ภายใต้นโยบาย "วิชั่น 2020" ของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด
โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของมาเลเซียกำลังเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยในศตวรรษที่
21 โครงการเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ "บาคุน" ในซาราวัก
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะเกิดขึ้น
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะมีผลกระทบต่อชนพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่และสร้างความเสียหายกับสภาพแวดล้อม
และโครงการนี้อาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า หากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมา
ล้นเกิดความต้องการใช้ ถึงอย่างไรการสร้างเขื่อนบาคุมก็ต้องเดินหน้าต่อไป
เพราะเป็นหนึ่งในสัญญลักษณ์รูปธรรมของวิชั่น 2020
ท่ามกลางความมืดมิดของค่ำคืนหนึ่ง ใจกลางเกาะบอร์เนียว เรือยาวลำหนึ่งพาบรรดาผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเคยเป็นนักล่าหัวมนุษย์ในอดีตพุ่งลงสู่กระแสน้ำวนอันเชี่ยวกรากของ
"กิแฮม ดาฮา" หรือ "แก่งโลหิต" สายฝนที่เทลงมายิ่งทำให้ทัศนียภาพของโขดหินและวังน้ำวนที่อันตรายพร่าเลือนมากขึ้นในความมืด
ค่ำคืนนี้ควรเป็นเวลาที่เหล่าผู้อาวุโสแห่งเผ่า "ลอง มูรุม"
จะได้นั่งล้อมวงดื่มกินอย่างสำราญใจ ภายใต้แสงตะเกียงน้ำมันก๊าดในกระท่อมที่ปลอดภัย
แทนที่จะต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงกับการฝ่าสายน้ำเชี่ยวในยามราตรี ถ้าไม่เป็นเพราะนัดหมายที่มีกับหัวหน้าชนเผ่าอื่น
ๆ อีก 14 แห่งที่กระจายกันอยู่ในป่าทึบที่โอบล้อมต้นแม่น้ำเรจังอันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของซาราวัคในครั้งนี้
มีความสำคัญมากเกินกว่าที่จะผัดผ่อนได้
พวกเขาไปพบกันเพื่อหารือกันว่าจะยอมทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนและละจากวิถีชีวิตปกติเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า
"ความก้าวหน้า" หรือไม่
คงจะไม่มีที่ใดบนพื้นโลกในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอันน่าตื่นตาตื่นใจ
และโดยฉับพลันเท่ากับชุมชนที่ยังคงใช้ไม้ซางเป็นเครื่องยังชีพและประดับร่างกายด้วยหัวกระโหลกมนุษย์ย่อส่วนแห่งนี้
ภายใต้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลมาเลเซียที่จะสร้างประเทศให้เป็นชาติที่พัฒนาอย่างเต็มที่ในเวลา
26 ปี พื้นที่ตอนเหนือของป่าราจังถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
นั่นคือ โครงการเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ "บาคุน" มูลค่าการลงทุน
6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงแต่ใช้ในประเทศเท่านั้น แต่จะขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
เขื่อนบาคุนจะสูงกว่าเขื่อนอัสวานในอียิปต์เกือบสองเท่า กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า
2,400 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะถูกจ่ายไปยังภาคตะวันตกของมาเลเซียโดยสายเคเบิลใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลก
คือยาวถึง 650 กิโลเมตรที่จะวางข้ามทะเลจีนใต้
ถึงแม้โครงการนี้จะมีขนาดมหึมาและมีอุปสรรคทางธรรมชาติอยู่มาก แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างคือ
"ติง เพค คิง" ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจป่าไม้ ก็อ้างว่าเขื่อนบาคุนจะเสร็จสมบูรณ์
จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปี คศ. 2000
สำหรับมาเลเซียซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัว การแปรเปลี่ยนความฝันอันยิ่งใหญ่ให้เป็นความจริงไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ
