"ธีรพงษ์-กรพจน์-และศุภพงษ์ สามหนุ่มสามมุม "อัศวินวิจิตร"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไม่เอา…ไม่พูด" เสียงปฏิเสธจากปากของกรพจน์ อัศวินวิจิตรที่ถูกนักข่าวรุมล้อมขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาค้างคาใจเรื่องเพิ่มทุนในสหธนาคาร ท่ามกลางงานเลี้ยงเปิดตัวบริษัทพรูเด็นเชียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต ซึ่งกลุ่มธุรกิจของตระกูลอัศวินวิจิตรถือหุ้นอยู่ 30% และบางส่วนถือในนามสามพี่น้อง ได้แก่พี่ใหญ่-ธีรพงษ์ พี่กลาง-กรพจน์ และน้องเล็ก-ศุภพงษ์ อัศวินวิจิตร

แต่ในงานค่ำคืนนั้นสามพี่น้องมาพร้อมหน้าพร้อมตา โดยกรพจน์ในฐานะประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) ของ "บริษัท พรูเด็น เชียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต" ได้ยืนต้อนรับเคียงคู่อยู่กับ มาร์ค ทัคเกอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทพรูเด็นเชียลคอร์ป เอเชียซึ่งบริษัทแม่ที่อังกฤษส่งไปดูแลสำนักงานในฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย

ความยิ่งใหญ่และเก่าแก่นับ 150 ปีของพรูเด็นเชียล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้เลือกหุ้นส่วนเป็นทีเอสไลฟ์แทนที่จะยื่นขอใบอนุญาตใหม่ตามนโยบายเปิดเสรีประกันภัย นับว่าเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด เพราะไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่สามารถจะเริ่มบุกตลาดประกันชีวิตได้ภายในปีหน้า หลังจากเตรียมงานอย่างหนักในปีนี้ โดยมีคริสโตเฟอร์ เอฟเวินส์เป็นกรรมการผู้จัดการ นี่คือจุดแข็งที่อัศวินวิจิตรได้มา

"ก่อนหน้านี้เราก็สนใจอยู่ 3-4 บริษัทเหมือนกันก่อนที่จะร่วมงานกันกับพรูเด็นเชียล ทางเราเดินทางไปดูทั้งที่ออสเตรเลีย ยุโรป แต่เราเห็นพรูเด็นเชียลเขาเชี่ยวชาญด้านธุรกิจประกันชีวิตโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่ทำทั้งประกันภัยและประกันชีวิต เราจึงมาคุยกันและตกลงเป็นหุ้นส่วนกัน โดยพรูเด็นเชียลถือ 25% ตามกฎหมาย ขณะที่กลุ่มเราถือ 30%" กรพจน์เล่าให้ฟัง

ในอดีตเมื่อปี 2526 หลังจากอัศวินวิจิตรซื้อใบอนุญาต ทีเอสไลฟ์เคยจับคู่กับพันธมิตรธุรกิจอย่างอลายากรุ๊ปแห่งฟิลิปปินส์ ยักษ์ใหญ่ด้านเรียลเอสเตทประกันชีวิตและแบงก์ที่มีเครือข่ายในฮ่องกง มาเลเซียและไทย แต่สายสัมพันธ์ทางธุรกิจไม่ราบเรียบ ในปี 2531 ที่มีการเพิ่มทุนเป็น 103 ล้าน จึงมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหม่เป็นบริษัทโอสถภาเต็กเฮงหยูและ บงล. จีเอฟ 15% เพราะกรพจน์กับชินเวศ สารสาสเป็นเพื่อนกันและล่าสุดพันธมิตรธุรกิจคือกลุ่มพรูเด็นเชียล

"แน่นอน เพื่อนร่วมธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ ธุรกิจสมัยนี้มีเยอะมากและขยายใหญ่ต้องอาศัยคอนเนกชั่น และความชำนาญสามารถ EXPERTISE ของแต่ละกลุ่มมาร่วมบุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ ต่างจากรุ่นพ่อที่เติบโตมาต้องยืนบนขาตัวเองเท่านั้น" ศุภพงษ์ให้ความเห็น

