"มาเฟียกีฬาไทย จะ "หามปีก" กันไปถึงไหน ?"

โดย สุชาติ สวัสดิยานนท์ วรสิทธิ ใจงาม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

การบริหารกีฬาไทยถูกครอบงำด้วยผู้บริหารไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่ม ผู้อาวุโสเหล่านี้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นและความเสียสละพัฒนาวงการกีฬาอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีพวกเขา กีฬาไทยจะแตกดับแน่ ๆ ? ชื่อ "เสธ. ทวี-บิ๊กจา-สันติภาพ-รองณัฐ ฯลฯ "ต้องอยู่กับกีฬาไทยจนกว่าจะล้มกัน ไปข้าง ? แท้จริงแล้วปัญหาของกีฬาไทยไม่ได้อยู่ที่งบประมาณหรือตัวนักกีฬา แต่อยู่ที่การผูกขาดอำนาจการบริหารจริงหรือไม่ ถึงเวลาต้องโค่นมาเฟียกีฬาไทยแล้ว !

กีฬาไทยกับความตกต่ำในเอเชียนเกมส์เมื่อครั้งที่แล้ว ที่ได้เพียง 1 เหรียญทองกับความเป็นเจ้าซีเกมส์ที่หลุดลอยไป และจำเป็นต้องมาทวงคืนศักดิ์ศรีกันใหม่ใน พ.ศ. นี้ ปัจจัยที่ทุกฝ่ายลงความเห็นตรงกันในความตกต่ำ นั่นคือการบริหารวงการกีฬาไทยยังขาดเอกภาพ และไม่เป็นมืออาชีพ และข้อสำคัญคือ "ผูกขาดอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มเดียว" ซึ่งจะมีหนทางใดหรือไม่ที่จะ "หยุดโลก" ให้บรรดาผู้อาวุโสในวงการเหล่านี้ลงจากเวทีกีฬาไทยได้เสียที

หากประมวลถึงสาเหตุทั้งหมด ที่เหล่ามาเฟียทั้งหลายจะต้องยึดติดเก้าอี้สำคัญในวงการกีฬาแล้ว การเปิดโอกาสให้พระราชบัญญัติ หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในวงการ ซึ่งประหนึ่งว่าต่างฝ่ายต่างอยู่นั่นเองที่เป็นต้นเหตุทำให้ผู้มีอิทธิพลในวงการสามารถอยู่เสวยสุขได้เป็นเวลานานจากพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พ.ศ.2528 อันเป็นกฎเกณฑ์ที่สามารถควบคุมวงการกีฬาได้ทั้งหมด ได้กล่าวถึงวาระในการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการสมาคมกีฬาทั้งหลายว่า ให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับแต่งตั้งได้อีกในวาระที่ 2 แต่หากเกินวาระที่ 2 แล้ว จะทำได้ต่อเมื่อกรรมการผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไปด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกทั้งหมดของสมาคม

กฎเกณฑ์ดังว่านี้ สามารถบังคับใช้ได้กับทุกสมาคมกีฬาซึ่งมีอยู่ 23 สมาคม ยกเว้นเพียงแต่

คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย (OLYMPIC COMMITTEE OF THAILAND หรือ OCT) เท่านั้น

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยคณะกรรมการโอลิมปิกไทย ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2492 นั้น แม้ว่าจะต้องขึ้นตรงกับ กกท. ตามพรบ. การกีฬาฯ ดังกล่าว แต่ด้วยอภิสิทธิ์ที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีรากฐานมาจากคณะกรรมการโอลิมปิกจึงเพียงแต่ไปจดชื่อขึ้นสังกัดกับ กกท. เท่านั้น โดยยังดำรงความเป็นเอกเทศในฐานะองค์การระหว่างประเทศได้ต่อไป

