สมาคมอาคารชุดเปิดแผนปี50หวังสร้างมาตรฐานผู้ประกอบการ


ผู้จัดการรายวัน(7 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

“อธิป พีชานนท์” ผลักสมาคมอาคารชุดไทยขึ้นแท่นมาตรฐานสากล หลังคอนโดมิเนียมเริ่มเป็นที่นิยม วางแผนจัดรวบรวมกม.ที่เกี่ยวกับอาคารชุด แจกผู้ประกอบการ พร้อมทำการสำรวจวิจัยความต้องการผู้ซื้อคอนโดฯ หวังป้องกันสินค้าค้างตลาด พร้อมร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหลักสูตรคู่มือและอบรมมาตรฐานบัญชีนิติบุคคลอาคารชุดให้เป็นมาตรฐานเดี่ยวกัน

นาย อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยถึงแผนงานของสมาคมฯว่า ในปี 2550 สมาคมมีแผนงานพิเศษนอกเหนือจากนโยบายปกติ ได้แก่ 1. การจัดทำหนังสือรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจอาคารชุด อาทิ พระราชบัญญัติ (พรบ.) อาคารชุด กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง, พรบ.ควบคุมอาคาร กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง, พรบ.ผังเมือง, พรบ.สิ่งแวดล้อมฯ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาคมฯเคยรวบรวมกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากในระยะหลัง ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือกฎกระทรวงหลายข้อ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสน และในปี 2550 มีกฎหมายหลายข้อที่เปลี่ยนแปลง

2. การจัดทำคู่มือและการจัดอบรมมาตรฐานบัญชีนิติบุคคลอาคารชุด โดยสมาคมจะร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์การบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรคู่มือและจัดอบรมมาตรฐานบัญชีนิติบุคคลอาคารชุดให้กับผู้ประกอบการ, นิติบุคคลอาคารชุด และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งปัญหาการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาด้านการจัดทำบัญชีที่เกิดความบกพร่องจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมของผู้บริโภค เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มหันมาอยู่อาศัยในโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้น จากเดิมคอนโดมิเนียมจะเป็นบ้านหลังที่สอง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นบ้านหลังที่หนึ่งของผู้บริโภคไปแล้ว ดังนั้นการจะรักษาให้คอนโดมิเนียมอยู่ในความนิยม จึงจะต้องมีมาตรฐานในการบริหารจัดการโครงการให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการอยู่อาศัยมากขึ้น

3.การจัดทำวิจัยพฤติกรรมผู้ซื้อคอนโดมิเนียม โดยสมาคมจะร่วมกับสถาบันการศึกษาในการสำรวจและวิจัยพฤติกรรมผู้ซื้อคอนโดมิเนียม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการการใช้ประโยชน์พื้นที่ห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มลูกค้า แต่ละระดับราคา และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้กับสมาชิกสมาคม ให้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป ซึ่งแม้ว่าบริษัทใหญ่หลายแห่งได้ทำการสำรวจไปแล้ว แต่ใช่เฉพาะในบริษัทไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน

อีกทั้งบริษัทผู้พัฒนาขนาดเล็กเองก็ไม่มีเงินทุนในการทำวิจัย ทำให้ไม่รับทราบข้อมูลที่แท้จริง ดังนั้นหากมีการสำรวจและวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้เมื่อตลาดคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมจากผู้บริโภค สมาคมจึงเห็นว่าควรจะมีงานวิจัยที่เป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการที่อาจจะนำไปใช้ เพื่อไม่ให้ทำอะไรที่เป็นการฝืนตลาด และไม่ก่อให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายหรือสินค้าล้นตลาด เนื่องจากพัฒนาสินค้าไม่ตรงกับความต้องการและไม่สามารถระบายออกได้ ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยจะสามารถนำไปใช้ในการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทำให้ไม่เกิดปัญหาสินค้าตกค้างอยู่ในตลาด เพราะขายไม่ได้

“แม้ว่าตลาดคอนโดฯจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หากผู้ประกอบการได้รับรู้ข้อมูลพื้นฐานแล้ว เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคไม่มากก็น้อย ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และที่ผ่านมาในบริษัทที่ไม่ได้ทำการสำรวจจะคิดและเชื่อเองว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แต่ไม่ได้มากจากการสำรวจผู้บริโภคจริงๆ” นายอธิปกล่าว

และ 4 การมอบเงินและสิ่งของช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนในถิ่นธุรกันดาร ซึ่งในปีนี้จะมอบเงินและช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนในจังหวัดสระบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจโรงเรียนที่ขาดแคลน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.