"สงครามและสันติภาพของอันโตนิโอฮุย"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายหลังเหตุการณ์เจ้าของโรงงานทอผ้าชาวญี่ปุ่นถูกขบวนการก่อการร้ายฝ่ายซ้ายลอบสังหารที่เอลซัลวาดอร์ เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 80 นักธุรกิจชาวต่างชาติพากันหนีตายขนกระเป๋ากลับบ้าน ทิ้งให้ท้องถนนกลายเป็นสมรภูมิเลือดของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อถึง 12 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 75,000 ราย

ขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่พากันหนีให้รอดพ้นจากการสู้รบ แต่อันโตนีโอ ฮุย พ่อค้าขายสินค้าปลีกวัย 45 ปีกลับไม่ยอมจากเอลซัลวาดอร์ เส้นทางชีวิตของเขาแต่ละวันจะต้องคอยหลบเลี่ยงให้พ้นจากความตายเสมอ

"ผมยังไปเยี่ยมลูกค้า ทั้ง ๆ ที่ผมได้ยินเสียงยิงกันห่างออกไปราว 50 ไมล์" เขาย้อนอดีตครั้งนั้นให้ฟัง "มีรถปิ๊กอัพขนกลุ่มกองโจรแล่นผ่านผมไปคันหนึ่งเพื่อไปโจมตีสถานีของกองกำลังป้องกันชาติ ผมเห็นแค่นั้นผมก็เริ่มวิ่งแล้ว คนที่นี่เขาชินกับเรื่องอย่างนี้กันแล้ว พอผ่านไปได้สัก 30 นาที ทุกคนก็จะกลับไปใช้ชีวิตกันตามปกติ"

ถึงจะเสี่ยงกับความตาย แต่ฮุยก็เปิดใจว่า เขาไม่เคยคิดจากเอลซาวาดอร์ แม้ช่วงที่สงครามถึงจุดแตกหักก็ตาม

"เราเริ่มต้นในช่วงปีที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก การแข่งขันและความต้องการสินค้าก็ยังเล็กน้อย เหมือนกับทุกประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม แต่สงครามก็ได้เปิดช่องทางให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะธุรกิจขนาดใหญ่เปิดออกนอกประเทศกันหมดแล้ว"

แต่ในวันนี้ เมื่อควันสงครามจางหายไปหมดสิ้นแล้ว กลุ่ม "เอล ดรากอน อินดัสตรีส์" ของฮุย ธุรกิจที่ทำยอดขายได้ปีละ 8,600 ล้านดอลลาร์กลับต้องมาเผชิญหน้ากับปัญหาที่ท้าทายที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือสันติภาพ

หลังจากที่สหประชาชาติเข้าจัดการให้ทุกฝ่ายร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อปี 1992 คู่แข่งของฮุยซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและผู้นำเข้าสินค้าจากเอเชีย ต่างแห่กันกลับเข้ามาเอลซัลวาดอร์ "บริษัทของเราประสบความสำเร็จกันอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพราะเราเร็วกว่า ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจอยู่ที่นี่ พากันไปตั้งออฟฟิศอยู่ไกลถึงไมอามี่

เส้นทางการผจญภัยของฮุยยาวไกลมาก เขาออกเดินทางจากฮ่องกงมาอยู่กับลุงฮวน ปาโบล เอกิลซาบาล ที่เอลซาวาดอร์ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ ลุงฮวนซึ่งตอนนี้อายุ 70 ปีแล้ว เป็นเจ้าของร้านผ้าและขายข้าวของเบ็ดเตล็ด ซึ่งเดิมเป็นร้านที่ชาวจีนอพยพที่ย้ายจากแคลิฟอร์เนียเข้ามาอยู่ในอเมริกากลาง ตั้งขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 19 หลังจากฮุยย้ายมาแล้ว เขาได้เข้าเรียนมัธยมปลายในกรุงซาน ซัลวาดอร์ และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติซัลวาดอร์ในสาขาวิศวอุตสาหกรรม ก่อนที่ได้งานเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอล ซัลวาดอร์

ปี 1976 ฮุยจับมือกับลุงเอกิลซาบาล ตั้งบริษัทเล็ก ๆ ชื่อ "เรพรีเซนเทวิโอเนส II ดรากอน" ทำธุรกิจเป็นตัวแทนติดต่อผู้ส่งออกจากเอเชียให้กับผู้นำเข้าในประเทศ สำนักงานของเขามีเพียงเลขานุการ 1 คน แคตาล็อกสั่งซื้อสินค้า 2 เล่ม และพนักงานขาย 2 คนเท่านั้นเอง

2 ปีต่อมา ฮุยและเอกิซาบาลได้ทุ่มเงิน 200,000 ดอลลาร์ ตั้งบริษัทนำเข้าสินค้าของตัวเองขึ้นมาชื่อ "เอ ดรากอน อินดัสตรีส์" สองลุงหลานได้สั่งซื้อของเล่น, กรอบภาพและเครื่องใช้ในบ้านจากไต้หวัน, ฮ่องกง, จีน, เกาหลี และญี่ปุ่น และยังมีอีกบ้างบางส่วนที่สั่งจากเม็กซิโกและสหรัฐฯ

ครั้นปี 1979 ฮุยก็ได้เปิดโรงงานทำสินค้าจากพลาสติกอย่างเช่น อัลบั้มเก็บรูป, ปกสมุดแบบร้อยห่วง, ซองใส่พาสปอร์ต ไม่เท่านั้น ถัดมาในปี 1987 เขาได้ซื้อ "อัลมาเซเนส เอเฟ่" ซึ่งเป็นเครือข่ายห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก และยังได้ซื้อ "อัลมาเซเนส ดรากอน" กลุ่มร้านที่ขายสินค้าทุกอย่างตั้งแต่ผ้า, เครื่องตกแต่งต้นคริสต์มาส ไปจนถึงเครื่องใช้ในบ้าน

