"เสกขยะให้เป็นเงิน"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 16 ปีก่อนเดวิด ดวงและญาติของเขาได้อาศัยเรือหาปลาเก่า ๆ หนีภัยสงครามออกมาทางชายฝั่งเวียดนามตอนใต้ แต่เมื่อออกเรือมาได้ราว 130 กิโลเมตร เรือก็แตก แต่ยังโชคดีที่มีเรือโซเวียตมาช่วยชีวิตไว้ และพาพวกเขาไปฟิลิปปินส์ 18 เดือนต่อมา ครอบครัวของเขาจึงข้ามไปตั้งหลักปักฐานในซานฟรานซิสโก

ดวงเป็นลูกคนโตจากพี่น้องที่มีอยู่ 7 คน เขาได้เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งช่วงนั้นลุงของเขาทำงานอยู่ในร้านขายบะหมี่ ส่วนแม่บุญธรรมของดวงเป็นพนักงานทำความสะอาดอาคารสำนักงาน ตกค่ำ ดวงจะเดินไปตามถนน ตื่นตะลึงกับตึกระฟ้า และแสงนีออน ขณะที่ข้างถนนก็เกลื่อนกลาดไปด้วยเศษกระดาษและขยะ

"สำหรับเราแล้วรู้สึกว่ามันน่าเสียดายมาก" ดวงเล่า พ่อของดวงมีหุ้นส่วนอยุ่ในบริษัทกระดาษและผลิตสินค้าจากของใช้แล้วในไซ่ง่อน ซึ่งตอนนี้เรียกว่าโฮจิมินห์ "เราเรียนรู้จากธุรกิจของพ่อในเวียดนามว่าขยะเป็นของมีค่า"

ค่าของมันมหาศาลมาก ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากดวงตั้งบริษัทรีไซเคิลขึ้นในทศวรรษที่ 1980 ครอบครัวของเขาได้เสกขยะให้เป็นทรัพย์สมบัติที่มีมูลค่าราว 4.3 ล้านดอลลาร์

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ ประการแรก ดวงไม่รู้จักเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลในซานฟรานซิสโกเลยสักแห่ง

"แม้แต่วิธีใช้สมุดหน้าเหลือง เรายังไม่รู้เลย" ดวงพูดยิ้ม ๆ

บรรดาญาติพี่น้องดวงจะแยกย้ายกันขึ้นรถประจำทางตระเวณหาบริษัทรีไซเคิลที่รับซื้อกระดาษใช้แล้ว จนมีอยู่วันหนึ่งแม่บุญธรรมของดวงได้ไปเจอบริษัทแห่งหนึ่งชื่อ "อินดีเพนเดนท์ เปเปอร์" อันเป็นเป้าหมายที่พวกเขาต้องการจากนั้น ครอบครัวดวงจึงไปขอยืมเงินจากเพื่อนที่อยู่ในไชน่า ทาวน์มา 700 ดอลลาร์ และกู้ธนาคารมาอีก 2,000 ดอลลาร์ รวมเอามาซื้อรถแวนมือสอง

พี่น้องตระกูลดวงจะตระเวณเข้าไปย่านธุรกิจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อไปเก็บกระดาษที่ภารโรงขนออกมาไว้ข้างนอกพวกเขาจะมีรายได้จากเศษกระดาษที่รวมมาได้ในแต่ละวันราว 100-120 ดอลลาร์ กำไรที่ได้ก็เอาเข้าบริษัท ต่อมาก็ซื้อรถเพิ่มและยังได้ซื้อเครื่องอัดกระดาษที่ค่อนข้างจะมีราคาแพงเอาไว้อัดกระดาษให้เป็นตั้ง ๆ

"เพราะที่นี่คืออเมริกา เราจึงซื้อได้ทุกอย่าง โดยจ่ายเงินสดเพียงนิดหน่อย" ดวงเล่าพร้อม ๆ กับกางแขนออกทำท่าโอบเพื่อให้ดูว่านโยบายด้านการปล่อยสินเชื่อของธุรกิจการเงินในสหรัฐฯ กว้างขวางแค่ไหน "ที่นี่คุณทำอย่างนั้นได้ คุณไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด"

ในปี 1982 ครอบครัวดวงได้ลงทุน 15,000 ดอลลาร์ตั้งบริษัท "อีสต์ เวสต์ รีไซคลิ่ง" ต่อมาอีกปี พวกเขาได้ลงทุนเพิ่มอีก 60,000 ดอลลาร์ แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น "โคกิโด เปเปอร์" เป็นชื่อที่เขาเล่าว่าเอามาจากชื่อโรงงานทำกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ที่พ่อของดวงมีหุ้นส่วนอยู่

