เปิดสมรภูมิรบใหม่เครื่องไฟฟ้าจาก Price War สู่ Place War


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

* แม้สินค้าจะดี ราคาเหมาะสม โปรโมชั่นเจ๋งแค่ไหน ก็ไร้ผล ถ้าช่องทางขายไม่สอดรับ
* ส่งผลการโฟกัสตลาดไฮเอนด์ของเครื่องไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ ต้องหันปรับช่องทางจำหน่าย
* แบรนด์ดังแห่ลอนช์อิมเมจชอป สร้างต้นแบบไฮเอนด์ ให้ดีลเลอร์เดินตามรอย
* ไต่ระดับขึ้นชั้นพรีเมี่ยม ยกสินค้าหนีสงครามราคา

ปัจจุบันแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างพยายามยกระดับภาพลักษณ์ตัวเองให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่โดยวางคอนเซ็ปต์ในการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมกับการลอนช์สินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆออกมามากขึ้น รวมถึงแคมเปญการตลาดใหม่ๆ เพื่อหนีสงครามราคาที่เกิดจากการเข้ามาของสินค้าจีน แต่ทั้งนี้บรรดาสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายก็ยังมีการทำรุ่นไฟติ้งโมเดลเพื่อตีกันสินค้าจีนไม่ให้ขยับตัวขึ้นมาแข่งในตลาดที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการรักษาและขยายฐานลูกค้าในตลาดแมส

อย่างไรก็ดีในการทำตลาดสินค้าไฮเทคโนโลยีซึ่งมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป จะต้องอาศัยการนำเสนอที่แตกต่างจากสินค้าในระดับแมส ทำให้บรรดาค่ายเครื่องไฟฟ้าต่างมีการจัดสรรว่าช่องทางใดเหมาะกับสินค้าแมส ช่องทางใดเหมาะกับสินค้าไฮเอนด์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพัฒนารูปแบบช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งในส่วนของผู้แทนจำหน่ายและร้านค้าของตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะทำในลักษณะของอิมเมจชอปที่เน้นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและทดลองใช้สินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆก่อนตัดสินใจซื้อ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรฝ่ายขายเพื่อให้มีความรู้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆและสามารถโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเปลี่ยนการตัดสินใจซื้อจากแบรนด์อื่นมาเป็นแบรนด์ของตนเองได้

เรียกได้ว่าช่องทางจำหน่าย (Place) ถือเป็น ปราการด่านสุดท้ายของ Marketing Mix ที่ประกอบไปด้วย Product, Price, Place, Promotion เพราะต่อให้สินค้าดี ราคาเหมาะสม มีการส่งเสริมการตลาดที่ดี แต่ถ้าขาดการบริหารช่องทางจำหน่ายที่ดี ลูกค้าไม่สามารถหาซื้อสินค้าได้ หรือสินค้าที่วางไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในช่องทางนั้นๆ ก็จะถูกคู่แข่งชิงลูกค้าไปได้ ดังนั้นในปีนี้เราจึงเห็นการขับเคลื่อนของบรรดาแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆโดยให้ความสำคัญไปที่ช่องทางจำหน่ายมากเป็นพิเศษหลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ผลพวงจากสงครามราคาทำให้เครื่องไฟฟ้าแบรนด์เนมหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและทดลองใช้สินค้านั้นๆก่อนตัดสินใจซื้อเนื่องจากมีราคาแพงกว่าสินค้าจีนและโลคัลแบรนด์ ชอปต่างๆมีการพัฒนาไปมากเพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์ได้ ตลอดจนการพัฒนาพนักงานขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในส่วนของผู้แทนจำหน่ายและร้านค้าของแบรนด์นั้นๆ