เมื่อ 3 ปีก่อนนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดได้ประกาศที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นชาติอุตสาหกรรมทันสมัยภายในปี
2020 ภายใต้นโยบายที่เรียกกันว่า "วิชั่น 2020" นี้ โครงการขนาดใหญ่หลาย
ๆ โครงการได้เกิดขึ้นและดำเนินการอยู่ตอนนี้ ตัวอย่างเช่น
โครงการกัวลาลัมเปอร์ ซิตี้ เซ็นเตอร์ เป็นโครงการอาคารแฝดสูง 450 เมตรซึ่งจะเป็นตึกอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในโลก
แต่ละตึกมี 85 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ดินที่เคยเป็นสนามแข่งม้าเซลังงอร์
จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 1996 และจะรองรับคนได้ 50,000 คนที่อยู่ใกล้ ๆ กันคือ
เมเนร่า กัวลาลัมเปอร์ ความสูง 420 เมตร ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วในปีหน้า
จะเป็นหอคอยเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมที่สูงที่สุดของเอเชีย
สนามบินกัวลาลัมเปอร์แห่งใหม่ ซึ่งจะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 10,000 เฮคเตาร์ที่เคยเป็นสวนยางและปาล์มน้ำมัน
ตั้งอยู่ที่ "เซปัง" ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 70 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงใต้
โครงการระยะแรกซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 4 พันล้านเหรียญ จะเปิดใช้การได้ทันการเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาเครือจักรภพในปี
1998 แต่เป้าหมายระยะยาวของสนามบินแห่งนี้คือ ช่วงชิงความเป็นหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แข่งกับสนามบินชางกีของสิงคโปร์
โครงการรถไฟความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งระหว่างสนามบินกับเขตดาวทาวน์ของกัวลาลัมเปอร์
และเชื่อมต่อกับระบบรถไฟขนาดเบาในเขตเมืองซึ่งนักวางแผนหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลวงได้
โครงการสะพานข้ามช่องแคบยะโฮร์เชื่อมมาเลเซียกับสิงค์โปร์แห่งที่สอง รัฐยะโฮร์ซึ่งอยู่ใต้สุดของมาเลเซีย
กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและจะอยู่ในขั้นพัฒนาอย่างเต็มที่เร็วกว่าส่วนอื่น
ๆ ของประเทศถึง 10 ปีเต็ม ที่ปลายสะพานฝั่งมาเลเซียจะมีการสร้างเมืองบริวารแห่งใหม่
ส่วนเมืองยะโฮร์ บาห์รูซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ ก็วางแผนสร้างศูนย์กลางเมืองขึ้นด้วยการตอกเสาเข็มลงไปในทะเล
ถัดจากถนนเลียบอ่าว
โครงการผลิตรถแห่งชาติคันที่สองหลังจากที่โปรตอน รถแห่งชาติคันแรกประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งไปแล้ว
มาเลเซียก็จะเริ่มผลิตรถคันที่สองในไม่ช้านี้ โดยใช้รถ ไดฮัทสุ มิร่าเป็นต้นแบบ
ซึ่งจะขายในราคาถูกกว่ารถโปรตอนรุ่นที่มีราคาต่ำสุดถึง 4,000 เหรียญสหรัฐ
รถโปรตอนมียอดขายมากกว่า 500,000 คันในมาเลเซีย และมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศ
75% อันเนื่องมาจากนโยบายคุ้มครองที่กำหนดกำแพงภาษีรถนำเข้าไว้สูงมาก มาเลเซียยังส่งรถโปรตอนออกไปขายในกลุ่มประเทศอาเซี่ยนและอังกฤษซึ่งขายดีมากในบรรดารถประเภทเดียวกัน
ในขณะที่มาเลเซียกำลังเดินหน้าเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 บรรดานักวิจารณ์ก็พากันตั้งคำถาม
โดยเฉพาะกับโครงการเขื่อนบาคุนว่า นายกรัฐมนตรีมหาเธร์และติง ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างเขื่อนกำลังทำในสิ่งที่เกินกำลังความสามารถของตัวเองไปหรือเปล่า
ไม่ต้องสงสัยว่าการพัฒนาในกลุ่มอาเซี่ยนทำให้มีความต้องการพลังงานปริมาณมหาศาล