ดังนั้นโอลิมปิกไทย จึงสามารถเปิดโอกาสให้ พล อ. อ. ทวี จุลละทรัพย์ "ทุเรียนเหล็กแห่งบ้านอัมพวัน" นั่งแป้นในเก้าอี้ประธานคณะกรรมการมาได้จนถึงปัจจุบันเป็นสมัยที่ 5 แล้วนั่นหมายถึงว่า ด้วยวาระกรรมการของโอลิมปิกสากล ที่โอลิมปิกไทยยึดมาใช้ที่จะต้องอยู่ในเก้าอี้ 4 ปีต่อหนึ่งวาระแล้ว "ทุเรียนเหล็กแห่งบ้านอัมพวัน" ผู้นี้ก็อยู่ในตำแหน่งมาถึง 20 ปีในปี 2539 ที่จะถึงนี้ และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคู่แข่งคนใดที่จะหาญขึ้นมาทาบได้ เนื่องด้วย เสธ. ทวี เป็นผู้สร้างบารมีและวางเครือข่ายความเคารพนับถือในระดับสากลไว้อย่างสมบูรณ์

จึงเป็นที่แน่นอนว่า เสธ. ทวีก็จะต้องถูก "หามปีก" เข้าไปรับตำแหน่งประธานโอลิมปิกไทย อีกวาระหนึ่ง ถึงแม้ว่าสังขารในปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม

สาเหตุที่ผู้มีบารมีในวงการกีฬาเช่น โอลิมปิกไทย ยึดติดในเก้าอี้อย่างเหนียวแน่นนั้น คำว่าใจรัก ดูจะเป็นคำที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยเมื่อกล่าวถึงความเสียสละของผู้มีบารมีที่ต้องทุ่มเทเวลาให้กับวงการโดยไม่เคยคิดเรื่องส่วนตัว กรณี เสธ. ทวี จะได้รับการยกย่องจากผู้ใกล้ชิดที่มีบารมีด้วยกันเสมอว่า ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ IOC การดึงความช่วยเหลือมาพัฒนานักกีฬาไทย หรือการล็อบบี้ให้มีการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติขึ้นในไทยนั้นจึงกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับ เสธ. ทวีผู้นี้

"วิกฤติการณ์ครั้งสำคัญที่ผ่านมาเมื่อจะต้องล็อบบี้ให้ทางซัมซุงช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้ในจำนวน 225 ล้านบาท สำหรับเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ ถ้าหากไม่ได้ เสธ. ทวีช่วยล็อบบี้กล่อมให้ซัมซุงยอมแล้ว เอเชียนเกมส์ครั้งนี้คงลำบากแน่ กีฬาบ้านเราที่อยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะมีท่านคอยช่วยเหลืออยู่ คิดว่าคนไหนที่ดีกว่าท่าน คุณจะเอาใครที่คนในวงการกีฬาและการเมืองให้ความเคารพนับถือได้เท่าท่าน" สันติภาพ เตชะวณิช เหรัญญิกและรองเลขาธิการโอลิมปิกไทย หนึ่งในผู้มีบารมีของวงการกีฬาไทยกล่าว

การอยู่ในตำแหน่งเป็นระยะยาวนานของ เสธ. ทวีนี้ ถือได้ว่าเป็นการทำตามธรรมเนียมของ IOC ที่ทำกันมาทั่วโลกเพราะอย่าง ฮวน อันโตนิโอ ซามาลานซ์ ประธาน IOC ก็เป็นมานาน 3-4 สมัยแล้ว ธรรมเนียมปฏิบัติของ IOC นี้สืบเนื่องมาจากความคุ้นเคยในบุคคลระดับวีไอพีของแต่ละชาติ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงหน้าใหม่เข้าไปแล้ว ความสัมพันธ์ก็จะต่อไม่ติด ส่งผลให้ประเทศนั้นขาดสิทธิพิเศษที่พึงมีพึงได้ไปในที่สุด และด้วยธรรมเนียมปฏิบัติอันนี้เองทำให้การวางตัวตายตัวแทนที่จะขึ้นมามีบทบาทในอนาคตของโอลิมปิกไทย จึงต้องวางผู้มีบารมีไว้เป็นลำดับชั้น เพื่อให้สามารถสืบทอดเจตนารมณ์ได้ต่อไป