ฟิลิปส์ลอนช์อิมเมจชอปแห่งแรก

ฟิลิปส์ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค มีการโรดโชว์เพื่อแนะนำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาใช้สินค้าที่ไฮเอนด์มากขึ้น เช่น จากเตารีดธรรมดาก็เปลี่ยนมาเป็นเตารีดไอน้ำ นอกจากการโรดโชว์แล้วก็ยังมีการพัฒนาพื้นที่ขายให้สามารถสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคได้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน หรือหมวดภาพและเสียง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านการขายให้สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพสินค้าของฟิลิปส์กับคู่แข่งเพื่อหักล้างจุดอ่อนในเรื่องราคาที่แพงกว่าคู่แข่ง ช่องทางจำหน่ายถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค

Total Store Management Program เป็นเครื่องมือที่ฟิลิปส์ใช้ในการพัฒนาร้านค้าที่เป็นดีลเลอร์ โดยจะมี 2 ส่วน คือ Visual Merchandise และ People Management โดย Visual Merchandise จะเน้นการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ณ จุดขาย เริ่มจากการทำกิจกรรมร่วมกับร้านค้าในการปรับมุมมองและภาพลักษณ์ของฟิลิปส์ตามจุดขายต่างๆให้มีความโดดเด่น ทันสมัย ดูเป็นไฮเอนด์มากขึ้น รวมถึงการทำป้าย P.O.P. ในร้านค้า ทั้งนี้ฟิลิปส์จะให้ความสำคัญในการพัฒนาช่องทางจำหน่ายทั้งที่เป็นโมเดิร์นเทรด และ เทรดดิชันนอลเทรด เท่าๆกันเพื่อที่จะเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคเห็นว่าราคาที่จ่ายให้ฟิลิปส์คุ้มกับคุณภาพที่ได้รับในทุกช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ

สำหรับการทำ People Management ของฟิลิปส์จะมีการเทรนนิ่งโปรแกรม Quality Shop for Staff ทั้งพนักงานขายของฟิลิปส์เองและพนักงานของร้านค้าต่างๆซึ่งมีส่วนผลักดันยอดขายให้สินค้าของฟิลิปส์ให้เติบโต แม้ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่จะหาข้อมูลสินค้าด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อซึ่งมักจบลงด้วยเรื่องของราคา แต่พนักงานขายก็มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในวินาทีสุดท้าย

ปัจจุบันมีดีลเลอร์กว่า 80% จากทั้งหมด 500 กว่ารายที่เข้าร่วมในโปรแกรม Total Store Management

ฟิลิปส์ยังมีการ Co-Development กับร้านค้าเพื่อสร้างยอดขายสินค้าพรีเมี่ยมให้มากขึ้น โดยรูปแบบร้านค้าจะมี 2 แบบคือ Pro Shop เป็นร้านที่ขายสินค้าระดับพรีเมี่ยม เช่น แอลซีดี และพลาสม่าทีวี มาไม่น้อยกว่า 2 ปี ส่วน Step Shop เป็นร้านที่เพิ่งเริ่มทำตลาดสินค้าระดับพรีเมี่ยม นอกจากนี้ยังมีการอบรมทักษะการขายสินค้าเฉพาะอย่างเช่น ทีวีจอแบนบาง พลาสม่าทีวี แอลซีดีทีวี เครื่องเล่นดีวีดี ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นไฮไลท์หลักในการทำตลาดในปีนี้

สำหรับการสร้างความพร้อมให้กับช่องทางจำหน่าย จะมีการพัฒนาร้านค้า 120 แห่งให้เป็น Pixel Plus Connected Planet ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ผ่านทางฮาร์ดแวร์ต่างๆ เช่น เพลง เกมส์และโทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่อกับสินค้าหมวดภาพระดับพรีเมี่ยมได้ โดยในปีนี้บริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์หมวดเสียงภายใต้คอนเซ็ปต์ "เอวี ไอที คอนเวอร์เจนต์" เช่น เครื่องเสียงรุ่นแมกซ์ ดีวีดี ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านช่องยูเอสบีในโน้ตบุ๊ค ซึ่งจะวางตลาดในช่วงไตรมาสสองปีนี้ นอกจากนี้ Pixel Plus Connected Planet ยังมีการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ตลอดจนถึงการให้ข้อแนะนำในการเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม Philips @ its Best ณ จุดขายเพื่อเจาะลูกค้าระดับบน

