โซนี่ ลอนช์ เอ็กซ์ ซีรี่ส์ขยายตลาด Full HD


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โซนี่สานนโยบาย HD World ลอนช์ แอลซีดี เอ็กซ์ ซีรี่ส์ ระดับ Full HD ชูดีไซน์เปลี่ยนกรอบได้ 3 สี พร้อมลิมิเต็ดดีไซน์ แบล็กเปียโน ซึ่งมีเฉพาะที่อเมริกาและไทยเท่านั้น นอกจากนี้เตรียมลอนช์สินค้า Full HD เช่นเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ในปีหน้า เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคให้หันมาใช้สินค้าระดับ Full HD ที่ให้สัญญาณภาพคมชัดกว่าสินค้าทั่วไป

โซนี่เปิดตัวแอลซีดี เอ็กซ์ ซีรี่ส์ ซึ่งเป็น Full HD รุ่นแรกในเมืองไทยเพื่อขยายตลาด HD World โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวสินค้าในระดับ Full HD ไปแล้ว เช่น กล้อง เอชดี แฮนดีแคม และ บราเวีย เอสเอ็กซ์อาร์ดี แอลซีดี โปรเจกชั่น ทีวี ทำให้ผู้บริโภคสามารถสร้างวิดีโอที่ให้สัญญาณระดับ Full HD โดยรับชมผ่านเอสเอ็กซ์อาร์ดี แอลซีดี โปรเจกชั่นทีวี แต่เนื่องจากโปรเจกชั่นทีวีรุ่นดังกล่าวจับตลาดระดับบน เน้นบ้านหลังใหญ่เพราะมีขนาดหน้าจอ 50, 60, 70 นิ้ว ราคาอยู่ที่ 129,990 บาท 149,990 บาท และ 199,990 บาท ตามลำดับ แต่ปัจจุบันไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อาศัยคอนโดมิเนียมกลางเมืองซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยจำกัด โซนี่จึงลอนช์ แอลซีดี เอ็กซ์ ซีรี่ส์ ออกมาตอบสนองตลาดดังกล่าว

ณ วันนี้ถือได้ว่าการสร้างตลาด HD World ของโซนี่สมบูรณ์ในระดับ End User ยังเหลือการสร้างตลาดในระดับบอร์ดคาสติ้งเช่นสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการต่างๆซึ่งยังรอความชัดเจนจาก กสช.ว่าจถมีการปรับเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณให้เป็นระดับ Full HD หรือไม่เพราะการเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ต้องลงทุนสูง แต่ทั้งนี้ก็มีผู้ผลิตรายการหลายรายให้ความสนใจเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ในการบันทึกรายการที่เป็น Full HD ของโซนี่มากขึ้น

แอลซีดี เอ็กซ์ ซีรี่ส์ มีฐานการผลิตที่ประเทศไทยทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าโดย เอ็กซ์ ซีรี่ส์ สีเงินรุ่น 40 นิ้วมีราคาอยู่ที่ 119,990 บาท ส่วนเอ็กซ์ ซีรี่ส์ สีเงิน รุ่น 46 นิ้วมีราคาอยู่ที่ 159,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าสินค้านำเข้าที่เป็นไฮเดฟฟินิชั่นซึ่งแพงกว่ารุ่นปกติเกือบเท่าตัว แต่เอ็กซ์ ซีรี่ส์ แพงกว่าปกติเฉลี่ย 30% โดยทั้ง 2 รุ่นสามารถเปลี่ยนกรอบหน้าจอได้ 3 สี คือ ขาว แดง น้ำเงิน ซึ่งลูกค้าต้องซื้อเพิ่มราคาสีละ 6,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรุ่นสีดำ Black Piano ที่เป็น ลิมิเต็ด ดีไซน์ เฉพาะประเทศไทย และอเมริกาเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ซึ่งมีขนาดหน้าจอ 40 และ 46 นิ้วโดยมีราคาแพงกว่ารุ่นสีเงิน 10,000 บาท