เหตุการณ์ไฟดับทั่วประเทศมาเลเซียเมื่อสองปีก่อน สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมประมาณ
100 ล้านเหรียญ การตัดไฟเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในกัวลาลัมเปอร์
จนถึงเมื่อปีกลายนี้
รัฐบาลมาเลเซียบอกว่า หากมาเลเซียต้องการเป็นชาติพัฒนาภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
จะต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 25,000 เมกะวัตต์ หรือมากกว่ากำลังการผลิตปัจจุบัน
4 เท่าตัว มหาเธร์อ้างว่าเขื่อนบาคุนจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 25% ของความต้องการ
โดยไม่ต้องพึ่งพิงแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรอง
ผู้เชี่ยวชาญบางคนโต้แย้งว่า ในระยะสั้น มาเลเซียจะมีไฟฟ้าเกินความต้องการเพราะว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนบางรายจะเริ่มเดินเครื่องได้ภายในปีนี้
บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซีย "เทนากา เนชั่นแนล" มีสัญญาซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเหล่านี้เป็นเวลา
21 ปี ในขณะที่เขื่อนบาคุนมีอายุการใช้งานเพียง 35 ถึง 50 ปีเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า
เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของมาเลเซียถึงจุดสูงสุด เขื่อนบาคุนก็ถึงเวลาปลดระวางแล้ว
"เขื่อนบาคุนทั้งมาก่อนกาล 20 ปี และเกิดขึ้นสายเกินไป 20 ปี"
ผู้บริหารกิจการพลังงานชาติตะวันตกรายหนึ่งกล่าว
นอกจากนั้นยังมีคำถามต่อบริษัท "เอคราน" ของติงว่า จะมีเงินทุนและความชำนาญพอที่จะสร้างเขื่อนได้หรือไม่
เพราะเอครานไม่เคยทำโครงการเช่นนี้มาก่อนเลย
เชอร์ลี่ย์ เท นักวิเคราะห์แห่งบริษัทหลักทรัพย์ เอช. จี เอเชีย (มาเลเซีย)
บอกว่า "โครงการนี้คงจะเดินหน้าต่อไป เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีแต่ขนาดของโครงการเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก"
ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่ง
มีคนพื้นเมืองที่เรียกว่า "โอ รัง อูลู" มากกว่า 8,000 คน แยกกันอยู่ตามชุมชน
15 แห่งในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนซึ่งจะต้องอพยพออกไปจากผืนดินที่ใช้เลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคนแล้ว
เอครานจะได้เป็นเจ้าของป่าไม้รอบ ๆ ที่สร้างเขื่อนซึ่งมีมูลค่า 400 ล้านเหรียญ
นักสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของมาเลเซียเท่านั้น
แต่ยังเสนอว่า น้ำ 44 พันล้านลูกบาศก์เมตร ที่เก็บกักไว้จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ด้วย
ติงโต้กลับว่า พื้นที่ที่น้ำท่วมคิดเป็น 0.01% ของแผ่นดินซาราวักทั้งหมดเท่านั้นเขาเสริมด้วยว่า
"แน่นอนว่า เราจะไม่สร้างสิ่งที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์"
เป็นเรื่องตลกที่ โครงการเขื่อนบาคุนซึ่งได้รับการเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อ
13 ปีก่อน ถูกสั่งชะลอโครงการโดยตัวมหาเธร์เองในปี 1990 ตอนนั้นมหาเธร์ให้เหตุผลที่สั่งหยุดโครงการนี้ว่า
"เพื่อพิสูจน์ว่า มาเลเซียให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม" พอมาถึงวันนี้เขาบอกว่า
"โครงการนี้ถึงเวลาเกิดแล้ว"
แม้ว่าจะมีข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้มหาเธร์คงจะไม่เปลี่ยนใจ
นายกรัฐมนตรีวัย 68 ปีผู้นี้ ไม่ค่อยจะใส่ใจกับฝ่ายค้านทั้งในและนอกประเทศ
และไม่เคยกลัวที่จะทำงานที่คนอื่น ๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ บุคลิกภาพเช่นนี้ทำให้นักให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า
