ไม่เพียงแต่อินเตอร์ฟาร์อีสท์ จะหนีวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นมาในบริษัทเท่านั้น แต่กลายเป็นบริษัทหัวหอกของสหกรุ๊ปที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมได้เจตนารมณ์ แต่หากพลาด ณรงค์อาจต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการหา "พันธมิตร" ใหม่อีกครั้งก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.