เอกชนห่วงเก็งกำไรบาทกระฉูดจี้ภาครัฐเร่งออกมาตรการสกัด


ผู้จัดการรายวัน(4 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นักค้าเงินคาดค่าบาทสัปดาห์หน้าแข็งค่าต่อเนื่องหลังหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไปในสัปดาห์ก่อน ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะทางรอดผู้ส่งออกยุคบาทแข็ง บริหารความเสี่ยง-ลดต้นทุนในการดำเนินงาน จี้ภาครัฐควรดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศโดยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พร้อมหามาตรการรองรับทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบและอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มแข่งขันไม่ได้

จากแนวโน้มเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ได้ปรับตัวลดลงจนแตะระดับ 35.73/75 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 8 ปีหรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และยังมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ตามปัจจัยภายในประเทศเอง ประกอบกับมีเงินทุนไหลเข้ามาภายหลังภาคการเมืองไทยเริ่มคลี่คลายตั้งแต่กลางเดือนกันยายนเป็นต้นมา โดยเป็นการเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก รวมถึงกระจายไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ อาทิ ตั๋วบี/อี และตราสารหนี้ระยะยาวขึ้นอย่างพันธบัตร เนื่องจากคาดว่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อไปอีก

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)เองได้เข้ามาดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งกระแสเงินที่ไหลเข้าที่ฉุดให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ พร้อมเตรียมออกมาตรการมาสกัดหลังพบข้อมูลการเข้าเก็งกำไรค่าเงินในระยะสั้น

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทในระยะสั้น นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ยังคงมีความผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น แต่อาจจะมีการขายทำกำไรออกมาเป็นช่วงๆ แต่ก็เป็นในระยะสั้นๆเท่านั้น ซึ่งหากเงินบาทมีการรีบาวน์ขึ้นมาก็น่าจะแตะที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวรับที่ลึกลงไปอีกหลังจากหลุด 36.00 บาทลงมาแล้ว จะอยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงอยู่ที่การออกมาตรการที่จะสกัดการเก็งกำไรของธปท.ว่าจะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้เร็วก็คงจะช่วยลดการผันผวนของค่าเงินบาทลงได้

"ตอนนี้คงยังไม่มีอะไรมาเปลี่ยนเทรนด์ของค่าเงินบาท เว้นแต่ทางการจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยดูแล ซึ่งก็น่าจะมีอะไรออกมาในเร็วๆนี้ เนื่องจากทางการเองก็ยอมรับว่ามีการเก็งกำไรเกิดขึ้น"นักค้าเงินกล่าว

แนะภาครัฐปรับโครงสร้างอุตฯรับบาท

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปี 2550 ว่า เป็นทิศทางที่คงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ภายใต้กระแสความเชื่อมโยงในระบบการเงินของโลก ซึ่งท่ามกลางภาวะดังกล่าว ในด้านหนึ่งภาคธุรกิจในหลายสาขาอาจได้รับผลกระทบในทางลบ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนสามารถหาโอกาสแสวงหาประโยชน์ในช่วงจังหวะเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ผู้ผลิตมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบนำเข้าที่มีราคาต่ำลง นอกจากนี้ยังป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในการนำเข้าเครื่องจักรที่มีราคาแพง

โดยแนวทางปรับตัวของผู้ประกอบการในการลดผลกระทบในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การเจรจากับคู่ค้าในการกำหนดราคาเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ การวางแผนบริหารรายรับและรายจ่ายในรูปดอลลาร์ฯอย่างเหมาะสมเพื่อลดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อต้องแลกดอลลาร์ฯมาเป็นเงินบาท เช่น ผู้ประกอบการมีรายได้ในรูปดอลลาร์ฯ อาจวางแผนนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตหรือการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตโดยไม่ต้องแลกคืนรายได้กลับมาเป็นเงินบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจหาแนวทางลดต้นทุน เช่น ต้นทุนในกระบวนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดสหรัฐในสัดส่วนที่สูงอาจมีการแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะมาจากตลาดสหรัฐ แนวทางสุดท้าย ธุรกิจไทยอาจจำเป็นต้องหันมาพิจารณาช่องทางในการออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานต่ำมากขึ้น

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปดูพัฒนาการของประเทศก้าวหน้าในเอเชีย ไม่ว่า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ผ่านพ้นปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น การฝ่าฟันปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคเอกชนไทยต้องนำไปขบคิดเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ภายใต้กระแสการแข็งค่าของระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดำเนินไปพร้อมกับระดับการพัฒนาของประเทศ

ขณะเดียวกัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแสดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจกรรมการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งขั้นตอนการผลิตบางส่วนอาจจำเป็นต้องอาศัยการผลิตภายนอกประเทศมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือการโยกย้ายสายการผลิตออกไปยังต่างประเทศ บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวคือ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ การให้ความช่วยเหลือกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบให้สามารถปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด การดำเนินมาตรการแผนรองรับสำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มแข่งขันไม่ได้ รวมถึงนโยบายด้านแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม

รวมถึง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยในการออกไปลงทุนในต่างประเทศควรต้องมีการดำเนินการเชิงบูรณาการอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงในหลายด้าน การให้สิทธิประโยชน์หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจจะออกไปลงทุนจึงอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมีหน่วยงานในการให้คำปรึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.