มหาเธร์จะทำนโยบาย "วิชั่น 2020" ให้เป็นจริงได้ และถ้าสำเร็จ
มาเลเซียก็จะปรับเปลี่ยนตัวเองจากอาณานิคมของอังกฤษที่ถูกคุมคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์
มาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในเวลาเพียง 60 ปีเศษเท่านั้น
อังกฤษแผ่อิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรมาเลย์ครั้งแรกเมื่อ ฟรานซิส ไลท์ควบคุมเกาะปีนังได้
ในปี 1786 อีก 40 ปีต่อมาเขาก็ได้รวมสิงค์โปร์ ปีนัง และมะละกาขึ้นเป็นดินแดนอาณานิคม
จนกระทั่งปี 1896 รัฐบาลอังกฤษได้สถาปนาอาณานิคมนี้อย่างเป็นทางการในชื่อว่า
"สหพันธรัฐมาเลย์" (FEDERATED MALAY STATES) ส่วนซาราวักอยู่ภายใต้การปกครองของพวก
"ราชาผิวขาว" (WHITE RAJAHS) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นักผจญภัยชาวอังกฤษชื่อ
เจมส์ บรู้ค ตั้งขึ้นมา มีอำนาจปกครองในเมืองคูชิง จากปี 1841 จนถูกญี่ปุ่นบุกตอนสงครามโลกครั้งที่สอง
ก่อนหน้าศตวรรษที่ 19 กิจการเหมืองแร่รุ่งเรืองมากที่สุด และโรงถลุงแร่ดีบุกก็เป็นอุตสาหกรรมทันสมัยอย่างแรกของอาณานิคมนี้
คนจีนที่อพยพเข้ามาทุกคนใฝ่ฝันที่จะเลียนแบบความสำเร็จของ "ล้กยิว"ซึ่งมาถึงมาเลเซียในขณะที่มีอายุแค่
13 ปี โดยไม่มีเงินติดตัวแม้แต่เพนนีเดียว แต่เขาก็ไต่เต้าจากกุลีจนกลายเป็นมหาเศรษฐีในอุตสาหกรรมแร่ดีบุก
อีก 100 ปีถัดมา ในช่วงที่มาเลเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 8%
ติดต่อกันห้าปี อุตสาหกรรมแร่ดีบุกก็ร่วงโรยจนถึงจุดต่ำสุด ในขณะที่ถนนสำคัญของกัวลาลัมเปอร์มีชื่อว่า
ล้ก ยิว เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความยิ่งใหญ่ของเขา แต่ฮีโร่คนใหม่ในวงการธุรกิจมาเลเซียเป็นนักธุรกิจอย่าง
"ทาจุดิน แรมไล" อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นเด็กมาเลย์ยากจนจากหมู่บ้าน
"เคดาห์" แต่ปัจจุบันคือเจ้าของอาณาจักรโทรคมนาคมข้ามชาติ เมื่อเร็ว
ๆ นี้ เขาเพิ่งตกลงใจซื้อหุ้น 32% ของมาเลเซี่ยน แอร์ไลน์
เส้นทางชีวิตของทาจุดินจากหมู่บ้านชนบท จนถึงห้องทำงานผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี
รีซอสเซส อินดัสตรีส์ ในเวลาเพียง 25 ปี ก็คือภาพสะท้อนการพัฒนาของมาเลเซียด้วยเช่นกัน
ในปี 1969 สิบสองปีหลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ความขัดแย้งในเรื่องสีผิวและเผ่าพันธุ์รุนแรงจนกลายเป็นการจลาจล
ที่คร่าชีวิตคนนับร้อย สมัยนั้นอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในมือคนจีนขณะที่คนมาเลย์และชนพื้นเมืองอื่น
ๆ ที่มีชื่อเรียกว่า "ภูมิปุตรา" หรือ "ลูกชายของแผ่นดิน"
มีโอกาสแค่เป็นข้าราชการรายได้ต่ำหรือเกษตรกร
การจราจลที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลมาเลเซียแก้ไขปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่าง
คนจีนกับคนพื้นเมือง ด้วยการสร้างนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (NEW ECONOMIC POLICY-NEP)
ซึ่งมีเป้าหมายขจัดความยากจน และเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของคนเชื้อสายมาเลย์
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ต้องการให้คนมาเลย์มีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจ 30% ของกิจการเอกชนในมาเลเซีย
ตอนที่ใช้นโยบายใหม่ ๆ นั้น พวก "ภูมิ" มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่ถึง
3% ถึงแม้ว่าตอนนี้ พวกเขาจะเป็นเจ้าของกิจการเพียงแค่ 20% คนอย่างเช่นทาจุดินก็พอใจกับความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจใหม่
เขาบอกว่าทุกวันนี้มีนักธุรกิจชั้นนำที่เป็นพวกภูมิปุตราเกิดขึ้นมากมายราวระลอกคลื่น
