โกลว์ขายไฟฟ้าให้กลุ่มปูนใหญ่20ปีเร่งขยายกำลังการผลิตรองรับลูกค้า


ผู้จัดการรายวัน(7 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โกลว์ พลังงาน เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีให้กับกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ และบริษัท ไทยโพลเอททีลีน ทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีก 120-140 เมกะวัตต์ และไอน้ำประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ด้านผู้บริหาร ระบุบอร์ดไฟเขียวอนุมัติแผนการเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว คาดได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน 3 เดือน

นายปีเตอร์ เทอร์โมท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี จำนวน 2 ฉบับ กับบริษัท มาบตาพุด โอเลฟิน จำกัด (เอ็มโอซี) และ บริษัท ไทยโพลีเอทีลีน จำกัด (ทีพีอี) ซึ่งเป็นบริษัทด้านปิโตรเคมีในกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย

จากการทำสัญญาดังกล่าว รวมกับสัญญาอื่นๆ ที่ได้ทำไว้ในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ทำให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันของโกลว์ จำเป็นต้องมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 120-140 เมกะวัตต์และไอน้ำประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งบริษัทจะเริ่มทยอยผลิตให้ระหว่างปี 2548- 2553 นี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการขยายกำลังการผลิตแบบเป็นขั้นตอน โดยส่วนของเทคโนโลยี ระยะเวลา และขนาดของการขยายกำลังการผลิตจะขึ้นอยู่กับราคาสุดท้ายของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้

"โกลว์ประสบความสำเร็จในการทำสัญญาใหม่กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันทางบริษัทได้ทำสัญญาระยะยาวเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 120-140 เมกกะวัตต์ และไอน้ำจำนวน 30 ตันต่อชั่วโมง โดยลูกค้าของบริษัทได้ทยอยเริ่มรับซื้อตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2553 ทั้งนี้ยอดขายดังกล่าวข้างต้นยังไม่รวมถึงยอดขายในอนาคตจากการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง (organic growth) ตามความเติบโตของลูกค้าเดิมที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" นายปีเตอร์ กล่าว

พร้อมกันนี้ กลุ่มบริษัทกำลังวางแผนในการเพิ่มกำลังการผลิตโดยการเพิ่มหน่วยผลิตอีกอย่างน้อย 1 หน่วย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในการตัดสินใจสำหรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นนั้น กลุ่มบริษัทฯจะพิจารณาจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าที่ทางกลุ่มบริษัทฯมีอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในปัจจุบัน รวมทั้งกำลังการผลิตที่มีอยู่และการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องของลูกค้า โดยภาพรวมทั้งหมดน่าจะชัดเจนมากขึ้นภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

"โกลว์รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนโรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย และเชื่อว่าเหตุผลสำคัญในการเลือกทางบริษัทนั้นคือ การที่บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงและเชื่อถือได้ ให้กับบริษัทปิโตรเคมีแห่งอื่นๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด"

กลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทยนับเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีความเป็นผู้นำในธุรกิจหลักต่างๆในแต่ละประเภท อาทิเช่น เคมีภัณฑ์ ซิเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และ กระดาษ โรงงานปิโตรเคมีแห่งที่สองของกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กำลังจะก่อสร้างขึ้นที่ สถานที่ก่อสร้าง เอสซีจี เลขที่ 7 ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จังหวัดระยอง โรงงานโอเลฟินส์จะดำเนินการโดยบริษัทมาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจัดตั้งขึ้นใหม่ระหว่างบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ บริษัท ดาว เคมิคอล ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ

บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด จะมีขนาดกำลังการผลิตตามมาตรฐานโลกอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน (เอททีลีน 900,000 ตัน และ โพรไพลีน 800,000 ตัน) ความสามารถในการผลิตสินค้าปิโตรเคมีปลายน้ำต่อปีจะมีขนาด 800,000 ตัน (HDPE 400,000 ตัน และ PP 400,000 ตัน) อยู่ภายใต้การจัดการของ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน บริษัทในเครือที่ถือหุ้นทั้งหมดของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย คาดการว่าการผลิตตามจำนวนดังนี้จะสามารถเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปี 2553

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าวจะส่งผลดีต่อรายได้ในอนาคตให้ปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับงานขนาดใหญ่ โดยในส่วนของปัจจัยพื้นฐาน ถือว่ายังคงมีความแข็งแกร่ง โดยผลกำไรไตรมาสที่ 4/49 - ปี 50 จะทรงตัว คาดว่าเป็นผลจากมาร์จิ้นโดยรวมที่ทรงตัวเนื่องจากนโยบายการตรึงค่า Ft ของรัฐบาลและไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าครั้งใหญ่ รวมทั้งไม่มีกำลังผลิตใหม่เพิ่มเติม

ขณะที่บล.สินเอเซีย แนะนำ "Trading Buy" GLOW ที่ราคาเป้าหมายปี 50 ที่ 35 บาท จากวิธี DCF หลังจากที่เซ็นสัญญาจำหน่ายไฟฟ้ากับกลุ่มบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ ทำให้ GLOW สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 120-140 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 250 เมกะวัตต์ โดยคาดใช้เงินลงทุนประมาณ 150-350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการขยายกำลังการผลิตนี้ได้ตั้งแต่ปลายปี 53-54 ซึ่งบล.สินเอเซียได้รวมประมาณการกำลังการผลิตส่วนเพิ่มนี้ไว้ในมูลค่าหุ้นแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.