โดยปัจจุบันผู้มีบทบาทในโอลิมปิกไทยถัดจาก เสธ. ทวี ก็คงหนีไม่พ้น พล. ต. จารึก อารีราชการัณย์ "บิ๊กจา" เลขาธิการโอลิมปิกไทยคนปัจจุบัน และสันติภาพ เตชะวณิช เหรัญญิกและรองเลขาธิการฯ "ขงเบ้งแห่งโอลิมปิก" ทั้งสองต่างก็คร่ำหวอดในวงการกีฬามา 2-3 สมัย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการวางหมากเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน เสธ. ทวีนอกจากจะเป็นประธานของโอลิมปิกไทยแล้ว กรรมการบริหารของ IOC เป็นตำแหน่งระดับนานาประเทศที่ เสธ. ทวีรั้งอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อ เสธ. ทวีไม่รับตำแหน่งต่อไป พล. ต.จารึก ก็พร้อมจะเป็นแทนทันที

แต่การณ์กลับพลิกล็อค เมื่อ "เสือข้ามห้วย" ดร. ณัฐ อินทรปาณ รองผู้ว่า กกท. กลับชุบมือเปิดคว้าตำแหน่งนี้จาก "บิ๊กจา" ไปแทน

การเป็นกรรมการในโอลิมปิกสากลของ ดร. ณัฐ ยังเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะเป็นประธานโอลิมปิกไทยอีกด้วย !

การขึ้นมาของ ดร. ณัฐในครั้งนี้ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่าง กกท. และโอลิมปิกไทยที่ราบรื่นเกิดการเขม็งเกรียวทันทีและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนมาเนิ่นนานระหว่าง "สามทหารเสือ" ก็พลันล่มสลายไปด้วย สันติภาพให้ความเห็นในการขึ้นมาของ ดร. ณัฐว่า ไม่ได้มีข้อขัดแย้งแต่อย่างใดกับ พล. ต. จารึก เพราะทาง พล. ต. จารึกเองนั้นก็มีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการโอลิมปิกไทย ดังนั้นจึงเป็นเพียงแบ่งงานกันทำเท่านั้น

"ที่เขาเลือกรองณัฐและมองข้ามเลขาจารึกไปนั้น เพราะภาษาอังกฤษเลขาจารึกสู้รองณัฐไม่ได้ แต่การขึ้นมาเป็นกรรมการ IOC ของรองณัฐครั้งนี้ กลับไม่ได้ตักตวงผลประโยชน์อันใดให้กับโอลิมปิกไทยเลยไม่เหมือน เสธ. ทวี ที่มีอะไรท่านมาบอกหมดทำให้เราตามทันชาติอื่น ชาติอื่นบางทีมารู้ทีหลังแต่ก็พลาดโอกาสไปแล้ว" สันติภาพกล่าว

ทางด้าน ดร. ณัฐผู้เข้ามาใหม่ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่หวังมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการที่หมักหมมนานานยอมรับว่าความขัดแย้งระหว่าง กกท. และโอลิมปิกไทยนั้นมีแน่นอน แต่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ตนเข้ามารับตำแหน่งกรรมการของ IOC สาเหตุหลักใหญ่ที่เขาจำเป็นต้องโดดเข้ามาในตำแหน่งนี้นั้น เนื่องด้วยความต้องการอยากจะดูแลผลประโยชน์อันมหาศาลด้านเงินทองที่มีการหมุนเวียนในวงการซึ่งมีมากถึง 4,000 ล้านบาท

"เงินทองที่ผู้มีบารมีในวงการนั่งทับอยู่เป็นสิบหรือร้อยล้าน จนไม่ลุกไปไหนและยากที่จะมีใครตามจับได้นั้น มันน่าสนใจจะเข้าไปตรวจดูหรือไม่ เพราะเท่าที่ผมรู้ คนในวงการนี้หลายคนก็มีธุรกิจส่วนตัวกันมาก การขัดแย้งระหว่างผมกับคุณสันติภาพก็ไม่มีอะไรมาก ต่างคนต่างก็มีหลักเกณฑ์ในการทำงาน ผมเป็นข้าราชการ เขาเป็นพ่อค้า คิดดูเองแล้วกัน"