ทุนหนทุกแห่งจากโคตา คินาบารูจนถึงเคดาห์ชนชั้นกลางที่ร่ำรวยมีบ้านอยู่
มีรถขับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะแต่คนมาเลย์เชื้อสายจีนหรือคนอินเดียที่เป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้น
ยังรวมถึงพวกภูมิปุตราซึ่งในอดีตเคยยากจนด้วย
ฮาโรลด์ เคร้าช์ ผู้ติดตามศึกษามาเลเซียแห่งสถาบันวิจัยแปซิฟิคและเอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
กล่าวว่า "ในทศวรรษ 1960 ไม่มีชาวชนบทของมาเลเซียคนไหน ฝันว่าลูกหลานของตนจะได้เป็นข้าราชการหรือหมอ
คนมาเลย์ที่มีโอกาสขับรถจะมีก็แต่พวกที่ทำงานเป็นโชเฟอร์เท่านั้น"
แต่ทุกวันนี้ ชนชั้นกลางมาเลย์สามารถจ้างคนขับรถได้ บางคนก็ชอบขับรถด้วยตนเอง
รถที่พวกเขานิยมใช้คือ เมอร์ซิเดส เบนซ์, บีเอ็มดับบลิว และฮาร์เลย์-เดวิดสัน
ความมั่งคั่งของคนมาเลเซียรุ่นใหม่จะเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของมหาเธร์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเริ่มรู้สึกกังวลใจด้วย
บางครั้งคนมาเลเซียจะเปรียบเทียบย่านดาวทาวน์ของกัวลาลัมเปอร์ที่เรียกว่า
"โกลเด้น ไทนแองเกิ้ล" กับถนนออร์ชาร์ดของสิงค์โปร์ ที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่รอบ
ๆ ห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่น ร้านเสื้อผ้าดีไซน์เนอร์และโรงแรมใหญ่ ๆ ปรากฏการณ์ในย่านนี้เองที่เป็นทั้งสิ่งที่ชี้ให้เห็นความมั่นใจของมาเลเซียในการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่
21 และภาพสะท้อนทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่มหาเธร์เชื่อว่า อาจจะทำให้ย่างก้าวที่ว่านี้ต้องสะดุดลง
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ การช้อปปิ้งแบบไม่เลิกถ้ายังมีแรงเดินต่อของคนมาเลเซียทั้งที่เป็นพวกภูมิปุตรา
คนเชื้อสายจีนและอินเดีย ในขณะที่วัยรุ่นก็จะจับกลุ่มกันอยู่ตามคอฟฟี่ชอปและริมทางเท้า
คนมาเลเซียมีคำพื้นเมืองที่เรียกพฤติกรรมของวัยรุ่นพวกนี้อย่างดูแคลนซึ่งมีความหมายว่า
"เถลไถล" แม้ว่าจะไม่เป็นภัยต่อใคร แต่มหาเธร์ก็เป็นห่วงต่อการใช้ชีวิตแบบนี้
เขาเตือนชาวมาเลเซียจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเองในการ "พลิ้วตัวหลบหมัด
ตั้งการ์ดกันคางอย่างรัดกุม และโยกตัวไปข้างหลัง ในสภาพที่พร้อมต่อการต่อสู้มากกว่านี้"
เขากล่าวเสริมว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความสำเร็จและความมั่นคั่งจะบ่อนทำลายเรา
ทำให้เราอ่อนปวกเปียก" มหาเธร์กล่าวว่า หาก "วัฒนธรรมเถลไถล"
ยังคงดำเนินต่อไป วิชั่น 2020 จะไม่เป็นจริง
ความกลัวของมหาเธร์เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ ? อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียระหว่าง
ค.ศ. 1970-1990 อยู่ในระดับเฉลี่ย 6.7% ต่อปี การจะบรรลุเป้าหมายวิชั่น 2020
จะต้องมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีละ 7% เมื่อเดือนมิถุนายน เมอร์ริลลินช์
คาดการณ์การเติบโตในปี 1994 ว่าเท่ากับ 10% ปัจจัยที่ทำให้เขาขยายตัวมากก็คือ
ปริมาณการบริโภคภายในประเทศที่สูงกว่าการคาดหมาย
ไม่มีแผนการระยะยาวใดจะสามารถประเมินความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาของเศรษฐกิจโลกได้
โรเบิร์ต ก๊วก นักธุรกิจน้ำตาล โรงแรมและสื่อที่รวยที่สุดในมาเลเซียกล่าวว่าเขาเชื่อว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจของวิชั่น
2020 เป็นไปได้ แต่ก็เสริมต่อว่า "หนทางข้างหน้าจะยาวไกลและยากลำบาก"
ปัจจุบัน มาเลเซียจัดว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว โดยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ในการแพทย์