อย่างไรก็ดีเนื่องจากการแข่งขันในตลาดไฮเอนด์ก็มีความรุนแรงมากขึ้นฟิลิปส์จึงมีการพัฒนาอิมเมจชอปของตัวเองโดยเช่าพื้นที่เพาเวอร์มอลล์สาขาสยามพารากอนเปิดเป็น Philips Entertainment Solutions Center เพื่อจัดแสดงสินค้าภายใต้แนวคิด Connectivity เพื่อตอบสนองความบันเทิงแบบครบวงจรโดยมี 4 โซนคือ Home Entertainment, Full HD LCD TV, Streamium Wireless Music Center และ โซนเครื่องเสียง ดีวีดี ไมโครเธียเตอร์ โดยถือว่าชอปดังกล่าวเป็นรูปแบบเฉพาะสำหรับประเทศไทย เนื่องจากบริษัทแม่ที่ยุโรปไม่ได้มีการทำอิมเมจชอปของตัวเอง

โซนี่ปรับยูนิเวอร์สเป็นโซนี่สไตล์ ขยายเอ็กซ์คลูซีฟชอป 25 แห่ง

ในขณะที่โซนี่ซึ่งมีการพัฒนาร้านโซนี่ยูนิเวอร์สมาร่วม 10 ปี โดยมี 6 สาขา ก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นอิมเมจชอป ที่สมบูรณ์แบบภายใต้ชื่อโซนี่สไตล์ ซึ่งสาขาแรกเปิดตัวที่สยามพารากอนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคและให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ๆของโซนี่ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงการใช้งานเชื่อมต่อระหว่างสินค้า AV และสินค้า IT ที่สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าของโซนี่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ให้กับผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างยอดขายแบบยกชุดหรือเป็นโซลูชั่นได้ ทั้งนี้อิมเมจชอปดังกล่าวจะไม่เน้นการขายสินค้าแต่ถ้าลูกค้าต้องการซื้อก็จะต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่าร้านค้าทั่วไป 5% เพื่อป้องกันความขัดแย่งกับคู่ค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายซึ่งปัจจุบันมีกว่า 700 ราย

"โซนี่สไตล์แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่างๆได้แก่ โซนโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ โมบายล์เอนเตอร์เทนเมนต์ แอคเซสซอรีส์ และโซนบริการ โดยมี Product Specialist เป็นผู้แนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าตัวเองเหมาะสมกับสินค้ารุ่นใดแบบใด นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆให้กับลูกค้าที่สนใจ รวมถึงใช้เป็นจุดบริการส่งต่อสินค้าของโซนี่ที่มีปัญหาไปยังศูนย์ซ่อม" ทาดาโตะ คิมูระ ผู้จัดการผ่ายการตลาดไอทีและโซลูชั่นส์ และผู้รับผิดชอบโครงการโซนี่สไตล์ กล่าว

นอกจากนี้โซนี่ยังร่วมกับดีลเลอร์พัฒนาร้านค้ารูปแบบใหม่ซึ่งเป็น Only Exclusive SONY หรือร้านที่จำหน่ายแต่แบรนด์โซนี่เพียงแบรนด์เดียวโดยใช้ชื่อว่า โซนี่ เซ็นเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 25 แห่ง ส่วน ไวโอ้ สตาร์ ซึ่งเน้นสินค้าไอทีดิจิตอลมีอยู่ 10 แห่ง ทั้งนี้โซนี่ไม่ได้ตั้งเป้าในการขยายจำนวนร้านที่เป็น Only Exclusive SONY แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของดีลเลอร์แต่ละรายเพราะถ้าเร่งทำในขณะที่ร้านยังไม่พร้อมก็อาจทำให้แบรนด์โซนี่เสียหายได้

