จอห์น ชาง หนาน อู ชาวไต้หวันวัย 53 ปียืนอยู่ตรงหน้าต่างในห้องสูทโรงแรมหรูในเมืองโยฮันเนสเบอร์ก
เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ พร้อมกับกวาดตาสำรวจไปที่ทางเท้าเบื้องล่างที่คับคั่งไปด้วยร้านค้าของคนเอเชีย,
คนผิวขาว และคนผิวดำ
"แอฟริกาใต้ยุคใหม่จะสดใส ด้วยศักยภาพในการเติบโตระดับสูงที่แฝงอยู่"
เขากล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น
ความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันนี้เองที่จูงใจให้อูเดินทางมาแอฟริกาเมื่อเกือบ
20 ปีก่อน และได้ตั้งโรงงานขึ้นมา 10 แห่ง มีลูกจ้างในสังกัดถึง 5,000 คน
ทำการผลิตรองเท้า, เสื้อผ้า, สิ่งทอ และมีด-ช้อน ส้อมสแตนเลส
ทุกวันนี้ อูมีบริษัทอยู่ในแอฟริกาใต้กว่า 10 แห่งนับตั้งแต่ "โกลเดน
คัตเติลรี" ในบลูมฟอนทีน, "กาโย ชู แมนูแฟกเจอร์" แยู่ที่
คิง วิลเลี่ยมส์ ทาวน์ไปจนถึง "โกลเดน นิตติ้ง" ในทรานส์กี
"ผมมีบริษัทอยู่ที่นี่หลายแห่ง" อูพูดเสียงใส แต่ไม่ยอมเผยรายละเอียดต่าง
ๆ เกี่ยวกับบริษัทของเขา และมูลค่าสุทธิเพียงแต่ประเมินให้ฟังคร่าว ๆ ว่า
"เป็นล้าน หลาย ๆ ล้าน"
ลูกค้าของอูมีทั้งบริษัทในเยอรมนีและรายใหญ่ ๆ อย่างสายการบินเซาท์ แอฟริกา
และกองกำลังป้องกันชาติแอฟริกาใต้
อูเป็นคนไต้หวันโดยกำเนิด และจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจาก "ต้าถุง
อินสติติว ออฟ เทคโนโลยี" ในกรุงไทเป หลังจากคว้าปริญญามาได้ในปี 1965
เขาก็ได้เร่ทำงานไปตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งเคยทำงานในตำแหน่งควบคุมสินค้าคงคลังและการขายให้กับบริษัทของอเมริกันหลายแห่งในไทเป
ในจำนวนบริษัทเหล่านี้ก็มี ทีอาร์ดับบลิว อีเล็กทรอนิก เป็นต้น
เขาเล่าให้ฟังว่า "ไต้หวันตอนนั้นก็เหมือนกับแอฟริกาใต้ตอนนี้ คือจะมีนักธุรกิจจากชาติต่าง
ๆ เข้ามาลงทุน และผมก็ได้เรียนรู้ในส่วนนี้มากมาย"
บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ก็คือ จะทำอย่างไรให้บริษัทมีกำไร
ถ้าได้เป็นเจ้าของกิจการเสียเอง "ผมจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่า ชีวิตนี้ผมจะไม่ทำงานให้ใครอีกแล้ว
ผมต้องการสร้างธุรกิจของผมขึ้นมาด้วยมือของผมเอง" เขาเล่า
ตอนนั้น ซึ่งเป็นปี 1974 หลังจากเขาได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจในสหรัฐฯ
และแคนาดาแล้ว ก็รู้ว่าคงไม่สามารถทำธุรกิจแข่งกับใครต่อใครได้ในอเมริกาเหนือ
เพราะค่าจ้างแรงงานสูงมาก เขาจึงหันไปมองประเทศที่ยังไม่พัฒนาอย่างแอฟริกา
"ผมคิดว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนาคงต้องการผู้เชี่ยวชาญและการลงทุนจากชาวต่างชาติ
นอกจากนี้โอกาสที่จะทำกำไรจากประเทศเหล่านี้ก็สูงกว่าในอเมริกาเหนือมาก"
อูกล่าว
เริ่มแรกทีเดียวนั้น อูต้องการเข้าไปลงทุนในแอฟริกาใต้ แต่นโยบายกีดกันสีผิวของแอฟริกาใต้กลับทำให้เขาจนใจ
เหตุที่เขาลังเลนั้นไม่ใช่ว่าเป็นเพราะความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่มีต่อนโยบายกีดกันผิวของแอฟริกาใต้
แต่เป็นเพราะแรงจูงใจในการทำกำไรต่างหาก
เขากล่าวว่า นโยบายกีดกันผิวทำให้แอฟริกาใต้ถูกนานาชาติคว่ำบาตร และไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าทำโครงการที่อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศเสียเปรียบ
ดังนั้น ในปี 1975 อูจึงทุ่มทุน 90,000 ดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งแรกชื่อว่า