ยังนับว่าฮุยโชคดีที่เอล ดรากอน อินดัสตรีส์เป็นบริษัทเล็ก ๆ เกินกว่าจะตกเป็นเป้าโจมตีของพวกหน่วยสังหารฝ่ายขวา หรือพวกก่อการร้ายฝ่ายซ้าย อย่างไรก็ดีเพื่อความอุ่นใจ ฮุยจึงมุ่งเอาใจลูกจ้าง 300 คนของเขาโดยการเพิ่มเงินโบนัสให้เป็น 2 เท่าจากที่กฎหมายบังคับไว้ ยังแถมพกด้วยเงินพิเศษให้ลูกจ้างไปพักผ่อน และเงินพิเศษให้กับทีมกีฬาของบริษัทด้วย

"มักจะมีการพูดกันว่า ถ้านายจ้างคนไหนทำตัวเลว พวกก่อการร้ายจะจัดการทันที" ฮุยพูดอย่างแค่น ๆ "เราเลี้ยงดูลูกจ้างของเราดีเสมอ"

แต่ความสำเร็จของเอล ดรากอน อินดัสตรีส์ในวันนี้ ขึ้นอยู่กับว่าทางกลุ่มสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจได้แค่ไหน "เราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องวางแผนล่วงหน้าให้มาก ใครที่ไม่คิดไกลถึงอนาคตก็คงอยู่ไม่ได้"

กลยุทธ์ของฮุยในช่วงที่แผ่นดินสงบก็คือ ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและฝีมือ ยกตัวอย่าง ในช่วงสงคราม กรอบรูปพลาสติกราคาถูกจะขายดีมาก แต่ฮุยกลับตัดราคาขายลงต่ำสุด เอกิลซาบาลอธิบายให้ฟังว่า "ในตลาดมีของที่ดีกว่าของเราเยอะแยะ"

ในแต่ละปี ฮุยจะเดินทางไปเอเชีย และทุกซอกทุกมุมในอเมริกากลางราว 4 ครั้ง เพื่อหาซื้อสินค้า นอกจากนี้ เขายังมองหาตลาดเกิดใหม่ด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้เขาได้เดินทางไปอเมริกาใต้เป็นครั้งแรก และวางแผนว่าจะเปิดสาขาห้างสรรพสินค้า 2 แห่งภายในสิ้นปี

ปัญหาสำคัญที่สุดที่กระทบกับเอล ดรากอน อินดัสตรีส์ เกิดจากพวกขายสินค้าหนีภาษีโดยลอบเอาสินค้ามาขายในราคาต่ำกว่าภาษีในเอล ซัลวาดอร์ จะจัดเก็บในอัตรา 30% ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าในสหรัฐฯ มาก ผลตามมาก็คือ เกิดการคอร์รัปชั่นกันเกลื่อนเมืองและเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ข่าวอาชญากรรม และการลักพาตัวโดยผู้ประกอบการและนักธุรกิจชั้นนำจะตกเป็นเป้าจู่โจม ก็เริ่มก่อกระแสความหวาดวิตกขึ้นมาอีกครั้ง โดยทางหอการค้ารายงานว่าในช่วงที่ผ่านมาเกิดคดีลักพาตัว 20 ราย

แม้ว่าอัตราคนว่างงานและคนรอการจ้างงานในเอล ซัลวาดอร์จะอยู่ในระดับ 60% ฮุยก็ยังเชื่อมั่นว่าสถานการณ์กำลังจะดีขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่อปีที่แล้ว เอล ซัลวาดอร์ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น และอัตราเงินเฟ้อก็ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 20% เหลือ 12% ขณะที่เศรษฐกิจในปีที่แล้วขยายตัว 5%

ฮุยบอกว่า ฎเอล ซัลวาดอร์มีบรรยากาศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ" และเสริมว่านักธุรกิจสามารถทำเงินได้จากธุรกิจนำเข้าส่งออกซึ่งไม่ค่อยมีการลงทุนกัน "คนที่นี่ทั้งขยัน ทั้งฉลาด และไม่มีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องศาสนา และเชื้อชาติ"

ชีวิตของฮุยตอนนี้เริ่มลงตัวแล้ว มีทั้งภรรยาและลูก 3 คนอายุตั้งแต่ 7-12 ปี เขาเองสามารถพูดได้ทั้งภาษากวางตุ้ง, แมนดาริน, สเปน และอังกฤษ หากมีเวลาว่าง เขาจะไปทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มนิเวศวิทยาให้กับนักธุรกิจที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับโครงการปลูกป่า และยังได้เข้าร่วมทำกิจกรรมให้กับสมาคมชาวจีนด้วย

ฮุยบอกว่าชีวิตเขาผูกติดกับเอล ซัลวาดอร์ไม่ว่าจะเป็นยามสงครามหรือสันติภาพ ความผูกพันธ์ที่มีนั้นหยั่งรากลึงเกินกว่าจะคิดหวลกลับคืนสู่ฮ่องกง นอกจากนี้ เขาบอกว่านักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสทำเงินได้มากในเอล ซัลวาดอร์ แต่พวกเขาจะต้องตื่นตัวอยู่ทุกขณะ เขาพูดยิ้ม ๆ ว่า "ถ้าคุณเกิดผลอยหลับไปตอนนี้ คุณแพ้แน่"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.