"โซนนิ่งแอร์ไทมมือถือ กับเกมไล่ล่าของแทค"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

กรณีที่คณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) อนุมัติให้บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (แทค) เพิ่มวิธีการเก็บอัตราค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบพีเอ็น 1800 ด้วยวิธีใหม่ โดยแบ่งเป็นแบบโฮมโซน (HOMEZONE) และแบบโซนนิ่ง (ZONING)

ความพยายามของแทคในครั้งนี้ หากมองผิวเผินแล้วเป็นเรื่องของการขยายบริการเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าตามปกติ แต่มองให้ลึก ๆ ไม่ใช่เพียงแค่นั้น

เพราะเมื่อมองย้อนไปถึงการเติบโตของยอดลูกข่ายระบบพีซีเอ็น 1800 ในช่วงปีกว่าที่เปิดให้บริการมา สถานการณ์ของระบบพีซีเอ็นยังไม่ดีนัก

แม้ว่า ความตื่นตัวในเรื่องระบบดิจิตอลจะมีค่อนข้างมาก จากการประชาสัมพันธ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถที่เหนือกว่าอะนาล็อกทั้งในเรื่องของการประหยัดคลื่นความถี่ ความชัดเจนในการโทร และบริการเสริมที่ระบบดิจิตอลที่สามารถทำได้หลายประเภท รวมถึงการโรมมิ่ง หรือ เชื่อมโยงการให้บริการระหว่างประเทศ

แต่ประสิทธิภาพอย่างเดียวยังไม่พอเพราะ "เครือข่าย" ให้บริการที่ทั่วถึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง และได้กลายเป็นอุปสรรคต่อยอดจดทะเบียนของพีซีเอ็ม 1800 อย่างคาดไม่ถึง

จากการสอบถามผู้ใช้โทรมือถือส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า แม้ประสิทธิภาพของระบบดิจิตอลจะดีกว่า แต่เมื่อยังไม่มีเครือข่ายให้ใช้ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นผู้ใช้ส่วนใหญ่จึงหันไปซื้อระบบอะนาล็อก เพราะลูกข่ายของระบบอะนาล็อกมีราคาถูกลงทุกวัน มีโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ระบบเงินผ่อนออกมาตลอดเวลา ที่สำคัญมีเครือข่ายกว้างไกลกว่า

แทคเองก็ตระหนักดีถึงปัญหา แต่การขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้ในเวลาสั้น ๆ เพราะต้องใช้ทั้งกำลังคนและกำลังเงิน

ไม่ใช่แต่แทคเท่านั้นที่ต้องเผชิญปัญหาในลักษณะนี้ ทางด้านระบบดิจิตอล จีเอส เอ็ม ของค่ายเซลลูลาร์ 900 ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจีเอสเอ็มเองก็มียอดผู้ใช้ไม่มากนัก

แต่การจะรอให้เครือข่ายพร้อมก่อนจึงค่อยลงมือโหมบุกตลาดย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเงินทุนที่ใช้ขยายเครือข่ายนี้ไม่น้อย ทั้งจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือ เครดิตจากซัปพลายเออร์ ซึ่งคิดเป็นเงินแล้วเป็นจำนวนมากหลายพันล้านบาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทคนั้น นอกจากการระดมเงินทุนในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังใช้วิธีเปิดรับเซอร์วิสโพรไวเดอร์ เพื่อนำเงินมาร่วมลงทุนในการขยายเครือข่าย และขยายตลาด ระบบพีซีเอ็ม 1800 ถึง 2 ราย คือ ไออีซี และกลุ่มสามารถ ซึ่งนำเงินมาลงทุนแล้วเกือบพันล้านไปแล้ว ก็ยิ่งเป็นแรงกดดันที่ทำให้แทคต้องดิ้นรนหาทางออก แต่วิถีทางของแทคและเอไอเอสนั้นต่างกันค่อนข้างมาก

