'วินเซนต์ มิลตัน'เอ็มดี ฟิทช์เรทติ้งมองแบงก์ปีหน้าสินเชื่อดีขึ้น-เอ็นพีแอลยังเสี่ยง


ผู้จัดการรายวัน(6 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดมุมมอง"วินเซนต์ มิลตัน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทฟิทช์ เรตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินภาพรวมสถาบันการเงินไทยสินเชื่อ-ผลการดำเนินงานชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ แต่ปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดสินเชื่อโต 6-7% ขณะที่ปีนี้โตแค่ 2-3% เตือนยังมีความเสี่ยงเรื่องเอ็นพีแอล โดยเฉพาะแบงก์กลาง-เล็กที่โหมขยายสินเชื่อบุคคล ขณะที่แนวทางการควบรวมสถาบันการเงินยังมีความเป็นไปได้ ทั้งในส่วนของแบงก์รัฐ แบงก์ใหญ่-เล็ก และแบงก์ไทย-ต่างชาติที่มีแนวทางการธุรกิจที่เอื้อประโยชน์กัน

เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกกับช่วงปลายปีมีอะไรแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาฟิทช์ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจลงมาจาก 5% มาอยู่ที่ 4.3% ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไปตัวเลขดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนี้ ก็จะส่งผลต่อภาคสถาบันการเงินโดยเฉพาะในเรื่องการขยายตัวของสินเชื่อที่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าที่ประมาณการค่อนข้างมากพอสมควร โดนจากเดิมที่คาดการณ์ว่าสินเชื่อทั้งระบบจะมีการเติบโต 5% แต่ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพียง 2-3% ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์บางแห่งลดลงจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ อันเนื่องมาจากสาเหตุของต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะที่การขยายสินเชื่อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย

ผลกระทบต่อเอ็นพีแอลมีสัญญาณบ่งชี้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็กผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะมีมากกว่า เนื่องจากแบงก์ขนาดดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะรุกธุรกิจด้านคอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์เป็นหลัก ดังนั้น สัญญาณการเกิดเอ็นพีแอลต้องมีทิศทางที่สูงขึ้น และยิ่งเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ก็ยิ่งทำให้สัญญาณที่จะเกิดหนี้เสียมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในปีหน้าผลกระทบจากปีนี้จะต่อเนื่องไปมากน้อยแค่ไหน

จากภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าที่คาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่น่าจะเติบโตได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ ซึ่งปัจจัยนี้ก็จะช่วยสนับสนุนในเรื่องของผลการดำเนินงานของแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่น่าจะมีผลประกอบการดีขึ้น ขณะที่แบงก์ขนาดเล็กอาจจะเห็นผลประกอบการที่ยังลดลงได้ แต่โดยภาพรวมของภาคธุรกิจสถาบันการเงินผลประกอบการน่าจะดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่เราคาดการณ์ว่าจะดีข ึ้น โดยในส่วนของการขยายตัวของสินเชื่อในปีหน้าคาดการว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับปกติที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะโตกว่าจีดีพีเล็กน้อย จากที่เรามองปีหน้าว่าจีดีพีจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 4-6%

อีกตัวแปรที่สำคัญกับสถาบันการคืออัตราดอกเบี้ยแนวโน้มในปีหน้าจะเป็นอย่างไร

อัตราดอกเบี้ยในปีหน้าน่าจะเริ่มคงที่ เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มเบาบางลง แต่มองว่าไม่น่าจะมีการปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจในปีหน้ามองว่ามันน่าจะคงตัวมากกว่า เนื่องจากปัจจัยหลักด้านอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงมากมาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาที่สูงขึ้น มีปัจจัยมาจากเงินเฟ้อ ดังนั้น สิ่งที่เรามองคือเงินเฟ้อไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จริงๆแล้วภาพรวมที่เรามองเศรษฐกิจการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวจะโตประมาณ 6-7% ถ้าเรารักษาตัวเลขเติบโต 6-7%ได้ ดอกเบี้ยมันต้องมีการปรับตามการเติบโตเศรษฐกิจอยู่แล้ว โอกาสที่จะลงแบบในอดีตคงไม่น่าเห็นถ้าตราบใดที่เศรษฐกิจยังเติบโตในระดับที่เราคาดคือ 6-7%