เรื่องผลประโยชน์ที่ ดร. ณัฐเปิดประเด็นขึ้นมานี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมาเฟียในวงการกีฬาไทย ด้วยงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาทที่หมุนเวียนในวงการ โดยมีหน่วยงานหลักที่กุมบังเหียนอยู่ 4 หน่วย คือ กกท. โอลิมปิกไทย คณะกรรมาธิการกีฬาของสภาผู้แทนราษฎร และกรมพลศึกษา ซึ่งจะคอยควบคุมให้เงินจากส่วนยอดไปสู่ส่วนล่างคือสมาคมกีฬา และนักกีฬาในที่สุดนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการแบ่งสรรงบประมาณไปให้กับสมาคมกีฬาต่าง ๆ ที่ผ่านมา แม้ว่าทาง กกท. ดูจะค่อนข้างมีบทบาทมากกว่าเพื่อนก็จริง เพราะถือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ตาม พ.ร.บ. การกีฬาที่ให้ไว้ ในขณะที่โอลิมปิกไทยจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลทางด้านการจัดเตรียมนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ แต่เส้นทางการหาผลประโยชน์ในวงการกีฬานี้ ก็เริ่มตั้งแต่ต้นสายยันปลายสายทีเดียว

แหล่งข่าวผู้คลุกคลีในวงการมาเป็นเวลานาน เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างกกท. และสมาคมกีฬาต่างมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น โดยหลาย ๆ คนเป็นล่ำเป็นสันขึ้นมาอย่างทันตาเห็น

"เขาพยักหน้ากันอย่างเข้าใจและทำงบประมาณกันเอง ทาง สตง. (สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) เขามาตรวจสมาคมกีฬา ตรวจคณะ กก. ต่าง ๆ และทาง กกท. ก็ให้ข้อมูลเขามาหมดแล้วเพราะผมแฉหมดนะซิเขาถึงคืนเงิน ผมบอกว่าต้องคืนเงินนะ ถ้าไม่คืนน่าดู" ดร. ณัฐเผยช่องทางของมาเฟียกีฬากับการฉ้อฉลเงินในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของโอลิมปิกไทย แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมกีฬากับโอลิมปิกไทยจะไม่ได้สัมผัสกับเงินโดยตรง แต่ด้วยบารมีระดับนานาชาติของหน่วยงานนี้ที่สามารถเสกสรรปั้นแต่งให้สมาคมกีฬาไปเฉิดฉายในกีฬาระดับสากลได้ ความอยู่รอดของบรรดากรรมการของโอลิมปิกไทย จึงเป็นเครื่องต่อชีวิตของสมาคมกีฬา แต่ละแห่งไปในตัวด้วย ทำให้การเลือกตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา ถึงกับมีผู้กล่าวหาว่า มีการซื้อเสียงผู้เลือกตั้งที่เป็นสมาชิกสมาคมกีฬา ด้วยอัตราเดิมที่ว่ากันตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นมา ไปเป็นกว่า 5,000 บาทในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ความขัดแย้งระหว่างองค์กรกีฬาก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้มาเฟียทั้งหลายย่ามใจที่จะครองอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน

การที่เรามีหน่วยงานด้านกีฬาของรัฐและเอกชน ที่มีบารมีเท่าเทียมกันอย่าง เช่น กกท. และโอลิมปิกไทย ที่สามารถออกคำสั่งซ้ายหันขวาหัน ส่งผลให้สมาคมกีฬาต้องปรับท่าทีให้เข้ากันทั้ง 2 องค์กรจนบางสมาคมฯ ที่มีปัญหาในการบริหารเนื่องจากขาดการเหลียวแล เช่นสมาคมยูโด ต้องถูกผู้ควบคุมอย่าง กกท. เข้ามา TAKE OVER ดำเนินการปกครองไปก็มี ในขณะที่ความสับสนด้านการติดต่อต่างประเทศตรงนี้ จะเดินสวนทางกันคือสมาคมกีฬาส่วนใหญ่จะไปทางโอลิมปิกมากกว่า