แม้ว่ายอดจดทะเบียนของระบบจีเอสเอ็มจะไม่ดีนักในช่วงแรก แต่เอไอเอสไม่ได้ใช้วิธีทุ่มเพิ่มยอดจีเอสเอ็มในทันที กลยุทธ์การตลาดที่เอไอเอสทำตั้งแต่เริ่มแรก คือ เน้นไปในเรื่องการให้ความรู้ในเรื่องของจีเอสเอ็ม ดูได้จาก การจัดงาน "ชินวัตรเมกกะเทค" ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา พื้นที่จัดงานส่วนใหญ่จะใช้ไปในเรื่องของประสิทธิภาพในการนำไปใช้งาน มากกว่าจะมุ่งการเพิ่มยอดเครื่องลูกข่ายแต่เพียงอย่างเดียว

ในช่วงปลายปี เอไอเอส จะเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการจัดโปรโมชั่น ในเรื่องของการโทรฟรีครึ่งราคา ซึ่งเอไอเอสเคยใช้สำเร็จมาแล้วกับระบบเซลลูลาร์ 900 โดยเอไอเอสพยายามรักษาระดับราคาเครื่องลูกข่ายให้อยู่ในระดับ 3-4 หมื่นกว่าบาท แม้ว่ายอดลูกข่ายในวันนี้ของจีเอสเอ็มจะยังไม่เท่ากับระบบเซลลูลาร์ 900 แต่เชื่อได้ว่า ระบบจีเอสเอ็มไปได้ไม่น้อยแล้ว

แตกต่างไปจากค่ายแทคก็เปิดศักราชด้วยกลยุทธ์ราคาทันที ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วในระบบแอมป์ 800 จะเห็นได้ว่าราคาเครื่องลูกข่ายพีซีเอ็น ที่เคยขายอยู่ในระดับ 4-5 หมื่นบาทในช่วงปลายปี 2537 ในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ถูกดัมปลงมาเหลือเพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากระบบแอมป์ 800 เท่าใดนัก แต่ดูจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะเครือข่ายของระบบพีซีเอ็นยังครอบคลุมได้ไม่ทั่วประเทศ นอกจากจะใช้ไม่ได้ผลแล้วยังส่งผลให้โครงสร้างราคาลูกข่ายของพีซีเอ็นเสียไปด้วย

การต่อสู้ของแทคนั้นมีมาตลอด กระทั่งในงานชินวัตรเมกกะเทค ซึ่งแทคซุ่มชนเอไอเอส ด้วยการติดป้ายลดราคามือถือ โมโตโรล่า ระบบพีซีเอ็น 1800 ในราคาเพียงแค่ 20,000 บาท ถูกติดไว้ตามมุมต่าง ๆ ใกล้ ๆ กับบริเวณงาน เรียกให้คนที่เข้าชมงานขึ้นไปร้านเวิลด์โฟนช้อป บนชั้น 4 ได้ไม่น้อย

ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แทคได้จัดโปรโมชั่น "ไปเร็วเท่าแสงไปไกลทั่วทิศ" ฉลองครบรอบ 1 ปี รางวัลที่ 1 คือ รถเฟอร์รารี่ และยังเช่าพื้นที่ห้างเวิลด์เทรด จัดงานเพื่อโปรโมชั่นระบบพีซีเอ็น 1800 แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้การตอบรับเท่าที่ควร

สถานการณ์ของพีซีเอ็นในเวลานี้ ไม่เพียงแต่ต้องต่อกรกับคู่แข่งขัน อย่างระบบเซลลูลาร์ 900 และจีเอสเอ็มเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับตัวเอง คือ แข่งกับระบบแอมป์ 800

