|

ธปท.คุมสถาบันการเงินเข้มเชือดแบงก์BISต่ำกว่า9.5%
ผู้จัดการรายวัน(12 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติคุมเข้มสถาบันการเงินออกเกณฑ์เพิ่มเติมด้านเงินกองทุน ระบุหากบีไอเอสต่ำกว่า 9.5% สั่งทำแผนเพิ่มทุน-ชะลอขยายสินเชื่อหรืองดโครงการที่ต้องใช้เงิน แต่ถ้าต่ำกว่า 8.5%ต้องถอดถอนบอร์ด และหากเงินกองทุนเหลือ 35%เพิกถอนใบอนุญาต หวั่นดูแล-ตรวจสอบไม่ทันการณ์ อาจเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนหน้า ธปท.เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเพิ่มเติมแก่สถาบันการเงินที่มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส) ที่ต่ำกว่า 9.5% ซึ่งธปท.จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่เข้าไปดูแลสถาบันการเงินที่เข้าข่ายลักษณะนี้ โดยสั่งทำแผนเพิ่มทุนและพิจารณาการชะลอการขยายสินเชื่อหรืองดการดำเนินงานที่ต้องจ่ายเงินออกจากธนาคารออกไป เพื่อไม่ให้เงินกองทุนลดลงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ สาเหตุที่ออกหลักเกณฑ์นี้ เพราะในช่วงวิกฤตปี 40 สถาบันการเงินไทยประสบปัญหาอย่างมากและต่างชาติมองว่าธปท.อ่อนแอในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือหรือแทรกแซงช้าเกินไป จนส่งผลให้เงินกองทุนของสถาบันการเงินลดลงอย่างรวดเร็ว และเกิดความเสียหายถึงประชาชนที่ออมเงินด้วย ดังนั้น ธปท.จะเข้าไปดูแลสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาให้ทันท่วงทีมากขึ้น พร้อมทั้งต้องการสร้างความคุ้นเคยและรองรับพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้เร็วๆ นี้ด้วย
“ก่อนหน้านี้ที่แบงก์ชาติไม่ได้เข้าไปดูแลสถาบันการเงินจนต้องรอให้เงินกองทุนติดลบ เพราะเกิดความลังเลใจว่าตามหลักกฎหมายแล้วแบงก์ชาติควรเข้าไปดูแลหรือตามสิทธิของกฎหมายเจ้าหนี้ที่มีสิทธิยึดทรัพย์จะเข้าไปดูแลหรือเป็นอำนาจใคร แต่ขณะนี้แบงก์ชาติมองว่าสถาบันการเงินที่ประสบปัญหามีผู้ที่เสียภาษีและประชาชนที่ฝากเงินมีความเสียหายด้วย และหากเข้าไปทันถ่วงทีจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยลง อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติจะดูแลสถาบันการเงินไม่ให้เงินกองทุนลดลงอยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของเงินกองทุนขั้นต่ำที่แบงก์ชาติได้กำหนดไว้ “ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินต้องมีเงินกองทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 8.5% แต่ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้วมีเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 14% และเงินกองทุนขั้นที่ 1 เฉลี่ยที่ระดับ 10%
ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเข้าไปดูแลสถาบันการเงินแต่ละแห่งของธปท. เมื่อเงินกองทุนลดลง จะมีขั้นตอนที่ชัดเจนเมื่อเงินกองทุนลดลงในแต่ละระดับ โดยหากเงินกองทุนลดลงถึง 60%ของเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธปท.กำหนด คือ 8.5% ธปท.จะเข้าไปถอดถอนคณะกรรมการธนาคารและตั้งคณะกรรมการธนาคารชุดใหม่แทน แต่หากเงินกองทุนลดลงเหลือ 35% ธปท.จะเพิกถอนใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงิน ก็มีขอยกเว้นหากสถาบันการเงินรายนั้นมีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าสามารถฟื้นฟูธุรกิจได้ อาทิ นำเงินทุนก้อนใหม่มาฟื้นฟูกิจการหรือธปท.มองว่าจะกระทบต่อประชาชนวงกว้างก็อาจจะชะลอการเพิกถอนใบอนุญาต ถือเป็นอำนาจของธปท.อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบก่อน
“แบงก์ชาติจะเพ่งเล็งเป็นพิเศษทันทีที่เงินกองทุนของแบงก์เริ่มลดลง แต่แบงก์ชาติไม่ได้มองแค่เงินกองทุนลดลงระดับหนึ่งแล้วจะเข้าไปจัดการ แต่หากจะดำเนินการบางอย่างไปก่อน โดยอาจสั่งให้แบงก์รายนั้นนั้นเพิ่มทุน ห้ามจ่ายเงินปันผลหรือโบนัส หรือแม้กระทั่งดำเนินการบางอย่างที่ชะลอโครงการต่างๆ ไม่ให้กระทบต่อเงินกองทุนให้เสื่อมมากกว่านี้ก่อน เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและฐานะทางการเงินของเขาเอง ”นายไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ การที่ธปท.จะได้เข้าไปตรวจสอบสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็จะมีการประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานบาร์เซิล 2 ซึ่งแต่ละด้านก็มีกรอบที่ชัดเจนไว้แล้ว ดังนั้นเงินกองทุนของแต่ละสถาบันการเงินจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงินเป็นหลัก ทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเงินกองทุนแตกต่างกันออกไป
“การดำเนินการของธปท.ก็มีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) ซึ่งมีทั้งคนภายในธปท.และคนนอกจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ ดูแลอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ถือเป็นกฎหมายฉบับใหม่ก็มีการกำหนดกรอบที่ชัดเจนไว้แล้ว คงไม่ให้แบงก์ชาติใช้อำนาจตามอำเภอใจ อย่างที่หลายฝ่ายมองกัน”นายไพบูลย์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|