ปัจจุบันโซนี่มีส่วนแบ่งในตลาดทีวีโดยรวม 20% หากจำแนกเป็นตลาดแอลซีดีทีวีโซนี่จะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 36% ถือเป็นผู้นำในตลาดแอลซีดีทีวีที่มีกว่า 77,000 เครื่อง และคาดว่าปริมาณความต้องการในเซกเมนต์นี้จะเพิ่มเป็น 150,000 เครื่องในปีหน้า โดยมีสัดส่วนในกลุ่มทีวีพาแนลสูงถึง 70% ในขณะที่พลาสม่าทีวีมีสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้น

HD World ถือเป็นความพยายามที่จะสร้างการใช้งานสินค้าของโซนี่ให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าต้องซื้อสินค้าของโซนี่เพื่อให้ได้สัญญาณภาพระดับ Full HD ในขณะที่ค่ายอื่นๆไม่ว่าจะเป็น โตชิบา ชาร์ป ฟิลิปส์ พานาโซนิค และอีกหลายแบรนด์ต่างก็มีการพัฒนาสินค้าระดับ Full HD แต่ยังมีไลน์อัพที่ไม่มากนัก ในขณะที่โซนี่พยายามลอนช์สินค้าที่เป็น Full HD ออกมามากขึ้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้กันมายึดมาตรฐานในการรับชมภาพที่เป็น Full HD ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าไฮเดฟฟินิชั่นของโซนี่มาเชื่อมต่อกันและในปีหน้าก็จะมีการนำเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยหลังจากที่ปีนี้มีการสร้างตลาดทีวีไฮเดฟฟินิชั่น เนื่องจากเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์จะให้สัญญาณภาพที่เป็นระดับ Full HD ดังนั้นทีวีก็จะต้องเป็น Full HD ด้วยจึงจะทำให้ได้ภาพที่คมชัดสมจริง ส่วนแผ่นที่ใช้ก็ต้องเป็นแผ่นบลูเรย์ดิสก์เท่านั้น ซึ่งผู้ผลิตในฮอลลีวู้ดหลายรายเริ่มผลิตแผ่นภาพยนตร์ที่เป็นบลูเรย์ดิสก์แล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ก้าวย่างแห่งความสำเร็จในนโยบาย HD World จะทำให้โซนี่เป็นผู้ชี้นำตลาดเครื่องเล่นแผ่นแห่งอนาคตที่จะมาแทนที่เครื่องเล่นดีวีดีในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้โซนี่สามารถทิ้งห่างคู่แข่งออกไปโดยไม่ต้องกังวลกับการก๊อปปี้สินค้าเนื่องจากการผลิตแผ่นบลูเรย์ต้องลงทุนสูงจึงยากที่จะมีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ลงทุนมหาศาลเพื่อผิลตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างให้การสนับสนุนเทคโนโลยีบลูเรย์ดิสก์ของโซนี่