ที่สำคัญที่สุดหลายฝ่ายอยากให้กำหนดวาระอายุกรรมการโอลิมปิกให้เหมือนสมาคมกีฬาอื่น ๆ หรือให้เข้าไปในสาระบบของ พ.ร.บ. ไปเลยแหล่งข่าวเผยว่าหากแก้ไขในจุดนี้ได้ ก็เท่ากับแก้ไขปัญหามาเฟียของทั้งระบบได้ทันที และเป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างค่ายกีฬาทั้ง 2 คือ กกท. หรือค่ายหัวหมาก และโอลิมปิกไทยหรือค่ายสี่เสาได้ทันที

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เนื่องจากความมีบารมีของโอลิมปิกไทยที่มีอยู่นั้นไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะแต่วงการกีฬาเท่านั้นแต่ครอบคลุมไปถึงการเมืองด้วย

ในขณะที่ฝ่ายโอลิมปิกไทย ยังคงดื้อแพ่งเช่นเดิมที่จะคงสถานภาพของตนเองไว้ เช่นนี้ โดยอ้างถึงความมีศักดิ์ศรีและความต่อเนื่องของการดำเนินการดังที่กล่าวมาแล้วเช่นเดิม

สันติภาพกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในประเทศ อื่นนั้น พ.ร.บ. กีฬาและข้อบังคับโอลิมปิกมักจะสอดคล้องกัน โดยให้เกียรติ ในความเป็นอิสระขององค์กรโอลิมปิกสากลที่เข้าไปตั้งในประเทศนั้น

อย่างไรก็ตาม สันติภาพได้เสนอว่าหากจะมีการแก้ไข พ.ร.บ. แล้ว ก็น่าจะเข้าไปแก้ไขกฎเกณฑ์ในการควบคุม นับแต่การภาคทัณฑ์ หรือบทลงโทษที่เด็ดขาดและรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งน่าจะมีผลในการแก้ไขวงการกีฬาได้ดีกว่าการมามุ่งแก้ที่การควบคุมวาระของกรรมการสมาคมเพียงอย่างเดียว

อีกแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอ สำหรับการทะลายปราการมาเฟียนั่นก็คือการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬา

แนวความคิดการจัดตั้งกระทรวงนี้มีมานานพอสมควร นับแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งขณะนั้นมีรัฐมนตรีกีฬาที่ชื่อว่า ไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ ซึ่งการเสนอความคิดในขณะนั้นหวังเพียงจะยกฐานะและรวมองค์กรทางกีฬา และวัฒนธรรมเข้ามาด้วยกันตั้งเป็นทบวงกีฬาและวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ด้วยกระแสทางการเมือง และการมองข้ามความสำคัญในจุดนี้ไปทำให้แนวความคิดนี้ได้ถูกชะงักไว้จนกระทั่งปัจจุบัน

แหล่งข่าวผู้สนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬาเปิดเผยว่า การจัดตั้งกระทรวงนี้จะเป็นหนทางออกสำคัญในการล้มล้างระบบมาเฟีย เนื่องจากการให้อำนาจแก่ข้าราชการประจำขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวง และมีอำนาจสั่งบังคับกรมกองในสังกัดได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการบังคับสมาคมกีฬาได้ด้วย เป็นผลจะทำให้ขุมข่ายอำนาจมาเฟียที่เคยเกาะติดกับค่ายใดค่ายหนึ่งในปัจจุบันต้องถูกเปลี่ยนขั้วมาขึ้นกับกระทรวงเพียงที่เดียว

ดร. ณัฐอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬา เพราะนอกจากความชัดเจน ในการดำนินการจะมีมากขึ้นแล้ว การจัดสรรบุคคลากรเข้ามาของ กกท. เอง หรือกรมกองต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย กกท.ไม่มีทางที่จะโตได้อย่างมีคุณภาพเพราะว่าตาม พ.ร.บ. ให้อำนาจผู้ว่าการสามารถที่จะบรรจุ พนง. ตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงระดับหัวหน้ากองได้ โดยไม่ต้องผ่านอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าผมชอบคุณ ก็เอาเข้ามาทำงานได้เลย เวลานี้จึงมีปัญหาในการรับบุคลากรและการบริหารอย่างมาก"

