พาณิชย์ลั่นส่งออกปีกุน 12.5% เล็งภาษีอุ้ม-ไม่หวั่นบาทแข็ง


ผู้จัดการรายวัน(8 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

พาณิชย์ลุยส่งออกปีหน้า 12.5% มูลค่าสูงถึง 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สวนแนวโน้มบาทแข็ง เศรษฐกิจโลกและคู่ค้าตก มั่นใจทำได้แม้เป้าจะสูงกว่าประมาณการของทุกสำนัก ฟุ้งเตรียมแผนสู้ทั้งเจรจาแก้ปัญหาการค้า บุกเจาะตลาดใหม่ พร้อมเสนอใช้มาตรการด้านภาษีอุ้มผู้ส่งออก เผยบาทแข็งทำกุ้ง ผักและผลไม้กระป๋องอ่วม

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือร่วมกับผู้ส่งออก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อพิจารณาเป้าหมายการส่งออกปี 2550 และพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งค่าเงินบาทและน้ำมัน และได้ข้อสรุปว่าเป้าหมายการส่งออกปีหน้าน่าจะขยายตัวระหว่าง 10-12.5% แต่กระทรวงฯ จะยึดเป้า 12.5% เป็นเป้าหมายในการทำงาน โดยจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 145,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ตัวเลข 12.5% เป็นเป้าที่สูงสุดจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อส่งออกไห้ได้ตามเป้า แม้ว่าปีหน้าจะมีปัจจัยกระทบหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวเพียง 4.9% การค้าโลก 7.6% เศรษฐกิจคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 2.9% ญี่ปุ่น 2% ยุโรป 2% จีน 10% อินเดีย 7.3% รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินบาท”

ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวสูงกว่าที่สำนักอี่นๆ ได้ประมาณการไว้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะขยายตัว 9% สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 9% มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 10% และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 9.2-11.2%

นายเกริกไกรกล่าวว่า มาตรการที่จะนำมาใช้ในการผลักดันการส่งออกในปีหน้า จะเน้นการเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ เช่น การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ของสหรัฐฯ และยุโรป การผลักดันการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะดำเนินการหลังจากที่มีข้อตกลงเอฟทีเอแล้ว การบุกเจาะตลาดเป็นพิเศษโดยเน้นเป็นรายประเทศ เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ จะเร่งส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบริการ เช่น การรักษาพยาบาล ไปตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้าน ร้านอาหารไทย การพิมพ์ และการตกแต่งบ้านใน ขณะเดียวกัน จะเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกและผู้ประกอบการใหม่ๆ ให้เข้าสู่ระบบการส่งออก รวมทั้งจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

ในด้านการนำเข้า จากภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวน่าจะอยู่ในระดับ 10% โดยจะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 132,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากประมาณการตรงนี้ จะทำให้ปี 2550 ไทยน่าจะเกิดดุลการค้าระหว่าง 13,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2549 คาดว่า ไทยจะส่งออกได้มูลค่า 129,090 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16% จากเป้าหมาย 17.5% ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะมีมูลค่า 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายเกริกไกรกล่าวว่า สำหรับการค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การแข็งค่าของเงินบาท สินค้าส่งออกบางตัวก็ได้รับผลกระทบ แต่บางตัวก็ได้รับประโยชน์ ซึ่งการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยธปท.และกระทรวงการคลัง กำลังพยายามที่จะหยุดการเก็งกำไรค่าเงิน และมีมาตรการต่างๆ ออกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการจำกัดการนำเข้า เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณไม่ดีต่อประเทศคู่ค้า

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอมาตรการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการนำมาตรการด้านภาษีมาใช้ เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร การหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นหากนำเงินไปใช้ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือการพัฒนาความรู้ให้แก่บุคลากร เป็นต้น

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า จากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กรมฯ ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อส่งสินค้าส่งออก พบว่า สินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศจะได้รับผลกระทบมาก เช่น กุ้ง และผักผลไม้กระป๋อง โดยกุ้งใช้วัตถุดิบภายในประเทศ 86.4% ผักและผลไม้กระป๋อง ใช้วัตถุดิบภายใน 90% ซึ่งการใช้วัตถุดิบภายในมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะต้องซื้อวัตถุดิบแพง แต่ขายส่งออกได้ราคาถูกลง จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่วนสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องหนัง เสื้อผ้า จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะต้นทุนนำเข้าถูกลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.