ถุงยางอนามัย และผู้ประกอบชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อ
15 ปีก่อน 60% ของสินค้าออกจากมาเลเซียคือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ทุกวันนี้ 71%
เป็นสินค้าอุตสาหกรรม
ทว่ามาเลเซียก็ยังมีปัญหาใหญ่อยู่ การเติบโตที่รวดเร็วและต่อเนื่องทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ
เควิน ชิว นักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ เดโซเอต เต เวด ซีเคียวริตีส์ ในกัวลาลัมเปอร์โยนปัญหานี้ให้เป็นความผิดของระบบการศึกษาที่รับมาจากอังกฤษ
"ตอนนี้ระบบการศึกษากำลังเปลี่ยนหันไปทางระบบแบบเยอรมนีมากขึ้น คือเน้นในเรื่องของเทคนิค
มากกว่าการฝึกอาชีพ แต่ต้องใช้เวลาสักพักจึงจะเห็นผล" ชิวกล่าว เขายังแสดงความกังวลต่อการที่การส่งออกของมาเลเซียยังพึ่งพิงสินค้าอิเล็คโทรนิคส์
และสิ่งทอถึง 60% มาเลเซียต้องการขยายการลงทุนทางด้านงานวิจัยและพัฒนา แม้จะยังมีความเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่นในเรื่องระยะเวลาและขั้นตอนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี่
ชิวเชื่อว่า อนาคตของมาเลเซียอยู่ที่อุตสาหกรรมไฮเทค ใช้เงินทุนมาก ๆ อย่างสินค้าอิเล็คโทรนิคส์และอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ทันสมัย
กับอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ
มาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก และผลิตยางพารามากเป็นอันดับสาม
"เราสามารถนำยางพารามาทำอะไรได้เป็นล้าน ๆ อย่าง" ชิวกล่าว
ธุรกิจที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นตัวสร้างรายได้สำคัญอีกธุรกิจหนึ่งคือ
การท่องเที่ยว มาเลเซียใช้เงินทุนกว่า 200 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาธุรกิจแขนงนี้
โดยหวังว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวคือมีจำนวนปีละ
20 ล้านคน มาเลเซียเป็นประเทศที่เป็นจุดหมายสำหรับการช้อปปิ้งเป็นอันดับสามของเอเชียรองจากฮ่องกง
และสิงคโปร์
ในประเทศซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว การก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มหาศาล
ทางหลวงเหนือ-ใต้ (NORTH-SOUTH HIGHWAY) ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้
ซึ่งทำให้สามารถขับรถจากสิงคโปร์ไปถึงชายแดนไทยได้ในเวลา 8 ชั่วโมง ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมทางฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย
ขณะนี้กำลังมีการพูดถึงการสร้างถนนทางฝั่งตะวันออกซึ่งยังไม่ค่อยจะพัฒนา
ฟรานซิส เยียว วัย 40 เจ้าของบริษัท วายทีแอล และผู้แสดงความนิยมชมชื่นมหาเธร์อย่างออกนอกหน้า
ได้ฉกฉวยโอกาสนี้ในกิจการท่องเที่ยวและโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน
วายทีแอลเป็นเจ้าของบริการเดินรถไฟท่องเที่ยว "อีสเทอร์น" และ
"โอเรียลทัล เอ็กซ์เพรส" ซึ่งวิ่งระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพ แต่ธุรกิจหลักของการสร้างฐานทัพให้กองทัพอังกฤษเมื่อทศวรรษ
1950 ในปี 1992 วายทีแอลเป็นเอกชนรายแรกที่ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลในการสร้างและบริหารโรงไฟฟ้า
ดูเหมือนว่าเยียวจะไม่ทุกข์ร้อนกับโครงการเขื่อนบาคุนที่จะทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ
เขากล่าวว่า "กระแสไฟฟ้าจะทำเงินนับพันล้านดอลลาร์ในศตวรรษหน้า"
วิชั่น 2020 ของมหาเธร์ไม่ได้มีแต่เรื่องเศรษฐกิจและเทคโนโลยี่เท่านั้น
เขาบอกว่า มาเลเซียจะต้องพัฒนาในทุกมิติ "ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง
สังคม วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ"