ในขณะที่อีกฟากหนึ่ง สินติภาพกลับมีความเห็นที่ตรงกันข้ามว่า การเกิดขึ้นของกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬานั้นจะยิ่งทำให้วงการกีฬาแหลกเหลวมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะนอกจากวงการกีฬาจะต้องประสบกับความขัดแย้งระหว่างค่ายทั้งหลายแล้ว ปัจจัยการเมืองจะเข้ามาเป็นผลกระทบให้วงการย่ำแย่ยิ่งขึ้น

นอกเหนือจาก 2 วิธีการล้มมาเฟียดังว่าแล้ว ความหวังที่จะให้คนรุ่นใหม่ (NEW GENERATION) ขึ้นมาเป็นหัวหอกในการผ่องถ่ายอำนาจจากคนรุ่นเก่าที่เกาะเก้าอี้อย่างเหนียวแน่นนั้นจะมีความหวังได้แค่ไหน

ในปัจุบันเลือดรุ่นใหม่ที่เข้าไปรับภาระในวงการกีฬานั้นมีอยู่ไม่น้อย แต่เนื่องด้วยการมีอคติของผู้มีบารมีในวงการที่ยังอ้างแต่ความต่อเนื่องที่จะต้องให้รุ่นของตนดำเนินการต่อไป เพื่อผลประโยชน์ของชาติที่ไม่ขาดตอน จนมองข้ามคนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาหาประสบการณ์เพื่อมาทดแทนตนเองในอนาคต

ซึ่งในจุดนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะ กกท. หรือโอลิมปิกไทยเท่านั้น ในบรรดาสมาคมกีฬาสมัครเล่นทั้งหลาย ต่างก็มีผู้ผูกขาดเก้าอี้มานานนับสิบปี อย่างเช่นพิสิษฐ์ งามพานิช "มหาเยื้อน" แห่งวงการฟุตบอล หรือเสรี ไตรรัตน์ คุณปู่ที่คร่ำหวอดกับวงการจักรยานจนเกษียณอายุตนเองออกไป แต่ก็ไม่วาย เมื่อหาคนอื่นมาคุมทีมไม่ได้

คุณปู่เสรี ก็จำเป็นต้องออกโรงอีกครั้งในซีเกมส์หนนี้

สันติภาพ หนึ่งในผู้บุกเบิกโอลิมปิกไทยมาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่ค่อยได้ตั้งความหวังกับคนรุ่นใหม่มากนักเนื่องจากขณะนี้คนรุ่นใหม่ที่มาช่วยงานทางโอลิมปิกไทยนั้น ยังไม่อาจหาใครที่มีความสามารถสานต่องานของผู้บริหารยุคปัจจุบันได้เลย

อย่างไรก็ตาม ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้างกับการฝึกฝนหาประสบการณ์ของคนยุคนี้ ที่คงพอจะฉายแววได้บ้างเมื่อมีเพดานบินมากกว่านี้

ความคิดเห็นของสันติภาพนั้น ไม่ผิดจากความเป็นจริงแต่อย่างใด เหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถขึ้นมาทดแทนผู้มีบารมียุคนี้ของโอลิมปิกไทยได้นั้น เนื่องจากการผูกขาดในเก้าอี้เป็นเวลาเนิ่นนาน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยอมปล่อยให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาแสดงบทบาทบ้างนั้น ตรงนี้น่าจะเป็นปัจจัยในการคำนึงของคนรุ่นใหม่ที่จะประกอบการตัดสินใจเข้ามาในเส้นทางนี้ได้ด้วย

ดังนั้นตราบใดที่การแก้ไข พ.ร.บ. การกีฬายังไม่บรรลุเป้าที่จะสามารถเข้าไปล้วงลูกในโอลิมปิกไทยได้ หรือตราบใดที่กระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬายังคง เป็นเพียงความฝันอยู่เช่นนี้ และตราบใดที่ความยึดมั่นของผู้มีบารมีวงการกีฬายังมีอยู่อย่างเปี่ยมล้น ตราบนั้นเส้นทางมาเฟียกีฬาไทย ก็จุยังเดินไปอย่างไร้จุดจบ

แม้ว่าตัวเองจะต้องตะบันน้ำกิน และถูกหามปีกออกเข้าไปประชุมก็คงต้องยอม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.