อาณาจักรธุรกิจของตระกูลอัศวินวิจิตรวันนี้ ต่างคนก็ต่างมีมุมธุรกิจของตัวเองที่ต้องดูแล นอกเหนือจากการมีชื่อเป็นกรรมการในบริษัทต่าง ๆ ที่ไปลงทุน ธีรพงษ์ในมาดพี่ใหญ่ดูแลธุรกิจดั้งเดิม บริษัทแสงทองค้าข้าว (1968) ที่ติดอันดับทอปเท็นส่งออกข้างที่มีสไตล์การค้าแบบกล้าเสี่ยงเปิดตลาดใหม่ ที่คนอื่นไม่กล้าตั้งแต่สมัยบิดาคืออวยชัยที่กล้าค้าข้าวกับฟิลิปปินส์ในยามตกต่ำ ผลตอบแทนที่อวยชัยได้รับนอกจากเงินตราแล้วก็คือตำแหน่งรองประธานหอการค้าไทย-ฟิลิปปินส์ ที่นำพามาซึ่งสายสัมพันธ์ธุรกิจร่วมกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจฟิลิปปินส์อย่างอลายากรุ๊ปในเวลาต่อมา

ขณะที่กรพจน์จะเป็นหัวเรือใหญ่ฐานะดีลเมกเกอร์มือฉมังในการหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจของครอบครัวให้เติบใหญ่ พร้อมกับสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองจนกระทั่งปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก จึงไม่น่าแปลกใจที่แขกเหรื่อของกรพจน์จะเต็มไปด้วยนักการเมือง นักการธนาคาร วงการประกันภัย และพ่อค้าส่งออกข้าว

ส่วนน้องเล็กสุดท้องอย่างศุภพงษ์ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีจากบัญชี ธรรมศาสตร์ และจบเอ็มบีเอจากแคนซัส สหรัฐฯ ปัจจุบันดูแลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพลที่กำลังผลักดันให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีหน้าหลังจากเคลียร์ภาพพจน์ของธนพลให้โปร่งใสไร้ราคิน จากกรณีที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทเอสจีวีอินเตอร์เนชั่นแนลของคนกันเองเมื่อปีที่แล้ว

คติพจน์จีนที่ว่า "ลูกต้องเก่งกว่าพ่อ จึงจะสืบสายกระจายกิจการให้ก้าวไกล" สำหรับตระกูลอัศวินวิจิตรวันนี้มีกรพจน์เป็นผู้นำวัย 40 ประสบการณ์ทำงานตั้งแต่ยังเรียนอยู่ปีหนึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ภาคค่ำที่ธรรมศาสตร์ กรพจน์ก็สามารถเปิดตลาดค้าข้าวอิหร่านได้สำเร็จ ครั้งเรียนจบเอ็มบีเอจากเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียจากสหรัฐ กลับคืนสู่ถิ่น มังกรหนุ่มอย่างกรพจน์ก็ติดปีกแตกตัวสู่ตลาดเงินตลาดทุน โดยอวยชัย ผู้เป็นบิดาได้ฝากเนื้อฝากตัวลูกชายไว้กับชิน โสภณพานิชในวันเปิดสำนักงานบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตที่อาคารสาธรธานีเมื่อปี 2527 เพียงสิบปีผ่านไป กรพจน์ไปไกลกว่าที่คิดไว้

"ส่วนใหญ่ธุรกิจของกลุ่ม คุณกรพจน์จะเป็นหัวเรือใหญ่นำทีม ขณะนี้ธุรกิจครอบครัวเรามีธุรกิจค้าข้าว สหธนาคาร ซึ่งคุณกรพจน์เป็นกรรมการรองผู้จัดการ บริษัททีเอส ไลฟ์ ประกันชีวิต บงล. ธนพล ส่วนประกันภัยก็ไปร่วมกับกลุ่มจีเอฟ คือ บริษัทสหสินคิวบีอี ประกันภัย" ศุภพงษ์เล่าให้ฟัง

นอกเหนือจากนี้ การแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยทางอัศวินวิจิตรก็ยังลงทุนในบริษัทไซเทค (ประเทศไทย) และบริษัทไซเทค อินเตอร์เทรด เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรสารและโทรศัพท์ของญี่ปุ่น "นิตสุโกะ" ด้วย

ในปีหน้า ธุรกิจในกลุ่มอัศวินวิจิตรภายใต้การนำของกรพจน์กับพี่น้องสองศรีจะต้องฝ่ามรสุมเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง จากแรงบีบของสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นศึกสองตระกูลในสหธนาคารกับการเพิ่มทุน แต่เค้าหน้าตักของอัศวินวิจิตรยังมีอยู่ที่สินทรัพย์อีกมากมาย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.