โคกิโดขยายตัวอย่างรวดเร็ว และได้ย้ายสำนักงานข้ามจากอ่าวซานฟรานซิสโกไปยังโอ๊คแลนด์ในปี 1984 และต่อมาก็ได้เปิดสาขาขึ้นแถวซาน โฮเซ่ ในปี 1989 ดวงได้ขายโคกิโดในราคา 2 ล้านดอลลาร์ให้กับ "นอร์แคล เวสท์ ซิสเต็มอิงค์" บริษัทรีไซเคลในซานฟรานซิสโกที่ต้องการขยายธุรกิจของตัว

ดวงได้กลับเข้าสู่วงการรีไซเคิลอีกครั้งในปี 1992 โดยครั้งนี้เขาได้ลงทุน 2.8 ล้านดอลลาร์ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ "แคลิฟอร์เนีย เวสท์ โซลูชั่น" เขายังได้ใช้เงินอีก 6 แสนดอลลาร์ซื้อรถบรรทุกมา 6 คัน และอีก 5 แสนดอลลาร์ซื้อเครื่องอัดกระดาษขนาด 200 แรงม้าซึ่งสามารถอัดกระดาษได้ชั่วโมงละ 35 ตัน

ปีที่แล้วแคลิฟอร์เนีย เวสท์ โซลูชั่นได้สัญญา 5 ปีมูลค่า 4.5 ล้านดอลลาร์จากเมืองโอ๊คแลนด์ให้เก็บกระดาษ, กระป๋องและน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจากผู้อยู่อาศัย 33,000 หลังคาเรือน

เห็นได้ชัดว่า สัญญาฉบับนี้จะทำเงินให้กับดวงมหาศาล ข้อมูลจากแหล่งข่าวอุตสาหกรรมระบุว่า ในปี 1989 แคลิฟอร์เนียได้ออกกฎหมายให้ผู้อยู่อาศัยลดพื้นที่ใช้ทิ้งขยะลง 25% ภายในปี 1995 และลดเหลือ 50% ภายในปี 2000 ซึ่งทำให้ปริมาณขยะที่จะต้องมีการถ่ายเทออกไปรีไซเคิลสูงขึ้นเป็นจำนวนถึง 20 ล้านตัน

บรรดาบริษัทรีไซเคิลต่างหวังกันว่ารัฐบาลประธานาธิบดีบิลล์ คลินตันที่ค่อนข้างจะเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมจะผ่านกฎหมายแห่งชาติที่ช่วยขยายตลาดให้กับสินค้ารีไซเคิล ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้รับปากว่าจะเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และจะออกมาตรการยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ใช้วัสดุรีไซเคิล และจะออกมาตรการเก็บภาษีเพื่อลดการใช้วัตถุผลิตใหม่

"ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ถึงปีละ 125,000 ดอลลาร์ "ธุรกิจสายนี้กำลังรุ่ง" ดวงคาด "รองประธานาธิบดีอัล กอร์ก็เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวยงคนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องดีต่อตลาดในประเทศ

นอกจากนี้ จากการที่ตลาดเอเชียยังสามารถเจาะได้ง่าย ทำให้นักธุรกิจรีไซเคิลจากแคลิฟอร์เนียอย่างดวงก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุดได้ เมื่อปีที่แล้ว ดวงขายกระดาษใช้แล้วให้กับบริษัทในไต้หวัน, เกาหลี, จีน, ไทย, อินเดีย, ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ได้เงินมา 3 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าว่าอีกสักสองสามปีที่จะทำให้ได้ 5 ล้านดอลลาร์ สำหรับดวงแล้ว โอกาสเหล่านี้อาจพาเขาเข้าไปทำธุรกิจกับบริษัทในบ้านเกิดได้

เมื่อปีที่แล้วอีกเช่นกันเขาได้พบกับตัวแทนจากโรงงานทำกระดาษในโฮจิมินห์ ซึ่งเขาเองได้ตั้งบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชื่อ "อเมริกาเซียน เทคโนโลยี เวนเจอร์" เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นในโฮจิมินห์และไฮฟงพัฒนารับบหมุนเวียนวัสดุใช้แล้ว เขาเล่าว่าเขามีโครงการจะเปิดสำนักงานในเวียดนามสิ้นปีนี้

สำหรับตอนนี้ ดวงพยายามรักษาบรรยากาศธุรกิจแบบครอบครัวไว้ให้เหมือนกับตอนเริ่มต้น เขายังได้นัดลูกจ้าง 43 คนของเขามาทำบาร์บีคิวกินกันที่บ้านทุกเดือน สำหรับพ่อบ้านลูกสามคนนี้ เขามองว่างานของเขาไม่ใช่แค่การทำมาหาเงิน

"ผมคิดว่าธุรกิจนี้ดีสำหรับเราในตอนนี้ และคนรุ่นต่อไป" เขากล่าวพร้อมกับเอนตัวมาข้างหน้าอย่างกระฉับกระเฉง "ไม่ใช่แค่พวกเราเท่านั้น ผมคิดว่าทุกคนควรจะทำเพื่อรักษาและพิทักษ์โลกของเรา"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.