“ที่เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงที่มากกว่าปรับลดลง เพราะเงินเฟ้อจะไม่ได้ลงแรงเพื่อลดแรงกดดันด้านดอกเบี้ย ปัจจัยดอกเบี้ยปีหน้าผลกระทบดอกเบี้ยคงต้องแยกในแต่ละเซ็กเตอร์ไม่เหมือนกัน คือในส่วนของแบงก์ขนาดเล็ก-ขนาดกลางในเรื่องระดมเงินฝากคงมีอยู่และยังคงกดดันในเรื่องของต้นทุนในการดำเนินงานของเขา นอกจากนี้ โครงสร้างของเงินฝากก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปจากช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเงินฝากส่วนใหญ่จะอยู่ที่เงินฝากประจำ หลังเกิดวิกฤติก็มีการวิตกเรื่องความเสี่ยงมีการเปลี่ยนสัดส่วนมาออมทรัพย์มากขึ้น ซึ่งเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเงินฝากประจำ แต่พอทุกอย่างเริ่มชัดเจนจากออมทรัพย์ก็เปลี่ยนกลับมาสู่ประจำอีก ซึ่งดอกเบี้ยก็จะค่อนข้างเยอะพอสมควร ตรงนี้แบงก์ใหญ่ต้องมีการปรับเหมือนกัน ซึ่งตัวเลขโครงสร้างเงินฝากปัจจุบันตัวออมทรัพย์แบงก์ใหญ่ประมาณ 40-50%เทียบกับก่อนวิกฤตอยู่ที่ 20% ตรงนี้หากมีการปรับเปลี่ยนไปมีผลต่อแบงก์ใหญ่ในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงดูแลเรื่องดอกเบี้ยเพราะเป็นส่วนที่กระทบต่อต้นทุน”

สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า จะทำให้เกิดสงครามราคาในการระดมเงินอีกหรือไม่

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยมี 2 ส่วนคือ หนึ่งดอกเบี้ยในส่วนของการระดมเงินมันมีการแข่งขันกันระดมเงิน แต่การแข่งขันระดมเงินส่วนใหญ่จะอยู่ในแบงก์ขนาดกลางขนาดเล็กเป็นหลัก ขณะที่แบงก์ขนาดใหญ่การแข่งขันไม่มากเท่าแบงก์ขนาดกลางหรือเล็ก เนื่องจากมีเงินทุนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ขณะที่การปล่อยสินเชื่อก็มีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ถ้าเทียบในเรื่องของการหาเงินทุนมาแข่งขันในการปล่อยกู้จึงน้อยกล่าว ส่วนแบงก์ขนาดกลางและเล็กจะมีความต้องการปล่อยกู้มากกว่าเพื่อเป็นการสร้างฐานธุรกิจหรือเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตขึ้น

ในปีหน้าสิ่งที่ถือเป็นปัจจัยที่เรามองในส่วนของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กคือเรื่องของต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันขยายสินเชื่อ ทั้งธนาคารขนาดกลางและเล็กรวมถึงสถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะวางเป้าหมายไว้สูงพอสมควรเพื่อที่ต้องการให้พอร์ตสินเชื่อมีการเติบโตให้ได้ แล้วก็เริ่มหันลงมาในตลาดล่างมากขึ้น ซึ่งเป็นตรงนี้ต้องจับตาดูเนื่องจากกลุ่มบุคคลที่เป็นตลาดล่าง เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมเศรษฐกิจหรืออัตราดอกเบี้ย ซึ่งตรงนี้อาจเป็นผลทำให้เอ็นพีแอลมีแนวโน้มสูงขึ้นได้

"ปีหน้าแบงก์ขนาดกลางและเล็ก รวมถึงนอน แบงก์ จะลงไปเล่นตลาดกลุ่มนี้นี้ค่อนข้างเยอะ ในช่วงที่ผ่านมาแบงก์ขนาดเล็กและพวกสินเชื่อคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์มีการเติบโตประมาณ 20-30%ต่อปี ถ้าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง จะกระทบต่อกลุ่มนี้และปัจจัยในเรื่องของเอ็นพีแอลน่าจะเป็นจุดที่เราจับตาดูอยู่"

เกณฑ์ต่างๆ ที่ธปท.จะประกาศใช้จะกระทบแบงก์มาก-น้อยอย่างไร

เกณฑ์ต่างๆที่แบงก์ชาติจะนำมาบังคับใช้กับสถาบันการเงิน อาทิ บาร์เซิลทูนั้น คิดว่าว่าไม่น่าจะน่ามีผลกระทบอะไรต่อแบงก์ในด้านของเงินทุนกองทุนที่แบงก์ต้องดำรงไว้ อาจมีผลกระทบเล็กน้อยในส่วนของการที่ต้องมีการตั้งสำรองเอาไว้ แต่โดยรวมแล้วคิดว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อแบงก์สำหรับตัวบาร์เซิลทู ส่วนนโยบายของรัฐบาลต่อสถาบันการเงินในแง่ของการปฏิรูปโครงสร้างของสถาบันการเงินที่มีการชะงักงันในช่วงนี้คิดว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำต่อเนื่องการปฏิรูปโครงสร้างน่าจะเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายใหม่ การบังคับใช้ในสถาบันการเงินฉบับใหม่ ซึ่งจะเพิ่มในเรื่องของการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีการควบรวมให้มีความเข้มแข็งขึ้น การจัดตั้งสถาบันเงินฝาก หรือมาตรการลดหรือแก้ปัญหาเอ็นพีแอลให้มากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีลักษณะของบทลงโทษด้วย

ความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินจะมีการควบรวมกัน

ในแง่ของแบงก์เล็ก หากจะมีการควบรวมก็คงต้องหาตลาดของเขาเพื่อที่จะดำเนินธุรกิจให้ได้ และพยายามที่จะขยายธุรกิจทำตลาดเฉพาะ ให้มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ แต่โดยโครงสร้างสถาบันการเงินของไทย ณ ปัจจุบันค่อนข้างจะแน่นอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ การที่สถาบันการเงินตัดสินใจที่จะการควบรวมกันของบ้านเราหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วลำบากกว่า ทั้งในเรื่องของภาษี กฎหมาย และในเรื่องของวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจของคนไทย เรื่องการควบรวมเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ต้องมีการลดคน ลดพนักงานเกิดขึ้น วัฒนธรรมของคนไทยตรงนี้มีความเข้าใจค่อนข้างน้อยถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้น แนวโน้มของการที่จะได้ผลประโยชน์จากการควบรวมจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีที่คิดว่าจะมีการควบรวมกัน โดยโฟกัสการควบรวมในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐที่ควบรวมเพื่อให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ลักษณะของการควบรวมของแบงก์ขนาดกลางหรือเล็กที่มีเครือข่ายการทำธุรกิจรายย่อยที่ดีก็เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบงก์ขนาดใหญ่ที่จะทำการควบรวมกันเข้ามาด้วย รวมถึงการทำธุรกิจร่วมกับสถาบันการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่งกว่า เช่น กรณีขอบจีอี ที่เข้ามาซื้อหุ้นแบงก์กรุงศรีฯถ้ามองในระยะยาว ดีลลักษณะนี้อาจมีเกิดขึ้นอีก เราอาจจะเห็นแบงก์ต่างชาติมีการมองหาพันธมิตรช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก

กับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของแบงก์ขนาดใหญ่ที่หันมาจับตลาดรายย่อยเพิ่มขึ้น..

โดยภาพรวมของแบงก์แล้ว แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อคงจะเน้นที่สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้บริโภคมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนวิกฤติ ก่อนวิกฤติแบงก์ไม่ค่อยมาปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้บริโภค จะเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทใหญ่เป็นหลักและขนาดรองลงมาบ้าง หลังวิกฤติการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะการปล่อยกู้ซื้อบ้านค่อนข้างโตเติบมาก โดยเฉพาะในช่วง 2002-2003 โตค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ จะเห็นว่าแบงก์ โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก จะเริ่มมีการขยายสินเชื่อมาที่คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ เครดิต การ์ด แล้วก็ต่อมาเป็ฯการให้สินเชื่อบุคคล การให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งก่อนหน้านี้แบงก์ไม่สามารถทำธุรกิจบางอย่างที่บริษัทไฟแนนซ์ทำได้เนื่องจากกฎระเบียบของแบงก์ชาติไม่อนุญาต แต่หลังจากมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ให้แบงก์เป็นยูนิเวอร์แซล แบงก์กิ้ง ก็ทำให้แบงก์ทำธุรกิจที่บริษัทไฟแนนซ์ได้ การขยายธุรกิจคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ก็เลยเพิ่มมากขึ้นด้วย และแน่นอนเอ็นพีแอลจากการขยายสินเชื่อคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเทรนด์สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น เทรนด์เอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้น แต่จะต้องเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม อย่าง ประเทศเพื่อบ้านที่ผ่านมาเกาหลี ไต้หวัน ก็เกิดหนี้เสียจากคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ค่อนข้างมากซึ่งต้องระวัง แต่ในเรื่องนี้ธนาคารขนาดใหญ่จะมีผลกระทบตรงนี้น้อยกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมในการปล่อยสินเชื่อ

ประมาณการผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินต่างๆในปีนี้

ในครึ่งหลังของปีผลประกอบการน่าจะลดลง เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ในส่วนของแบงก์ใหญ่ผลกระทบคงไม่มากเท่าไหร่แต่จะหนักไปที่แบงก์ขนาดกลาง-เล็ก และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์จะได้รับผลกระทบมากกว่า เช่น อิออน เคทีซี เกียตรินาคิน ธนชาต ที่ส่วนใหญ่มีการปล่อยสินเชื่อบริโภค สินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.