ซัมซุง ผุด เอ็กซ์คลูซีฟ พรีเมี่ยม ชอป ขึ้นแท่นผู้นำตลาดเอชเอ

สำหรับซัมซุงซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของโซนี่ก็มีการปรับโครงการการจำหน่ายโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือนระดับไฮเอนด์มีแผนที่จะพัฒนาร้านค้าพิเศษใช้ชื่อว่า "ซัมซุง เอ็กซ์คลูซีฟ พรีเมี่ยม ชอป" ซึ่งจะจำหน่ายแต่สินค้าไฮเอนด์ เช่น สินค้าในกลุ่มซิลเวอร์นาโน พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะสามารถเป็นผู้นำตลาดเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือนได้ในปีหน้า

"ทุกๆปีเรามีการปรับฐานคู่ค้ามีทั้งรายใหม่ที่เข้ามาและรายเก่าที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องออกไป ช่องทางใดไม่แอ็กทีฟก็ตัดออกไป เราต้องคัดเลือกคู่ค้าที่มีความพร้อมและตั้งใจจะทำธุรกิจไปในแนวทางเดียวกับซัมซุง ซึ่งในปีนี้คาดว่าเราจะมีคู่ค้าและร้านค้าใหม่เพิ่ม 40-50 แห่ง" อาณัติ จ่างตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าว

ปัจจุบันซัมซุงมีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ โดยมีแบรนด์ชอป 2 แห่ง (ซัมซุงพลาซ่า ที่เดอะมอลล์บางกะปิ และสยามพารากอน) ซัมซุง ดิจิตอลแกลเลอรี 6 แห่ง และศูนย์บริการหลังการขายอีก 129 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มเป็น 142 แห่งในปีนี้

ทั้งนี้ซัมซุงแบรนด์ชอปจะให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เนื่องจากสินค้าไฮเอนด์มีราคาค่อนข้างสูง ลูกค้าต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อค่อนข้างมาก ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเกิดประสบการณ์ที่ดีต่อแบรนด์ ได้ทดลองและสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆก่อนตัดสินใจซื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะที่ซัมซุงดิจิตอลแกลเลอรี่จะเป็นช่องทางจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า

หากจะเทียบกับโซนี่แบบหมัดต่อหมัดแล้วซัมซุงพลาซ่าถือได้ว่าเป็นชอปที่เปิดมาเพื่อสู้ศึกกับโซนี่สไตล์ ซึ่งเน้นในเรื่องของการสร้างแบรนด์เหมือนกัน ส่วน ซัมซุง ดิจิตอล แกลเลอรี ก็เป็นการออกมาตีกันโซนี่มัลติเอวีซึ่งเป็นชอปของดีลเลอร์โซนี่ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเช่นกัน

นอกจากนี้ซัมซุงยังมีแผนที่จะพัฒนาช่องทางจำหน่ายร่วมกับร้านค้าดีลเลอร์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขายสินค้าไฮเอนด์ภายใต้แนวคิด together for number one เพื่อรองรับยุค Digital Convergence ที่สินค้ามีการเชื่อมต่อถึงกันไม่ว่าจะเป็น เอวี ไอที ทำให้ช่องทางเหล่านั้นมีโอกาสในการขายสินค้าข้ามหมวดมากขึ้น การที่กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ ทีวี สื่อบันทึกข้อมูล คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อถึงกันได้ ทำให้แนวโน้มของสินค้าเอวีและไอทีจะผนวกเข้ามาอยู่ภายในร้านเดียวกัน