"สวาซิแลนด์ นิตติ้ง" เพื่อผลิตเสื้อคลุมและสเวตเตอร์ ในสวาซิแลนด์
ประเทศในอารักขาของอังกฤษซึ่งตอนนี้ได้รับเอกราชแล้ว โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างโมแซมบิก
และทรานสวาล จังหวัดภาคเหนือของแอฟริกาใต้
แต่เขามารู้ว่าการทำธุรกิจในสวาซิแลนด์ก็เหมือนกับการเดินเท้าเปล่าย่ำไปบนหนาม
กว่าจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการและเอกสารรับรองการเข้าอยู่ของช่างเทคนิคของเขาก็ช่างยากเย็นแสนเข็ญ
นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่ระบุให้นายจ้างต้องขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างทุก
6 เดือน
"มันค่อนข้างจะไร้เหตุผลสักหน่อย ผมไม่ได้ค้านเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างท้องถิ่นหรอกนะ
แต่จะให้ทำทุก 6 เดือนมันเกินไปหน่อย" เขาเล่า "หลังจากจมปลักอยู่ที่นี่ถึง
7 ปี ผมก็ไม่เอาแล้ว และผมก็สั่งปิดโรงงานไปเลย"
ก่อนจะย้ายโรงงานจากสวาซิแลนด์ไปยังทรานกีในปี 1982 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโกลเด้น
นิตติ้ง อูได้แสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของสวาซิแลนด์ออกมาให้เป็นที่รับรู้
โดยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการไปยังอดีตนายกรัฐมนตรีเบน นิสแบนซี
หลายเดือนต่อมารัฐบาลสวาซิแลนด์ได้เปลี่ยนนโยบายของตน โดยอนุญาตให้ชาวจีนและชาวต่างประเทศอื่น
ๆ เข้ามาอยู่อาศัยได้เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้เดิม แต่สำหรับอูแล้ว มันสายเกินไป
"ผมเป็นนักธุรกิจ" เขาพูดพร้อมกับยักไหล่ "ขณะที่พวกเขาเตรียมที่จะทำการเปลี่ยนแปลง
ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายโรงงาน และผมก็ทำอย่างที่ตั้งใจไว้"
ประสบการณ์ได้สอนบทเรียนบทสำคัญอย่างหนึ่งแก่เขาว่า ถ้าบรรยากาศการลงทุนไม่เอื้อ
ก็อย่าฝืนทนทำ แม้ว่าการเข้าไปตั้งโรงงานยังที่แห่งใหม่จะไม่มีอุปสรรคขัดขวาง
แต่ถ้าจำเป็น อูบอกว่า เขาก็พร้อมที่จะย้ายโรงงาน "ปัญหาในการตั้งโรงงานแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน"
เขาอธิบาย "โรงงานพวกนี้ทำเงินไม่ได้เลย"
พอมาถึงตรงนี้ ทำให้อูเริ่มคิดจะย้ายโรงงานออกจากทรานส์กี และซิสกี ซึ่งเป็นถิ่นคนดำอีกแห่งหนึ่งที่แอฟริกาใต้ได้ให้เอกราชแค่ในนามเมื่อปี
1981 ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงปัญหาอาชญากรรม และการเคลื่อนไหวของพวกสหภาพแรงงาน
"ปัญหาสำคัญที่สุดในเขตชนบทของซิสกีคือเรื่องความปลอดภัย" อูกล่าว
มักจะมีขโมยงัดเข้ามาลักของในคลังสินค้า ผมจึงคิดจะย้ายโรงงานไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่านี้"
และเพื่อเลี่ยงปัญหากับพวกสหภาพแรงงาน เขาจึงตั้งใจหันไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น
เพื่อลดจำนวนคน
อย่างไรก็ดี ไม่มีปัญหาอะไรที่จะมาบั่นทอนความตั้งใจของอูที่จะเข้ามาลงทุนในแอฟริกาใต้
ในทางกลับกัน เขายิ่งมีขวัญกำลังใจมากขึ้นหลังจากพรรคแอฟริกัน เนชั่นแนล
คองเกรสชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
"ความขัดแย้งกำลังลดลง" อูกล่าว "เมื่อประชาชนไม่มาสู้บนถนน
พวกเขาอาจจะกลับไปทำงาน และเมื่อพวกเขากลับเข้าทำงาน พวกเขาก็จะมีเงินใช้มากขึ้น
และสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไปในตัว และเมื่อความต้องการสินค้ามีเพิ่มขึ้น
วัฏจักรเหล่านี้ก็จะหมุนเวียนไป" อูพูดอย่างมีความสุข "สุดท้าย
แอฟริกาก็จะรุ่งเรือง"