ในขณะที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศพยายามควบคุมจำนวนประชากร รัฐบาลมาเลเซียกลับสนับสนุนการเพิ่มจำนวนพลเมืองอย่างรวดเร็วเพื่อขยายการพัฒนา
รองนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ทายาททางการเมืองของมหาเธร์ ซึ่งอยู่ในวัย
46 ปีมีลูกห้าคน มหาเธร์คาดการณ์ว่าเมื่อถึงกลางศตวรรษหน้า พลเมืองจะเพิ่มจาก
19 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 70 ล้านคน
แม้มาเลเซียจะมีความมั่งคั่งและมีขนาดของประชากรในระดับเดียวกับประเทศในโลกที่หนึ่ง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับเอาคุณค่าแบบตะวันตกมาด้วย มหาเธร์นั้นไม่เคยนิยมชมชอบสังคมแบบตะวันตกที่เขาเห็นว่าเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ภาษาอังกฤษถึงแม้ว่าภาษามาเลย์จะยังคงเป็นภาษาทางราชการอยู่
แต่มหาเธร์ใน ค.ศ. นี้ กลับมาย้ำถึงความจำเป็นที่คนมาเลย์จะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง
เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ
และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนของมหาเธร์ มาเลเซียในศตวรรษหน้าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาสำหรับนักศึกษาจากประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า
โดยเฉพาะจากประเทศอิสลาม และเป็นศูนย์กลางธุรกิจสื่อ รองรับกิจการสิ่งตีพิมพ์จากฮ่องกงที่คาดว่าจะถอนตัวออกมาหลังจากฮ่องกงตกเป็นของจีนในปี
ค.ศ. 1997
อย่างไรก็ตามความฝันที่จะดึงธุรกิจสื่อมาอยู่ที่นี่คงเป็นจริงยาก เพราะตัวมหาเธร์เองอ่อนไหวมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนตะวันตก
และยืนยันที่จะคงการเซนเซอร์อย่างเข้มงวด
เมื่อถึงจุดเปลี่ยนศตวรรษ หรือบางทีอาจจะเป็นหลังการเลือกตั้งปีนี้หรือปีหน้าเป็นไปได้ว่ามหาเธร์จะส่งมอบอำนาจให้กับอันวาร์
อันวาร์เคยถูกมองว่าเป็นอิสลามหัวรุนแรง แต่ปัจจุบันภาพของเขาในสายตาคนมากมายกลับเป็นผู้นำที่มีความแข็งกร้าวน้อยกว่ามหาเธร์เสียอีก
ถึงแม้จะยึดมั่นต่อนโยบายวิชั่น 2020 แต่อันวาร์ก็แสดงตัวหลังจากที่ขึ้นสู่ตำแหน่งหมายเลขสองเมื่อปีที่แล้วว่า
เขาไม่ได้เป็นเพียงมหาเธร์น้อยเท่านั้น เพราะว่า "กาลเวลาได้เปลี่ยนไปแล้ว"
แน่นอนว่ากาลเวลากำลังเปลี่ยนแปลงสำหรับลูกหลานของชนเผ่านักล่าหัวมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนบาคุนพวกเขามีท่าทีที่ต่าง
ๆ กันต่อโครงการนี้ บางคนต่อต้านโดยเปิดเผย บางคนคัดค้านการถูกปิดหูปิดตาจากกฎหมายเกี่ยวกับความลับของรัฐบาลที่กีดกันไม่ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยของโครงการนี้
ขณะที่บางกลุ่มสนับสนุนการสร้างเขื่อน ชนรุ่นใหม่มองเห็นการมีงานทำและโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้
"เบลากา" ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้พื้นที่สร้างเขื่อนมากที่สุด
จะบูมขึ้นมาทันทีทันใด แต่กระบวนการพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าจะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมให้สูญหายไป
พร้อมกับพื้นที่ป่า 80,000 เฮคตาร์ และสัตว์บางชนิด ไลฮาน อะฮาง หัวหน้าเผ่าลอง
มูรุม อายุ 70 ปี กล่าวว่า "เราไปที่หลุมฝังศพและพูดกับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ
ท่านบอกว่าเป็นสิ่งเลวร้ายมากที่ต้องลงไปอยู่ก้นทะเลสาบ"
ในการเปิดตัวโครงการเขื่อนบาคุนเมื่อเดือนมกราคม มหาเธร์ยอมรับว่า "ความเจริญรุ่งเรืองมีราคาเล็ก
ๆ น้อย ๆ ที่ต้องจ่ายบ้าง" บางทีความท้าทายในเรื่องเทคนิค ปัญหาด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม
อาจจะเป็นการทดสอบครั้งยิ่งใหญ่สำหรับการเริ่มต้นศตวรรษใหม่ของมาเลเซีย