HD World เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามในการเชื่อมโยงการใช้งานของสินค้าภายใต้แบรนด์เดียวกัน แต่โซนี่ยังมีแผนระยะยาวที่รออยู่คือการสร้างโลกแห่ง Ubiquitous ที่จะทำให้สินค้าแต่ละประเภทไม่ว่าจะเป็นหมวดภาพและเสียง เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน สินค้าสื่อสารและไอที สามารถเชื่อมต่อใช้งานสั่งการถึงกันได้ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คสั่งให้เครื่องปรับอากาศที่บ้านเปิดก่อนที่จะกลับถึงบ้านเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการเมื่อไปถึง หรือแม้แต่อยู่นอกบ้านก็สามารถตรวจดูว่ามีของอะไรเหลือในตู้เย็นบ้างเพื่อจะได้แวะซื้อตอนกลับ แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องอาศัยระบบบอร์ดแบนซึ่งประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดดังกล่าว ดังนั้นหลายๆค่ายจึงพยายามหาแนวทางที่จะขยายดีมานด์ของลูกค้าให้ใช้สินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่ง HD World ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ซัมซุงก็มีการทำโปรโมชั่นภายใต้ชื่อว่า 11 Days Special เพื่อขยายปริมาณการใช้งานของลูกค้าที่ใช้สินค้าของซัมซุงอยู่แล้วให้ไปใช้สินค้าอื่นๆด้วยโดยมีส่วนลดพิเศษเป็นตัวจูงใจ ซึ่งรวมถึงตลาดครอบครัวรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาสินค้าเข้าบ้านก็สามารถซื้อสินค้าครบเซ็ตในราคาพิเศษ เช่นการซื้อสินค้าข้ามกลุ่มเช่น เอวี เอชเอ มือถือ ไอที ตามที่กำหนดก็จะได้ส่วนลดตามเงื่อนไข โดยแคมเปญดังกล่าวมีเพียง 11 วันเท่านั้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาทางหนึ่งเป็นเสมือนการเร่งเร้าให้ผู้บริโภครีบตัดสินใจซื้อ แต่อีกทางอาจเสียโอกาสในการสร้างยอดขายและขยายฐานลูกค้าใหม่เพราะเป็นช่วงเวลาที่สั้น ผู้บริโภคอาจรับรู้ไม่ทั่วถึง ในขณะที่โซนี่จัดงานโซนี่เดย์ใช้เวลานานถึง 3 เดือนซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาปีใหม่ไปถึงตรุษจีนทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อสินค้าได้หลายครั้ง

"ราคาสินค้าเทคโนโลยีที่ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากมีการลอนช์สินค้าถ้ามองในแง่ลบก็อาจดูเหมือนว่ากระทบต่อกำไร แต่ถ้ามองในอีกด้านจะทำให้เราสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ๆที่กำลังซื้อยังไม่สูงมากนัก อีกทั้งราคาที่ลดลงก็ไม่ได้เกิดจากการดั๊มป์ราคา ทำให้เราไม่เสียภาพลักษณ์ของแบรนด์ ประกอบกับต้นทุนสินค้าไฮเอนด์มีราคาสูง แม้ราคาจะลดลงแต่ก็ไม่ได้ลดจนไม่เหลือกำไร" คาซูโอะ ซูยาม่า กรรมการผู้จัดการ โซนี่ ไทย กล่าว

กลยุทธ์ HD World เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Value Added Enhancement Strategy ซึ่งประกอบไปด้วยกลยุทธ์ย่อยเช่น Sub Brand Enhancement การทำซับแบรนด์ของโซนี่เช่น ไวโอ้ บราเวีย วอล์คแมน เพลย์สเตชั่น ให้มีความแข็งแกร่ง Solution Enhancement เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงการใช้งานของสินค้าซึ่งกันและกัน เช่น บราเวียเธียเตอร์ ออดิโอยูไนเต็ด ปริ้นเตอร์โซลูชั่น Sony United Enhancement เป็นการรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่เช่นโซนี่พิคเจอร์ส โซนี่มิวสิค โซนี่อีริคสัน และบริษัทอื่นๆในเครือมาใช้ร่วมกันเพื่อให้แคมเปญต่างๆเกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน สุดท้ายเป็น Customer Communication เป็นการสื่อสารเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยคีย์เวิร์ด คือ FEEL เน้นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรวมถึงการสร้าง Emotional Value เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการใช้สินค้าของโซนี่ ทั้งนี้ในทุกซับแบรนด์ก็จะสื่อสารด้วย FEEL เพื่อเข้าถึงอารมณ์ความต้องการของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการจัดดิสเพลย์ห้านร้านให้ผู้บริโภคเห็นรูปแบบการใช้งานเชื่อมต่อแบบโซลูชั่นเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าจากร้านนั้นๆ นอกจากนี้ในปีหน้าจะหันมาให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อปลูกฝังแบรนด์ให้กับเด็กรุ่นใหม่เพื่อไม่ให้แบรนด์โซนี่แก่ไปตามวัยของลูกค้ารุ่นปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.