|

บาทไร้วี่แววอ่อน-ต้นปีหน้าแตะ35ย้ำ'ส่งออก'เร่งปรับตัวรับมือค่าเงิน
ผู้จัดการรายวัน(7 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรฯเอาใจช่วยผู้ส่งออก แนะนอกจากการใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงแล้ว ยังต้องมีปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรม อาทิ การย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่มีต้นทุนต่ำเป็นการปรับตัวในระยะยาว คาดแนวโน้มยังไร้วี่แววอ่อนค่า ยันปลายปีนี้ได้เห็น 35.50 บาท/ดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2549 ไปจนถึงปี 2550 ว่า เงินบาทอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 35.0 บาทได้ภายในครึ่งแรกของปี 2550 โดยอาจจะปิดระดับ ณ ปลายปี 2550 ในช่วง 35.0-36.0 บาท/ดอลลาร์ฯ จากระดับปิด ณ สิ้นปี 2549 นี้ที่ประมาณ 35.5-36.0 บาท/ดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งจะมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่โครงสร้างรายได้และต้นทุนของแต่ละธุรกิจ
โดยผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่เน้นตลาดในประเทศ และมีสัดส่วนการนำเข้าสูง รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวขาออก (Outbound Tourism) ตลอดจนธุรกิจที่มีภาระหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศ น่าจะเป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากจะมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ลดต่ำลงเมื่อคิดเป็นเงินบาท ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้นำเข้าสินค้าในหมวดเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีระดับสูงที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวขาออก ตลอดจนธุรกิจที่มีรายได้เป็นเงินบาทแต่มีภาระหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการที่เน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่ไม่มีธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมากนัก ก็อาจจะถือได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ก็อาจได้รับผลทางอ้อม หากลูกค้าของตนถูกกระทบจากค่าเงินบาท ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจในกลุ่มที่เน้นตลาดหรือผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก อันได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และค้าปลีก ซึ่งไม่มีโครงสร้างรายได้หรือต้นทุนที่ผูกพันโดยตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ประกอบการมีภาระหนี้ในสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งย่อมจะได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทอาจส่งผลบวกในทางอ้อมต่อธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น ผ่านอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ถ้าหากมีการปรับลดของราคาน้ำมันที่นำเข้าเนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หรือหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระบบลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ลดลง เป็นต้น
ในทางตรงข้าม ผู้ประกอบการที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่มีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเงินบาท น่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในทางลบโดยตรงจากการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากจะมีส่วนต่างจากการดำเนินธุรกิจ (Operation Margins) ในรูปของเงินบาทที่ลดต่ำลง ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้ส่งออกสินค้าในหมวดอาหารและเกษตรแปรรูป ตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า (Inbound Tourism) ที่พึ่งพิงลูกค้าชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
และผู้ประกอบการที่มีทั้งรายได้ และต้นทุนในรูปเงินตราต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้แก่ธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติ (MNCs) ที่เข้ามาลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ทั้งในไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยกระบวนการผลิตมีลักษณะของการนำเข้าสินค้าขั้นกลางหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาประกอบในไทย แล้วส่งออกต่อไปยังตลาดต่างประเทศ ตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) ของสินค้านั้น ๆ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งผลกระทบสุทธิของการแข็งค่าของเงินบาทต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวมของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากสามารถกระจายรายได้และต้นทุนของตนเฉลี่ยกันไปในหลายสกุลเงิน
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากแข็งค่าของเงินบาทนั้น นอกเหนือจากการป้องกันความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินต่างๆแล้ว ผู้ประกอบการยังอาจต้องพิจารณาปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยการปรับตัวในระยะสั้นนั้น ผู้ประกอบการที่มีรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่างประเทศแต่มีต้นทุนเป็นเงินบาท เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ส่งออกสินค้าในหมวดอาหารและเกษตรแปรรูป อาจจะสามารถลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ โดยการปรับแหล่งรายได้ หรือกระจายตลาดสินค้าส่งออกของตน เพื่อที่จะลดสัดส่วนรายได้ในรูปเงินสกุลดอลลาร์ฯ และหันไปเพิ่มน้ำหนักรายได้ในรูปเงินตราสกุลอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีค่าแข็งขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เช่น เงินในภูมิภาคเอเซีย โดยเฉพาะเงินเยน ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนผู้ส่งออกสินค้าในหมวดอาหารและเกษตรแปรรูป ยังน่าจะพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการขายในประเทศให้มากขึ้น แทนที่จะพึ่งตลาดส่งออกเป็นหลักอย่างที่ผ่านมา โดยที่ผ่านคือ ผู้ผลิตอาหารหลายรายได้พยายามจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารของตน สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า (Inbound Tourism) การเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเทศก็คือการหันมาดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเกษตรแปรรูป การหันมานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศหรือ Outsource การผลิตในบางขั้นตอนไปในต่างประเทศ แทนที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักหรือผลิตในประเทศทั้งหมด ก็อาจจะช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการลงได้
และสำหรับการปรับตัวในระยะกลางถึงระยะยาว นอกจากการกระจายแหล่งรายได้และเพิ่มน้ำหนักการขายในประเทศเพื่อที่จะลดความสำคัญของรายได้ในรูปเงินดอลลาร์ฯแล้ว จากความเป็นไปได้ที่การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีก ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม อาจจะต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังแหล่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า หรือถูกกระทบจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯได้น้อยกว่า เช่น การย้ายฐานการผลิตสินค้าประเภทที่ใช้แรงงานมากหรือ Labor Intensive เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ฯลฯ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เราเห็นมาแล้วได้แก่กรณีของญี่ปุ่น ที่ได้ย้ายฐานการผลิตของตนออกไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย หลังจากที่เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นอย่างมากหลังข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|