Star Dealer Program ช่องทางสู่พรีเมี่ยมแบรนด์แอลจี

หลังจากแอลจีประกาศที่จะก้าวสู่พรีเมี่ยมแบรนด์เมื่อ 2 ปีที่แล้วพร้อมกับการลอนช์สินค้าไฮเอนด์ออกมามากมาย โดยกลยุทธ์บริหารช่องทางจำหน่ายถือเป็นหนึ่งใน Key Success ที่สำคัญ ล่าสุดมีการวางกลยุทธ์บริหารช่องทางจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์ภายใต้คอนเซ็ปต์ Choose & Focus โดยเริ่มจากการเปิดตัว Star Dealer Program ซึ่งตัวแทนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายจะได้รับข้อเสนอพิเศษจากแอลจี โดยจะมีการพัฒนาและสร้างดีเลอร์ที่มีประสิทธิภาพในการจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการสร้างสีสันให้กับร้านค้ามากขึ้นเช่นการเพิ่ม Art Cool Gallery อีก 70 ร้านค้าในปีนี้ จากเดิมที่มีเพียง 30 แห่ง โดยจะเป็นช่องทางในการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศรุ่นพิเศษของ Art Cool ซึ่งไม่ได้วางขายตามช่องทางทั่วไป

DMDC (Difference Model Difference Channel) ถือเป็นนโยบายในการบริหารช่องทางจำหน่ายของแอลจีเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดจากการตัดราคากันเอง โดยแอลจีจะส่งสินค้าต่างโมเดลไปยังช่องทางที่แตกต่างกัน เช่นในดิสเคาน์สโตร์จะเน้นรุ่นราคาถูก ฟีเจอร์การใช้งานไม่สูง ส่วนสเปเชียลตี้สโตร์ และดีลเลอร์ก็จะเน้นสินค้าที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างจากรุ่นที่จำหน่ายในดิสเคาน์สโตร์ ปัจจุบันแอลจีมีช่องทางจำหน่าย 755 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 825 แห่งในปีหน้า แบ่งเป็นโมเดิร์นเทรด 40% เทรดดิชันนอลเทรดหรือดีลเลอร์ 60%

ปัจจุบันแอลจียังมีอิมเมจชอป 2 แห่งคือ ดิจิตอลเซ็นเตอร์ ที่สาทร และที่เชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับร้านค้าที่จะพัฒนาตัวเองให้สามารถสร้างยอดขายสินค้าไฮเอนด์ได้ โดยสินค้าไฮเอนด์ของแอลจีสามารถสร้างกำไรหรือมาร์จิ้นได้สูงกว่าสินค้าปกติ 30% นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาแอลจีก็มีการทำอินสโตร์โปรโมชั่นเพื่อนำสินค้าไฮเอนด์ไปโรดโชว์ในต่างจังหวัดสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคเป็นเทคโนโลยีของแอลจีและเป็นการสร้างสีสันให้กับร้านค้า ดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน

นอกจากนี้ก็ยังมีโตชิบาที่เปิดอิมเมจชอปที่สยามพารากอนภายใต้ชื่อ "โตชิบา อินเทลลิเจนซ์" ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่ทดสอบตลาดสินค้าใหม่ๆแล้ว ยังจะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมประเภท Cooking Class เช่นเดียวกับพานาโซนิคที่เปิดอิมเมจชอปใช้ชื่อว่า "ไลฟ์สแคว์" ที่ชิดลมเพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ พร้อมกับการทำกิจกรรมเพื่อสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ให้เกิดขึ้น ตลอดจนการส่งสาวพานาเกิร์ล 40 คนกระจายไปตามชอปดีลเลอร์ในต่างจังหวัดเพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ในการพัฒนาช่องทางขายถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะทำให้สินค้านั้นขายได้หรือขายไม่ได้ ที่ผ่านมาแบรนด์ใหม่มักเข้าสู่ตลาดด้วยการทำสินค้าราคาถูก แต่ถ้าจะอยู่ในตลาดได้ยาวนานก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งหลายๆแบรนด์ก็ไล่ตามกันทัน ในขณะที่ช่วงเวลาของการตัดสินใจซื้อที่สำคัญที่สุดอยู่ ณ จุดขาย ดังนั้นหลายๆแบรนด์จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางจำหน่ายทั้งการฝึกอบรมบุคลากรด้านการขาย การจัดดิสเพลย์หน้าร้าน รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบร้านค้าใหม่ๆ และการขยายโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับร้านค้าเหล่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.