ภูษณ ปรีย์มาโนช กรรมการผู้จัดการของแทคกล่าวว่า ลูกค้ายังนิยมระบบแอมป์ 800 มากกว่าระบบพีซีเอ็น ดูได้จากยอดจดทะเบียนเครื่องลูกข่ายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบบแอมป์ 800 ซึ่งมีอยู่ถึง 19,000 เครื่อง แต่ระบบพีซีเอ็น มียอดจดทะเบียนเพียงแค่ 5,000 ตัวเท่านั้น

ดังนั้นการนำเสนอการเก็บค่าแอร์ไทม์แบบแบ่งโซน ภูษณเชื่อว่า จะช่วยในเรื่องวางตำแหน่งสินค้าระหว่างแอมป์ 800 และพีซีเอ็น 1800 ให้แตกต่างกันได้ โดยไม่ต้องการแข่งขันกันเอง

วิธีการเก็บค่าแอร์ไทม์แบบใหม่นี้ จะทำให้ผู้ใช้ระบบพีซีเอ็น 1800 จะสามารถจ่ายค่าเลขหมาย 650 บาทต่อเดือนต่อเครื่อง ซึ่งในจำนวนนี้จะรวมค่าบริการเสริมพิเศษไปแล้ว ส่วนค่าแอร์ไทม์จะแบ่งออกเป็นโซน คือ หากโทรภายในพื้นที่ที่จดทะเบียนเอาไว้ (CELL ID) จะเสียนาทีละ 1 บาท แต่หากโทรข้ามโซนจะเสียค่าบริการนาทีละ 2 บาท

โซนที่แทคจะให้บริการด้วยวิธีนี้จะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้นซึ่งจะมี 3 เขต โดยให้ผู้ใช้บริการเลือกจดทะเบียนได้ 1 ใน 3 เขต และหากโทรภายในเขตที่จดทะเบียนไว้ จะเสียค่าโทรนาทีละ 1 บาท แต่หากข้ามเขตจะเสียค่าโทรนาทีละ 2 บาท หากออกนอกเขตที่กำหนดไว้ จะเสียค่าบริการตามปกติ คือ นาทีละ 3 บาท

ส่วนระบบการเก็บแบบเดิมที่เคยต้องจ่ายเงินค่าเช่าเลขหมาย 500 บาทต่อเดือนต่อเครื่อง และเสียค่าโทรหรือแอร์ไทม์นาทีละ 3 บาทหรือหากต้องการบริการเสริมก็จะต้องเสีย 75 ถึง 600 บาทต่อเดือน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของบริการ

เมื่อเปรียบเทียบการเก็บเงินระหว่างวิธีเดิมและแบบใหม่แล้ว ผู้บริหารของแทคเชื่อว่า วิธีการเก็บเงินแบบใหม่ผู้ใช้จะประหยัดเงินได้มากกว่าระบบเดิม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้โทรศัพท์มาก ๆ และใช้เฉพาะในพื้นที่เดียวกัน

"วิธีการเก็บเงินแบบนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเดินทาง และใช้โทรศัพท์ติดต่อในพื้นที่เดียวกันเป็นจำนวนมาก ๆ เช่น กลุ่มนักธุรกิจ และแม่บ้าน ซึ่งจะทำให้เราสามารถวางตำแหน่งระบบพีซีเอ็น 1800 ให้แตกต่างไปจากแอมป์ 800 ได้" ภูษณกล่าว

กระนั้นก็ตาม ค่าบริการในลักษณะนี้ สวนทางกับพฤติกรรมของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ที่นิยมนำใช้ติดตัวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งแทคก็ตระหนักดี ดังนั้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2538 จึงเป็นการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ หากไปได้ดี ต้นปีหน้า ค่าบริการแบบใหม่นี้จะถูกบรรจุลงในแผนทันที

การดิ้นรนของแทคในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แทคกำลังพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในเรื่องของเครือข่ายระบบพีซีเอ็น ด้วยการผลักดันให้คนหันมาใช้พีซีเอ็นในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งส่อเค้าว่าการขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศคงยังไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่ ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.